โต๊ะวาดภาพในสตูดิโอห้องเสื้อ “Chiratorn” ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของนักวาดภาพประกอบกลุ่มใหญ่ทุกวันอังคารและเสาร์อาทิตย์ เขาหรือเธอมาสร้างงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้การอำนวยการสอนของครูโต- ม.ล.จิราธร จิรประวัติ จากโต๊ะเรียนศิลปะตัวยาว กลายเป็นจุดเริ่มของนักวาดภาพรุ่นใหม่อย่าง นวลตอง ประสานทอง กับ สมนึก คลังนอก หรือปาน นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ที่มีผลงานกำลังเป็นที่ยอมรับ
สตูดิโอแห่งนี้จึงเป็นเสมือน “หน้าร้าน” ให้นิตยสาร เจ้าของสินค้าบริการ บริษัทรับจัดงาน event ที่สนใจอยากได้ภาพประกอบจากศิลปินเหล่านี้ไปใช้ประกอบกับเนื้อเรื่อง หรือแม้แต่ตัวศิลปินไปร่วมงาน event ที่ต้องการศิลปะเป็นส่วนประกอบ
“กลุ่มนักเรียนศิลปะของครูโต เป็นกลุ่มนักวาดภาพประกอบ บางคนเดินเข้ามาแล้วอยากได้ภาพประกอบที่มีความหลากหลาย อย่างพี่โอ่งก็เป็นป๊อปมากๆ ครูโตกับพี่แป้งก็เป็นงานที่มีคาแร็กเตอร์ ปานก็เป็นดอกไม้ ก็เลือกได้ว่าต้องการแบบไหน” นวลพรรณกล่าว
เธอเชื่อว่า กลุ่มลูกศิษย์ของม.ล.จิราธร น่าจะเป็นชุมชนกลุ่มวาดภาพประกอบที่มีมากที่สุด “ต่างคนต่างมีแนวทางของตัวเอง รู้ว่าชอบอะไร แล้วก็ช่วยกันดู คอมเมนต์ด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่เขาก็อยากได้ ก็มี พี่ชลิต พี่โลเล ก็แนะนำให้เขาไปได้เรื่อยๆ รู้จักกันแนะนำกันไปได้เรื่อยๆ”
นวลตอง ประสานทอง : เส้นทางแห่งการค้นหาของหญิงสาว
นวลตอง ประสานทอง นักวาดภาพประกอบให้กับนิตยสารอย่าง สุดสัปดาห์, เซเว่นทีน, ฟร้อนท์ เธอเล่าว่าเป็นคนที่ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่เป็นความชอบเพียงอย่างเดียว ยังไม่จริงจังถึงขั้นเลือกเป็นอาชีพ ความคิดที่จะเรียนต่อทางด้านนี้จึงไม่มี จนเมื่อเธอตัดสินใจเรียนด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การทำงานในสายงาน เป็น Sales Operation บอดี้ช็อป มาเกือบปีก็ทำให้เธอพบตัวเองว่าไม่ใช่
“มันต้องมีการแข่งขัน มีลักษณะงานที่ไม่ค่อยถูกกับนิสัยที่จะต้องแข่งขันสูงขนาดนั้น ก็ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไรกับการทำงานตรงนั้น”
ช่วงเรียนจบพี่แป้งเขาได้เรียนกับครูโต เขาก็มาที่นี่ นวลก็มาช่วยผสมสี เราก็เหมือนได้พื้นฐานโดยที่เราไม่รู้ตัว พอเรียนต่อปริญญาโทก็เลยคิดว่าจะไม่เอามาร์เก็ตติ้งแล้ว จึงเลือกไปเรียนต่อทางด้านดีไซน์ พอกลับมาก็มาที่นี่ ก็ได้เริ่มเจอคน แล้วก็ได้งานจากพี่ๆ แล้วก็ได้ไปเรื่อยๆ เป็นงานๆ ไป แล้วคนที่บริษัทเอสซี แมชบ๊อกก็เห็นแล้วก็เลยได้ติดต่อมาให้ทำบัตรเติมเงินวันทูคอล ได้แบบนี้มาเรื่อยๆ”
