จุดเริ่มต้นเมื่อผลงานแสดงเดี่ยวชุด “Dream” ของ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ครั้งแรกในช่วงปี 2537 ก่อนที่ผลึกความคิด ความสับสนในความสัมพันธ์ แง่มุมและเส้นแบ่งที่เลือนรางระหว่างเพศสภาพ และเพศสถานะ ในความเป็นไปของสังคมเมืองใหม่จะถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง
ผลงานที่เริ่มปรากฏสู่สาธารณะในปี 2538 จึงได้รับส่วนผสมแปลกๆ ที่สะท้อนภาพลักษณ์แวดวงสังคมเมือง คนดัง ดารา นางแบบ รวมถึงอิทธิพลจากสื่อโฆษณาและแฟชั่น และมันก็กลายเป็นอารมณ์ประหลาดที่สังคมเพิ่งรับรู้
เขาเป็นจิตรกรหนุ่มเซอร์ที่มีผลงานสะท้อนประเด็นส่วนตัวอย่างชัดเจน ทำให้การเล่าเรื่องราวของเขาโดนใจวัฒนธรรมป๊อปของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ก่อนที่สังคมจะก้าวเข้าสู่ช่วงวิกฤตปี 2540 หลังจากนั้น ชื่อของทวีศักดิ์จึงกลายเป็นโมเดลหนึ่ง ที่เสมือนเป็นตัวแทนจากฝั่งคนทำงานศิลปะ โดยเฉพาะการเป็นตัวละครสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นจากสื่อ เรื่องราวของเขาจึงกลายเป็นตัวแบบที่เล่าเรื่องผ่านสังคม ของการก้าวขึ้นสู่ฝันสำหรับใครหลายๆ คน
“ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำมันน่าสนใจ แต่สังคมมันมีอะไรหลายอย่างอีกที่น่าสนใจ เราคงไม่ใช่คนที่บอกให้สื่อเข้ามาหาเรา แต่มันก็เป็นช่วงประมาณเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เป็นยุคแบบว่าคนล้ม ทีนี้พอคนฟื้นปั๊บ คนที่ทำสื่อก็เริ่มสนใจคนที่ล้มแล้วลุกว่าจะทำได้อย่างไร ผมก็เป็นตัวหนึ่งที่มองเห็นจากการทำงานศิลปะแล้วอยู่ได้”
ด้วยวิธีคิดของเขาที่เชื่อมาตลอดว่าการทำงานในโลกศิลปะ คือการแบ่งแยกออกเป็นสองส่วนระหว่างโลกความฝันและโลกความจริง
“ผมว่าจุดสำคัญก็คือ ทำไมไม่ทำงานประจำแล้วจึงอยู่ได้ ซึ่งผมบอกให้เอาความฝันก่อน คือสิ่งที่เรารักเราจะทำได้ไม่เบื่อ แต่สิ่งที่เราไม่รักเราจะทำได้ไม่นาน ถ้าเราคิดเป้าหมายแต่เรื่องเงิน เราอาจจะได้สิ่งที่เป็นเงินเยอะ แต่ไม่รักก็ได้ มันไม่สนุกที่ต้องไปอ้อนวอนใคร แต่เราทำสิ่งที่เรารักได้ไม่มีวันเบื่ออยู่แล้ว แล้วถ้าสิ่งที่เรารักกลายเป็นทำเงินได้มันก็ดี”
ก่อนมายึดอาชีพแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โลเลยอมรับว่าได้ผ่านการหาเส้นทางที่เหมาะสมแต่ละช่วงชีวิตมาพอสมควร การที่ช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาเดินทางและเปลี่ยนโรงเรียนบ่อย ทำให้เขาชอบอยู่ในโลกความคิดของตัวเอง ได้สร้างความพึงใจต่องานศิลปะก่อนที่จะเดินตามความชอบ และกลายบัณฑิตศิลปากร เหมือนศิลปินร่วมสมัยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับคนหนึ่งตามรุ่นพี่ๆ เขายอมรับว่าในชีวิตช่วงหนึ่งยังมีอีกหลายเส้นทางที่อยากลอง
