STRATEGIES TO ADVANCE YOUR ART CAREER

มีหลายความเห็นที่กล่าวถึงระบบตลาดศิลปะบ้านเรา ถ้าเทียบย้อนไปได้ถึง 70 ปีที่แล้ว ในบางประเทศที่พัฒนา ความคิดเรื่องกระบวนการจัดการในศาสตร์ของศิลปะยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ นักเรียนที่จบจากมหาวิทยาลัยด้านศิลปะไม่ได้เรียนหลักสูตรการจัดการด้านศิลปะโดยตรง แต่เขาและเธอมีทางเลือกเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกธุรกิจ ทั้งที่จำใจ เต็มใจ และลองผิดลองถูก…

ในขณะที่เมืองไทย ระบบแกลเลอรี่ทางศิลปะที่เป็นตัวกลางระหว่างศิลปินผ่านการจัดการไปสู่ระดับผู้ซื้อที่เป็นนักสะสมยังไม่เกิด อยู่ในรูปแบบของการขายงานศิลปะผ่านกิจกรรมที่ศิลปินจัดขึ้นเอง และกลายเป็นตัวบอกคุณภาพงานของตัวเองจากผู้ผลิตเอง ดังนั้นศิลปินแนวคิดใหม่จึงมีวิธีการขายตรงจุดมากขึ้น ทั้งประชาสัมพันธ์และขายงานด้วยตัวเองไปสู่ผู้ซื้อโดยตรง เพื่อทำให้งานของเขาขายมากขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้ว สิ่งนี้ทำให้การซื้อเชิงคุณค่าของผลงานจริงๆ น้อยลง

บ้านเราเพิ่งเปลี่ยนผ่านจากศิลปินในยุคเก่าเข้าสู่ยุคใหม่อย่างก้าวกระโดด น้อยคนที่จะรู้จักชื่อของศิลปินยุคกลาง ในลักษณะที่เป็นตัวแทนของแต่ละยุค การเกิดขึ้นของ “ศิลปินใหม่” จาก “กลุ่มสื่อใหม่” นี้เอง เป็นตัวอธิบาย “การนิยมตัวบุคคล” การสร้างตัวผ่านโมเดลของนักแสดง หรือดารา ก็สร้างขึ้นผ่านสื่อเหล่านี้ ราวกับมายาภาพของคำว่า “ศิลปะ”

จากเดิมที่ “ศิลปินรุ่นเก่า” มักจะสร้างผลงานด้วยการยอมรับจากสังคมในเชิงช่าง ให้ศิลปะและผลงานเป็นศูนย์กลางของความเป็นศิลปิน ผลงานของศิลปินมีความประณีต ใช้เวลานาน ได้รับการพิสูจน์ความคิดด้วยความเชื่อของศิลปะแบบเก่า โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับศาสนาพุทธ พิธีกรรม และวรรณคดี ศิลปินส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะบุคคลที่ได้รับเกียรติทางสังคมสูง โดยจากสถาบันศึกษา และการกลายเป็นตัวแทนของศิลปะระดับชาติ

ในขณะที่ “ศิลปินรุ่นกลาง” บางคนเริ่มปฏิเสธสูตรสำเร็จเดิมๆ เช่น การนำผลงานส่งประกวด หรือการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นอาจารย์ในสถาบัน พวกเขามีความตั้งใจที่จะสร้างงานศิลปะในแนวทางของตัวเอง แม้ไม่เป็นที่ยอมรับ นับถือวิถีการเป็นศิลปินเชิงช่างอิสระ การหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการรวมกลุ่มและแสดงผลงาน การสร้างความสัมพันธ์กับนักสะสม รวมไปถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องในแวดวงโฆษณาที่เกิดขึ้นเมื่อราวปี 2520 ศิลปินหลายคนในยุคนี้พึงพอใจกับหลายบทบาทที่สังคมเพิ่งเปิดรับในเชิงศิลปะ

ปัจจุบัน “ศิลปินรุ่นหลัง” ได้ก้าวผ่านข้อจำกัดของสิ่งที่รุ่นก่อนยึดถือ จากกฎของสิ่งที่ศิลปินควรทำ ไม่ควรทำ ไปสู่สิ่งที่เข้ากับความพึงพอใจและความเป็นตัวของตัวเอง การศึกษาโดยตรงด้านศิลปะอาจไม่จำเป็นเท่ากับมุมมองเชิงความคิด สาระ รวมไปถึงสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ ศิลปินรุ่นหลังสามารถเลือกใช้และเปิดรับสื่อให้เป็นประโยชน์กับพื้นที่แสดงงานศิลปะของตัวเองที่กว้างขึ้นและหลากหลายมิติ โดยสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนออกมา ตั้งแต่ผลงานจนถึงการใช้ชีวิต โดยเฉพาะมีวิธีการสร้างงานที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมเมือง เช่นแฟชั่น นิตยสาร โทรทัศน์ และความเป็นสมัยใหม่

