ถาวร โกอุดมวิทย์ จัดการกับศิลปะ

ถาวร โกอุดมวิทย์ จัดเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ ที่เคยได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ทั้งยังมีผลงานและรางวัลเกียรติยศอีกมากมายเป็นเครื่องการันตีความสามารถ

ถาวร เป็นศิลปินผู้หนึ่งที่ยอมรับว่า งานศิลปะที่ทำมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่สนับสนุนทั้งในเบื้องหน้า และเบื้องหลังของความมีชื่อเสียง ความสำเร็จ และความเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ในวัยเด็ก ถาวรเป็นสมาชิกในครอบครัวคนจีน เห็นพี่สาววาดรูปเก่งมาก แต่กลับไม่มีโอกาสได้ใช้พรสรรค์ที่มีอยู่เนื่องจากแม่รู้สึกว่าการมาเรียนทางศิลปะไม่ใช่สาระสำคัญที่จะประคับประคองชีวิตไปได้ “แต่สำหรับตัวผมในตอนนั้นคิดว่า มันไม่ใช่เหตุผลของการดำรงชีวิต อย่างมากเราก็ตัวคนเดียว ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอย่างน้อยคงพอหาอะไรทำปะทังชีวิตไปได้ จึงขอแม่ให้ตัวเองได้เรียน หลังจากที่เรียน เราก็พยายามต่อสู้กับหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อพิสูจน์ให้คุณแม่กับครอบครัวเห็นว่าเราเลือกทางที่ถูกต้องแล้ว”

หลังเรียนจบปริญญาโทสาขาภาพพิมพ์ คณะจิตกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถาวร ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไต้เต้าจนได้เป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นตำแหน่งสุดท้ายที่เพิ่งหมดวาระไป

ระหว่างยึดอาชีพอาจารย์ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยทิ้งก็คือ การสร้างสรรค์งานศิลปะ เขาใช้เวลาทุกวันสร้างผลงานออกมา เดือนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ชิ้น และจัดแสดงงานศิลปะเป็นของตนเองประจำปี ในประเทศญีปุ่น

ล่าสุด คือ การแสดงนิทรรศการ “ไลฟ์ สติลล์ ไลฟ์” (Life…Still Life) ประกอบด้วยผลงานประเภทภาพพิมพ์ และสื่อผสม ประมาณ 80 ชิ้น โดยเป็นการเปิดให้ชมกันฟรีๆ เฉลี่ยราคาจะอยู่ที่ประมาณภาพละ 50,000 บาท

– Positioning ของอาจารย์ถาวร คืออะไร

ผมไม่เคยมองตัวเอง ต้องให้คนอื่นมอง แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนชอบช่วยเหลือคน โดยเฉพาะงาน International print & Art คนในแวดวงศิลปะไม่ทำ เป็นเพราะคนในแวดวงศิลปะเขาขาดทักษะเรื่องของบริหารจัดการ ซึ่งคนที่มีบุคลิกของการบริหารจัดการ ก็อาจจะขาดสุนทรียภาพด้านศิลปะ แต่ผมมีบุคลิกการจัดการที่ดี เป็นเพราะพื้นฐานครอบครัวสอนเรื่องนี้มา

ถ้าในความเป็นศิลปิน ผมเป็นคนชอบแส่ อะไรที่ช่วยได้ทำได้ ผมทำหมดและเป็นหมด เป็นรองอธิการบดีก็เป็น เป็นพระอาจารย์ เป็นกรรมการหมู่บ้านป.ผาสุข ก็เป็นมาแล้ว ผมว่ามันดีในแบบของผม ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับศิลปินที่ฝักใฝ่ผลประโยชน์ใส่ตัว เพื่อจะหาความเป็นปัจเจกเพียงอย่างเดียว

– รักษาความต่อเนื่องในงานศิลปะได้อย่างไร

เผอิญเรามีระบบที่ดี เช่น ผมมีอาจารย์ ฌานวิทย์ มาช่วย ซึ่งเขาเป็นคนละเอียด ผมจะเป็นคนกำหนดโครง ส่วนอาจารย์ฌานวิทย์จะกำหนดรายละเอียด

