สะคริษฐ์ ไพชยนต์ สถาปนิกประหยัดพลังงาน

“การเป็นสถาปนิกที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม ต้องสร้างและโน้มน้าวสิ่งดีๆ ในการใช้พื้นที่ออกแบบอาคารให้กับบุคคลทุกระดับชั้น บนพื้นฐานที่ถูกต้องจากองค์ความรู้ที่มี บวกจิตสำนึกที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคม”

ด้วยอุดมการณ์นี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ สะคริษฐ์ ไพชยนต์ สถาปนิกหนุ่มวัย 35 ปี พยายามต่อยอดความรู้ที่ร่ำเรียนมาและพัฒนาจนเป็นแนวคิด “บ้านประหยัดพลังงาน” ที่แฝงอยู่ในดีไซน์บ้านหลังใหญ่สไตล์คันทรี่ที่อยู่ในโครงการศูนย์แพทย์พัฒนา ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกให้ออกรายการของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และบ้านหลังนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อ จนเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของเขาไปแล้ว

สะคริษฐ์ ใช้ชีวิตบนเส้นทางวิชาชีพสถาปนิกเรื่อยมากว่า 15 ปี หลังจากเรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งที่ผ่านมา เขามีจุดยืนการทำงานคือ “สถาปนิกต้องพยายามให้ความรู้ที่เรามีมากกว่าเจ้าของบ้าน เอามาแทรกไว้ในตัวบ้าน หรือเอามาให้กับเจ้าของบ้านได้รับทราบว่าเขาควรจะได้ประโยชน์อะไรจากความรู้ของสถาปนิกตรงนี้บ้าง”

จุดยืนนี้เอง สะคริษฐ์จึงเสนอไอเดีย “บ้านประหยัดพลังงาน” ให้กับเจ้าของบ้านหลังนี้ เพื่อแก้ปัญหาบ้านร้อน อันเนื่องมาจากการเป็นบ้านชั้นเดียวอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ ทั้งนี้ หลักการสำคัญของบ้านประหยัดพลังงานคือ ต้องทำให้คนรู้จักใช้ธรรมชาติอย่างถูกต้อง ทำให้ประหยัดพลังงานของโลก และต้องช่วยประหยัดเงินให้เจ้าของบ้านได้มากที่สุด

“บ้านประหยัดพลังงานสไตล์ผมเป็นวิถีธรรมชาติไม่ซับซ้อน” สะคริษฐ์แนะนำตั้งแต่การวางแปลนบ้านว่าควรวางให้ถูกทิศทางลมคือลมจะเข้าทางทิศใต้หรือทิศเหนือโดยต้องมีทางลมผ่านตลอดแนวบ้าน แต่เพราะเมืองไทยไม่มีลมแรงนัก เขาจึงใช้หลักความกดอากาศเป็นตัวล่อให้เกิดลม

“ใช้หลักปล่องระบายอากาศ ต้องเป็นปล่องเปิดสูงกว่าช่วงหลังคา ภายนอกใช้หินเทียมกรุผนังและภายในปล่องด้านบนใช้วัสดุกักความร้อนเพื่อให้อากาศข้างบนร้อนกว่าปกติ เมื่ออากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นไปข้างบน จึงเกิดช่องว่างให้อากาศเย็นด้านล่างจากภายนอกพัดเข้ามาในช่องว่าง เราจึงรู้สึกลมพัดเข้าบ้าน ขณะที่ด้านล่างของปล่องยังเป็นสวนหย่อมพักผ่อนได้ด้วย”

อย่างไรก็ดี บ้านประหยัดพลังงานจะเกิดขึ้นได้ สะคริษฐ์บอกสั้นๆ ว่า “สถาปนิกจะมีโจทย์มากขึ้นและก็ต้องตีโจทย์ยากขึ้นด้วย แต่ทั้งหมดไม่อาจจะเกิดได้เพียงเพราะแนวคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกคนเดียว หลายครั้งก็ต้องขึ้นอยู่เจ้าของบ้านที่จะให้โอกาสกับสถาปนิกด้วย”

นอกจากบทบาทสถาปนิกในภาคเอกชน สะคริษฐ์ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตย์ในการพัฒนาที่ดินของภาครัฐ โครงการปัจจุบันคือ โครงการพัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่กว่าพันไร่ โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมอย่างเต็มพื้นที่ และเพื่อบุกเบิกการใช้ศักยภาพของสิ่งแวดล้อมในโครงการภาครัฐ

ล่าสุด สะคริษฐ์ยังได้รับบทบาทใหม่ในการเป็นพิธีกรรายการ “มุมหนึ่ง …One Corner“ นำเสนอเรื่องบ้าน และการตกแต่งบ้านในรูปแบบวิชาการผสมบันเทิง โดยเขาบอกเหตุผลการรับหน้าที่ตรงนี้ว่า “คนทุกคนอยากมีมุมในฝันของตัวเองไม่ว่าจะมีบ้านเล็กหรืออยู่ห้องเช่า ผมอยากทำให้คนไม่ว่าจะมีฐานะใดก็สามารถมีฝันและสร้างฝันขนาดกลาง ท่ามกลางชีวิตธรรมดาของเขาได้”

เขาหวังอย่างยิ่งให้รายการนี้เป็นเสมือนที่ปรึกษาด้านการออกแบบหรือตกแต่ง สำหรับเจ้าของบ้าน เจ้าของอาคาร และประชาชนทั่วไปที่อยากมีมุมในฝันให้กับห้องหรือบ้านของตน แต่อาจไม่มีเงินมากพอว่าจ้างสถาปนิก ซึ่งรายการนี้จะเริ่มออนแอร์ตอนแรกเดือนเมษายน ทุกเช้าวันเสาร์อาทิตย์ทางช่อง 5

“ไม่ว่าจะทำงานในบทบาทไหน จะภาครัฐหรือเอกชน ทุกงานที่ทำจะต้องมีเอกลักษณ์ และมีสิ่งที่สร้างสรรค์ในเนื้องาน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบที่สถาปนิกต้องมีต่อส่วนรวม” …และนี่คือบทสรุปการทำงานตลอด 15 ปี ที่ผ่านมาของเขา

Profile

Name : สะคริษฐ์ ไพชยนต์
Born : 23 ก.ค.
Education :
มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท
ปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Career-Hilight :
-หัวหน้าทีมออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ของ สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โครงการพัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ อ. โป่งแยง จ. เชียงใหม่ ฯลฯ
-สถาปนิก ผู้ออกแบบและรับผิดชอบงานออกแบบปรับปรุงโครงการอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และออกแบบ “บ้านประหยัดพลังงาน”
-พิธีกร รายการสารคดีทางสถาปัตยกรรม และตกแต่งภายใน รายการ “มุมหนึ่ง..ONE CORNER”