เนื้อหาเกย์ในหนังสือ เบิกฤกษ์ในรูปแบบของนวนิยาย ก่อนเข้าสู่ยุค pocket book เฟื่องฟูในปัจจุบัน เรื่องราวของความรักเพศเดียวกันปรากฏอยู่ในนิยายประโลมโลกเมืองไทยหลากหลายรูปแบบ แต่โดยมากมักจบหรือลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมแห่งชีวิต ไม่แตกต่างจากบริบทของสื่อแขนงอื่นที่เคยมีมา
นักประพันธ์หญิงเลื่องชื่อทมยันตี ผู้วาดภาพฝันของนิรา ใน “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” จากเด็กชายตัวเล็กๆ จนเติบโตสร้างร่างหญิง เต็มไปด้วยความรันทดสุดบรรยาย “ซากดอกไม้” ผลงานฮือฮาของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของงานเขียนเชิง steryotpye ของชายรักชายที่แต่งงาน แต่ยังคงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันไว้โดยสมบูรณ์ การนอกใจภรรยา มั่วเด็กหนุ่มในผับ ก่อนจบชีวิตลงอย่างน่าสลด
ที่กล่าวมาทั้งหมดมิได้บอกว่าผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายมองภาพ “เกย์ หรือชายรักชาย” ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
หากแต่ POSITIONING เชื่อว่านี่เป็นการมองต่างมุม นำเสนอในยุคสมัยที่ต่างกัน วันเปลี่ยนเวลาผ่าน “สาร” ย่อมผ่านการตีความจากคนรุ่นต่อๆ มา ขัดแย้งหรือคล้ายคลึง มากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ
ปัจจุบันนวนิยายเกย์ไทยถูกตีตื้นด้วยตลาด pocket book ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างสูง และดูเหมือนจะเป็นจุดขายสำคัญของร้านหนังสือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า pocket book ทั่วไป (ลองแวะ 7-eleven ดู แล้วอย่าได้แปลกใจหากพนักงานจะถามคุณว่า “รับหนังสือ แกะกล่องเกย์ ไปอ่านด้วยไหมคะ”)
เนื้อหา วิธีการนำเสนอ ตลอดจนแก่นของเรื่องที่ส่งสารไปยังผู้อ่าน มีทั้งที่คงรูปแบบและกลิ่นอายเดิม ซึ่งเหมือนเป็นภาพเกย์กระแสหลักที่สังคมรับรู้กัน และ pocket book กระแสใหม่ ที่เสนอเรื่องราวที่เสมือนเป็น “insight” ของเกย์ เป็นมุมมองของเกย์มองเกย์ด้วยกันเอง ซึ่งเชื่อว่าตำราหรืองานวิจัยเก่าๆ ความคิดเห็นของเกย์โบราณ กะเทยตกยุคไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจภาพลักษณ์ของเกย์ที่ถูกต้องได้
สำนักพิมพ์ Cyberfish Media วาง positioning มุ่งเน้นผลิตสื่อเกี่ยวกับเกย์โดยเฉพาะ เริ่มต้นด้วย pocket book เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และสานต่อด้วย VCD ที่ชื่อ Rainbow Boy The Movie ที่กำลังเป็นรูปเป็นร่าง และอยู่ในระหว่างเจรจาต่อรองกับเจ้าของโรงหนังเพื่อเข็นลงจอเงิน
“pocket book ที่ผ่านมา ไม่มีคนทำในแง่ที่ให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยตำราเดิมๆ อยู่ในการทำหนังสือออกมา ถ้าเป็นนิยายก็ไม่พ้นเรื่องกะเทยเป็นทุกข์ทรมาน ไม่ก็โดนกระทืบตาย และมันไม่ได้มีแค่กะเทย มันมีอีกหลากหลายกลุ่ม มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคนจะไม่เข้าใจ การออกหนังสือมา educate คนในสังคม เช่น การที่ครอบครังหนึ่งมีลูกเป็นเกย์จะทำอย่างไร เข้าใจกันด้วยวิธีไหน” วิทยา แสงอรุณ คอลัมนิสต์คอลัมน์เลิกแอบเสียที Metro Life ชายหนุ่มร่างโต มองผาดๆ เขาคือผู้ชาย straight แต่หากใครที่มี gaydar สุดแรงแล้ว เขาคือชายเช่นกัน แต่เป็นชายรักชาย และก้าวออกมาจาก “closet” กว่า 6 ปีแล้ว