“ตอนจบปริญญาตรีแล้วมีเป้าหมายหลายอย่างที่เราอยากทำมากเลย อยากเป็นผู้กำกับ แล้วก็อยากเป็นนักดนตรี เป็นความใฝ่ฝันอย่างเด็กๆ แล้วก็อยากทำงานศิลปะ ก็มีแค่สามอย่างเนี้ย ก็ได้ลองไปทุกอย่าง แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ”
แม้ว่าเส้นทางความสำเร็จส่วนหนึ่งของนักศึกษาคือการส่งประกวดงาน “แต่ผมไม่ส่งเลย ก็คิดว่าสิ่งที่ผมทำมันไม่เข้ากับเขา อาจารย์ก็บอกว่าผมเป็นตัวของตัวเองเกินไป ผมสนใจเรื่องคนที่จะเข้ามานะ แต่ตอนเรียนผมไม่สนใจที่จะส่งประกวด แล้วศิลปะผมมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ตอนเรียนปริญญาตรี ผมคิดว่าศิลปะผมทำได้อยู่แล้วตอนนั้น แต่ตอนที่ได้เรียนปริญญาโท ก็รู้เลยว่าต้องเรียนรู้อีก มันไม่มีทางจบ ตอนที่เรียนเด็กๆ เราก็คิดว่าจบแล้วทำอะไรก็ได้ ผมว่าศิลปะสำหรับผมมันมาจริงจังตอนนี้ แล้วทำให้เริ่มสนใจ เริ่มศึกษารูป และความคิดอื่นๆ มากขึ้น
ผมเคยไปทำงานบริษัทอยู่ประมาณสองปี เป็นผู้จัดการฝ่ายดิสเพลย์สินค้าที่ห้างหนึ่ง จริงๆ แล้วตอนไปนั้นเป็นเพราะว่าเงินหมด ที่บ้านมีปัญหานิดหน่อย เราก็เลยต้องไปทำงานบริษัท ตอนไปทำงานก็ไม่ได้คิดอะไร ไปสมัครแล้วได้ เราก็ทำ มีทีมงานสิบกว่าคน คุมงบประมาณ ทำจนคิดว่าเราเก็บเงินพอก็ลาออกเลย ตั้งใจเลยว่าจะทำงานศิลปะ คิดว่าอยู่ปีหนึ่งก็พอ ถ้าหมดก็ไปทำอีก แต่ออกมามันก็อยู่ได้ เงินที่ตั้งอยู่ไว้มันก็ไม่ได้หมด ระหว่างนั้นมันมีงานให้เราทำ มีงานให้เราไปแสดงข้างนอก จากตอนแรกที่คิดว่าอยู่ได้หนึ่งปี แล้วมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้”
ปัจจุบันนอกจากงานแสดงศิลปะทั้งนอกและในประเทศของเขา การเป็นอาจารย์พิเศษหลายสถาบัน หลายคนยังไม่ทราบว่าทวีศักดิ์เริ่มวาดภาพประกอบในนิตยสาร ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วจนถึงทุกวันนี้ “ผมเริ่มตั้งแต่ตอนเรียนปี 4 ผมก็ไปนิตยสารอิมเมจ เอางานไปเสนอเหมือนเด็กๆ ทำ …ผมว่าคนที่สนใจหนังสืออาจจะรู้จักผมจากภาพประกอบ อาจจะเป็นหนังสือแฟชั่น ผมว่ามันผสมผสานได้ บางทีผมก็ไม่ได้ไปบอกใครว่าผมทำอะไร แต่ในโลกของหนังสือจะเห็นผมตลอดเวลา อย่างงานที่ผมทำบางคนก็ไม่รู้จักด้วยซ้ำไป เพราะเห็นผมทำแต่ภาพประกอบ อย่างคนที่อ่าน IMAGE ก็คงไม่ได้อ่าน MARS คนที่อ่าน a day อาจจะไม่ได้อ่านการ์ตูน ที่ผมเขียนในสยามรัฐ …คนอาจจะรู้จักในสิ่งที่เขาเห็น ถ้าเขาเห็นอย่างนั้น เขาจะทำอย่างนั้น อย่างเด็กๆ ก็จะได้ว่าผมเขียนการ์ตูนใน a day มาก่อน”
การได้การทำงานร่วมกับ a day หรือความต้องการเล่าเรื่องผ่านมุมมองความคิดจากปลายปากกาก็เป็นการก้าวสู่โลกวรรณกรรม หนังสือที่เขาเขียนกลายเป็นหนังสือในดวงใจของชาวนอกกระแสกลุ่มหนึ่ง จนได้ไปเน้นย้ำจุดยืนหรือภาพที่สังคมมองด้านหนึ่งให้ชัดขึ้น ที่สอดคล้องกับบุคคลที่เก็บตัวพูดน้อย ออกแนวเท่ หรือเซอร์ของเขา “ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นทางที่ทำให้คนรู้จัก จริงๆ ผมอาจจะทำมาคู่กันเรื่อยๆ กับการที่อยู่ในวงการหนังสือ”