เมื่อเราทำงานมากขึ้น มีเวลาน้อยลง เราจะให้ความสำคัญกับเวลามากขึ้น ผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ผมจึงสามารถใช้เวลาไปกับการทำงานได้ ไม่ต้องเสียเวลา 4-5 ชั่วโมงไปกับการดื่มเหล้า

มทำงานศิลปะทุกวัน บางวันทำเช้าถึงเย็น เฉลี่ย 3-4 ชั่วโมงต่อวัน บางวันทำถึงตี 1 หรือถึงเช้า ผมยังรู้สึกสนุก ก็เหมือนกับการเขียนหนังสือ ช่วงนี้ยังมีฮอร์โมนทางศิลปะมันยังออกมา เรายังสนุกอยู่ แต่ละเดือนจะทำงาน 2-3 ชิ้น ผมจะมีวิธีจัดการกับงานศิลปะ เพราะเป็นงานด้านภาพพิมพ์ จึงมีเทคนิคบางอย่างช่วยได้ และเราก็ได้รางวัลบ่อย

– งานแสดงประจำของอาจารย์

แสดงทุกปีที่แกลเลอรี่ 2-3 แห่ง ประเทศญี่ปุ่น ทำมา 20 ปีแล้ว ส่วนในไทยเฉลี่ย 2-3 ปี จะแสดงครั้ง

– อาจารย์คิดว่าตัวเองมีความแตกต่างไปจากศิลปินอื่นๆ อย่างไร

ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ศิลปินสวนใหญ่ไม่อ่านหนังสือ เพราะเขาอยู่ในวิธีคิดของความเป็นปัจเจก ทำให้มุมมองหรือวิธีคิดจำกัด แต่ผมจะอ่านหนังสือทุกอย่างที่เกี่ยวกับปรัชญา วิธีคิด มันช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น

– Exhibition จำเป็นหรือไม่

ถ้าไม่มีแล้วจะทำให้ใครดู แต่ก็ต้องเลือกด้วยว่าเป็น exhibition แบบไหน เพราะมันต้อง inspiration ด้วย กรณีของการจัดแสดงงานที่โรงแรมบุราส่าหรี เพราะเขาอยากมี activity ทางด้านศิลปะ และผมเคยทำที่โรงแรมโรสการ์เด้นท์ แกลเลอรี่ แล้วสำเร็จ นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ไม่ใช่ว่าศิลปะแล้วจะไปแสดงในโรงแรมไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับระบบการจัดการ ที่จะสร้างความประทับใจได้แค่ไหน

– อาจารย์คิดว่าราคาที่ตั้งไว้สูงไปไหม

“ถ้าถามเรื่องราคาสูงไหม ก็ต้องบอกว่าสูง แต่เมื่อเทียบกับชื่อเสียงของผมแล้วไม่สูงเลย บางคนยังบอกว่าผมเป็นศิลปินที่ตั้งราคาอย่างสมเหตุสมผล และบางภาพราคายังต่ำไปด้วยซ้ำ นักเรียนบางคนยังตั้งราคาขายภาพเท่าผมเลยก็มี”

– ราคาจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอะไรบ้าง

ขึ้นอยู่กับรูปแบบของานเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของคอนเซ็ปช่วล หรือการมีมุมมองที่แตกต่าง อย่างในต่างประเทศ คนที่เขาซื้องานเขาไม่สนใจว่าจะเป็นศิลปินยอดนิยมหรือไม่ แต่ในบ้านเรา ต้องเป็นศิลปินแห่งชาติ ราคาถึงจะดี ซึ่งผมก็เป็นศิลปินแห่งชาติคนหนึ่ง

– ทำไมอาจารย์จึงกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียง

“ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นคนที่สม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ คิดว่าศิลปะเป็นเหมือนอากาศที่ต้องหายใจตลอดเวลา เพราะฉะนั้นชีวิตเราวนเวียนอยู่กับศิลปะ เราทำงานศิลปะอยู่ตลอด เราจึงรู้สึกได้ว่าความสม่ำเสมอทำให้สังคมรู้จักผลงานของเรา