สถานการณ์ และเรื่องราวข้างต้น ล้อมรอบในบ้านเราเวลานี้ เต็มไปด้วยตัวบุคคลที่เป็นตัวละครสำคัญ ซึ่งก็คือ “ศิลปิน” เรื่องราวต่อไปนี้จึงเป็นความสำเร็จของวิธีการสร้างตัว (nobody to somebody) และการสรุปบทเรียนผ่านช่วงต่างๆ ของเขาและเธอ จนมาสู่จุดที่เป็นอยู่ เมื่อเส้นแบ่งระหว่างศิลป์และพาณิชย์ศิลป์เลือนราง กลุ่มศิลปินหรือนักวาดภาพประกอบถูกเชื่อมด้วยมิติทางสังคมบางอย่าง ไปสู่ความเป็นศิลปะแบบผ่านสื่อสารมวลชน จึงถึงเวลาที่ศิลปินอาจต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้กระบวนการของ “โลกใหม่” ด้วยบทเรียนบริหารมากขึ้น เพื่อให้อยู่รอด และสื่อสารบน “ความจริง” ได้

เพราะอะไรที่น้อยคนนักในกลุ่มอาชีพนี้จะประสบความสำเร็จ เมื่อมองอย่างคร่าวๆ เมื่อศิลปินไม่มีกระบวนการ CRM อย่างที่นักการตลาดหลายท่านใช้กัน เพราะเขาทำงานอย่างที่ตัวเองเชื่อและพอใจ ในขณะที่อีกด้านงานศิลปะก็ยังเป็น niche market ทางหนึ่ง ที่ถูกเสพโดยชนชั้นและราคา กลุ่มคนจึงจำกัดด้วยความรู้ และช่องทางการเผยแพร่ ความยากในเชิงการตลาดของข้อจำกัดนี้เราท่านก็รู้กัน

ตัวอย่างวิธีคิดของศิลปินที่ประสบความสำเร็จบางคน จะมีวิธี “เจาะกลุ่มเป้าหมาย” และรู้ “positioning” ของตัวเองที่ดีพอ และวางตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในเชิงส่วนประสมทางการตลาด ไม่ว่าจะเรื่องของการกำหนดราคาให้เหมาะกับเป้าหมายมากกว่าความคิดในเชิงคุณค่าของงานตัวเอง, พื้นที่แสดงงานที่แพร่หลายขึ้นเจาะกลุ่มคนตรงจุด ด้วยวิธีการและรูปแบบควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการใช้คอนเนกชั่นส่วนตัวเพื่อให้งานขายได้มากขึ้น ในขณะที่บทพิสูจน์แบบเดิมๆ คือ ทำงานไปเรื่อยๆ รอให้คนมาเห็นคุณค่า… ก็เริ่มถูกให้ค่าน้อยลง

การที่ศิลปินจะต้องทำตัวให้ celebrity หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือโด่งดังในสังคม จึงเป็นของคู่กันมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ขึ้นอยู่กับว่าศิลปินจะให้น้ำหนักสิ่งไหนมากกว่ากัน ระหว่างความเป็นศิลปิน หรือ celebrity

โอ่ง กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ อาจจะมีภาพของความเป็น celebrity อย่างเด่นชัด ด้วยบุคลิกบวกกับสไตล์การแต่งตัวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้งานศิลปะของเขากลายเป็น brand สินค้าที่มีค่ามีราคาในสายตาของกลุ่มคนสมัยใหม่ ที่นิยมเสพงานประเภทโมเดิร์นอาร์ต เช่นเดียวกับศิลปินยุคใหม่อย่าง แป้ง-ภัทรีดา ประสานทอง หรือโลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ที่ชื่อเสียงของเขาและเธออาจจะเป็นที่จดจำของผู้คนในสังคมมากกว่าผลงานทางด้านศิลปะด้วยซ้ำ

ภาพความเป็น celebrity ศิลปินยุคเก่า อย่าง ถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่สะท้อนความเป็นปัจเจกบุคคล จะมาคู่กับความโดดเด่นของงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ในขณะที่ความเป็นศิลปินรุ่นกลาง อย่าง ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี แม้ว่าจะมีแฟนคลับกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่นชอบผลงานมา หากแต่บางช่วงเวลาที่ศิลปินรุ่นกลางก็ต้องสร้างความเป็น celebrity ให้เป็นที่จดจำแก่สังคม

เรื่องราวที่เล่าผ่านตัวละครที่จะได้พบทุกคน เป็นบทพิสูจน์แง่คิดอะไรบางอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป จนทำให้การวิเคราะห์ ทบทวน หรือ redefining อะไรบางอย่างเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อไป