“ผมมีเวลากับงานศิลปะเยอะมาก ถึงผมจะทำงานหนังสือ แต่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ผมจะทำศิลปะของผมเอง ผมไม่เคยวางแผนกับมันเลยว่าจะทำงานอย่างไร แต่ผมรู้ว่างานผมมีอะไรบ้าง มีทั้งงานสีน้ำที่ผมเขียนแต่ผมก็ไม่เคยโชว์ มีงานเชิงการ์ตูนแบบที่เป็นศิลปะที่ไม่ใช่เล่าเรื่อง มีงานที่ทำบนกระดาษ มิกซ์มีเดีย แล้วก็งานแบบ Conceptual Art ที่ผมไปทำมาที่สิงคโปร์”
ในความเห็นของเขาอิทธิพลการสร้างศิลปะแบบ Post Modern ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะแบบเดิมไป โดยเฉพาะภาพประกอบที่ต้องการฝีมือเชิงช่างมากๆ “ตรงนี้มันสองอย่าง ในโลกศิลปะผมไม่ได้มองว่าทางเดินของโลกศิลปะสมัยใหม่ มันจำเป็นต้องวาดรูปอีกแล้ว ศิลปะสมัยใหม่ไม่ได้สอนให้คนวาดรูป แต่ถ้าคุณอยากวาดรูปก็ไปฝึกมาเอง เพื่อที่จะรองรับคอนเซ็ปต์ที่คุณต้องการนำเสนอ… ผมจะเน้นหนักเรื่องความคิด ส่วนเรื่องเนื้อหา หรือวิธีการมันก็ต้องทำในสิ่งที่ถนัดและเราชอบ ผมชอบวาดรูป ผมก็วาดรูป คือบางทีโลกมันเปลี่ยนไป ล้มล้างวิธีคิด แล้วเวลาเราทำงานเราก็ต้องรู้ตัวเราเหมือนเดิม ผมชอบวาดรูปเหมือนเดิม แต่บางทีมันก็มีบางงานที่ผมไปทำอยู่ แต่ใช้วิธีการวาดรูปเป็นแค่การรองรับเนื้อหานิดหนึ่ง”
ทวีศักดิ์ยอมรับว่าตอนนี้ศิลปะถูกใช้กับงานต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าระดับบนที่ต้องการความคาดหมายระดับพิเศษ “ผมไม่ได้รู้สึกว่าถ้าผมทำอะไรแล้วจะทำอะไรอีกอย่างไม่ได้ ผมรู้สึกว่าผมทำได้ทุกอย่าง แต่ส่วนใหญ่อะไรที่เรารับหรือเราทำ เราจะรู้สึกดีกับสิ่งที่เราทำก่อน ถ้าไม่รู้จักเลยก็คงไม่ทำ แล้วก็ไม่ขัดแย้งกับตัวเรามากนัก ให้เปิดเพลงยิ่งใหญ่ หรือให้ไปออกทีวีมากก็คงไม่เอา”
เขาเล่าว่าศิลปินจะมีเรื่องราวของแต่ละคนที่ต่างกันไป ทุกคนมีโลกของตัวเอง และแต่ละคนก็กำลังทำให้สิ่งที่ตัวเองเชื่อ “แต่ทุกคนทำให้สิ่งที่ตัวเองรัก ด้วยความรักหมดทุกคนเลย บางคนชอบสังสรรค์ชอบเฮฮาก็เป็นบุคลิกของเขา อย่างผมประมาณหนึ่ง ผมไม่ใช่คนที่จะขึ้นไปบนเวทีแล้วจะทำให้ทุกคนสนุกสนาน บางคนก็มีโลกของตัวเอง เก็บตัว
บางทีก็มีคนที่ชอบคิดว่าศิลปินเองพยายามไปปรากฏหน้าตามที่ต่างๆ อย่างบางทีสื่อเขาสนใจเราก็ห้ามไม่ได้ แค่เราเดินผ่านไปเข้าห้องน้ำ เขาก็ถ่ายรูปเรา… แต่ถ้าคนจะมาซื้องานของผมส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ค่อนข้างเข้าใจเรื่องของผม มันมีเรื่องราว มันตัวเรามาก เรื่องที่ผมสนใจมันจะไปเข้าถึงคนที่เขาสนใจ แล้วมันไม่ใช่เรื่องสาธารณะแต่เป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่า”
