เพลงชาติเกย์

“Gay Anthem” ถ้าแปลตรงตัวก็คือเพลงสวดในโบสถ์สำหรับเกย์… แต่จริงๆ หมายความว่า เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่เกย์ส่วนใหญ่จะ “ท่อง” กันได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เพลงชาติเกย์” เวลาที่พวกเขาไปชุมนุมโดยเฉพาะตามผับบาร์ เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องการเลิกแอบ (คัมเอาต์) หรือภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมไปถึงการทำใจจากการอกหักแบบต่างๆ จากผู้ชาย

นักร้องหลายคนที่รู้ว่าตัวเองมีแฟนเพลงในกลุ่มนี้อยู่ ก็จะพยายามเขียนเนื้อร้องเพื่อให้เรื่องราวสัมพันธ์กับชีวิตของเกย์ ไม่ว่าจะเป็น Cher หรือ Madonna รวมไปถึงการคัมแบ็กกลับมาหลังจากหายไปเกือบ 10 ปี ของ Gloria Gaynor ก็เนื่องจากมีแฟนเพลงกลุ่มนี้ที่เหนียวแน่นยังจำเธอได้อยู่

ภาพของนักร้องรุ่นหลังๆ อย่าง Kylie Minogue ก็ประสบความสำเร็จจากการใช้ภาพความยั่วยวน จนเป็นอีกหนึ่งขวัญใจของเกย์ ทั้งเนื้อร้อง และการแสดงสด จนทำให้เธอกลับมาเป็นเจ้าแม่เพลงแดนซ์ หลังจากหายไปนาน โดยกลุ่มนักร้องที่เกย์ชื่นชอบอย่างมากก็เช่น Mariah Carry, Whitney Houston หรือ Barbra Streisand

เนื้อหาที่ให้กำลังใจ ฟังแล้วรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไป แม้จะเกิดเหตุวิกฤตในชีวิต (ไม่พ้นรักช้ำ) ก็พร้อมที่จะยืนหยัดสู้ไม่ท้อถอย แถมแข็งแกร่งขึ้นมาทันตา บวกกับท่วงทำนองที่สะใจและเสียงร้องทรงพลังของเหล่าดีว่า ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่กลุ่มเกย์โปรดปรานมิใช่น้อย

I will survive นานเท่าใดเนื้อหาของเพลงนี้ก็ยังร่วมสมัย ผับเกย์แทบทุกที่จะต้องใช้งาน Gloria Gaynor…The Queen Of Disco (แม้ Diana Ross จะมาร้อง Cover ใหม่) ทุกค่ำคืนเปิดตั้งแต่สมัยเป็นแผ่นเสียงจนเป็นไฟล์ดิจิตอล บางแห่งก็ใช้เป็นเพลงบวงสรวงก่อนตอนเริ่มต้น บางแห่งก็เปิดคืนล่ะ 2-3 รอบ แล้วแต่ลูกค้าจะขอหรือดีเจจะคึกเอง นับว่าเป็นเพลงที่ถูกเรียกใช้งานบ่อยที่สุด (Reach Out (I’ll Be There) Never Can Say Goodbye และ I am what I am ก็เป็นเพลงยอดนิยมโดย Gloria Gaynor เช่นกัน) แม้เกย์ไทย 2005 อาจจะชื่นชอบเพลงรักที่สุขสม I believe ของทาทา ยัง มากกว่าก็เป็นได้

ความนิยมของ I will survive แพร่หลายในแถบละตินอเมริกา Gloria Gaynor มีเพลงนี้ในเวอร์ชั่นภาษาสเปน และในเมืองไทยเองยังมีคนดัดแปลง I Will Survive ร้องในเวอร์ชั่นหมอลำด้วย

ขณะที่ Dancing Queen แม้จะมีอายุรุ่นคุณป้า ออกวางแผงตั้งแต่ปี 1976 ผ่านมาเกือบ 20 ปียังไม่เสื่อมความนิยม

เพลงที่มีความหมายให้กำลังใจตัวเองอย่าง Try it On My Own ของ Whitney Houston ก็ได้รับการต้อนรับที่ดี นอกจากดนตรีที่หนักแน่น และลีลาการร้องสุดประทับใจของเธอแล้ว เนื้อหาของเพลงยังทำให้ใครที่กำลังกินน้ำตาต่างน้ำ จะต้องฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง…

ฟากเพลงไทย เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศที่สามโดยมากจะพูดถึงเรื่องราวของคนที่แต่งหญิง โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเน้นความตลกขบขัน (กะเทยประท้วงของค่าย Topline Diamond) หรือความจริงที่แสนเจ็บปวด เรื่องราวของกะเทยโดยทอดทิ้ง (น้ำตาสีม่วง ของค่าย Sure Audio)

ขณะที่เวลานี้เพลงป๊อปของไทยก็นำเสนอภาพความรักของเกย์ ด้วยมุมมองที่สดใส

เพลง “รักไม่มีกฎเกณฑ์” ของเอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ์ ดีเจคลื่น EFM 93.5 ในเครือเอไทม์ มีเดีย กับอัลบั้มเดี่ยวชุด A Different Shade of Love มีเนื้อหาแนวอินดี้ เป็นมุมมองความรักที่แตกต่างไม่เฉพาะชายหญิงเท่านั้น เนื้อหาในมิวสิกวิดีโอยังเสนอแง่มุมความรัก ไม่ใช่แค่ระหว่างชายกับหญิง แต่เนื้อหายังระบุถึงความรักระหว่างชายกับชายเอาไว้ ชนิดที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อนในเพลงไทย

