ในแวดวงนิตยสารผู้ชายประเทศไทย แน่นอนว่า จีเอ็ม กรุ๊ป ของ “ปกรณ์ พงศ์วราภา” ถือเป็นผู้นำตลาด โดยมีนิตยสารจีเอ็ม (GM) เป็นหัวหอกหลักที่ครองตลาดผู้ชายตั้งแต่วัย 20 ปีขึ้นไป มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี
GM หรือ Gentlema’s Magazine เป็นพี่ใหญ่ของวงการนิตยสารเพศชายทุกเล่ม ปัจจุบันนิตยสาร GM ขับเคลื่อนภายใต้การบริหารของ “โตมร ศุขปรีชา” ในการเรียงร้อยมิติใช้ชีวิตของเพศชายที่โด่ดเด่น เข้มข้น มีสาระบันเทิง และรสนิยม ขณะที่อีกด้านน้องใหม่ GM plus ก็ได้เปิดตัวขึ้น และถูกวางไว้ให้ทั้งคู่กลายเป็นนิตยสารรายปักษ์ GM plus เลือกที่จะ positioning ตัวเอง โดยเติมความสดหนุ่มของตัวเอง ภายใต้ชื่อเดียวกัน แต่มีความขี้เล่น เพิ่มเรื่องราวที่น่ารู้ของคนหนุ่มโดยเฉพาะ
โตมร ศุขปรีชา อดีตคอลัมนิสต์ “Sexplorer” ของ GM ก่อนจะมารับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร งานของเขาได้พูดถึงประเด็นเรื่องเพศในสังคมหลายๆ แง่มุม ก่อนที่จะยุติไปเมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ปัจจุบัน “Genderism” ก็เป็นอีกหนึ่งบทความที่เขียนใน a day weekly ที่พูดคุยเรื่องเพศอย่างกว้างขวาง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เขาจึงเป็นนักเขียน และนักสังเกตการณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศคนหนึ่งของสังคมไทย
ตลอดระยะเวลาอายุเกือบ 20 ปีของนิตยสารเล่มนี้ สร้างอุดมคติและการใช้ชีวิตแบบเพศชายที่มีผลและมีอิทธิพลต่อคนอ่านอย่างยาวนานในช่วงเจนเนอเรชั่นหนึ่ง ทั้งการชี้นำ ให้ความรู้ รวมถึงการคลุกคลี ภาพลักษณ์ของ GM มีความเป็นผู้บุกเบิก ท้าทาย คู่กับการทดลอง ค้นหาสิ่งใหม่ตลอดเวลา นี่นับเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ นิตยสารเพศชาย GM จะเลือกเอาเรื่อง Gay มาให้ความสำคัญกับการเป็นเรื่องปก ที่เล่าถึงอิทธิพลแนวคิดของ “ซับเซตของเพศชาย” ที่เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ชายแท้ทุกคนก็ต้องรู้
– เพราะอะไร GM เล่มนี้นำ Gay Issue มาขึ้นปก
Gay Issue มันเป็นความคิดของคุณปกรณ์อยากทำ อยากให้คนในสังคมเห็นว่าผู้ชายจีเอ็มไม่ได้ปิดกั้น กลัว หรือกดขี่คนที่เป็นเพศอื่นๆ เราคุยเรื่องนี้มาเป็นปี
– ที่จริง “เกย์” ก็ถือว่าเป็นเพศชายเหมือนกัน GM มีส่วนผสมที่พูดถึงคนกลุ่มนี้อยู่นั้นด้วยเป็นประจำหรือเปล่า
นิตยสาร GM ไม่ได้มีคอลัมน์เกี่ยวกับเกย์เป็นประจำ แต่ว่าในการปรับเล่มเดือนพฤษภา ของ GM plus ที่ผ่านมา ก็มีการปรับให้มีคอลัมน์ที่เกี่ยวกับเกย์เข้ามา เพราะ GM plus เป็นแมกกาซีนที่มีกลุ่มเป้าหมายเด็กลง เป็นเรื่องของการเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ หรือวิธีการใช้ชีวิตใหม่ๆ ได้มากกว่า จริงๆ GM อาจจะมีแต่ก็ยังไม่ลงตัว คือ แนวคิดของ GM เป็นหนังสือผู้ชายที่เปิดกว้างและยอมรับในแนวทาง และวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆ ไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ทำเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายของชีวิตอยู่แล้ว เรื่องเกย์ แม้มันจะไม่ได้มีตรงๆ แต่เราก็จะมีสารคดีที่เกี่ยวกับเกย์บ้าง เรื่องเกี่ยวกับเลสเบี้ยนก็มี เป็นความหลากหลายของผู้คน ซึ่งบางทีก็แทรกลงในข้อเขียนของคอลัมนิสต์หลายๆ คน ค่อนข้างเป็นประจำ
