แมกกาซีนกับศิลปินวาดภาพประกอบของคู่กัน

“การใช้ภาพประกอบ ลักษณะมันก็คือรูปที่เราให้ศิลปินเป็นคนวาดขึ้นมา แล้วดูให้มันเหมาะกับคอลัมน์แต่ละคอลัมน์” พชร สมุทวณิช บรรณาธิการนิตยสาร MARS

“ปกติแล้วหนังสือผู้ชายไม่ค่อยได้ใช้ภาพประกอบเท่าไร เราก็เลยหยิบข้อน่าสนใจในหนังสือผู้หญิงให้ MARS มันมีภาพประกอบก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ภาพประกอบมีสามอย่าง ก็คือคนที่ทำภาพประกอบจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้ทำงานศิลปะ กับคนที่ทำภาพประกอบที่เราอยากให้หนังสือเราดูดีขึ้น เราก็ไปเชิญศิลปินที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงเรื่องทำภาพประกอบอย่าง ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, แป้งภัทรีดา (ประสานทอง), โอ่ง กงพัฒน์ (ศักดาพิทักษ์) ไทย วิจิตร หรือคุณโลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) มาทำหนังสือให้เรา แล้วกับบางงานที่เน้นผลงานที่เป็นผลงานจริงๆ ของศิลปินเลยความรู้สึกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อย่าง อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต

มันก็เหมือนเป็นพื้นที่อีกพื้นที่ให้เขาแสดงงาน ก็เหมือนเอาต้นฉบับของเขามาพิมพ์ๆ หลายๆ คนก็จะรู้สึกว่าชอบพวกศิลปินภาพประกอบรุ่นใหม่ เพราะเขาเลือกที่จะมีพื้นที่ของเขา นอกเหนือจากการแสดงงานตามวิถีทางปกติ โดยมาเป็นภาพประกอบในหนังสือ หนังสืออาจจะไม่ใช่คนทำให้เขาดัง เพราะส่วนหนึ่งเขาก็ดังของเขามาอยู่แล้ว กลุ่มศิลปินที่ทำงานแล้วออกป๊อปๆ ออกแนวสมัยใหม่ ก็ค่อนข้างจะโดนใจวัยรุ่น เพราะกลุ่มพวกนี้เขาไปเล่นในอาณาบริเวณที่มันกว้างขึ้น เขามีผลงานเป็นภาพประกอบในนิตยสาร มีการทำเสื้อยืด ทำสมุดโน้ต แล้วพวกเขาก็แสดงงานในจุดที่คนทั่วไปรู้ได้ มีการประชาสัมพันธ์ เช่นห้างสรรพสินค้า หรือตามร้านที่คนส่วนใหญ่ไป ก็ทำให้ขายในวงกว้างได้มากขึ้น

ถึงแม้ภาพประกอบไม่ได้ช่วยในเรื่องเนื้องาน แต่ถ้าเราตกแต่งร้านสวย จะช่วยให้คนกินอร่อยขึ้น แม้อาหารจะอร่อยหรือไม่อร่อยมันไม่เกี่ยวกัน เรารู้สึกว่าอย่างน้อยแค่เราได้เปิดดูก็สบายใจแล้ว

วิธีเลือกก็คือ หนึ่งดูว่างานของเขาเหมาะกับหนังสือของเราหรือเปล่า แล้วก็จัดให้อยู่ในแต่ละส่วน อย่าง แป้ง ภัทรีดา เป็นศิลปินที่โดนใจวัยรุ่นทั่วไปก็จะอยู่ในไซส์ S ศิลปินอย่างโอ่ง กงพัฒน์ก็อยู่ในไซส์ M ที่โตขึ้นมาหน่อยอย่างโลเล งานของเขาก็ค่อนข้างเซ็กซี่แบบมันๆ สนุกเร้าใจบอกไม่ถูก แล้วเข้ากับหนังสือเขาเรา งานเขาซ่าส์มากเลยนะ ก็อยู่ในส่วนที่เหมาะของหนังสือเราที่สุด XL มันขึ้นอยู่กับนักเขียนด้วยเพราะก็ต้องหาคอลัมน์ที่เหมาะสมให้เขา