นั่นคือมิติของปรากฏการณ์ การยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี้ “Beautiful” เพลงดังของ Christina Aguilera ก็มีมิวสิกวิดีโอที่สื่อไปถึงกลุ่มเพศที่ 3 ด้วย ฉากความผิดหวังของเกย์ร่างบางยืนร้องไห้หมดสภาพหน้ากระจก สะท้อนเนื้อหาและเข้าถึงอารมณ์ของเพลงได้ดี “…You are beautiful, No matter what they say, Yes words can’t bring you down …”

แม้เพลง Disco & Dance จะเป็นเพลงกระแสหลักของเกย์นอกที่ถ่ายทอดมาสู่เกย์ไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าเกย์จะชอบแต่เพลงแนวนี้เสมอไป…hiphop และ R&B คืออีกกระแสที่มาแรง

Marcos Brito หรือ Q-Boy เป็น rapper gay จากอังกฤษ ที่ฉีกแนวจับกลุ่มเกย์ที่ชื่นชอบเพลง hiphop จากความเชื่อเบื้องต้นที่ว่า มีเกย์ไม่น้อยที่เป็น rap-phobic แม้เกย์ส่วนใหญ่จะชอบ Kylie Minogue และออกไปเต้นรำเฉพาะในผับเกย์ Q-Boy ปฏิเสธมุมมองเกย์ในเชิง steryotpye นี้อย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นในเชิงที่ว่า แค่เขาชอบผู้ชายแต่ไม่ได้หมายความว่าจะชอบฟังแต่เพลงพวกนั้น

ทุกวันนี้กลิ่นอายของแนวเพลง hiphop และ R&B สอดแทรกไปกับเพลงกระแสหลักที่เกย์ชอบ
นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำไม Jennie From The Block และ Get Right จาก Jenifer Lopez ได้รับความนิยม (แม้ Mariah Carrey ที่ผันตัวเองมาออกอัลบั้มแนว hiphop ตามที่ใจรัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบรรดาๆ แฟนๆ ยังติดตรึงภาพของสาวดีว่าผู้กรีดร้องได้โหยหวนจับใจ ใน When you believe และ Hero)

– Hot gay album !!
หากเข้าไป search ใน www.amazon.com จะพบกับอัลบั้มเพลงเกย์กว่า 262 อัลบั้ม
โดยอัลบั้มที่ฮิตติดอันดับขายดี เช่น

– Club Verboten
มีเพลงที่รวบรวมมาเพื่อกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ เช่น Lady Marmalade, I Am What I Am, This Is My Life

– Gay Dancing
ประกอบด้วยเพลงแดนซ์มันๆ เช่น Macho Man (Village People)

– Best Of Gay Dance
วางแผงตั้งแต่ปี 1992 แต่ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ เพราะมีทั้ง I Will Survive, Never Can Say Goodbye และ Life is so strong

– Best Of Gay Happening Vol.1
อัลบั้มแรกของ Best of Gay Happening มีเพลงดังหลายเพลง เช่น I Love The Nitelife (Alicia Bridges), One Moment In Time (Natalie Grant)

ลำดับการเกิดเพลงชาติเกย์

1976 : Dancing Queen ของ ABBA
1979 : I Will Survive ของ Gloria Gaynor
1980 : I’m Coming Out ของ Diana Ross
1983 : It’s Raining Men ของ Weather Girls (และมีเวอร์ชั่นที่ร้องโดย Geri Halliwell 2001)
1983 : I Am What I Am ของ Jerry Herman (เป็นเวอร์ชั่นที่ร้องโดย Gloria Gaynor)
1985 : เพลงสุดท้าย ของ สมหญิง ดาวราย
1990 : Express Yourself และ Vouge ของ Madonna
1998 : Believe และ Strong Enough ของ Cher

Gay Tips

Color of Gay
Pride Flags หรือ Rainbow Flag

ปี 1978 Gilbert Baker จาก San Francisco เป็นผู้ดีไซน์เริ่มแรกมี 8 แถบ ต่อมาที่นิยมคือธง 6 แถบ 6 สีซึ่งเป็นสีของรุ้ง ประกอบด้วยสีแดง ส้ม เหลือง เขียว ฟ้า และม่วง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกย์และเลสเบี้ยน สื่อถึงความหลากหลายในสังคมที่ต้องเปิดใจยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งมีความหมายในแง่บวกมากกว่า Pink Triangle และปัจจุบันเป็นที่ยอมรับจาก The Internation Congress of Flag Makers อย่างเป็นทางการ (ขณะที่ Rainbow Flag นี้ไม่ได้หมายความถึงเกย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสื่อรวมถึง Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender หรือเรียกรวมๆ กันว่า LGBT) ขณะที่ของที่ระลึกในงาน Pride มักใช้สีรุ้งด้วยเช่นกัน

นับได้ว่าสีเป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคนกลุ่มนี้ในหลายพื้นที่ เช่น Victorian อังกฤษ สีเขียวถูกสื่อสัมพันธ์ถึงกลุ่ม Homosexual ขณะที่สีม่วง (อันที่จริงคือสีของดอก Lavender) ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายยุค 1960s แต่ในเมืองไทยกลับรู้จักกลุ่มเกย์ในชื่อของชาวสีม่วง มากกว่าชาวสีรุ้ง อนันต์ ฟรีแมน บอกว่า “สีม่วงไม่ชอบเลย ดูเหมือนเป็นคำนิยามของเกย์ตกยุค”