“So Happy Together”

88 PEAK FM เป็นคลื่นของเอไทม์ มีเดีย ออกอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อ 1 มกราคม 2547 หลังจากการปิดตัวของ RADIO NO PROBLEM ไปเมื่อปลายปี 2546 การถือกำเนิดขึ้นของ PEAK FM กับคอนเซ็ปต์ Peak U Up! เพื่อสร้างความสนุกสนานและสีสันที่ไม่ซ้ำใคร

“ปีแรกเราเน้นความจริงใจ เป็นธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาทุกอย่างเป็น formal หมดเลย ดูเหมือนตำราวิชาการ จากการวิจัยเราพบว่าวัยรุ่นสมัยนี้เปลี่ยนไป เขาไม่อยากได้อะไรที่ซีเรียส เราเลยต้องเปลี่ยน ดีเจ PEAK ต้องไม่เก๊กเสียงหล่อ เสียงสวย ไม่ต้องประดิษฐ์ แบบนางงาม เพื่อสื่อถึงความจริงใจเป็นกันเอง” เจียระไน โอ่ประเสริฐ Executive Producer สาวเกริ่นอย่างอารมณ์ดี

ขึ้นปีที่ 2 PEAK FM ใช้ “ความแตกต่าง” เป็น theme จะแตกต่างในแง่ ordinary life ชีวิตปกติเป็นอย่างไร ถ้าฟัง PEAK ก็จะแตกต่างไปจากเดิม จากเมื่อวาน และเราแตกต่างที่ดีเจทั้ง 7 คน พูดได้ทั้ง 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะเราเปิดทั้งเพลงไทยและเพลงสากล โดยมีวัยรุ่นทั้งชายและหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่สนใจเรื่องราวทันสมัย ความก้าวหน้าทางวิทยาการของโลก รักการผจญภัย ชื่นชอบในกิจกรรมแปลกใหม่ รวมถึงคนทำงานหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ที่ไม่ปล่อยตัวเองให้แก่ตามอายุ โรเจอร์ หรือ ไพโรจน์ Co-Producer กล่าวเสริม

และสิ่งที่ย้ำถึง “ความแตกต่าง” ได้เป็นอย่างดีคือ ช่วง Happy Together ของ PEAK FM ซึ่งเป็นช่วงที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการวิทยุเมืองไทย เป็นความกล้าของ PEAK FM ที่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเพศที่สามได้ใช้ช่วงเวลา 1 นาทีขอเพลงหน้าไมค์ ให้กับ “เพศเดียวกัน” ซึ่งมี 7 ช่วง เปิดรับ 7 สายต่อวัน ในทุกช่วงดีเจ

“คลื่นอื่นมี content ซ้ำๆ กัน เราก็จะครีเอตให้แตกต่าง 1-2 เดือน ถ้าไม่ได้รับ feedback ที่ดีก็จะเปลี่ยน แฟน ๆ PEAK เขาจะรู้ว่า PEAK ไม่ซ้ำ คาดเดาไม่ได้ว่าจะมีอะไรก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของเรา สำหรับช่วง Happy Together ก็เข้ากับแนวคิดที่แตกต่าง และเป็น pack เสริม ไม่ใช่ master pack ตอนนี้ไม่มีแล้วแต่เดี๋ยวเดือนเมษายนนี้ก็จะเอากลับเข้ามา เพื่อให้คนฟังรู้สึกรอคอย คิดถึง คาดหวังไม่ได้กับ content ของเรา”

เจียระไน เล่าว่า Happy Together เริ่มต้นจากการจุดประกายของทีมงานที่เป็นเกย์ ที่ว่า น่าจะเปิดโอกาสให้กลุ่มเพศที่สามบ้าง เพราะปกติช่วงขอเพลงก็ชายหญิงขอเพลงให้กันไม่มีอะไรใหม่ ไม่น่าตื่นเต้น และปกติกลุ่มเกย์ก็โทรมาหลังไมค์เยอะมาก

“ เราก็แค่บิดมุมทำให้เกิด sound ใหม่ๆ ในวงการ แต่เราก็ไม่อยากสื่อสารชัดเจนว่าช่วงนี้ฉพาะไม้ป่าเดียวกัน เพราะเราให้โอกาสทุกคนขอเพลงให้เพศเดียวกัน ลูกสาวของเพลงให้แม่ก็ได้ จะเป็นแนวลูกรักแม่ พี่ห่วงน้องก็ได้ เราไม่ได้จำกัด แต่กลุ่มเกย์ก็จะรู้ว่าเขามีที่ทางของเขา ปากต่อปาก ชวนกันมาฟัง แต่ก็บอกดีเจไม่ให้ชี้นำ ล่อแหลมหรือถามซักไซ้เรื่องส่วนตัวมาก แค่ถามว่ารู้สึกยังไงกับเขา อยากขอเพลงอะไรให้เขา และเราจะมี jingle ขำๆ ประกอบ เช่น แหม…เขินจังเลย ช่วยเพิ่มสีสัน คนที่โทรเข้ามาเขาก็ไม่ได้พูดเรื่องน่าเกลียด มันเป็นเรื่องของความรัก ความปรารถนาดี จริงแล้วเราเรียกกันเล่นๆ ว่า ช่วงพิเศษขอเพลงให้เพื่อนร่วมเพศ (เดียวกัน)”

กระนั้นช่วงแรกๆ ทีมงานก็หวั่นใจว่า feedback ที่ได้รับจะเป็นก้อนหินมากกว่าดอกไม้ แต่ผลที่ได้รับเรียกได้ว่าเป็นที่น่าพอใจ

