กฤตินี ณัฎฐวุฒิสิทธิ์ อาจารย์นักการตลาดอัจฉริยะ

หน้าใสๆ เจือเครื่องสำอางบางเบา รูปร่างเล็ก ไว้ผมสั้น ดูทะมัดทะแมง คือ ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงหน้า ซึ่งดูอ่อนกว่าอายุจริงในวัยย่าง 29 ปี อย่างคาดไม่ถึง

เธอผู้นี้มีดีกรีปริญญาเอกสาขาการตลาดจาก Kellogg School of Business จากการเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ซึ่งคัดเลือกมาจากผู้ที่จบปริญญาตรีเกียรตินิยมเหรียญทองอันดับหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และเมื่อย้อนไปก่อนที่เธอจะเอนทรานซ์มาเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่งของสายวิทย์ ปี 2536 จนได้รับพระราชทานทุนภูมิพล ในการเรียนระดับปริญญาตรี) เธอผ่านการเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแล้ว 1 ปี ซึ่งนี่เอง ที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ทำให้เธอได้ค้นพบตัวเอง

จนกระทั่งมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2546 จนปัจจุบัน

เมื่อชีวิตถึงจุดเปลี่ยน

หลังจากสอบเทียบได้ขณะเรียนอยู่ชั้นม. 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเอนทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งที่เลือกไว้ กฤตินีผิดหวังกับสิ่งที่เธอเลือก ปีต่อมาจึงเอนทรานซ์ใหม่ โดยหาข้อมูลจริงก่อนตัดสินใจเลือกคณะ เธอใช้วิธีเดินเข้าไปถามนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนเช่นการทำ Marketing Survey ทั้งที่ตอนนั้นไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าการตลาดคืออะไร สิ่งที่เธอทำในตอนนั้น เป็นทักษะเบื้องต้นของการทำงานวิจัย ที่ในอนาคตสิ่งนี้เองเป็นตัวนำชีวิตการงานที่มีความสุขและประสบความสำเร็จมาให้

“วันนั้นเดินเข้าไปที่คณะพาณิชย์ฯ ธรรมศาสตร์ เจอพี่ที่พูดเรื่องการตลาดว่า คือการที่เราต้องเข้าใจลูกค้า เข้าใจผู้บริโภคว่าคิดอย่างไร แล้วพยายามจะนำเสนอสิ่งที่ดีและเหมาะกับความต้องการนั้น ฟังแล้วรู้สึกว่าใช่เลย ส่วนแรกคือชอบ อีกส่วนคือต้องทำได้ดีด้วย” กฤตินีเทหมดหน้าตักในการเอนทรานซ์รอบสอง เธอเลือกคณะพาณิชย์ฯ มธ. เป็นอันดับหนึ่งและอันดับเดียวเท่านั้น ผลปรากฏว่าเธอสอบเข้าได้ด้วยคะแนนสูงสุดของสายวิทย์ ในปีนั้น (2536) ซึ่งส่งผลให้ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลในการเรียนตลอด 4 ปีด้วย

ชีวิตในรั้วเหลืองแดง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในตอนนั้น คือ อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร มีคำกล่าวที่กระทบใจนักศึกษาใหม่คนหนึ่งอย่างไม่ลืมเลือน และได้ใช้เตือนตัวเองทุกครั้งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือทำอะไร

“ยินดีต้อนรับเพื่อนใหม่เข้าสู่รั้วธรรมศาสตร์ ที่ใช้คำว่าเพื่อนใหม่ เพราะว่าที่สถาบันเรา ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน คุณมีรุ่นพี่รุ่นน้องด้วยเคารพ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณแสดงความคิดเห็นกับรุนพี่ไม่ได้ สิทธิทางด้านความคิดเห็นเป็นเสมือนเพื่อนกัน ไม่ว่าอายุต่างกันมากน้อยแค่ไหน คุณก็แสดงความคิดได้” และประโยคทองที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ยิ่งตอกย้ำเสมือนนำเธอผ่านเข้าสู่พิธีกรรมเปิดตาที่สาม

ระหว่างเรียนเธอได้ทำกิจกรรมมากมาย เช่นเดียวกับนักศึกษานักกิจกรรมส่วนใหญ่ ต่างกันตรงที่ เธอผสานความรู้ในหองเรียนเข้ากับการทำกิจกรรม และนำประสบการณ์จากการทำกิจกรรมมาเสริมการเรียนในห้องได้อย่างกลมกลืนและมีประสิทธิผล ทั้งกิจกรรมมาร์เก็ตติ้งคลับ และรับทำวิจัยทางการตลาดให้บริษัทเอกชน สุดท้ายก็จบออกมาพร้อมกับคะแนนเกียรตินิยมเหรียญทองอันดับหนึ่ง