หนังสือแปล คือสิ่งที่เขามองว่าจะสร้างกระแส “ความเข้าใจในตัวเองของเกย์” (รวมถึงคนรอบข้าง) ได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่เป็นเกย์ และเป็นผู้ก่อตั้ง และสวมบทบรรณาธิการด้วย เขาเชื่อว่าพลังแห่ง positive content คือ โอกาสธุรกิจสิ่งพิมพ์เกย์ ผลงานเล่มแรกของสำนักพิมพ์เป็นหนังสือแปล ชื่อ สามีฉันเป็นเกย์ เขียนโดย แครอล เกรเวอร์ แปลจาก My Husband is Gay โดย คุณนาย ตามด้วย เธอและเขามาจากดาวอะไร เขียนโดย เอริค มาร์คัส แปลจาก Is it a choice? โดย แมวสามสี และเรื่องที่ต้องพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 คือ Rainbow Boy เล่ม 1
“เริ่มต้นที่หนังสือแปลก่อน เนื่องจากนักเขียนไทยที่เข้าใจในเรื่องความแตกต่างทางเพศยังมีน้อยอยู่ เลยนำหนังสือแปลที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสังคมไทยมานำเสนอก่อน สามีฉันเป็นเกย์ ถามว่าเธออยู่ได้อย่างไร ปรับตัวอย่างไร และทุกวันนี้ก็เป็นเพื่อนกับสามีอยู่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้คนไทยมองไม่ออก หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นโดยมากมักจบลงแบบโหดร้าย ขณะที่เธอและเขามาจากดาวอะไร เป็นคำถาม คำตอบแบบง่ายๆ เกย์คืออะไร เลสเบี้ยนคืออะไร เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่อยากถามแต่ไม่กล้าที่จะถาม ส่วน Rainbow Boy เป็นเรื่องของเด็กผู้ชาย 3 คนที่เป็นเกย์ พูดถึงความสัมพันธ์ ความรัก การเปิดเผยต้วเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนที่ไม่ยอมรับตัวเอง หันมาพิจารณาตัวเองว่า ฉันก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เป็นบาป ทำไมฉันจะมีชีวิตดีกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ เด็กเหล่านี้เริ่มเปิดเผยตัวเองกับคนใกล้ตัว บางคนเริ่มจากเพื่อนสนิทก่อน บางคนเริ่มที่บ้าน แต่ไม่มีใครเสียใจเลยที่ได้เปิดเผยตัวเองออกมา”
จากยอดพิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 เล่ม Rainbow Boy เล่ม 1 ขายดีเกินคาด การพิมพ์ซ้ำกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ และการต่อยอดธุรกิจสู่หนังแผ่น หรือวีซีดี คือโอกาสทางธุรกิจ และเม็ดเงินที่ตามมา
“Rainbow Boy คนเขียนเป็นอเมริกัน Alex Sanchez เขาทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว เข้าใจในเรื่องเกย์ จึงเขียนนิยายเพื่อให้คนติดตามได้ง่ายขึ้น และเราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ยอมรับได้มากกว่าคนรุ่นเก่า ด้วยสื่อเอง ส่วนหนึ่งทำให้เขามองตัวเองในแง่บวก ยอมรับตัวเองมากขึ้น