ภาพประกอบของนวลจะเป็นแนวผู้หญิงมากๆ และแฟชั่นหน่อยๆ เพราะแป้งเป็นเด็กๆ แต่นวลชอบแฟชั่น จะออกไปทางแนวครูโตเยอะ เพราะครูโตก็วาดแนวแฟชั่นเยอะ คือเห็นจากครูโตแล้วได้แรงบันดาลใจเยอะ
นวลยอมรับว่าตอนนี้เธอยังค้นหาตัวเองกับเส้นทางความคิดของงานศิลปะ ทุกวันจันทร์ นวลจะมีคลาสสอนศิลปะให้ที่โรงเรียนอนุบาลทองศรี วันอังคาร เสาร์ อาทิตย์ เธอก็จะมานั่งเรียนวาดรูปที่สตูดิโอจิราธร ก่อนที่วันพุธถึงศุกร์จะทดลองทำงานตามแนวทางของตัวเอง และทำการบ้านตามงานที่ได้รับมอบหมายมา เช่นการ์ดอวยพรต่างๆ ที่มอบงานมาให้เธอทำในตอนนี้
“เหมือนกับว่าเราเองก็หาตัวเราเองไปเรื่อยๆ เราไปช่วยสอนศิลปะให้เด็กๆ อนุบาล ก็สนุกดี ที่ได้คิดอะไรใหม่ๆ ไปสอน อย่างทำการ์ดทำอะไร อยู่กับเด็กก็ได้คิด เราสร้างจินตนาการให้เขา และเขาช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เราเหมือนกัน เหมือนกับค่อยๆ หาเส้นทางของตัวเองไปเรื่อยๆ ทำงานหลายๆ อย่าง”
“ชอบชีวิตแบบนี้ แบบที่ไม่ต้องทำงานประจำ เพราะคิดว่าเป็นคนชอบความหลากหลาย แต่นวลว่านวลเป็นคนแบบอาจจะมีบางช่วงที่แล้วแต่อารมณ์ เรารู้สึกว่ามันไม่จำเจ พอจบโปรเจกต์หนึ่ง ก็มีงานใหม่เข้ามา คือมันได้คิดหลายๆ แบบหลายๆ วิธี งานไม่ได้ซ้ำกัน”
“นวลไม่คิดว่าจะต้องวาดภาพมากระตุ้นความสนใจให้คนมาดูตลอด เหมือนเราอ่านเรื่องแล้วเราเห็นภาพออกมา แล้วเราก็ทำภาพอันนั้นให้สวยที่สุด นวลว่าเราก็ต้องพอใจงานของเราในระดับหนึ่ง ถ้าเราพิมพ์งานของเราออกมาแล้วเราไม่กล้าดู แต่ถ้าเราเห็นแล้วเราชอบจังเลย แล้วอยากเก็บงานของเราไว้ นวลว่ามันก็คือการประสบความสำเร็จแล้วสำหรับตัวเรา”
คิดอย่างไรเมื่อคนรุ่นใหม่หรือนักวาดภาพศิลปะในงานประกอบเรื่องอายุน้อยลง… นวลว่าเทรนด์ของหนังสือมันดูเด็กลงเยอะด้วย อย่างอะเดย์ก็หมดไปแล้วที่ต้องใช้ช่าง หรืองานที่ต้องการฝีมือเนี้ยบมากๆ อย่างการ์ตูนแบบ “hesheit” ก็ยังขายได้ ถ้าสไตล์คุณใช่ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรมันก็ได้รับความสนใจ
พอเทคนิคแม่นมาแอพพลายกับภาพที่อยู่ในหัวได้ ทำให้งานที่ออกมามันก็อยู่ในความคิดเราล้วนๆ ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นต้องเรียลลิสติก พอเวลาเราได้เทคนิคแม่นแล้ว นวลว่าพอเราแอพพลายมาก็ทำได้หลากหลายขึ้น นวลว่ามันอยู่ที่ฝีมือ คือฝีมือมันแม่นพอวาดภาพประกอบมันก็ง่ายขึ้น
สมนึก คลังนอก