ใครบอกว่าชีวิตที่ดีต้องราบเรียบ

ด้วยมีเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าอยากเป็นอาจารย์ จึงเดินทางไปอเมริกาทันทีหลังเรียนจบ ในปี 2540 หนึ่งในสถาบันที่เธอส่งใบสมัครไปก็คือ Kellogg ซึ่งเธอหาข้อมูลมาก่อนแล้วเป็นอย่างดี และเดินทางไปขอคำปรึกษาจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ด้วยตนเอง เนื่องจาก ดร.สุวิทย์ นั้นเป็นศิษย์เก่า Kellogg ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า สิ่งที่เด็กจบใหม่อย่างกฤตินี ได้สร้างคอนเนคชั่นไว้ในวันนั้น จะส่งผลมาถึงอนาคตของเธอด้วย

แต่เธอไม่ผ่านการคัดเลือกของ Kellogg ในครั้งนั้น เพราะขาดประสบการณ์การทำงาน เมื่อกลับมาเมืองไทยเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจพอดี หลังจากตระเวนสมัครงาน และ “เดินจนรองเท้าสึกไปหลายคู่” เธอจึงเปลี่ยนยุทธวิธี นำหลักการตลาดเข้ามาปรับใช้ โดยทำซองที่มีบุคลิกเฉพาะตัว “เพราะไปรษณีย์ยังไงคนต้องเปิด อย่างน้อยต้องผ่านสายตา แต่ว่าจะมาร์เก็ตติ้งยังไงให้คนอ่านและดำเนินการต่อ ก็เลยทำเป็นแพ็คเกจ เขียนว่า Look! Who I am. เสนอจุดเด่นต่าง ๆ เช่น เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง ทุนภูมิพล ชำนาญทั้งภาษาไทย /อังกฤษ และประสบการณ์ที่มี”

จากนั้นเธอก็ถูกบริษัทเชลล์เรียกตัวเข้าไปสัมภาษณ์ และได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในโครงการ Fast Track สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและมีโอกาสเติบโตในองค์กรอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำงานในโครงการ Fast Track จะมีพี่เลี้ยง (Mentor) คอยกำกับ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนจะหมุนเวียนไปฝ่ายอื่นๆ ต่อ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวคิดและการปรับตัวเข้ากับงานฝ่ายต่างๆ ภายในองค์กร อาทิ การทำโปรเจกต์เรื่องDistribution Center (DC) ให้กับร้าน Select ของปั๊มเชลล์, แผนก Micro Marketing และเป็น Lubricant Supply Manager ซึ่งเธอใช้เวลาอยู่ที่เชลล์ประมาณ 2 ปี

โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ

ขณะที่เธอกำลังก้าวหน้าอยู่ที่เชลล์ วันหนึ่งก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่คณะพาณิชย์ฯ ที่สนิทกัน โทร.มาบอกว่าอีกไม่กี่วันจะปิดรับสมัครคัดเลือกเข้ารับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นโอกาสที่จะได้ไปเรียนต่อ ณ สถาบันที่เธอเคยพลาดหวังมาแล้วครั้งหนึ่ง นั่นคือ Kellogg School of Management, Northwestern University

“ทุนอานันทมหิดลมีเงื่อนไขว่าจะรับเฉพาะคนที่จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือสองเท่านั้น วิธีคัดเลือก อาจารย์จะพิจารณาใบสมัครแล้วคัดเราไปอีกที เอาตัวแทนแต่ละคณะไปพิจารณาอีกรอบ ที่ยากมากคือรอบคณะ เพราะตัวเลือกเยอะ และใกล้เคียงกัน ต้องพยายามพิสูจน์ตัวเอง เราก็แสดงจุดยืนว่าเรามีความเข้าใจในสาขาวิชาการตลาดอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ชอบมาก แต่พิสูจน์ได้ด้วยผลงานที่ผ่านมาว่าทำอะไรบ้าง จนถึงขณะนั้น ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทเชลล์ ตอนสัมภาษณ์ก็บอกกรรมการว่าเราตั้งใจไปเรียนที่ Kellogg อยู่แล้ว บินไปสัมภาษณ์มาแล้วด้วย”

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครได้ทุนอานันทมหิดลในสาขานี้มาก่อน การตลาดถูกมองภาพว่าเป็นผู้ร้าย ที่กระตุ้นบริโภคนิยมและความฟุ่มเฟือย แต่คำตอบของกฤติณีก็สามารถโน้มน้าวกรรมการได้เป็นผลสำเร็จ “ก็อธิบายว่า หลักการตลาดจริงๆ คือการหาความเหมาะสมระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย ที่ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ตอนนั้นเป็นเพราะไม่พยายามมองดีมานด์ที่แท้จริง การตลาดที่เป็นวิชามารก็มีจริง ที่ไปปลุกกระแสความอยากได้อยากมีของคน กระตุ้นการบริโภค แต่นั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมที่ถูกต้องทางการตลาด” และแล้วเธอก็ได้รับทุนไปเรียนในปี 2542