กลุ่มเป้าหมายของ Cyberfish Media แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเด็กผู้หญิง และผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งเป็นสาว Y พัฒนามาจากการอ่านหนังสือการ์ตูนเกย์ มาอ่าน pocket book ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเพื่อนเป็นเกย์ เขาต้องการความเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อนเขา และกลุ่มเด็กผู้หญิงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยเขารู้สึกว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม น่าติดตาม พอมีความรักของผู้ชายและผู้ชายแบบโรแมนติก เขาก็สนใจติดตาม เพราะเป็นเรื่องแปลกและมีแง่มุมที่เขาไม่รู้จักมาก่อน
สำหรับส่วนที่ 2 คือ กลุ่มเกย์ แบ่งเป็นเกย์ที่เปิดเผยและปิดบัง แต่ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมคล้ายๆ กันตรงที่ว่ามีความต้องการข่าวสารมาก แต่ข่าวสารที่ตรงกับกลุ่มพวกเขามีน้อย และเป็นในแง่ลบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีคนมาพูดในแง่มุมใหม่ อธิบายให้เขาเข้าใจมากขึ้น เขายินดีที่จะเปิดรับอย่างเต็มที่ แต่ทุกวันนี้สื่อที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ในแง่ของ content เรื่องราวดีๆ สร้างสรรค์ ไม่ใช่เกย์ช้ำรัก ฆ่าตัวตาย ยังมีน้อยอยู่”
อาจเรียกได้ว่า Cyberfish Media มี PR ชั้นดีด้วยตัวเจ้าของเอง คือ วิทยา งานเขียนของเขาในคอลัมน์ เลิกแอบเสียที ประจำ Metro Life นำเสนอเรื่องราวเพื่อเกย์เมือง ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ด้วยความเข้าใจตัวเอง เสมือนหนึ่งเป็นประตูเปิดตัวตนของเขาสู่ความเป็น Gay Guru…ไม่ช้าไม่นาน หากพูดถึงสำนักพิมพ์เพื่อเกย์ (และผู้ที่ต้องการเข้าใจเกย์) แล้ว Cyberfish Media คงเป็นตัวเลือกอันดับแรก
Boy’s Love…สุดรักของสาว Y
สาว Y คืออะไร Y = Yaoi เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึง เรื่องความรัก ระหว่าง ผู้ชาย กับ ผู้ชาย ด้วยกัน สาว Y จึงเป็น ผู้หญิงที่คลั่งไคล้ โปรดปรานการอ่านหนังสือการ์ตูนแนว Boy’s Love หรือการ์ตูนเกย์นั่นเอง สาว Y ในเมืองไทยมีเว็บบอร์ดเป็นชุมชนสื่อกลางในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนซื้อขายสินค้า (การ์ตูน-เกม) ที่เกี่ยวกับ Boy’s Love
พูดถึงการ์ตูนเกย์เป็นเรื่องไม่ใหม่นักในสังคมไทย มีผู้คลั่งไคล้การ์ตูนแนวนี้มากมายแต่เป็นที่น่าแปลกใจที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าเกย์ และกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นแฟนของ pocket book เกย์ด้วย
การ์ตูน Boy’s Love ในไทยไม่มีการจดลิขสิทธิ์ และไม่มีสำนักพิมพ์ไหนเป็นเจ้าของผลงานที่แท้จริง
สำนักพิมพ์ เช่น Love book, Nebula, Rizza, Glazzy, Guest, Orchid, C21 ล้วนมีผลงานการ์ตูนแนว Boy’s Love ทั้งสิ้นรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 500 เรื่อง และมีร้านหนังสือการ์ตูนที่ขายและเช่าการ์ตูน Y หลายแห่ง เช่น แถบโรงหนังลิโด้ ชั้นใต้ดินเซ็นทรัลลาดพร้าว มาบุญครอง สะพานควาย เป็นต้น
Boy’s Love ที่โด่งดัง : New York New York, Hen, BRONZE, Yellow, Tokyo Babylon และ Touring Express เป็นต้น
นิยายเกย์ไทย : เก็บกด รันทด หดหู่?