ฉันทนา ยุทธนาภูมิ บรรณาธิการนิตยสารแพรว เล่าว่า “ถ้าพลิกดูในแพรว ก็จะเห็นว่ามีภาพประกอบไม่มากนัก เพราะเราเน้นภาพถ่าย ดูอารมณ์โดยรวมของเล่มด้วย สมมุติว่ามีนักวาดภาพประกอบ 5 คนก็ไม่ควรที่จะฉีกแนวกันไปสุดกู่มากนัก ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะมีสไตล์เป็นตัวของตัวเอง โดยสไตล์ที่ชัดเจนควรมีอารมณ์ใกล้กัน ของแพรวจะเน้นที่ว่า ผู้หญิงดูแล้วรู้สึกสวย น่ารัก เราก็ยังรักษาความเป็นผู้หญิงอยู่ ภาพประกอบมีส่วนสำคัญ มันทำให้คนหยุด ดีกว่ามีเนื้อหาแน่นๆ อัดกันเข้าไป การมีภาพประกอบมาทำให้อ่านเรื่องและดูภาพด้วย ดูเบาๆ ขึ้น และทุกคนจะผูกขาดกับคอลัมน์เลย แต่ละคอลัมน์ควรมีสไตล์เป็นของตัวเอง เพราะจะได้เข้าในอารมณ์ของคอลัมน์นั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง”

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ในฐานะที่ชอบศิลปะเป็นทุนเดิม กับการสื่อสารของผู้ผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นในปัจจุบันในประเด็นศิลปะ

ก่อนอื่นผมคิดว่าสำหรับบ้านเราแล้ว การคาดหวังให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจลึกซึ้งใน Pure Art เป็นเรื่องยาก ต้องยอมรับว่าศิลปะร่วมสมัยในบ้านเราส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีรากมาจากตะวันตก เราทำตามขนบของฝรั่งทุกอย่าง แม้กระทั่งการแสดงงานในแกลเลอรี่ก็เป็นขนบแบบฝรั่ง ซึ่งผมว่าการเปิดแสดงงานศิลปะในแกลเลอรี่ไม่ได้เป็นอะไรนอกจากงานที่ให้คนไปกินเหล้ากัน ถ่ายรูปลงหนังสือ แล้วตัวศิลปินก็หวังให้นักธุรกิจรวยๆ สัก 3-4 คนมาซื้องาน อย่างเลวได้ค่ากรอบรูปที่ลงทุนไปก็ยังดี ไม่เชื่อคุณลองแวะไปแกลเลอรี่หลังวันเปิดงานซิ วันหนึ่งๆ จะมีคนมาดูงานศิลปะสักกี่คนกัน ผมเห็นเงียบเป็นป่าช้าทุกที่…

ผมคิดว่าการคาดหวังให้ผู้คนทั่วไปรู้จักและเข้าใจงานศิลปะจึงเป็นไปได้ยาก และคงต้องใช้เวลาอีกนาน

เพราะฉะนั้นในวันที่บ้านเรายังไม่มี Art Museum ในวันที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจใน Pure Art ผมจึงคิดว่าภาพประกอบในสิ่งพิมพ์เป็นช่องทางหนึ่งที่พอจะสื่อสารเรื่องราวทางศิลปะไปสู่ผู้คนได้ จริงอยู่ว่ามันอาจจะไม่ลึกซึ้งมากนัก หรือเป็น Pop Culture แต่สำหรับคนบ้านเราแล้ว เอาแค่ว่าให้เขาได้สัมผัสความสวยงามและความหมายของศิลปะสักนิดๆ หน่อยๆ จากภาพประกอบ ผมว่าก็เพียงพอแล้ว

ที่ต่างประเทศมีการแยกชัดเจนระหว่าง Art กับ Illustration และเขาให้ค่ากับคนทำภาพประกอบถึงขนาดมีการประกวดและให้รางวัลกันเป็นเรื่องเป็นราว โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าภาพประกอบเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ให้ทั้งความหมายและความสวยงาม ภาพประกอบในนิตยสารของศิลปินหลายๆ คนผมถือว่าเป็นงานศิลปะได้เลย อย่างงานของคุณปารเมศ ญาณารณพ ใน พลอยแกมเพชร, คุณศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ใน IMAGE หรือคุณวิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ ใน ดิฉัน ทุกวันนี้ภาพประกอบยังคงเป็นส่วนสำคัญในสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะนิตยสาร

การทำงานส่วนใหญ่ของศิลปินหลายคนซึ่งทำงานศิลปะอยู่ก่อนแล้ว ที่ถูกชักชวนให้มาทำภาพประกอบ ซึ่งผมคิดว่าเป็นความนึกสนุกของศิลปินมากกว่าอย่างอื่น แต่บางคนก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะจากการทำภาพประกอบลงนิตยสารจริง เนื่องจากนิตยสารเป็นสื่อที่กว้างและตรงกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว สำหรับผมก็คิดแค่ว่ามันเป็นการเกื้อหนุนกันก็เท่านั้น