– อาจารย์คิดว่าตัวเองเป็น “แบนรด์” ได้แล้วหรือยัง

ไม่รู้เหมือนกันต้องถามคนที่มองเรา แต่ทุกคนค่อนข้างให้ความชื่นชมในเรื่องของการจัดการของเรา ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี

– ทุกวันนี้อาจารย์มองว่าตัวเองเป็น Celebrity แล้วหรือยัง

อันนี้ไม่รู้อีกเหมือนกันต้องถามคนอื่น ไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องเป็นอะไร ต้องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม เป็นศิลปินมีชื่อเสียงโด่งดัง ผมคิดแค่ตรงนี้ แล้วทำให้ดี แล้วมันก็จะก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งที่ดีต่อไป

– ภาพแต่ละภาพที่อาจารย์วาดคิดเอาไว้ก่อนหรือเปล่าว่าจะเอาไว้ใช้ทำอะไร

ไม่คิดเลย ว่าจะเอาไว้ทำอะไร ไว้ขาย หรือเก็บเอาไว้เอง อยากทำก็ทำ เหมือนกับการซื้อเฟอร์นิเจอร์ ไม่คิดเลยว่าจะเอามันไปวางไว้ตรงไหน อยากได้ก็ซื้อเลย อยากทำก็ทำ อยากเขียนก็เขียน ไม่อยากเขียนก็ไม่เขียน

– ภาพที่ขายออกไปเสียดายไหม

ผมไม่รู้สึกเสียดาย ใครอยากได้รูปไหนก็ซื้อไป เพราะเขามีเจตนา ผมคิดว่ารูปมันก็เป็นเหมือนสสารที่อยู่บนโลกนี้ ถ้าเขาอยากซื้อก็ซื้อไป แต่สำหรับบางชิ้นที่มีประวัติศาสาตร์ หรือความเชื่อมโยงอย่างชุด สึนามิ ผมว่าจะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน อย่างน้อยมันจะได้รู้ว่างานของพ่อ ของปู่ ก็เคยไปร่วมเหตุการณ์สำคัญๆ มาแล้ว

– อาจารย์เป็นศิลปินที่วาดรูปขายหรือเปล่า

วาดรูปขายไม่ใช่หลักของคนทำงานศิลปะ การที่ภาพขายได้เป็นเพียงผลพลอยได้ สำหรับคนที่มีจิตและมุ่งมั่นที่จะวาดรูปขาย ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเงื่อนไขจะถูกประนีประนอมด้วยอามิส บางครั้งบางช่วงผมอาจจะขายงานไม่ได้เลย บางช่วงขายงานได้เยอะอันนี้ขึ้นอยู่กับกลไก แต่ที่สุดแล้ว เราจะต้องแข็งแรงต่อความเชื่อมั่นของเรา ถ้าเราขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ แล้วเรามัวแต่ประนีประนอมเพื่อให้ได้อามิสมาเราก็จะล้มเหลว

– ถ้ามีคนมาพูดว่า “อาจารย์ใช้ศิลปะในการหาเลี้ยงชีพ” อาจารย์จะตอบคนที่พูดกับอาจารย์แบบนี้ว่าอย่างไร

มันก็อยู่ที่แง่คิด ผมว่ามันเป็นผลพลอยได้ แง่คิดจริงๆ คือผมเป็นมนุษย์เงินเดือนจากการเป็นอาจารย์สอน แต่เราไม่ได้มีชีวิตรอดได้ด้วยเงินเดือน บางทีศิลปะมันก็เข้ามาช่วยเราได้ แต่จุดประสงค์ของเรา ถ้าเราทำงานให้ได้เงิน ผมว่าผมเป็นนักจัดการที่ดี ผมมีเพื่อนเยอะ ถ้าผมอยากจะรวย ผมรวยได้มากกว่านี้เยอะ ถ้าผมไปเปิดบริษัท ไปทำธุรกิจ ผมคิดว่าผมมีจิตวิญญาณของการจัดการที่ได้มรดกจากครอบครัวมากพอสมควร ถ้าผมจะหาเลี้ยงชีพจากงานศิลปะ มันมีหนทางอื่นที่จะทำให้ผมมั่งคั่งมากกว่านี้ได้อีกเยอะ

