เสียงในสาย…การตลาดมัดใจเกย์

เอ่ยคำว่า Gay line หลายคนคงคิดประหวัดไปถึงเรื่อง sex ของเกย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก อีกทั้งเบอร์ 1900 สร้างความรู้สึกด้านลบในใจใครหลายคน เพราะแม้แต่รายการถอดรหัส ของไอทีวีเอง ก็เคยเปิดโปงเรื่อง Gay sex line นี้จนเป็นข่าวครึกโครมพักหนึ่ง

แต่ตรัย (นามแฝง) กรรรมการฝ่ายสื่อสารองค์กรฟ้าสีรุ้ง ผู้เคยบุกเบิกชุมชนคนสีรุ้งชื่อ M-square มาตั้งปี 2543 แม้ได้รับการตอบรับดีด้วยเนื้อหาที่แตกต่าง แต่ต้องยุติไปเนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน ปี 2548 เขาได้กลับมาทำใหม่ (ยังไม่ได้สรุปชื่อ) โดยมุ่งหวังให้เป็นสื่อกลางสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กลุ่มเกย์ โดยมี วิทยา แสงอรุณ ผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิทและพันธมิตรทางธุรกิจคือกำลังสำคัญ หวังว่าจะทำให้สายด่วนสำหรับเกย์ เป็น gay hub ที่ก่อประโยชน์ทั้งทางธุรกิจ และต่อผู้บริโภค และเป็นความพยายามที่จะยกระดับธุรกิจนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมายและมาตรฐานของสังคม

“เคยทำรายการวิทยุมาก่อน เราคิดว่า line ที่เราจะสร้างขึ้นมาเป็นคลื่นวิทยุคลื่นหนึ่งไม่ใช่แค่ call center ธรรมดา มันต้องมีหลากหลายเรื่องราว เราก็ครีเอตเรื่องราวที่เราคิดว่ากลุ่มเกย์สนใจจะรู้ ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์น่าสนใจ เช่น talk show จากเจ๊เดย์ ฟรีแมน เรื่องเกี่ยวกับดนตรี เพลง หนังซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหนังเกย์อย่างเดียว เพราะเกย์ก็ดูหนังทั่วไปเหมือนกัน เราอยากทำให้เป็น conference ได้ด้วย จากปกติจะเป็นลักษณะของ chat line ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับ lifestyle การมองตนเองในแง่บวก เหมือนเป็นชุมชนๆ หนึ่ง เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเกย์ และนอกจากนี้ยังใช้ line เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ event หรือหนังที่เกี่ยวกับเกย์ ตลอดจนกิจกรรมขององค์กรฟ้าสีรุ้งด้วย”

การเปิดธุรกิจสายด่วนชุมชนเกย์นี้ นับเป็นก้าวแรกที่จะจัดเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรเกย์ ผู้บริโภคเกย์เบื้องต้นของเมืองไทย โดยนับจากจำนวนสายที่เรียกเข้ามา profile ที่ฝากไว้ ขณะเดียวกัน จำนวนสายที่เรียกเข้ามาจะเป็น “ฐานข้อมูล” ที่ใช้อ้างอิงให้กับเจ้าของสินค้าและบริการ ที่ต้องการนำเสนอสินค้าและบริการ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มเกย์ได้โดยตรง ผ่านรูปแบบของงาน event ต่างๆ ที่ “ตรัย” คาดไว้ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องตามมา

“ตอนที่ทำ M-square คนโทรเข้ามา 8,000-9,000 สายต่อวัน และจากการเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับละครเวทีหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเกย์ เช่น ไฉไลไปรบ ขอขันที เพลงรักดอกไม้บานวันกะโทโร่ เราก็พบว่า สามารถโปรโมตให้คนไปดูละครเวทีเหล่านี้เยอะมาก และระบบนี้จะ access เข้ามาเมื่อไรก็ได้ตลอด 24 ชม. ด้วยเบอร์ 02 ค่าโทรศัพท์ไม่ใช่รายได้หลักเลย เพราะรายได้ส่วนใหญ่จาก sponsor ship ซึ่งช่วงแรกคงเป็นพวกสถานบันเทิง หนัง ละครที่เกี่ยวกับเกย์

“ เรากำลังมองไปที่ consumer และ fashion product ถ้าเรามีข้อมูลตัวเลขที่ยืนยันได้และมีประโยชน์ เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณา เพราะเราสามารถเป็นสื่อกลางในการจัด event ให้กับสินค้าที่ต้องการจะส่งสารไปยังกลุ่มเกย์ จะทำอย่างไร เราจะเป็นเหมือนที่ปรึกษาให้ด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม ถ้าสินค้าของคุณต้องการ make friend กับกลุ่มนี้ แต่ไม่รู้วิธีการเข้าถึง เราจะจัดการให้ โดยเรามี target group ชัดเจน กลุ่มเกย์ระดับกลางถึงบน จะกลายเป็น trend setter ให้กับกลุ่มเกย์ระดับล่าง เพราะถ้ากลุ่มนี้ฮิต กลุ่มอื่นก็ฮิตตามได้ไม่ยาก”

ตรัยยืนยันถึงความนิยม จากประสบการณ์ในอดีต “ช่วงที่ทำ M-square คืน countdown ปี 2000 ระบบพังไปเลย เพราะช่วงเทศกาลคนเหงาเยอะมาก ไม่มีคู่ ก็โทรเข้ามาที่ line”

พร้อมๆ กันนี้เขาวางแผนที่จะใช้เว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึง end user โดย link เข้ากับ gay hub อีกทั้งงาน event เช่น จัดฉายหนังเกย์ที่ House Rama ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดี โดยคนที่เข้ามาดูส่วนใหญ่เป็นเกย์ประมาณ 90% และผู้หญิงอีก 10% “ตอนแรกที่จัดหนังเกย์ คนสงสัยว่าคนที่เป็นเกย์จะกล้ามาดูเหรอ แต่ด้วยเนื้อหาของหนังที่เราเลือกมาที่มีมุมมองเกี่ยวกับตัวเองที่น่าสนใจ และอีกอย่างเขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกเขาโดยตรงด้วย”