มองผ่านโลกเกย์ยุคใหม่จาก “ภาพยนตร์”

The Gay Movies Makers

พจน์ อานนท์ จัดอยู่ในฐานะผู้กำกับคนหนึ่งในบ้านเราที่มีผลงานมาอย่างต่อเนื่อง แม้หนังของเขาไม่ได้มีมุมมองจากนักวิจารณ์ในผลบวกซักเท่าไหร่ แต่เมื่อมองในแง่ของผู้สร้าง หนังของเขาก็ได้รับการตอบรับอย่างสม่ำเสมอ เพราะจากการที่เขาเป็นผู้กำกับหนังทำเงินคนหนึ่งของเมืองไทย

จากผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา หนังของพจน์ได้รับการยอมรับว่าดูสนุกและมีพัฒนาการ รวมไปถึงประเด็นใหม่ๆที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ สติแตกสุดขั้วโลก จนเรื่องล่าสุด “เอ๋อเหรอ” เขายอมรับว่าที่ทางสำหรับหนังแนว “กะเทย” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เขามีความถนัด และเป็นเรื่องที่ยังทำเงินเรื่อยๆ เพราะตลาดกำลังให้ความสนใจ สำหรับหนังที่มีความสนุกสนาน ไม่จริงจัง หรือเศร้ามากนัก แต่บ้านเรา “เกย์” กับ “กะเทย” ถูกนิยามให้ต่างกันในมุมของผู้ผลิต

ประเด็น “เพศที่สาม” ได้กลายเป็นที่พูดถึงในวงการว่าเป็น “หน้าหนัง” ที่น่าสนใจ ซึ่งหมายความว่า ง่ายต่อการขอทุนจากผู้สร้าง โดยจำนวนรายได้ซึ่งเป็นผลตอบแทนกลับมาน่าจะมีโอกาสสูง ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องในประเทศไทยเองมีหน้าหนัง ไม่ว่าจะเป็น หนังผี หนังตลก หนังสงคราม หรือหนังเซ็กซ์ ซึ่งบางครั้งภาพยนตร์บางเรื่องให้ความสำคัญกับหน้าหนังมากกว่าตัวหนังจริงๆ แต่ก็ไม่เสมอไป บางครั้งหน้าหนังไม่ดี แต่ก็เป็นหนังทำเงิน

เพศที่สาม ในแง่หนึ่งจะใช้เป็นแรงจูงใจทางเพศเพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างกระแสก่อนหนังเข้าฉายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าประเด็นที่ดาราชายบางคนถูกโปรโมตผ่านสื่อในการแสดงบทกะเทย อย่าง วินัย ไกรบุตร หรือ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี โดยเฉพาะจากจุดเริ่มต้นของสตรีเหล็ก ทำให้หนังที่ผลิตมาในแนวนี้มีที่ทาง และทำให้ในบ้านเรามีโอกาสออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

– การทำหนังซักเรื่องต้องคิดก่อนไหมว่าจะจับกลุ่มไหน ทำแล้วจะมีคนดูเท่าไหร่

หนังกะเทยกับหนังเกย์ เราคิดว่ามันไม่เหมือนกัน หนังเกย์เราก็ยังไม่เคยทำ เราทำแต่หนังกะเทย คิดจะทำมาตั้งแต่ก่อนสตรีเหล็ก เรื่อง “ฉันผู้ชายนะยะ” เรื่องนี้ของอาจารย์เสรี (วงมณฑา) มันเคยเป็นหนังมาแล้วตอนที่เราเด็กๆ เราก็อยากทำ เพราะมันเป็นละครเวทีที่ดังมาก เราก็เลยติดต่อขอซื้อบทประพันธ์จากอาจารย์เสรี (วงมณฑา) แล้วมาเสนอที่บริษัทไฟว์สตาร์ แต่เขาไม่อนุมัติ เขาให้เหตุผลว่าหนังกะเทยไม่น่าจะทำเงิน เราก็เลยพับโครงการไป จนได้มาเริ่มทำหนังเรื่อง “โกซิกซ์” เป็นหนังกะเทยที่มีตัวเอกแปลงเพศแล้วมาโกหกกัน ก็เริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้นมา แต่ที่จริงก่อนหน้านั้นเรายังเคยคิดจะทำโปรเจกต์ “ตุ๊ด ตุ๋ย ตุ้ม” ติดต่อทำสัมภาษณ์ เตรียมโปรเจกต์ไว้เรียบร้อยหมดแล้ว แต่เขาก็ไม่ซื้ออีก เราก็เลยหยุดโครงการไป