– คิดอย่างไรกับการวาดภาพประกอบในหนังสือ

ภาพประกอบเป็น commercial art ที่ถูกกำหนดโดยเนื้อหา ที่เป็นสว่นหนึ่งของหนังสือ แต่งานศิลปะจะถูกกำหนดด้วยศิลปิน ที่เขาจะ
เป็นคนกำหนดเนื้อหา กำหนดองค์ประกอบต่างๆ ด้วยตัวเอง

– เปรียบเทียบระหว่างศิลปินยุคเก่า และยุคใหม่

โดยธรรมชาติแล้ว เด็กจะมีสไตล์การแต่งตัวอีกแบบหนึ่งแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ฉะนั้นรูปแบบในการนำเสนอของศิลปินก็แตกต่างกัน งานของศิลปินรุ่นเก่าค่อนข้างอิงอยู่กับบริบททางด้านวัฒนธรรม เรื่องของศาสนา แต่คนรุ่นใหม่เขาไมมีคิดแบบนั้น อะไรที่เข้ามากระทบ เขาจะถ่ายทอดออกมาทันที

– มองศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้เป็นอย่างไร

“น่าสนใจ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือสิ่งที่เขารับมันเป็นเพียงอิริยาบถทางศิลปะ เช่น เทคนิค หรือวิธีการ อันนี้สำคัญมาก เรามีหน้าที่ที่ต้องชี้นำว่า สิ่งที่เป็น สาระสำคัญคือวิธีคิด และการนำเสอนแง่คิดในเชิงจิตวิญญาณ และเชิงวัฒธรรม ที่หล่อหลอมในบริบทของสังคม ไม่ใช่เรารับอิริยาบถทางวิธีการเท่านั้น”

– ศิลปะกับคนไทยยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร

“ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน คนให้ความสำคัญ ถ้าคนไม่ให้ความสำคัญ เขาก็คงไม่รู้จักผม แต่อย่างน้อยสังคมไทยเป็นคนที่ให้เกียรติคนทำงานศิลปะพอควร อนาคตก็ต้องดียิ่งขึ้นๆ ไป”

สำหรับศิลปินที่ใช้ศิลปะ คือเรื่องของจิตวิญญาณของความเป็นศิลปิน โดยอาจารย์ให้คำจำกัดความของตัวจิตวิญญาณไว้ว่า “มันคือว่ารู้สึกของเรา ที่อยากให้มันเป็น มันสนองเรา โดยบางครั้งมันปราศจากเหตุผลที่สังคมยอมรับ และวางกฎกติกาเอาไว้” และในอนาคตอาจารย์ก็จะพยายามผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับวงการศิลปะ อาจารย์ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะอุ้มชูวงการศิลปะเมืองไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล

Profile

Name : ถาวร โกอุดมวิทย์
Born : 31 กรกฎาคม 2499
Age : 48 ปี
Education :
ชั้นประถมศึกษา – มัธยมปีที่ 3 โรงเรียนทวีธาภิเศก
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเพาะช่าง
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต (ภาพพิมพ์) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. 2523
และศึกษาต่อจนสำเร็จระดับปริญญาศิลปมหาบัณฑิต ในสาขาและจากมหาวิทยาลัยเดียวกันในปี พ.ศ. 2529
ได้รับทุนการศึกษาและดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจาก ASIAN Cultural Council (J.D. Rockefeller3rd) ปี พ.ศ. 2525
Career Highlights :
2525 อาจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2530-2532 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2530 Nagoya University of Fine Arts ประเทศญี่ปุ่น
2540 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ Department of Art & Design, The University of Alberta –ประเทศแคนาดา
2544 รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร