ไม่จำเป็นต้องเจาะลูกค้าเกย์ และเนื้อหา ก็สามารถใช้ในการสร้างตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าได้ ด้วยเหตุนี้ UBC ตัดสินใจนำ “Playing It Straight” เรียลลิตี้โชว์เกมใหม่ ที่เพิ่งบรรจุลงผังรายการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าแห่งเรียลลิตี้ในเมืองไทย UBC ก็หมั่นเอารายการดังๆ ที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาใจแฟนๆ
เมื่อเรียลลิตี้โชว์ค้นหารักแท้ (Dating Show) มีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น The Bachelor, The Bachelorette,
Next Joe Millionaire ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหาคู่เดต หรือเป็นผู้หญิงที่หาคู่เดตในฝันก็จำนวนมาก รายการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายมักจะหาคู่เดตผู้หญิง ความแปลกใหม่ของรายการอย่าง “Playing It Straight” ไม่ใช่แค่เอาผู้หญิงมาหาคู่เดตผู้ชาย แต่รายการได้เอาคำถามแห่งยุคที่หลายๆ คนสงสัย ไม่ว่าจะเป็นชายจริงหรือหญิงแท้ว่า …จะเชื่อได้อย่างได้ว่าหนุ่มหล่อที่เราเห็นคนนี้ไม่ใช่ “เกย์” !!!
รายการนี้เริ่มต้นออกอากาศครั้งแรก เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ของ FOX Network กับการทดสอบสัญชาตญาณที่สุดแสนจะทันสมัยที่ชื่อ “Gaydar” (เกย์ด้าร์) ที่ฮิตกันทั่วโลกและบ้านเรา เกย์ด้าร์ มาจากคำว่า เกย์ บวกกับ เรด้าร์ โดยรวมก็คือเรด้าร์สำหรับทดสอบเกย์ ออกจากกลุ่มชายแท้ เพราะสมัยนี้หลายคนก็ดูเนียนเหลือเกิน ซึ่งลูกเล่นของรายการนี้ก็เป็นกิมมิกที่โดนใจ และถูกใช้ให้เห็นเชิงการตลาดในบ้านเราเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก หรือโฆษณาในโทรทัศน์ ซึ่งวิธีการจริงๆ คงไม่ง่าย แค่เปิดเพลง “I will survive” หรือดูว่าใครนิ้วก้อยชี้พรวดออกมาเวลาจับสิ่งของ หลายคนที่มาอยู่ในรายการนี้ก็เนียน จนเกย์แท้ๆ เดาผิดกันหลายคน
ด้วยกติกาง่ายๆ ที่ว่าเกย์คนไหนสามารถ “แอ็บ” เนียนและนานที่สุด จนเป็นคนสุดท้ายที่ผู้หญิงเลือกเป็นคู่เดต เขาก็จะได้เงินรางวัลกลับบ้านไป 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐใส่กระเป๋ากลับบ้านไป แต่ถ้าผู้หญิงเขาเลือกชายแท้ เธอก็จะได้เงินรางวัลหารครึ่งกับผู้ชายคนนั้น ไม่ต้องกลับบ้านมือเปล่า
“แจ็กกี้” สาวน้อยแสนสวย จะต้องใช้ชีวิตแบบคาวเกิร์ลในไร่ที่เนวาดา ร่วมกับชายหนุ่ม 14 คนที่แอบแฝงมา ซึ่งเธอรู้อย่างเดียวว่าในจำนวนนั้นมีคนที่เป็นเกย์อยู่ด้วยแต่ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ ตลอด 8 ตอน แจ็กกี้ต้องคัดชายหนุ่มออกไปเรื่อยๆ จนถึงคนสุดท้ายที่ต้องมาลุ้นแจ็กพอตว่าเขาเป็นหรือไม่เป็น
การใช้ชีวิตในบ้านที่ทำให้ดูแอบลุ้นพฤติกรรมของชายหนุ่มแต่ละคน กับความสงสัยต่างๆ นานา ท่าทางของบางคนที่เหมือนจะใช่ แต่กลับไม่ใช่เกย์ สร้างความมึนงงในคนดูและแจ็กกี้อย่างมาก แค่สองสัปดาห์แรกแจ็กกี้ก็เลือกชายแท้กลับบ้านไปแล้วมากกว่าครึ่ง ซึ่งคนดูก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นหรือไม่จนกว่าแจ็กกี้จะเลือกเขาออกจากการแข่งขัน คนดูส่วนใหญ่ก็ลุ้นและเอาใจช่วยแจ็กกี้อยู่มาก