มันแล้วแต่ว่าเราจะอยากทำแนวไหน ในตอนไหน แต่ตัวเราเองเป็นคนที่ชอบทำหนังอะไรที่คนเขาไม่ทำ อย่างทำหนังเรื่องแรกในชีวิต “สติแตกฯ” เป็นหนังจีน เหาะเหินเดินอากาศ เป็นแฟนตาซี ตลก ก็ทำเพราะมันยังไม่มี และอยากทำ อย่างเรื่องล่าสุด “เอ๋อเหรอ” ก็ยังไม่มีคนเอาชีวิตจริงของคนพวกนี้มาเล่น ตอนที่ทำก็ไม่คิดว่าจะทำเงินเหมือนกัน แค่อยากลองดูว่าเราก็ทำหนังดราม่าเป็นนะ แล้วอย่าง “ว้ายบึ้ม” ก็อยากทำเรื่องเด็กที่เขาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ แต่ถ้าใช้ผู้หญิงแสดง ผู้ชายมันก็ไม่สนุก ก็เลยเอากะเทยมาเป็นตัวเดินเรื่อง พอดีทางไฟว์สตาร์เขาก็อนุมัติ เพราะตอนนั้น “สตรีเหล็ก” ภาค 1 มันทำเงินได้ ก็เลยทำให้นายทุนเชื่อว่ามีหนังแนวนี้ที่ทำเงินได้ จึงทำออกมาอีก

จริงๆ อย่าง ”ปล้นนะยะ” เองก็เป็นโปรเจกต์ที่คิดมาก่อนจะทำว้ายบึ้ม แต่เป็นโปรเจกต์ที่ไม่ผ่านหมดเลย ก็เลยคิดไปเรื่อยๆ แต่พอว้ายบึ้มเสร็จ เขาก็อนุมัติ เลยกลายเป็นทำหนังกะเทยติดกันสองเรื่อง ทั้งที่คิดเตรียมทำมาก่อนนานแล้ว

– นายทุนเขาดูอะไร

เขาดูตลาด ว่ามันจะรับหรือเปล่า ปัจจุบันนี้ตลาดต้องการความแปลกใหม่อยู่เรื่อย เขาก็เลยเปิดกว้างมากขึ้น อย่างเขาบอกว่าถ้าทำหนังกะเทยออกมาอีกจะไม่มีคนดู เราคิดว่ามันคงไม่จริง มันอยู่ที่คนทำ ถ้าคนทำซ้ำๆ ซากๆ คนเขาก็เบื่อ อย่างหนังผีก็ออกมาตั้งเยอะ จนมีคนบอกว่าจะไม่มีคนดู แต่หนังที่ทำเงินอันดับหนึ่งปีที่แล้ว ก็เป็นหนังผี เรื่อง “ชัตเตอร์ กดวิญญาณ” อย่างหนังที่ได้เงินร้อยล้านตอนนี้ก็ “หลวงพี่เท่ง” เป็นหนังตลก ก็เคยเป็นหนังที่เขาบอกว่าจะไม่มีคนดู ไม่ได้หมายความว่า “ตัวจริง” เท่านั้นที่จะอยู่ได้ คิดว่าตลาดมันมีส่วนมากกว่า

– อย่างหนังของไทยเองก็ไปฉายมากขึ้นในตลาดโลก ทำไมเขาถึงสนใจหนังแนวนี้ของคนไทย

อย่าง ว้ายบึ้ม ก็มีคนเชิญไปเข้าสายประกวด แม้เราจะรู้ว่ามันไม่ได้รางวัลอยู่แล้ว พอเราไปเมืองนอก คนเขาจะรู้จักเราเลยว่าเป็นผู้กำกับ “Cheerleader Queens” เพราะว่ามันไปดังที่เมืองนอก ไปทั้งออสเตรเลีย ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส อัมสเตอร์ดัม ไต้หวัน ญี่ปุ่น มีเทศกาลเกย์เลสเบี้ยนก็ไป อย่างเมืองคานส์เราก็ไปฉายโชว์ เพราะเขามองว่าหนังเราเป็นหนังแปลก บ้านเขาไม่มีกะเทยเด็กๆ มัธยมแบบนี้ อย่างหนังเกย์ของต่างประเทศเขาไม่มีแบบนี้ จะไม่เหมือนกันเลย ของเขาจะเป็นหนังเกย์ ผู้ชายจะแสดงกัน มีเกย์คิง เกย์ควีน อย่างบ้านเราเป็นหนังกะเทยแต่งหญิง เกย์บ้านเราตัวเล็กก็เลยทำผู้หญิงได้ เกย์ฝรั่งทำอ้อนแอ้นแล้วดูไม่น่ารัก อย่างหนังเรื่อง “Priscilla” ที่เกย์บ้านเขามาแต่งตัวเล่นเป็นผู้หญิงก็แข็ง บ้านเราเล่นเป็นเกย์แล้วสวย มันจะเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งไปเลย ที่เขาไม่สามารถมาทำได้เหมือนเรา คิดว่าเขาเปิดกว้างขึ้น ตอนนี้หนังเทศกาลเกย์เลสเบี้ยนเกือบทุกประเทศก็มีหมด

– ทำไมถึงคิดว่าหนังเกย์กับหนังกะเทยไม่เหมือนกัน

จริงๆ มันอาจจะเป็นคำเดียวกันก็ได้ อย่างเกย์มันก็เรียกรวมๆ เป็นสากลอยู่แล้ว ในความคิดเรา หนังเกย์ คือหนังของผู้ชายธรรมดาที่ชอบผู้ชายด้วยกัน แต่หนังกะเทยที่เรียกกันในบ้านเรา ก็เป็นผู้ชายแต่งผู้หญิง หรือที่ดูสาวหน่อย ก็เรียกกะเทย สตรีเหล็กก็เป็นหนังกะเทยในบ้านเรา แต่ฝรั่งจะเรียกหนังเกย์ก็ได้ แต่ตอนนี้บ้านเราไม่มีหนังเกย์แบบที่เป็นผู้ชายทั้งแท่ง ไม่ต้องแต่งผู้หญิง เป็นผู้ชายธรรมดาแล้วมาชอบกัน

– เวลาทำแล้วมันต่างกันยังไง ทั้งจากที่เคยทำแนวนี้มาแล้ว กับแนวอื่นๆ ที่ต่างกันออกไป

เราเองก็ไม่คิดว่ามันจะต่างๆ อะไรกันมากมาย มันเป็นเรื่องราวของคนเหมือนๆ กัน มันอยู่ที่ลูกเล่น เพราะว่าถ้าเอากะเทยมาทำเศร้า คนในบ้านเราเขาก็ไม่ดู บ้านเราจะดูหนังกะเทยที่เอามาทำตลก บ้านเรากะเทยเป็นสีสันของวงการบันเทิงอันดับหนึ่งก็ได้ (ข้อสังเกตเรื่องอาชีพตลกกับการแสดงเป็นกะเทย-ผู้เขียน) มันอยู่ที่ลูกเล่น มุกและวิธีการนำเสนอของแต่ละคน ถ้ามีโอกาสที่จะทำหนังกะเทยก็จะทำอีก เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่เสียหาย คนพวกนี้เขาน่ารัก ไม่ใช่ว่าทำหนังกะเทยแล้วให้คนดูเลียนแบบเป็นกะเทยหรือเกย์ได้ มันเป็นมาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาเป็นจากหนัง

จริงๆ หนังมันสะท้อนสิ่งที่มีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว เราไม่ได้สร้างอะไร เราดึงมันมาให้ดูมีสีสัน ตัวละครในหนังของเขาสามารถที่จะมีได้ในสังคมไทยทุกคน นักเรียนมัธยมที่เป็นกะเทยเด็กก็มีเยอะแยะ กะเทยที่เป็นนางโชว์ก็มีอยู่แล้ว

– มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนไหม

มันก็มีกลุ่มเกย์มาดูนะ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่ คือกลุ่มผู้หญิง เพราะว่าผู้หญิงเขาชอบกะเทย เขามีเพื่อนเป็นกะเทย คิดว่าที่สตรีเหล็กได้ 100 ล้านเพราะคนที่มาดูส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มผู้หญิง ผู้ชายหลายคนก็ไม่ได้เกลียดกะเทย แต่อาจจะเป็นส่วนน้อย ตลาดมันเลยมีของมัน เกย์ในเมืองไทยตอนนี้เราคิดว่า น่าจะถึงหลักล้านคนแล้ว

– ยอดขั้นต่ำ

คงไม่มี แต่ตั้งแต่ทำหนังกะเทยมันก็ทำเงินตลอด ไม่เคยมีหนังกะเทยเรื่องไหนเจ๊งเลย ทำเงินหมด มันจะสนุกสนาน ไม่มีใครอยากจะดูชีวิตเกย์เศร้าๆ น่ารัก คงไม่มีคนดูถ้าจะมีคนทำหนังชีวิตหนักๆ อย่างละครเรื่องรักแปดพันเก้า ก็ต้องมีคู่รักผู้หญิงผู้ชายแซมๆ กันไป มีส่วนหนึ่งในเรื่อง มันก็ต้องมีน่ารัก แล้วเขาก็เลือกคนที่มาเล่นน่ารัก สนใจ อย่างในเมืองเกย์ กับกะเทยก็ดูเรื่องนี้เยอะ

– ตอนนี้ถือได้ว่า “เกย์หรือกะเทย” เป็นหน้าหนังที่มีความน่าสนใจอันนึง

ใช่… แต่ก็แปลกบ้านเรายังมองหนังเกย์กับหนังกะเทยไม่เหมือนกัน หนังที่เป็นเกย์แบบไม่ใช่กะเทยมันก็มีแต่บ้านเรานายทุนยังไม่สนใจ เรามีพล็อตโปรเจกต์เป็นหนังเกย์ที่คิดจะทำมาสองปีแล้ว แต่ไม่มีนายทุนยอมสร้าง เป็นเรื่องความรักของผู้ชายผู้ชาย ไปติดต่อหมดทุกที่แต่ไม่มีใครยอมให้ทำ ไม่มีใครยอมสร้าง ถ้าเกิดมีใครให้ทุนมาตอนนี้ก็คงจะทิ้งงานอื่นมาทำ เพราะอยากทำมาก แล้วบ้านเรายังไม่มี บางเรื่องคิดจนมีคนเอาไปทำก่อน แล้วกลายเป็นว่าเราไปเลียนแบบเขาอีก อย่างเรื่องกะเทย เราก็คิดได้ตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่มีใครให้ทำ แต่พอสตรีเหล็กทำแล้วได้เงิน ก็เพิ่งจะมาให้เราทำ ก็เหมือนเราไปเลียนแบบเขา จริงๆ เราเคยลงสัมภาษณ์ว่าคิดจะทำก่อนหน้านั้นมา 2 ปี ตั้งแต่ทำสติแตกฯใหม่ๆ หนังเกย์ตอนนี้คิดว่าทำยังไงก็คงไม่เจ๊ง เพราะอย่างน้อยขายเมืองนอกได้แน่นอน

– ทำหนังเกย์กับทำหนังกะเทยมันจะต่างกันยังไง

คงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก มันคล้ายกัน ระหว่างแสดงออกกับไม่แสดงออก คิดว่าน่าจะเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ ผสมดราม่านิดหน่อย

– อะไรที่เป็นจุดเริ่มของหนังแนวนี้ในไทย

ถ้าเดี๋ยวนี้ก็คงสตรีเหล็ก แต่ถ้าเมื่อก่อนก็คงเป็น “เพลงสุดท้าย” ของสมหญิง ดาวราย (ดารากะเทยแสดงนำ – ผู้เขียน) หนังกะเทยเรื่องแรกของเมืองไทย มี “ฉันผู้ชายนะยะ” แล้วที่มาดังอีกทีก็คือ “สตรีเหล็ก” เพราะมันมาในช่วงที่ไม่มีหนังกะเทยมานาน ตอนนี้ก็เลยมีออกมาเรื่อยๆ แล้วหนังพวกนี้ก็ทำเงินทั้งหมด

– เพิ่งมาคิดว่าตัวเองมีความชัดเจนกับหนังแนวนี้ตอนไหน

มันแล้วแต่เรื่องที่เราอยากทำ แต่เรื่องแบบนี้มันเป็นแนวของเราด้วยมั้ง ทำแล้วสนุก ตลกดี เราก็มีแฟนประจำของเขาชอบก็โอเคแล้ว เราทำหนังที่ทำออกมาเราก็ไม่ทำตามบท ไม่มีบท มีแต่เป็นพล็อตคิดเอาไว้ ถ้าให้วางแผนจะทำแล้วไม่สนุก พอมีบทแล้วมันไม่เป็นตัวเราด้วย เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นแนวที่ใครถนัดยังไงก็ถนัดอย่างนั้น คิดว่าเป็นหนังแนวนี้เป็นอะไรที่เราถนัด แล้วก็จะทำต่อไป…

Did you know?

