การศึกษา : ตลาดใหญ่ธุรกิจไอที

ไมโครซอฟท์กับแผนรากหญ้า

การ์ทเนอร์ บ.วิจัยเกี่ยวกับไอที คาดการณ์ว่า เทคโนโลยีเวบเซอร์วิสมีขนาดตลาดทั่วโลก 38,000 ล้านเหรียญ โดยไมโครซอฟท์เป็นผู้นำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ในสัดส่วน 46.5% การที่รัฐบาลไทยปัจจุบันมีนโยบายเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านไอทีเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ไมโครซอฟท์จึงได้เสนอแผนร่วมดำเนินการกับรัฐบาล เพื่อเป้าหมายขยายธุรกิจเว็บเซอร์วิส (.Net) ตั้งเป้า 3 ปี คือ ปีที่ 1 สร้างทักษะและความเชี่ยวชาญ ปีที่ 2 สร้างอุตสาหกรรม ปีที่ 3 สร้างธุรกิจและตลาด ภายใต้โครงการ Academic Alliance

การดำเนินโครงการ Academic Alliance เป็นการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) เพื่อพัฒนาทักษะด้านไอทีในระดับอุดมศึกษา ในปีแรกดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย 12 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ 9 แห่ง ในภูมิภาค 3 แห่ง เป็นการนำร่องในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยคาดว่าจะมีนักศึกษาร่วมประมาณ 8,000 คน

ดร. ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาธุรกิจกลยุทธ์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลสำเร็จของมหาวิทยาลัยชั้นนำ 12 แห่งนี้ จะดึงดูดให้สถาบันระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาตามเป้า 36 สถาบันทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดหลักสูตรใหม่เกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสขึ้นประมาณ 300 หลักสูตร จะมีอาจารย์เข้าร่วม 360 คน นักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 24,000 คน และจะเกิดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ประมาณ 10,000 คน เป็นการปูพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีเว็บเซอร์วิสอย่างยั่งยืน

“โครงการนี้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งในการขยายฐานผู้ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ไปในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะโครงการ Thailand.Net ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หากได้รับอนุมัติดำเนินการแล้วจะเห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”

สำหรับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ Academic Alliance ในครั้งนี้สิ่งที่จะได้รับ ได้แก่ การอบรมพัฒนาอาจารย์ (Train the Trainer), ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์, หลักสูตรสำเร็จรูป, การแชร์ซอร์ซโค้ดเพื่อการเรียนการสอนและการวิจัย, เว็บท่าเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง, ทุนวิจัย ตลอดจนการออกใบรับรอง (Microsoft Co-Branding Certification) คิดเป็นมูลค่า 360 ล้านบาทสำหรับ 12 สถาบันแรก ส่วนสถาบันอื่นที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการในอนาคตจะมีการเก็บค่าธรรมเนียม 29,000 บาท/ปี

ด้าน ดร. มนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด และยอมรับว่าผลจากการทำหลักสูตรและการฝึกอบรม จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ผูกติดกับการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เว็บเซอร์วิสเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในบรรดาแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ เป้าหมายใหญ่ของ SIPA คือการยกระดับกระบวนทัศน์ของบุคลากรในแต่ละเซ็กเมนต์ ให้มีการนำไอทีเขาไปเพิ่มศักยภาพการทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ธุรกิจท่องเที่ยว และ e-Government

โครงการอื่นๆ ที่ไมโครซอฟท์ทำกับภาคการศึกษา

– Partners in Learning ดำเนินการใน 7 ประเทศ ในไทยไมโครซอฟท์สนับสนุนงบ 2,500 ล้านบาท อัพเกรดซอฟท์แวร์ให้โรงเรียนประถม-มัธยม 38,000 แห่งทั่วประเทศ และจัดตั้ง Microsoft IT Academy Center เพื่ออบรมครูและนักเรียน
– IT Youth Challenge โครงการแข่งขันระดับเยาวชน
– Imagine Cup การแข่งขันสร้างแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ เป็นโครงการที่ทำใน 90 ประเทศ

12 สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ Academic Alliance

กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ภาคอีสาน : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาคเหนือ : มหาวิทยาลัยพายัพ
ภาคใต้ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เอเซอร์กับตลาดการศึกษา