– แมกกาซีนเกย์ในประเทศไทยทำไมถึงไม่มีพื้นที่อย่างแมกกาซีนต่างประเทศ
ลองคิดดูว่าพื้นที่แบบ Public Space สำหรับเกย์ในเมืองไทย ไม่ได้ต้องการอะไรอย่างอื่น ไม่ต้องการข้อมูลเรื่องร้านอาหาร มันไม่ได้ต้องการข้อมูลแนะนำการใช้ชีวิตในแมกกาซีนเกย์ มันไม่มีการต่อสู้ทางการเมืองที่จะต้องเอามาวางในแมกกาซีนเกย์ เพราะฉะนั้นแมกกาซีนเกย์ที่มีมาตลอด มันก็มีแต่เรื่อง “เพศ” ซึ่งสังคมไทยก็ยอมรับไม่ได้ที่จะให้มันอยู่ในสังคม และถูกกำจัดออกไป ถามว่าเกย์เสพอะไร ก็เสพแมกกาซีนทั่วไป โดยเฉพาะแมกกาซีนบางฉบับบางเล่มที่มีความเป็นยูนิเซ็กซ์ อาจจะมีภาพนายแบบอยู่บ้าง แต่อยู่ภายใต้คำว่าแฟชั่น
– ทราบมาว่ามีคอลัมน์ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเพศมาตลอด ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ มันเริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน
เรื่องเพศเนี่ยสนใจมานานมากแล้ว เพราะสนใจในกลุ่มคนที่คนอื่นอาจคิดว่าเขาเป็นคนไม่ปกติที่ผิดไปจาก norm หรือมาตรฐานทางสังคม เพราะเราจะตั้งคำถามเสมอว่าใครมีอำนาจในการบอกว่าทำอย่างนี้แล้วมันถูก แล้วทำผิดจากนี้ถือว่าผิดปกติ เช่น เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วเคยทำลงในแพรว สารคดีเกี่ยวกับเรื่องเพศที่เคยทำก็ทำเกี่ยวกับเรื่อง “ผู้ชายขายตัว” ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาแตกต่างไปจากคนธรรมดา
ผมว่าในเรื่องเพศมันยังมีแง่มุมอื่นๆ ถ้าหากว่าโลกมันเปิด จนทำให้คนแบบนี้หากันได้ ปัญหาเหล่านี้มันน่าจะลดน้อยลง เพราะอยากทำความเข้าใจกับสิ่งที่มันเป็นอย่างนี้ มันก็เลย เลยมาเรื่องเกย์อะไรด้วย…
– ความเป็นสังคมเมือง กับ Metrosexual หรือ เกย์ เป็นของคู่กันหรือเปล่า
เมื่อไม่กี่วันผมได้ไปพูดที่จุฬาฯ เรื่อง “homosexuality กับ urban space” เราก็เพิ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเป็นเมืองอย่าง แอลเอ ซานฟรานซิสโก ซิดนีย์ มันจะมีย่านเกย์ของเขาอยู่ที่ใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นแคสโตรของซานฟราน ออกซ์ฟอร์ดของซิดนีย์ ในนั้นจะมีทุกอย่างที่เกย์เข้าไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ ที่เกย์แฟรนด์ลี่ มีคนที่เป็นเกย์อยู่ได้สบายใจ มีร้านอาหารที่เจ้าของเป็นเกย์ ร้านหนังสือ ร้านขายซีดี ซาวน่า ฟิตเนส แต่ว่าในเมืองไทยไม่มี เรามีแต่สีลมซอย 2 หรือสะพานควาย บ้านเราจะมีชีวิตเฉพาะช่วงเดียวกับเกย์ คือชีวิตกลางคืน เพราะเราไม่สามารถที่จะไปอยู่ในสีลมซอย 2 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง คำถามที่เกิดขึ้นคือเพราะอะไร