“เพลงสุดท้าย” ผลงานกำกับของ พิศาล อัครเศรณี มีนายทุน คือ วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน เจ้าของทิฟฟานี่โชว์ พัทยา และบาร์เซคั่นทิป กรุงเทพฯ จ่ายสดให้พล็อตหนังเรื่องเพลงสุดท้าย เมื่อปี 2548 ถือเป็นหนังกะเทยเรื่องแรกของวงการหนังไทย โดยถูกเชิญให้ไปฉายในต่างประเทศหลายประเทศ หนังเรื่องนี้ได้สร้างที่ทางของกะเทยมากกว่าเกย์ในสังคมไทยในขณะนั้น แล้วปัจจุบันก็ถือว่า “เพลงสุดท้าย” เป็นเพลงชาติเกย์ (gay anthem) สำหรับคนไทยอีกเพลงหนึ่ง ที่ถูกใช้บ่อยในการแสดงคาบาเร่ต์เพลงหนึ่ง ก่อน “I will survive” ที่ร้องโดย Gloria Gaynor

รายได้ภาพยนตร์ไทยที่ตัวแสดงหลักรับบทเพศที่สามในช่วงที่ผ่านมา

1. สตรีเหล็ก – Iron Ladies
รายได้ : 98.7 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : ยงยุทธ ทองกองทุน
วันออกฉาย : 3 มีนาคม 2543
บริษัทผู้สร้าง : ไท+หับโห้หิ้น

2. สตรีเหล็ก 2 – Iron Ladies II
รายได้ : 71.2 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : ยงยุทธ ทองกองทุน
วันออกฉาย : 7 มีนาคม 2546
บริษัทผู้สร้าง : ไท+หับโห้หิ้น

3. พรางชมพู กะเทยประจัญบาน – Saving Private Toussie
รายได้ : 45.6 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : กิตติกร เลียวศิริกุล
วันออกฉาย : 29 พฤศจิกายน 2545
บริษัทผู้สร้าง : ฟิล์มบางกอก

4. ปล้นนะยะ – Spicy Beauty Queen in Bangkok
รายได้ : 42.5 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : พจน์ อานนท์
วันออกฉาย : 6 กุมภาพันธ์ 2547
บริษัทผู้สร้าง : อาร์เอสฟิล์ม+ฟิล์มกูรู

5. ว้ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก – Cheerleader Queens
รายได้ : 29.9 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : พจน์ อานนท์
วันออกฉาย : 21 กุมภาพันธ์ 2546
บริษัทผู้สร้าง : ไฟว์สตาร์

6. บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์
รายได้ : 15.0 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : เอกชัย เอื้อครองธรรม
วันออกฉาย : 28 พฤศจิกายน 2546
บริษัทผู้สร้าง : แกรมมี่ภาพยนตร์

7. Go Six: โกหก ปลิ้นปล้อน กระล่อน ตอแหล
รายได้ : 10 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : พจน์ อานนท์
วันออกฉาย : ปี 2542
บริษัทผู้สร้าง : –

* ยอดรายได้ที่ฉายผ่านเครือโรงภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของพจน์ อานนท์

– เอ๋อเหรอ
รายได้ : 60 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : พจน์ อานนท์
วันออกฉาย : 6 มกราคม 2548
บริษัทผู้สร้าง : สหมงคลฟิล์ม

– 18 ฝนคนอันตราย
รายได้ : 25 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : พจน์ อานนท์
วันออกฉาย : 14 พฤศจิกายน 2540
บริษัทผู้สร้าง : ไฟว์สตาร์

– สติแตกสุดขั้วโลก
รายได้ : 48.5 (หลักล้านบาท) *
ผู้กำกับ : พจน์ อานนท์
วันออกฉาย : 30 ธันวาคม 2538
บริษัทผู้สร้าง : ไฟว์สตาร์