เป็นกลยุทธ์ที่ทำมาตลอดของเอเซอร์กับการเจาะลูกค้าในตลาดการศึกษา ในขณะที่มหาวิทาลัยรังสิตพยายามผลักดันองค์กรให้เป็น e-University จึงเกิดความร่วมมือกันในโครงการ Unwire Campus เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีไอทีของนักศึกษา ด้วยการให้นักศึกษาเข้าใหม่ปีการศึกษา 2548 ของ 5 คณะคือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์เกมส์มัลติมีเดีย) คณะศิลปกรรม (สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต) คณะบริหารธุรกิจ (สาขาสารสนเทศคอมพิวเตอร์) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์) รวมประมาณ 1,500 คน สามารถผ่อนซื้อโน้ตบุ๊กเอเซอร์ได้ โดยมหาวิทยาลัยช่วยจ่ายเงินสนับสนุนเครื่องละ 10,000 บาท ส่วนนักศึกษาปริญญาโทที่เข้าใหม่ปีการศึกษา 2548 ทุกคนในทุกคณะจะได้รับโน้ตบุ๊กฟรี

ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตั้งเป้าว่าภายในปี 2549 ทุกคณะจะทำ e-Learning courseware ได้ครบทุกวิชา และจะกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียน ขณะเดียวกันก็จะวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายให้สมบูรณ์แบบทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อการเข้าถึงข้อมูล (data convergence) ที่ทำให้เกิดคุณภาพการเรียนการสอนสูงสุด และก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียให้ได้

“มหาวิทยาลัยลงทุนในเบื้องต้นประมาณ 20 ล้านบาท เพราะเห็นว่าโน้ตบุ๊กเป็นอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง กำลังจะมาแทนที่ห้องเรียนแบบ talk & chalk หรือเลกเชอร์แบบเดิม สำหรับนักศึกษาคณะอื่นที่ต้องการซื้อโน้ตบุ๊ก เราก็จะสนับสนุนเงินด้วยเช่นกัน ในอัตราลดหลั่นลงไป ปี 2 ให้ 7,500 บาท ปี 3 –6 ให้รายละ 5,000 บาท ที่เหลือผ่อนส่งกับลิสซิ่งของเอเซอร์เดือนละ 500-1,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนในเครือคือ สาธิตม.รังสิต และโรงเรียนนานาชาติดัลลิช ภูเก็ต เราก็จะสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสซื้อโน้ตบุ๊กในราคาไม่แพง เป็นของตนเองด้วย”

ส่วน แฮรี่ หยาง กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเซอร์ คอมพิวตอร์ จำกัด กล่าวว่า โครงการ Acer Unwire Campus ดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้วกับมหาวิทยาลัยรัฐ 11 แห่ง เอกชน 2 แห่ง แต่ประสบความสำเร็จที่มหาวิทยาลัยรังสิตมากที่สุด และจะใช้เป็นต้นแบบการดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยอื่นในเฟสต่อไป นอกจากการขายโน้ตบุ๊กราคาพิเศษแล้ว เอเซอร์ยังจัดการฝึกอบรม และบริการหลังการขาย โดยตั้งศูนย์บริหารภายใน ม.รังสิต ด้วย รวมทั้งขยายเวลารับประกันจาก 1 ปีเป็น 3 ปี และจะทำโครงการรับนักศึกษาไปฝึกงานที่บริษัทอีกด้วย

Acer’s Profile

เอเซอร์ เป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์จากไต้หวัน ก่อตั้งในปี 2519 มีผลประกอบการติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก มีสาขา 44 ประเทศ เข้ามาในไทยเมื่อปี 2527 แต่ตั้งเป็นบริษัทเมื่อปี 2536 มีดีลเลอร์ประมาณ 600 ราย

เอเซอร์ประกาศว่าตนเองครองตลาดพีซีและโน้ตบุ๊กเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และครองส่วนแบ่งในไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในควอเตอร์สุดท้ายของปีที่ผ่านมา เมื่อต้องแข่งขันกับโลคอลแบรนด์มากขึ้น จึงตั้งเป้าปีนี้เป็น Year of Commercial ที่จะรักษาส่วนแบ่งอันดับ 1 ไว้ให้ได้ และช่วงต้นปี 2548 ที่ผ่านมาเฉพาะในเซกเมนต์ตลาดการศึกษา ขายโน้ตบุ๊กไปได้แล้วกว่า 10,000 เครื่อง สัดส่วนการครองตลาดปีที่ผ่านมา เอเซอร์ 25% HP 21% IBM 8% และโตชิบา 7% โดยปีนี้พยายามสร้างยอดขายหนีห่างอันดับ 2 ให้มากกว่า 5%

สัดส่วนกาครองตลาดปีที่ผ่านมา

– เอเซอร์ 25 %
– HP 21 %
– IBM 8%
– โตชิบา 7%
– อื่นๆ 39%