ผมว่าเพราะสื่อต้องการ celebrity ที่หลากหลาย มีนักธุรกิจ มีดารานักแสดง มีไฮโซแล้วก็อยากมีคนศิลป์ๆ มาลงบ้าง ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายๆ คนคงไม่ได้ตั้งใจอยากเป็นดาราหรอก แต่สื่อต่างหากที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก ในแง่หนึ่งมันก็ดี ที่อาจทำให้งานศิลปะของเขาเป็นที่รู้จักและขายได้บ้าง ศิลปินส่วนใหญ่ลำบากจะตาย ถ้าความเป็นดาราจะช่วยให้เขาหายใจคล่องคอบ้างก็ทำไปเถอะ ไม่ผิดอะไรหรอก…

ส่วนการทำงานเลือกศิลปินที่มาวาดภาพประกอบในหนังสือของ a day จะเลือกโดยดูองค์ประกอบสองอย่าง อย่างแรกคือดูว่าสไตล์ศิลปะของศิลปินคนนั้นเข้ากับบทความหรือตัวในนิตยสารหรือเปล่า กับสอง ดูว่าตัวศิลปินมีวินัย สามารถทำงานส่งได้ตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ เพราะงานหนังสือกำหนดเวลาออกวางตลาดที่ตรงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนตัวผมเองอาจจะเพิ่มมาอีกข้อ คือดูว่าศิลปินคนนั้นนิสัยดีหรือเปล่า อย่าง คุณโลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) ที่มีชื่อเสียงมานานก่อนที่จะมาทำภาพประกอบให้ a day ผมร่วมงานกับเขาตั้งแต่เขาทำภาพประกอบให้ IMAGE แม้บุคลิกหน้าตาของคุณโลเลและการออกสื่ออยู่เสมออาจจะมีส่วนเสริมให้คนรู้จักตัวเขาและงานศิลปะของเขามากขึ้น ส่วนการทำภาพให้ a day คงมีส่วนบ้างในแง่ของเด็กๆ วัยรุ่นที่เป็นผู้อ่าน แต่ที่สุดแล้วงานของเขามันดีจริงต่างหาก

“ส่วนการที่บางคนซื้องานเพราะตัวศิลปินมากกว่าเข้าใจงาน ผมว่าเป็นสิทธิ์ของเขาและเป็นเรื่องของแต่ละคน…”

“ศิลปิน กับ Event Marketing”

เพียงเพ็ญ พรายแสง Director Manager Public Hit

ตุ๊ก เพียงเพ็ญ พรายแสง นักประชาสัมพันธ์ และนักจัดกิจกรรมตัวยง คร่ำหวอดในวงการมานาน เคยผ่านผลงานการทำประชาสัมพันธ์ให้กับสินค้าแบรนด์ดังๆ ด้วยระบบวิธีการ และกลยุทธ์ทางการประชาสัมพันธ์ ที่มี celebrity เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

“อาจารย์โต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) คุณแป้ง (ภัทรีดา ประสานทอง) และโอ่ง (กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์)มาช่วยในงานต่างๆ ก็เพราะงานศิลปะของเขาเหล่านั้นเป็นประประเภทฟรีฟอร์ม (free from) เป็นรูปแบบที่สามารถพลิกแพลงให้เข้ากับงานต่างๆ ได้ไม่ยาก และไม่มีข้อจำกัดตายตัว หลากหลายรูปแบบ คนส่วนใหญ่ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย สวย ไม่ยึดติดกับภาพใดภาพหนึ่งมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงสามารถวาดรูป หรือประดิษฐ์คิดค้นอะไรต่างๆ ให้เข้ากิจกรรมต่างที่จัดขึ้นได้เป็นอย่างดี เช่นงานเปิดตัวคอนโดที่เพิ่งเสร็จไป ก็เชิญบุคคลเหล่านี้มาวาดภาพ และเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กันเต็มที่ ผลปรากฏออกมาว่า เป็นที่ชื่นชอบจากคนที่มาร่วมงานมาก ถึงขั้นมีคนมาสอบถามราคาขอซื้อผลงานของพวกเขา”

นอกจากนี้ เวลาจัดกิจกรรมต่างๆ จะส่งผลให้งานนั้นๆ ดูเบิกบาน สดชื่น สดใส ดูมีชีวิตชีวา มีสีสันให้เล่นได้เยอะ มีคนให้ความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากตัวนักข่าวเอง และกลุ่มไฮโซ เพราะทั้งนักข่าวและไฮโซต่างก็เป็นแฟนของศิลปินอยู่แล้ว

เธอตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าลองสังเกตดู โอ่ง กงพัฒน์ จะเป็นศิลปินที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ตรงที่มีวิธีการนำเสนอตัวเอง ตั้งแต่ การแต่งตัวที่โดดเด่น นักข่าวหรือใครเห็น ก็อยากถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อนำไปลงเป็นภาพงานสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวแมกกาซีน นักข่าวทีวี เพราะเขาเป็นคนที่สร้างให้งานมีสีสันมากขึ้น เช่นเดียวกันการนำเสนอข่าวก็จะมีลูกเล่นมากขึ้น ซึ่งสามารถแสดงให้ผู้อ่านเห็นได้จากภาพที่แทนคำพูดได้เป็นอย่างดี สังเกตได้เลยว่าถ้างานไหนเชิญ อาจารย์โต, แป้ง, โอ่งมาร่วมงาน แขกในงานนั้นจะมากันมากเป็นพิเศษ”

อรุณภรณ์ ลิ่มสกุล Assistant Vice President Customer Relationship Management บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส (AIS)

“เรื่องราวทั้งหมดไม่ได้มีสาเหตุอะไรมากมายเพียงแต่ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ที่เราคิดขึ้นเพื่อที่จะทำให้ลูกค้าพอใจมากที่สุด และเรื่องราวที่เราคิดขึ้น ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า คืออะไรก็ตามที่เป็นไลฟ์สไตล์” อรุณภรณ์ ลิ่มสกุล บอกถึงการเลือกเชิญศิลปินชื่อดังๆ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของ AIS”

ไลฟ์สไตล์ก็มีหลายอย่างด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ ฟังเพลง ถ้าเป็นเรื่องวาดภาพก็เป็นเรื่องของศิลปะ ที่จะต้องมีศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป เป็นที่ยอมรับกันในเรื่องของความสามารถ อย่างอาจารย์โต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ หรือโอ่ง กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ ศิลปินทั้งสองท่านนี้ เรียกได้ว่าถ้าเอ่ยชื่อทุกคนต้องรู้จัก คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว เวลาเราประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ของเรา และมีชื่อของศิลปินเหล่านี้ลงไปด้วย ลูกค้าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ แม้กระทั่งนักข่าวก็ยังสนใจที่จะมาร่วมงาน

ในทุกๆ ครั้งที่จัดกิจกรรมที่มีศิลปินสำคัญๆ อย่างนี้ กิจกรรมของเราก็มักจะแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนที่เคยทำๆ กันมา อย่างเราเคยเชิญอาจารย์โตพาลูกค้าไปหัวหิน สอนการดื่มชาแบบไฮที หรือในช่วงวาเลนไทน์ ก็มีบริการสำหรับลูกค้า serenade สามารถโทรเข้ามาถามอาจารย์โต ขอแนะนำเรื่องการเลือกซื้อดอกไม้ให้เหมาะสมกับความรักรูปแบบต่างๆ

สำหรับผลตอบรับ (feedback) ถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ดี อย่างแรกในเรื่องของความดึงดูดใจ คนเก่งๆ และมีชื่อเสียงก็เป็นที่สนใจจากบุคคลทั่วไปเป็นเรื่องธรรมดา งานไหนมีศิลปินดังๆ ดีๆ มาทำกิจกรรมในงาน แขกที่มาร่วมงานก็จะมากเป็นพิเศษ ทั้งยังช่วยในเรื่องของภาพลักษณ์ของสินค้าก็ดูดีขึ้นอีกด้วย เพราะถ้าเราเลือกเฟ้นแล้วว่า เราจะเลือกใครมาเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกค้า

สิ่งสุดท้ายคือ บุคคลเหล่านั้นจะมีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง และสื่อมวลชนก็ให้ความสนใจ สร้างให้งานข่าวของเขาสวยงามมีความสนุกสนานมากขึ้น แทนที่จะมีแต่เรื่องเดิมๆ”

อรรฆย์ ฟองสมุทร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ Curator ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

มุมมองจากคำบอกเล่าของ Curator ในฐานะนักจัดการศิลปะ และศึกษางานศิลปะ ภายใต้บริบทที่แวดล้อม

– ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ กับภาพประกอบ?

“ผมว่ามันเป็นกลไกของ Popular Culture การเข้าไปอยู่ในจุดตรงนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากว่าใครทำอะไร แต่เป็นเรื่องของเส้นทางเพียง access หนึ่งของสังคม จนทำให้คนในสังคมตีภาพประกอบว่าเป็นงานศิลปะ เพราะประการแรกงานศิลปะไม่ใช่แค่เพียงงานภาพประกอบเท่านั้น ดังนั้น Illustrator กับ Artist เป็นการตีความศิลปะในคุณภาพของ Pop Culture โดยตัวมันเองงานที่เป็น Illustration จึงมีคุณภาพและคุณค่าของงานอยู่สองอย่างคือ 1.สวยงาม 2.เข้าถึงง่าย (easily accessible) แลดูสวยงาม และเข้าถึงง่ายแค่นั้น

– การตลาดศิลปะในปัจจุบัน?

ต้องเข้าใจว่า art marketing กับ art market เป็นคำสองคำที่แยกออกจากกัน “art marketing” เป็นเพียง strategy หลักเพื่อเข้าถึงตลาดของกลุ่มที่เสพงานศิลปะ (art market) การตลาดเดิมเป็นกลยุทธ์ที่จะดึงคนที่ไม่สนใจให้กลับเข้ามาอยู่ในตลาด แต่ปัจจุบัน “การตลาด” ถูกใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อต่อไปสู่ศิลปะ ซึ่งคนทั่วไปก็จะมีสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เขาไม่รู้จัก ไม่สนใจศิลปะ แต่การสร้าง Popularity ผ่านสื่อ เป็นการจัดกลุ่มที่เขาไม่สนใจศิลปะ ผูกไปกับตัวละครที่เขาสนใจแทนที่ผลงาน การติดตานำไปสู่การติดตามผลงาน และสร้างความพึงพอใจต่องานนั้นผ่านตัวบุคคล กระบวนการสร้างของสื่อมันก็เป็นทางหนึ่ง โดยตัวสื่อเองก็เป็นการเอื้อกันเอง ทั้งที่จริงๆมันก็เป็นอย่างนั้น โดยตัวสื่อเองก็ต้องการสิ่งที่จะให้สังคม เป็นตัวสะท้อนภาพความเป็น Upper Middle Class เหมือนกัน

– เมื่อสินค้าระดับบนจงใจใช้ศิลปะเพื่อขาย?

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ประการแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ศิลปะเป็นเรื่องของชนชั้น จะบอกว่าเป็นเรื่องสาธารณะก็คงไม่ได้ อย่างเปิดตัวสินค้าบางชนิด คนจัดงานก็ต้องหาศิลปินที่เกี่ยวข้องกันไปทำ แต่สิ่งที่ผิดปกติก็คือ การส่งสารผ่านตัวบุคคลถึงคุณภาพของงานศิลปะ เป็นเรื่องของการสื่อสาร และเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้รับการยอมรับว่าศิลปะนั้นคุณภาพดี ซึ่งเจ้าของสินค้าเองก็คงบอกไม่ได้ ดังนั้นแค่คำว่าสวยและขายได้จึงเป็น cheap condition เพื่อให้คนเข้ามาดูและ get กับของสวย ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่ามันจะตอบสนองคำว่า “คุณค่า” ได้

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ การตลาดหรือโครงสร้างการตลาดศิลปะบ้านเราอยู่ในประเทศโลกที่สาม หมายความว่า ตอนนี้เราเป็นผู้รับความเป็นสมัยใหม่จากฝั่งตะวันตก ซึ่งก็มีทั้งกระแสรับและต้านไปพร้อมกัน ปัจจุบันเราปฏิเสธศิลปะแบบตะวันตกไม่ได้ เพราะว่ากระบวนการสร้างงานของเราเปลี่ยนจากการวาดบนฝาผนังมาวาดบนผืนผ้าใบ ดังนั้นศิลปะที่เป็นอยู่ “แบบปัจจุบัน” ถูกตีความหมายใหม่ ด้วยการตีความคำว่า “ร่วมสมัย” กลไกการตลาดประเทศเราที่ไม่ได้รับการปูพื้น จึงเป็นที่เข้าใจว่าต้องมีอะไรที่ไม่ร่วมสมัย แล้วทำให้ศิลปะจึงถูกมองให้มุมนี้มุมเดียว คนสนใจศิลปะเพราะคำว่าร่วมสมัย ตลาดบ้านเราตอนนี้จึงอยู่ในช่วงของการขาด Infrastructure ในทางศิลปะ ทั้งระบบแกลเลอรี่และผู้ซื้อที่เป็นนักสะสม เมื่อกลไกทั้งสองอย่างใช้ไม่ได้ การขายศิลปะในบ้านเราจึงต้องใช้เงื่อนไข และกลยุทธ์อื่นๆ เพื่อให้เกิด “การซื้อ” มากขึ้น ไม่ว่าการสร้าง Popularity ทำให้การซื้องานที่ไม่ผ่านพื้นฐานการสะสม โดยการคิดถึงมูลค่าเพิ่ม (valued added) ซึ่งในระยะยาวจึงเป็นเรื่องของการสะสม Trash มากกว่า