ทำในสิ่งที่รัก-รักในสิ่งที่ทำ

กฤติณีมีต้นแบบและแรงบันดาลใจ คือ อ.กิตติ ศิริพัลลภ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เธอตั้งใจแนวแน่ที่จะเลือกอาชีพเป็นอาจารย์ แม้การรับทุนอานันทมหิดลจะไม่ได้มีข้อผูกมัดแต่อย่างใด แต่เธอก็กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ทันทีที่จบการศึกษาในปี 2546

“ตอนที่สัมภาษณ์ทุนฯ ถูกถามว่าจะกลับมารับใช้ประเทศชาติได้อย่างไร เราก็บอกว่าอยากจะมาเป็นอาจารย์ ตอนเรียน อ.กิตติ เป็นอาจารย์ที่เราชื่นชมมาก ท่านเป็นต้นแบบที่เราอยากเอาอย่าง ก็บอกทางคณะกรรมการว่า อยากเป็นอาจารย์เพราะได้ทำงานในสิ่งที่ชอบคือด้านการตลาด ได้สอนคน ได้ถ่ายทอดความรู้ งานอาจารย์เป็นการให้กลับสู่สังคม และมีคุณค่า นอกจากกระตุ้นความคิดในเชิงวิชาการแล้ว ยังมีเชิงจริยธรรมด้วย เรื่องค่าตอบแทนไม่กังวล”

เธอเองมีประสบการณ์การสอนมาแล้วในระหว่างเป็นนักเรียน Ph.D. ที่ Kellogg ซึ่งเทอมสุดท้ายได้เป็นอาจารย์สอนหลักการตลาดทั่วไปให้กับนักศึกษาปริญญาตรีที่ Northwestern University และในช่วงที่เรียนอยู่นั้นเองที่คอนเนคชั่นระหว่างเธอกับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ บังเกิดผลขึ้น ตอนที่เธอเรียนอยู่ปีที่ 3 เป็นช่วงที่มีโปรเจกต์ Branding Thailand เกิดขึ้น โดยที่คณบดีของ Kellogg เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกฯ สำหรับโครงการนี้ และมีการร่วมงานกันกับ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ (ที่ปรึกษาดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ซึ่งเป็นศิษย์เก่า Kellogg เช่นกัน) เธอจึงได้รับการติดต่อจาก ดร.สุวิทย์ ให้ร่วมทำงาน และช่วงซัมเมอร์ 2544 ได้กลับมาช่วยงานโครงการนี้ที่ศศินทร์ ทำให้ได้พบกับ อ.เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการศศินทร์ และจึงมีโอกาสมาสอนที่นี่

นอกจากเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาดแล้ว แล้วเธอยังรับทำงานให้กับศศินทร์ Consulting Unit ให้บริการที่ปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นโปรเจกต์ของภาครัฐ ส่วนใหญ่เรื่องการท่องเที่ยว และมีการจัดฝึกอบรม เช่น โครงการผู้ว่าซีอีโอ และสอนคลาสนายแพทย์สาธารณสุข เรื่องการตลาด ให้รู้จักการนำการตลาดไปประยุกต์ใช้กับเรื่อง OTOP และการทำ Health Center Hub ในเอเชีย นอกจากนั้นมีการรับเชิญไปบรรยาย เช่น ที่ปูนซิเมนต์ไทย สมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย เรื่องการสร้างแบรนด์เน็ตเวิร์คสำหรับเสื้อผ้าไทย และทำงานวิจัยที่ทำต่อเนื่องอยู่ รวมทั้งการเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงภาคธุรกิจเอกชน ของสภาพัฒน์ด้วย

สุดท้ายเธอย้ำอีกว่า “ได้ลองทำงานบริษัทมาแล้ว ยังไงก็เลือกที่จะเป็นอาจารย์ สนุกที่ได้ทำหลายอย่างพร้อมกัน ตอนนี้รู้สึกว่ามาถึงจุดที่พอใจในชีวิตแล้ว เพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เคยมีคนถามว่าลองหาคำมานิยามตัวเองตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ตอบว่า content รู้สึกพอใจ มีความสุขกับการเลือกเป็นอาจารย์และปรับปรุงงานของตัวเองอยู่เสมอ”

Profile

Name : ดร. กฤตินี ณัฎฐวุฒิสิทธิ์
Born : 5 ธันวาคม 2518 ที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
Education :
ประถม รร.วีรศิลป์ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
มัธยมต้น รร.สตรีวิทย์ ถนนราชดำเนิน
มัธยมปลาย รร.เตรียมอุดม
ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2540 เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
ปริญญาโท-เอก Kellogg School of Management, Northwestern University ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล (สิงหาคม 2542 – สิงหาคม 2546)
Career Highlights :
พ.ศ.2540-2542 Shell (Fast Track Program)
พ.ศ. 2546- ปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาควิชาการตลาด)
Family :
บิดาเป็นแพทย์ มารดาเป็นพยาบาล เปิดคลินิคอยู่ที่ อ.ท่าม่วง มีน้องชาย 1 คน ขณะนี้ได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ อยู่ที่ประเทศเยอรมนี