ประตูที่ปิดตาย : กฤษณา อโศกสิน : ประพันธ์สาส์น
เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มบุคลิกท่าทางดีคนหนึ่ง ซึ่งต้องแต่งงานเมื่อสมควรแก่วันเวลาของการใช้ชีวิตโสดแล้ว โดยหญิงสาวเองก็เข้าใจว่าเขารัก เสน่หาเธอ เช่นเดียวกับที่เธอรู้สึกกับเขา แต่จากพฤติกรรมของเขาก็ได้สร้างความงุนงง สงสัยเกิดขึ้นในใจเธอไม่น้อย จนกระทั่งในที่สุดเธอก็รู้ว่าในขณะที่เขามีเธอเป็นภรรยานั้น เขาก็กลับมีเด็กหนุ่มอีกคนเคียงข้างอย่างคนรักใคร่กันมาตลอด เธอช็อกกับสิ่งที่ได้รับรู้
ทางสายที่สาม : กีรตี ชนา : อรุณ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2525
เรื่องราวของแก้ว จากเด็กหนุ่มกระเป๋ารถเมล์ผ่านแรงกดดัน ประณามหยามเหยียด จนกระทั่งความฝันผ่าตัดแปลงเพศที่อเมริกากลายเป็นจริง ว่ากันว่านิยายเรื่องนี้มีเค้าโครงเรื่องส่วนใหญ่มาจากชีวิตจริงของผู้แต่ง
อื่น ๆ : รูปทอง, บัลลังก์ใยบัว (กฤษณา อโศกสิน) เก้าอี้ทอง (สีฟ้า) ดาวเที่ยงวัน ตะวันเที่ยงคืน (ตรีนุชา) ซากดอกไม้, ด้ายสีม่วง (วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์) ใบไม้ที่ปลิดปลิว (ทมยันตี)
Profile
วิทยา แสงอรุณ เป็นนามแฝงที่ใช้เขียนคอลัมน์ เลิกแอบเสียที ของ ยิ่งยอด มัญชุวิสิฐ ชายหนุ่มวัย 37 ปีผู้นี้ เคยเป็นอดีตนักข่าวในเครือเดอะเนชั่น เขาลาออกจากตำแหน่ง Assistant Managing Editor เป็นการลาออกจากงานในขณะที่อาชีพนักข่าวในระดับบริหารกำลังไปได้ดี เนื่องจากเพื่อนซึ่งร่วมทำ Cyberfish Media มีเหตุต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้เขาต้องลาออกจากงานประจำ มาทำธุรกิจเองเต็มตัวในปีที่ผ่านมานี่เอง นอกจากนี้เขายังมีบทบาทในองค์กรบางกอกเรนโบว์ จัดสัมมนาวาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ เช่น เสวนาเกี่ยวกับละครรักแปดพันเก้า ซึ่งเป็นมุมมองด้านดีเกี่ยวกับความรักของเกย์
สืบเนื่องจาก “เลิกแอบเสียที”
“แฟนคอลัมน์เขาจะรู้สึกดีเหมือนเราเป็นเพื่อนเขา ต้องติดตามอ่านเป็นประจำ อาจเป็นเพราะข้อมูลจากส่วนอื่นๆมีน้อยที่จะอธิบายความเป็นเกย์ในสังคมเมือง และมีคนกล้ายอมรับตัวเองเยอะขึ้นจากการที่เขาอีเมลมาเล่าเรื่อง สิ่งที่เจอชัดเจนคือ คนที่เขาเข้าใจเรื่องเกย์มีมากขึ้น จากการฟังการพูดคุยเขาจะรู้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนกลุ่มที่ไม่เข้าใจ เขาก็จะพูดเรื่องเดิมๆ เหตุผลเดิมๆ ไม่เคยเปลี่ยน ไม่พูดเรื่องใหม่”
“ปัจจุบันการยอมรับของสังคม เขามองเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว คนที่เป็นเกย์อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผย แต่ไม่ต้องเก็บกดแล้ว ไม่รู้สึกว่ามี pressure ในใจ เพราะสามารถมีช่องทางพูดคุยมากขึ้น…กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพลังเพียงแต่เขารออะไรที่เหมาะสมส่งผ่านเขาอยู่”
Website