แนวคิดที่ไม่ตีกรอบชีวิตไปสู่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของความเป็นศิลปินสำหรับเขา ทำให้ผลงานปรับตัวและอยู่ได้ตามความเหมาะสม และความใฝ่ฝันของตัวเขาเอง
“สมมุติว่า ผมมีสองโลกคือโลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความเป็นจริง ในโลกศิลปะผมก็มีสองอย่างเหมือนกันคือ ผมทำตามความฝันของตัวเองไม่แคร์ใครเลย กับอีกอย่างหนึ่งทำเพราะเป็นอาชีพ สอนหนังสือก็เป็นอาชีพ ทำภาพประกอบก็เป็นอาชีพ อย่างงานด้านเกี่ยวกับหนังสือ เป็นเขียนการ์ตูนก็เป็นศิลปะที่เราหาเงินเหมือนกัน
วิธีการทำงานศิลปะของผม ผมแยกเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่ง แบบบริสุทธิ์ของผม อีกอย่างคือทางโลก คือแบบ คุณจะรับเขียนภาพเหมือนก็ได้ถ้าคุณมีฝีมือ คุณจะรับตกแต่งสวนก็ได้ถ้าคุณตกแต่งสวนเก่ง หรือคุณจะทำตกแต่งอาหาร ตกแต่งเค้กก็ได้ มันก็เป็นศิลปะเหมือนกัน”
“คือถ้าผมไม่มีงานอะไรทำ ผมอาจจะเล่นดนตรีกลางคืน แล้วก็วาดรูป อย่างนี้ผมก็อยู่ได้แล้ว”
Profile
Name : ทวีศักดิ์ ศรีทองดี
Born : 2 กุมพาพันธ์ 1970
Education :
1996 ปริญญาโท สาขาจิตรกรรม ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
1992 ปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Professional Experiences :
ทวีศักดิ์ มีการแสดงผลงานมากมายทั้งในและต่างประเทศ ในฐานะตัวแทนของศิลปินร่วมสมัยของไทย ตัวอย่างเช่น
2003 “Neo-Morph” ที่ Thavibu Gallery กรุงเทพฯ “Next Move” Earllu Gallery สิงคโปร์
2002 “Trance” ที่ H gallery “The Bangkok Trend Recorder” ที่ห้างสรรพสินค้า Zen “Asian Art Today” ที่Thavibu Gallery กรุงเทพฯ
2001 “Drive my Car” ที่สิงคโปร์ “A Taste of Thailand” ที่ Asia Contemporary Art ลอนดอน ประเทอังกฤษ”The Invention of Sex” กรุงเทพฯ
2000 “Thaweesak Srithongdee” อัมสเตอร์ดัมส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์
1998 “Magazine Artist” ที่ The Promenade โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพฯ
1995 “Illustration Show” ที่โรงละครกรุงเทพ
เขาเคยทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับหลายแวดวงโฆษณา ผู้ช่วยอาร์ตไดเร็คเตอร์ และผู้จัดการฝ่ายดิสเพลย์ของห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ปัจจุบัน เขาเป็นอาจารย์พิเศษด้านศิลปะที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, พระนครใต้, เพาะช่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วาดภาพประกอบที่ Image MARS สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ adayweekly ผู้หญิงวันนี้ แล้วเขียนบทความใน “ผู้หญิงวันนี้” ด้วย