หลังจากออกอากาศไปได้สามตอนแรก ปรากฏรายการนี้ได้รับความนิยมมากมีคนดูในอเมริกาเฉลี่ยตก 3.84 ล้านคน แต่แล้วก็เป็นที่ฮือฮาเมื่อฟ็อกซ์เลิกออกอากาศ แต่การแข่งขันก็มีต่อไปจนสิ้นสุด แล้วไปฉายให้ดูออนไลน์ผ่านเว็บไซต์แทน เนื่องจากตอนแรกมองเป็นความหวังที่อยู่ในช่วงไพร์มไทม์แต่เรตติ้งไม่ดีเท่าที่ควรอย่างที่ช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นเพราะการแข่งขันที่สูง
อรรถพล ณ บางช้าง ผู้อำนวยการฝ่ายรายการและภาพยนตร์ต่างประเทศของ UBC บอกว่า การนำรายการ Playing It Straight เข้ามาออกอากาศในไทย ไม่ได้ต้องการเจาะลูกค้ากลุ่มที่เป็นเกย์ แต่เป็นเพราะเนื้อหาของรายการที่ให้ความบันเทิง และเรื่องราวของเกย์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในสังคม จึงได้ถูกนำมาเป็นเนื้อหาเป็นเกมโชว์
“ถ้าเป็น 20 ปีที่แล้ว อาจเป็นเรื่องผิดปกติ ที่เกย์ต้องปิดบัง แต่เวลานี้สังคมไทยเริ่มเปิด ยอมรับความเป็นเกย์มากขึ้น ที่สำคัญรายการนี้ดูสนุก เป็นเรื่องของชั้นเชิง เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะดูว่าใครเป็นเกย์หรือไม่เป็น สอดคล้องกับสังคมไทยเวลานี้ ความเป็นส่วนหนึ่งของเกย์ที่มีอยู่ในสังคม ต่อให้นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน เราไม่รู้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็น”
Playing It Straight ไม่ใช่รายการเพื่อเจาะไปยังคนดูที่กลุ่มเกย์ แต่เป็นการโปรโมตความเป็น entertainment ซึ่งเป็นจุดหลักของการคัดเลือกรายการ
“มีรายการเรียลลิตี้ในสหรัฐอเมริกาที่ดังๆ อีกมากที่เรตติ้งดี แต่เราไม่ได้เอาเข้ามา หลายรายการเกี่ยวกับเรื่องของทนายความ เรื่องของศาล ซึ่งเรื่องลักษณะนี้ คนไทยอาจเฉยๆ เวลานำเรื่องไหนเข้ามา จะต้องดูรสนิยมความชอบ ที่สำคัญต้องดูสนุก อย่างรายการ Playing It Straight คอนเซ็ปต์ของเรื่องมันสนุก และสังคมไทยก็ยอมรับมากขึ้น”
ดังนั้นแม้จะเป็นเรื่องราวของเกย์ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเกย์เสมอไป
“ถ้ารายการที่โปรโมตกลุ่มนี้ จะต้องเป็นรายการอย่าง “queer as folk” ซึ่งผมก็ไม่ได้เอาเข้ามา เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของความรักของผู้ชายของผู้ชาย ถ้าผมเอามาฉายแสดงว่าผมอยากโปรโมตกลุ่มนี้แน่นอน เพราะว่าเกย์เขาอยากดู แต่อันนี้เป็นเกมโชว์ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้โจทย์มาให้เลือกสิ่งที่มันพรางตา คนที่เขาเป็น เขาก็ไม่ได้มาทำว่าฉันเป็น เขาต้องทำเป็นผู้ชาย มันไม่มีอะไรที่โปรโมตตลาดนี้เลย