เส้นทางชีวิตสายศิลปะของ ปาน-สมนึก คลังนอก ค่อนข้างจะน่าสนใจ เพราะก่อนหน้าที่เขาจะยึดอาชีพศิลปิน เขาศึกษาพระธรรมอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์มาถึง 12 ปี “ตอนที่บวชอยู่ชอบวาดรูปมาก ก็วาดมาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงเรียนปีหนึ่งตอนนั้นเป็นเณรอยู่เลย ก็มีโยมที่รู้จักเขาเป็นญาติครูโต เขาแนะนำ ก็เลยได้มาเรียนกับครูโต ได้ฝึกมาเรื่อยๆ เรียนมาเรื่อยๆ จนจบปริญญาตรีก็สึก สึกออกมาทีแรกก็ไปทำงานที่ดอนเมือง เป็น Passenger Service ดูแลผู้โดยสารก่อนจะขึ้นเครื่อง ได้แค่ 10 วันก็รู้เลยว่าไม่ใช่ที่ตัวเองต้องการ มาคุยกับครูโต ครูโตก็ให้มาช่วยสอนที่นี่ เป็นครูผู้ช่วย ตั้งแต่นั้นก็อยู่กับครูโตมาตลอด”
ความสำคัญของภาพประกอบตามความเห็นของปาน เขาคิดว่า ภาพจะเป็นด่านแรกสุดที่จะทำให้คนสนใจเรื่อง เพราะว่าการเปิดหนังสือแต่ละหน้าไม่ถึงวินาที คนอ่านอาจจะสะดุดตากับรูปก่อนแล้วค่อยสนใจมาอ่านเรื่อง
ที่จริงแล้วความสามารถของปานก่อนที่จะมาวาดภาพประกอบ เขาทำผลงานเก็บไว้เป็นจำนวนมากก่อนที่จะแสดงงานภาพศิลปะดอกไม้ เมื่อพฤษภาคม 2547 ตามแนวทางและสไตล์ของเขาเอง ก่อนที่จะมาได้วาดภาพประกอบให้กับนิตยสาร Mars
“ผมชอบวาดเรียลลิสติก (เสมือนจริง) โชว์คราวที่แล้วผมวาดดอกไม้เยอะแยะไปหมดแบบเรียลลิสติก และที่ใช้ในภาพประกอบ ช่วงแรกมันก็เป็นเรียลลิสติก แต่มันเยอะเกินไปสำหรับภาพประกอบ ก็เลยตัดทอนมาเป็นการเล่นสีแทน แต่ก็ฟอร์มยังดูเป็นเรียลลิสติกอยู่ เพราะวันหนึ่งพอดีพี่เพชร (พชร สมุทวณิช) บรรณาธิการบริหารนิตยสารมาร์ส มาที่ร้าน พอดีผมก็มีงานวางไว้ พี่เขาบอกว่ายังขาดภาพอยู่คอลัมน์หนึ่งนะที่เป็นสไตล์นี้ ก็เลยบอกให้ลองวาดดู”
ทิศทางของภาพประกอบที่เป็นแนวของกลุ่มนักวาดภาพประกอบของ ม.ล.จิราธร กำลังอยู่ในเส้นทางที่ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปะมากขึ้น “ผมว่าในอนาคตมันมีโอกาสที่จะเป็นไฟน์อาร์ตได้ อย่างแต่ก่อน Norman Rockwell อาร์ทิสอเมริกัน ก็วาดภาพประกอบตลอด แต่ตอนนี้งานก็เป็นไฟน์อาร์ตไปแล้ว เพราะจะหาฝีมือแบบนี้อีกไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันมีดีเทลของงาน และงานเขาก็อยู่ในมิวเซียม ทั้งที่เรียกว่างานเขาก็เป็นภาพประกอบเหมือนกัน”
ทุกวันนี้ปานเองก็เป็นอีกคนที่อยู่ได้ด้วยการเขียนรูปเพียงอย่างเดียว ทั้งจากงานภาพประกอบและโปรเจกต์งานดอกไม้ของเขา ที่เข้าไปโดนใจงานอินทีเรียร์หลายราย เนื่องจากคอนเซ็ปต์และสไตล์ดอกไม้เฉพาะตัวของเขา
“ผมชอบอะไรที่มันง่ายๆ ที่อยู่ในบ้านแล้วมันสวย”