“ตอนแรกที่จะทำช่วงนี้ ก็คิดเหมือนกันว่าถ้าทำไม่ดี จะได้แค่คนฟังกลุ่มเกย์กลุ่มเดียว แต่ผลคือคนทั่วไปก็ฟังด้วย เสียงชมเยอะ มีแฟนๆโทรมาหลังไมค์ บอกว่า คู่หน้าไมค์เขาน่ารักดีนะคะ…ผมชื่อเอก ขอเพลงให้พี่หนุ่ม เป็นพี่ที่ทำงาน เขาดูแลเทกแคร์ผมดี รู้สึกอบอุ่น ก็เลยอยากขอเพลง “ไม่มีใครรู้” ของเป๊ก-ผลิตโชค ให้พี่เขา เพราะที่ทำงานไม่มีใครรู้เลย รู้กันแค่สองคน (หัวเราะ) ซึ่งสายหน้าไมค์นี้เราต้องคัดมาจากร้อยๆ สายที่โทรมาหลังไมค์ เลือกสายที่ present ได้สนุกที่สุด บางทีมีโทรมาขอจอง (หัวเราะ) และมี SMS เข้ามาแซวเยอะเหมือนกัน”

ฟังๆ ชื่อ Happy Together ไม่แปลกใจว่าทำไมทีมงานถึงเลือกใช้ชื่อนี้ เนื่องจากเป็นชื่อหนังเกย์ฮ่องกงชื่อดังที่ได้รางวัลมาหลายสถาบันรวมถึงจากคานส์ด้วย และด้วยชื่อที่ไปตรงกับบริการ Happy จาก Dpromt ทางทีมงานก็ได้ approach ไปทาง Dtac เช่นกัน แต่ติดปัญหาตรงที่ว่า Together เป็นชื่อบริการหนึ่งของ Orange ค่ายคู่แข่ง…ถึงทั้ง 2 ค่ายจะไม่ได้เป็นสปอนเซอร์แต่ก็ได้โปรโมตไปเต็มๆ โดยเฉพาะ Happy

ต่อกันที่ PEAK JOURNEY ซึ่งสร้างความฮือฮาไม่แพ้ช่วง Happy Together คือ ทริปทัวร์งาน Madigras ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ถือเป็น 1 ในงานเทศกาลเกย์และเลสเบี้ยนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กับชื่อมัน ๆว่า “PEAK SYDNEY’S FREAKY FEST”

“ทริปของ PEAK เน้นความมัน ท้าทาย ทริปที่เราจัดมาแต่ละครั้งไม่ใช่ทริปที่จะไปหาซื้อตามกรุ๊ปทัวร์ได้ ไม่ใช่พาไปนั่งรถโค้ชชมเมือง อย่างทริป grand opening ของคลื่น เราจัดโครงการ PEAK EVEREST เหมาเครื่องบิน 2 ลำที่เนปาลบินชม Everest แบบใกล้ๆ เลย กับทริปล่าสุดนี้ก็เหมือนกัน เผอิญว่าโอกาสประจวบเหมาะพอดีกับที่เรามีช่วง Happy Together เลยเอาล่ะให้มันดันกันไป เลยเลือกงานนี้แหละเจ๋งสุด มีปีละครั้งและเป็นงานใหญ่มาก แต่จาก 8 คนที่ freak สุดๆ ซึ่งเราคัดตัวจาก 80 คนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากการเล่นเกมนั้น ก็ได้ร่วมประสบการณ์ไต่สะพาน ขึ้น Hot Balloon เหมือนกับเรานำงาน Madigras เป็นตัวชูโรง และคนที่ไปก็มีทั้งที่เป็นและไม่ได้เป็นเกย์ ซึ่งมีสปอนเซอร์ เช่น AIS Card และมาม่า ต้มยำกุ้ง เป็นต้น”

ดูเหมือนว่า PEAK FM เอาใจกลุ่มเกย์กันมากอย่างนี้ หวังเป็น Pink หรือ Rainbow Station เจ้าแรกในเมืองไทยหรือเปล่า

“เรา treat คนฟังตาม lifestyle มากกว่า เผอิญเขามี lifestyle ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราพอดี ก็ไม่แปลกที่เราจะมีพื้นที่มี content ที่ตรงกับความต้องการของพวกเขา แต่ถ้าจะให้มี gay radio station ในเมืองไทย คงเป็นไปได้ยาก ไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่เคยคิดกันเล่นๆ ว่ามันน่าจะสนุกมากเลย มีช่วงนั้นช่วงนี้ แต่ด้วยวัฒนธรรมของเมืองไทย สังคมจะโวยวายว่าเข้าข่ายส่งเสริมมากเกินไป และสำหรับ PEAK FM ไม่ได้วาง positioning เป็นคลื่นสำหรับเกย์โดยเฉพาะ เราเป็นคลื่นสำหรับคนฟังทุกเพศ และมีเกย์รวมอยู่ด้วย”

“เราเชื่อว่าเกย์คืออณูหนึ่งของสังคม สังคมมีเกย์ เกย์อยู่ในสังคม” เจียระไนกล่าวทิ้งท้าย

Gay Tips

ปี 1937 Pink Triangle นาซีใช้สามเหลี่ยมสีชมพูเพื่อบ่งชี้คนที่เป็น Homosexual เพื่อกำจัดออกไปจากกลุ่มฮิต ต่อมาในยุค 1970s องค์กรพิทักษ์สิทธิ์เกย์หลายกลุ่มใช้ Pink Triangle เป็นสัญลักษณ์

Website

www.atimemedia.com