ผมว่าถ้าเราจะสร้างเซกเมนต์ตลาดนี้โดยเฉพาะก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราจะทำเร็วเกินไปหรือเปล่า คือ ถ้าเราทำเซกเมนต์นี้ออกมาจะมีกระแสที่บางคนออกมาบอกว่ารับไม่ได้ แต่ถ้าให้ผมทำ ผมยินดีทำ… เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นฟรีดอมของความคิดของการใช้ชีวิตของแต่ละคน แต่ว่าการทำรายการพวกนี้ ผมมองว่าถ้ามองในแง่การตลาดไม่ได้เป็นการโปรโมตในแง่เกย์ แต่เป็นการเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จริงๆ เราก็เห็นคนที่เป็นเกย์ในสังคมไทยก็มีความสามารถ อยู่ในแนวหน้า แต่ว่าสิ่งที่เราได้จากตัวรายการไม่ได้โปรโมตให้ใครเป็น เราได้สิ่งที่เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์เพราะว่าเขาเก่งอยู่แล้วต่างหาก”
การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์ ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องมุ่งเจาะจงไปยังลูกค้ากลุ่มเกย์ หากแต่เป็น “เนื้อหา” ที่สำคัญ ที่สามารถนำมาใช้จุดขายในการสร้างตลาด โดยเฉพาะในแง่ของความบันเทิง ส่วนเรตติ้งจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็ต้องรออีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นปกติของยูบีซีที่จะมีการวัดเรตติ้งทุก 3 เดือน
แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้คงถูกใจบรรดาสาวๆ ของเมืองไทย ทั้งในแง่มุมของความบันเทิง และความท้าทายจากการรู้จักตัวตนที่แท้จริงชายหนุ่มใกล้ตัว ไม่เช่นนั้นพ็อกเกตบุ๊กหลายเล่มที่นำเสนอเรื่องราวนี้ เช่น บันทึกรักสีม่วง (อิ๋ง อิ๋ง) เป็นต้น จึงขายดิบขายดี
Did you know?
*Gay Tips
MSM ย่อมาจาก Men Who Have Sex With Men เป็นคำจำกัดความสำหรับผู้ชายที่อาจไม่ได้เป็นเกย์ แต่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน
*Gay ON TV
เมื่อรายการโทรทัศน์ในต่างประเทศให้ความสนใจนำเนื้อหาไลฟ์สไตล์ของเกย์เข้ามาเพื่อบรรจุอยู่ในรายการโทรทัศน์ ทำให้ประเด็นความน่าสนใจในชีวิตของเกย์ในแง่มุมต่างๆ ถูกใช้เป็นกิมมิกการตลาด ดึงกลุ่มคนสนใจและอยากรู้เรื่องราวชีวิตของพวกเขามากขึ้น
รายการเรียลลิตี้หลายรายการเลือกผู้แข่งขันหลากหลาย ทั้งอายุ หน้าที่การงาน หรือแม้แต่รสนิยมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น Survivor, Big Brother อย่างใน The Amazing Race ก็มีคู่รักเกย์ที่มาแข่งขันเกือบทุกซีซั่น รวมถึงมีคู่เกย์ที่ชนะการแข่งขัน เพื่อให้รายการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และมีความอยากดูชีวิตของพวกเขามากขึ้น ก่อนที่ความสนใจจะเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นรายการเรียลลิตี้ที่เดินเรื่องด้วยเกย์โดยเฉพาะหลายรายการเช่น Boy Meets Boy, Gay Weddings (Bravo TV), Playing It Straight (Fox Entertainment)
นอกจากนั้นยังมีรายการแนว “Make-Over” (เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น) โดยใช้พิธีกรหลักที่เป็นเกย์ และเพศที่สาม ไม่ว่าจะเป็น Queer Eye for the Straight Guy, หรือ The Brini Maxwell Show (Style Network www.brinimaxwell.com) แม้แต่รายการอย่างของไทยอย่าง “Makeover BY DEZIGN” ทุกวันอาทิตย์เวลา 15.00 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ก็ใช้ความสามารถพิเศษของคนกลุ่มนี้ดำเนินรายการเหมือนกัน ที่ถือเป็นรายการแนวใหม่ที่มีคนนิยมมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นละครซีรี่ส์ เช่น “Will&Grace” ที่ว่าด้วยเรื่องราวสนุกๆ น่ารัก กับชีวิตของเกย์ที่ชื่อวิลกับเพื่อนหญิงที่ชื่อเกรซ ที่แพร่ภาพใน UBC มาแล้วหลายปี หรือซีรี่ส์เกย์แท้อย่าง “Queer as Folk” ที่มีหลายเวอร์ชั่นทั้งอังกฤษและอเมริกา ที่ฮือฮาว่าด้วยเรื่องราวความรักและเซ็กซ์ของเกย์ เป็นที่นิยมของเกย์ไทย แต่ในไทยหาชมกันได้ตามศูนย์เช่า หรือหิ้วแผ่นมาเองจากเมืองนอก เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการเซ็นเซอร์ไปหน่อย หากใครที่คิดจะเอาโปรแกรมโทรทัศน์เข้ามาทำตลาดนี้โดยตรง
ในขณะที่ละครซีรี่ส์ของไทยเอง อย่าง “รักแปดพันเก้า” ซึ่งรวมเรื่องราวรักหลายแบบที่มีเรื่องราวของเกย์ด้วย ออกอากาศครั้งแรก 11 ม.ค. 2547 หลังจากจบชุดแรกไปพักหนึ่ง ชุดที่ 2 ก็ตามมา “จอนกับธี” คงเป็นคู่รักในฝันของเกย์ไทยทั่วบ้านทั่วเมือง ภาพของชายหนุ่มสุภาพ 2 คน ท่าทางการแต่งตัวไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นเกย์ เรื่องราวก็มีผสมผสานกับคู่รักชายหญิงไม่ได้โปรโมตเป็นเกย์ล้วน แต่ก็มีกิจกรรมแฝงสำหรับแฟนละครที่เหนียวแน่นอยู่บ้าง เช่น
– หนังสือพิมพ์คมชัดลึก กับนักแสดงจากเรื่องนี้ร่วมจัดกิจกรรม World Carnival On Tour With Love 8009 เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2548 โดยให้ ส่ง SMS เพื่อชิงรางวัล ทัวร์เครื่องเล่น เวิลด์ คาร์นิวัล
– กลุ่มคนรักจอน-ที จัดงาน Meeting ขึ้นมาถึง 4 ครั้งแล้ว
– VCD Boxset รักแปดพันเก้า จำหน่ายในราคา 999 บาท
จะเห็นได้ว่ารายการโทรทัศน์ที่มีให้เห็นมากขึ้น ก็แสดงถึงการขยายพรมแดนและการยอมรับของสื่อ พร้อมๆ กับโอกาสทางการตลาด เพราะนับว่าประชากรกลุ่มนี้ ที่บริโภคสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงกับตัวเองเริ่มมีมากขึ้นตามไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะกลุ่มเกย์ที่มีไลฟ์สไตล์ของตัวเองชัดเจน
*Reality Show…เกมปั้นเกย์
มากกว่า 10 รายการที่ UBC นำ Reality Show ชื่อดังจากต่างประเทศมาออกอากาศมากมาย ตั้งแต่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเอง (Academy Fantasia) มาทำเป็น local production จนถึงรายการที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศเกือบทุกรายการก็มีให้ดูที่ UBC รายการที่นำเข้ามาจำนวนมากมายที่แทรกลงอยู่ในช่องต่างๆ จับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละช่องอย่างครบครัน นับเป็นความต่อเนื่องหลังจากการปลุกกระแสเรียลลิตี้จนประสบความสำเร็จอีกด้านหนึ่งของเรียลลิตี้สำหรับเกย์
– Manhunt : The Search For American’s Most Gorgeous Male Model : UBC INSIDE 17 : วันพุธ : 22.15 น.