คำตอบที่ค่อนข้างชัดก็คือ เกย์ที่อื่นๆ โดยเฉพาะฝรั่งจะถูกกระทำด้วยการบีบบังคับ (oppress) เมื่อมันถูกปิดเอาไว้มากๆ มันก็เลยเกิดแรงระเบิดออกมา ไม่ว่าการเดินขบวนที่ stone wall นิวยอร์ก แล้วมันก็กลายเป็นพลังทางสังคม ทำให้เกิดย่านขึ้นมาทุกอย่างได้ สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ปิดและไม่ได้เปิด เราไม่ส่งเสริมเกย์ แล้วก็ไม่ได้กดขี่ ส่วนใหญ่เกย์ในเมืองไทยจะผสมกลมกลืนไปกับเมืองทั้งหมด เกย์ไปกินข้าวในร้านที่อาหารใครๆ ก็กินกันไม่ต้องแยกออกมา แต่บังเอิญว่าเรื่องการแสดงออกทางเพศ หรือการจับคู่กัน มันแค่ต้องการพื้นที่เฉพาะ มันก็เลยเกิดที่เฉพาะแบบที่เที่ยวกลางคืน ซาวน่าไม่ใช่ย่านเกย์ในความหมายที่เป็น public space อย่างซอย 2 ที่จริงจะเปิดให้ใครเข้าไปก็ได้ ความหมายของพื้นที่สำหรับเกย์บนซอย 2 กับคนขายลูกชิ้นปิ้งตรงนั้น จึงไม่เหมือนกัน
– แสดงว่าความเป็นเมือง หรือสังคมสมัยใหม่ก็เห็นได้ชัดขึ้น จากการเกิดขึ้นของเกย์
มันน่าสนใจตรงที่ไลฟ์สไตล์ของเกย์มันเห็นชัดขึ้นในเมือง แต่ความจริงแล้ว ผมรู้สึกว่ามันเป็นผลมาจากการตลาดยุคใหม่ ที่คิดว่าการตลาดแบบเกย์นั้นขายได้ ภายใต้คำว่า “Metrosexual” หรืออะไรก็ตาม คำถามต่อไปก็คือไลฟ์สไตล์ของเกย์แบบที่ว่า คือเกย์แบบไหน คนไหนบ้างที่เป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่เราจะรู้สึกว่าเกย์จะต้องแต่งตัวดี มีหุ่นหรือรูปร่างแบบหนึ่ง เข้าฟิตเนส แล้วไปนั่งที่สีลมซอย 2 ซึ่งภาพเกย์ที่เราเห็นแล้วทำให้ตลาดขายได้เนี่ย คือเกย์ middle class ในเมืองซึ่งต้องมีฐานะทางสังคม ต้องมีกำลังซื้อพอสมควร เพราะการที่เขาจะนั่งในสีลมซอย 2 ได้ ด้วยความภาคภูมิ แปลว่าเขาจะต้องห่อหุ้มตัวเองด้วยเสื้อผ้า ที่…ไม่ใช่เสื้อยืดตราห่านคู่ แต่เป็นเสื้อ “Abercombie&Fitch” ซึ่งก็ต้องไม่ใช่อะเบอคอมบี้ปลอม แล้วเขาจะต้องโมดิฟายด์ร่างกายตัวเองให้มันดึงดูด เพราะฉะนั้นก็ต้องผ่านการเข้าฟิตเนส เป็นที่ซึ่งก็ราคาก็ไม่ถูก
แบบนี้มันทำให้เกิดไลฟ์สไตล์แบบเกย์ขึ้นมา หรือต่อเนื่องไปเป็นการกินอาหารประเภทฟิวชั่นฟู้ด การกินไวน์ กินชีส พัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์แบบเกย์ขึ้นมา ความจริงมันไม่ใช่ภาพรวมของเกย์ทุกคน แต่มันเป็นแค่เกย์ชนชั้นกลาง ที่จริงมันมีเกย์ชนชั้นล่างที่เราไม่เห็น เกย์แบบนี้มันเห็นได้ชัด จนคิดว่าเกย์กลุ่มนี้เป็นภาพรวมของเกย์ แล้วบังเอิญอีกชั้นที่ไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้มันขายได้ มีแรงสนับสนุนจากทุนนิยม บริโภคนิยม แบบเกย์ได้รับการยอมรับขึ้นมา ในแง่ของการขาย เมื่อมองในมุมนี้การยอมรับเกย์ที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ว่า ยอมรับที่เกย์เป็นเกย์ หรือยอมรับแค่ไลฟ์สไตล์แบบนี้ว่าเป็นเกย์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องดูต่อไป
ภาพของเกย์แบบชนชั้นกลาง ถูกสร้างมาจากทุนนิยมและการตลาดสมัยใหม่ แล้วมองว่าเป็นตัวแทนของเกย์ทั้งหมด…
การตลาดสมัยใหม่เขาไม่ใช้วิธีดูว่ากลุ่มเป้าหมายคือใครแล้วค่อยผลิตสินค้าบริการให้เข้ากับกลุ่มนั้น แต่การตลาดสมัยใหม่สร้างกลุ่มเป้าหมายขึ้นมาเองเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเกย์ที่จะมาเป็นลูกค้าของการตลาดสมัยใหม่ มันเป็นแค่จินตนาการของการตลาด โดยใช้อำนาจของการตลาดปั้นกลุ่มนี้หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจว่าเขาพุ่งไปเกย์โดยจริงๆ เลยหรือเปล่า
แต่ผมคิดว่า การสร้างไลฟ์สไตล์แบบ Metrosexual ขึ้นมาก็เพื่อให้ทั้งผู้ชายและเกย์ได้เสพ มันน่าจะเป็นนิพพานของการตลาดสมัยใหม่…