แม้จะไม่ระบุว่าเป็นรายการที่จับกลุ่มเป้าหมายใดโดยตรง แต่ก็ได้รับเสียงฮือฮาตอบรับจากเกย์ไทยมากพอสมควร จากจำนวนกระทู้บนเว็บบอร์ดเกย์จำนวนหนึ่งที่พูดถึงรายการนี้ Manhunt เป็นรายการหาหนุ่มหล่อเร้าใจเพื่อไปเป็นนายแบบ แน่นอนว่าชายหนุ่มรูปงามในแบบเปลือยอก ย่อมเป็นที่ดึงดูดให้เกย์หลายคนติดตามรายการนี้ และเอาใจลุ้นหนุ่มๆ ที่ตัวเองเชียร์ พร้อมทั้งสาวๆ หลายคนที่แอบเชียร์ทางยูบีซีอยู่ที่บ้าน
พักหลังรายการเรียลลิตี้แนวเกย์ก็เป็นอีกรายการหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง แม้ยังไม่ได้มีโอกาสเข้ามาให้คนไทยได้ชม ไม่ว่าจะเป็น “Queer Eye For The Straight Guy” เป็นรายการเรียลลิตี้เกย์ที่ได้รับความนิยมมาก ซึ่งในปีที่แล้วยังได้รับรางวัลเอ็มมี่ในสาขารายการเรียลลิตี้ที่โดดเด่น (Outstanding Reality Program) รายการนี้เริ่มต้นแพร่ภาพในช่วงฤดูร้อนปี 2003 และจำนวนคนดูก็เริ่มมากขึ้นในซีซั่นที่ 2 ว่ากันว่ามีจำนวนคนดูรายการนี้เกือบ 1.7 ล้านคนในช่วงอายุ 25-54 ปี ในช่องเคเบิล Bravo TV (ในเครือ NBC เคเบิลเน็ตเวิร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่ผลิตรายการเอาใจเกย์หลายรายการอย่าง Manhunt, Boy Meets Boy
รายการนี้นำเกย์ 5 คน ที่มีพรสวรรค์ต่างๆ กันมาแปลงโฉมหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งในกลายเป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์ รายการนี้ถูกอกถูกใจคนที่รอลุ้นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละคนที่ถูกสร้างสรรค์โดยเกย์จะออกมาเป็นอย่างไร ความสำเร็จของรายการนี้มีมากจนเรื่องราวของเกย์แต่ละคนถูกตีพิมพ์ออกมา รวมไปถึงหนังสือประเภท How-to ไม่ว่าจะเป็นวิธีกินข้าว ทำกับข้าว แต่งกาย มารยาท รวมไปถึงแผ่นเพลงรวมฮิตของเกย์ ที่ต่อเนื่องมาจากเกย์ทั้ง 5 นี้ก็ถูกทำออกมายอดต่อรายการนี้
– Boy Meets Boy รายการ Dating Show รายการแรกที่นำเกย์เข้ามาเป็นผู้เลือกคู่เดตของตัวเอง มี “เจมส์” เกย์รูปงามวัย 32 ค้นหา Mr. Right จากชายทั้งหมด 15 คน ที่หลอกมาว่ามีทั้งเกย์และผู้ชายซึ่งต้องพยายามทำตัวให้เป็นเกย์ เพื่อที่จะหลอกเจมส์ เพราะหากเขาเลือกผู้ชายเป็นคู่แล้ว หมายความว่าเจมส์ต้องพลาดเงินรางวัล ซึ่งก็เป็นรายการแนวเดียวกันกับ “Playing It Straight”
– Playing It Straight ถูกถอดจากผังช่อง Fox!!! เชื่อหรือไม่ว่า ในสหรัฐอเมริกา รายการเรียลลิตี้โชว์เกี่ยวกับ…เกย์…ไม่เกย์…Playing It Straight ที่สมาชิกยูบีซีได้ชมจบไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้ถูกยกเลิกหลังจากออกอากาศไปได้เพียง 3 ตอน สาเหตุ หลักไม่ได้มาจากประเด็นต่อต้านเกย์ แต่มาจากเรตติ้งที่ยังสูงไม่พอ มีคนชมไม่มากพอ ทำให้ผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ช่อง Fox ต้องยกเลิกการออกอากาศ
ท่ามกลางความไม่พอใจของแฟนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอยู่ ประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศ คิดเป็นเรตติ้งเพียง 2.5 ซึ่งเป้าหมายในตอนเริ่มของการออกอากาศรายการนี้ ต้องการจับเรตติ้งกลุ่มคนหนุ่มสาววัยประมาณ 18-49 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงที่สุด ดังนั้นจะขายโฆษณาได้มาก แต่เวลาที่รายการ Playing It Straight ในอเมริกาออกอากาศนั้นตรงกับช่วงหัวค่ำของทุกวันศุกร์ ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ชมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ปาร์ตี้ ดินเนอร์ ดูหนัง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี Playing It Straight ยังคงความเป็นผู้นำด้านเรตติ้งในวันศุกร์ยอดแย่ เมื่อเทียบกับรายการของช่องอื่นๆ ที่ออกอากาศในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนผู้ชมถึง 5 ล้านคนที่ชมรายการนี้ โดยเป็นกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 12-34 ปี ถือว่าเป็นความประสบความสำเร็จของตัวรายการเอง เมื่อพิจารณาจากเวลาที่ไม่เป็นที่นิยมเลย ยิ่งกว่านั้น แฟนๆชาวอเมริกันยังไม่สิ้นหวังซะทีเดียว
หลังจากที่รายการถูกยกเลิกการออกอากาศ ผู้บริหารของ Fox เห็นใจบรรดาแฟนๆ จำนวนหนึ่งของ Playing It Straight ที่ต้องการทราบตอนจบของรายการ จึงจ้างให้ Cinemanow ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการเช่าวิดีโอออนดีมานด์ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นผู้ดำเนินการออกอากาศออนไลน์ โดยคิดค่าดาวน์โหลดตอนละ 1.99 เหรียญสหรัฐ และหากต้องการครบทั้ง Box Set จำนวน 8 ตอน ราคา 9.99 เหรียญฯ ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดรายการนี้มาชมบนเครื่องพีซีจะต้องมี Window Media Player เวอร์ชั่น 10 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.fox.com/playingitstraight/
Playing It Straight ออกอากาศครั้งแรกในอเมริกาเมื่อต้นปี ค.ศ. 2004 กำกับโดย Lauren Alvarez และเขียนบทโดย Ciara Byrne และ Kim MacQuarrie ที่มาของเรื่องราวทั้งหมดมีอยู่ว่า Byrne ผู้เคยอาศัยอยู่ในย่านเกย์ในวอชิงตัน ดี.ซี. และนิวยอร์ก มีโอกาสได้แอบปิ๊งชายหนุ่มรูปงามหลายคน และเมื่อคบกันผลกลับออกมาว่า เขาเป็นเกย์ เธอจึงเอาประสบการณ์จริงที่เธอเคยเจอมาถ่ายทอดให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในรูปแบบของความบันเทิง สนุกสนาน ขบขัน เพราะส่วนใหญ่รายการเรียลลิตี้จะซีเรียส
แต่กระนั้น เธอเล่าว่า แม้ว่าจะเป็นรายการที่สนุกขบขัน แต่ก็มีแง่มุมที่ซีเรียสแฝงอยู่ด้วย คือ “คนอเมริกันส่วนใหญ่ที่ชมรายการ Queer Eye for a Straight Guy และเห็นเกย์ที่มีจริต เลยเหมาเอาว่าเกย์ทุกคนต้องมีจริตแบบนั้น พูดแบบนั้น แต่งกายแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มีเกย์อีกจำนวนมากที่ภายนอกทำตัวแบบชายแท้ปกติทั่วไป และมีชายแท้อีกจำนวนมากที่มีท่าทีเหมือนเกย์ ทำให้เกิดความสับสนในชีวิตจริง แต่สิ่งที่อยากให้คนนึกถึงร่วมกันคือ พื้นฐานทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ความเป็นเกย์หรือไม่แต่อยู่ที่ความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง…”