Target = Gays

แม้ว่าสถิติตัวเลขจำนวนประชากรเกย์ (ในที่นี้จะรวมทั้งเกย์ชายและเกย์หญิงหรือเลสเบี้ยน) จะหาข้อมูลที่แน่นอนและชัดเจนได้ยาก แต่บรรดาบริษัทการตลาดและบริษัทโฆษณาทั้งหลายในอเมริกาก็พยายามสำรวจหามาจนได้ จากผลการศึกษาล่าสุดจากบริษัทGreenfiled Online ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในมลรัฐคอนเนกติกัต พบว่า รายได้เฉลี่ยของเกย์อยู่ที่ประมาณปีละ 57,000 เหรียญฯ ส่วนบริษัท Spare Parts จากนิวยอร์ก พบว่า ในอเมริกามีประชากรเกย์อยู่ประมาณ15-23 ล้านคน และมีกำลังซื้อประมาณ 8 แสนล้านเหรียญฯ ในขณะที่รายงานของ Witeck-Combs Comunications เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว พบว่า ในอเมริกามีประชากรที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเกย์หรือกลุ่มคนที่ชอบเพศเดียวกัน จำนวนประมาณ 15 ล้านคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และในจำนวนนี้จะมีกำลังซื้อมากถึง 6.1 แสนล้านเหรียญฯ ในปีนี้ และคิดเป็นกำลังซื้อจากกลุ่มเกย์หญิงหรือเลสเบี้ยนเพียงลำพังประมาณ 2 แสนล้านเหรียญฯ ทีเดียว ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล ฉะนั้นการตลาดเป้าหมายที่ลูกค้ากลุ่มเกย์จึงมีแนวโน้มสูงขึ้น

เมื่อกว่าสิบปีก่อน Wall Street Journal ให้นิยามกลุ่มเกย์ว่าเป็น “a dream market” และเชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบัน 36% ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 100 มีการทำการตลาดจับกลุ่มเกย์โดยตรง นอกจากนั้น บริษัทในอเมริกายังใช้จ่ายปีละประมาณ 200 ล้านเหรียญฯในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีเป้าหมายลูกค้าเกย์ ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ยังไม่รวมถึงสื่อโฆษณาอื่น เช่น โทรทัศน์
หรือออนไลน์

เมื่อกล่าวถึง “gay community” หรือ “gay market” นั้นต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า เกย์ก็เป็นคนคนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นหรือความคิดเช่นเดียวกันเสมอไป หญิงชายบางคนบางแสดงตนว่าเป็นเกย์อย่างเปิดเผย ส่วน bisexual ผู้ที่ชอบทั้งเพศหญิงและเพศชายและ Transgender ผู้ที่มีจิตใจเหมือนเพศตรงข้าม บางคนก็ไม่แสดงออกหรือเรียกตัวเองว่าเกย์ ฉะนั้น เวลาทำการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายเกย์ จะต้องทำการบ้านเลือกใช้สื่อให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย และควรลงทุนในการทำวิจัยสินค้าและแบรนด์ให้ดี อย่าลืมว่า “brand loyalty” ไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเพียงข้ามคืน อย่างไรก็ดี ในอเมริกา นักการตลาดทั้งหลายมุ่งโฟกัสที่เกย์ชายกับเลสเบี้ยนเท่านั้น ยังไม่มีการทำการตลาดเจาะจงไปที่กลุ่ม bisexual มากนัก

ยิ่งกว่านั้น เวลาที่กล่าวถึง “gay market” ยังหมายถึง กลุ่ม “DINKs” หรือ”double income, no kids” คือ ครอบครัวที่มีรายได้ทั้งสองคน แต่ไม่มีบุตร ฉะนั้นพวกเขาก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องบุตร มีแต่รายได้เข้ามาเต็มๆ ทำให้มีกำลังใช้จ่ายในด้านอื่นสูงกว่าครอบครัว
ที่มีบุตร กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะรักการท่องเที่ยว ชอบใช้สินค้าหรูมีราคาแพง และเกย์ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง จบอย่างต่ำปริญญาตรี และยังเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีได้เร็วกว่าทั่วๆ ไป จึงจัดว่าเป็นพวกไฮเทค เทรนดี้ และครีเอทีฟ ซึ่งเกย์ชายส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของเครื่องเล่น MP3 เครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และเครื่องบันทึกภาพวิดีโอแบบพกพา

มลรัฐที่มีประชากรเกย์สูงสุดติด 5 อันดับแรกคือ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ฟลอริดา เทกซัส และอิลลินอยส์ โดยเกย์ชายส่วนใหญ่จะชอบอาศัยอยู่ในใจกลางเมืองใหญ่ ในขณะที่เลสเบี้ยนจะชอบอยู่ไกลออกไปจากตัวเมือง นอกจากนั้น จากผลสำรวจพฤติกรรมการดำรงชีวิตของชาวเกย์ยังพบว่า เกย์จำนวน33% อ่านนิตยสารเกี่ยวกับเกย์ จำนวน 41% เข้าเว็บไซต์เกย์ จำนวน 19% อ่านหนังสือพิมพ์เกย์
ประจำท้องถิ่น และ 60% ของชาวเกย์จะติดตามข่าวสารข้อมูลจากนิตยสารข่าวทั่วไป นอกจากนั้น เกย์จำนวน 41% ยังชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน การออกแบบ และจำพวก Lifestyle ยิ่งกว่านั้น เกย์จำนวน 52% ยังจ่ายเงินเพิ่มเพื่อชมรายการทีวีพรีเมียมทั้งหลาย เช่น HBO Cinemax และ Showtime สำหรับพาหนะ ชาวเกย์จะชอบใช้รถประเภท SUVs หรือ Sport Utility Vehicles และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเลสเบี้ยนในอเมริกาชอบ Subaru

เมื่อปลายปี ค.ศ. 2002 บริษัท Harris Partnership ได้ทำการสำรวจอิทธิพลจูงใจในการซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวเกย์ เมื่อผู้ขายเป็นเกย์เช่นกัน ผลสำรวจพบว่า ชาวเกย์จำนวน 56% มีการตอบรับที่ดีต่อในกลุ่มการบริการด้านกฎหมายและการเงิน จำนวน 51% ตอบรับดีต่อการบริการด้านสุขภาพ จำนวน 49% เป็นสินค้าประเภทบ้านและรถยนต์ และจำนวน42% คิดว่า การจับจ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน และจำนวนเท่ากัน 42% ในผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี

การท่องเที่ยวของชาวเกย์

สำหรับกรณีการแต่งงานของเกย์ที่ยังประเด็นที่ถกเถียงกันในหมู่ชาวคริสเตียนอเมริกันนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินในธุรกิจงานแต่งงานในอเมริกาที่มีสูงถึง 7 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อปี และในจำนวนนี้มาจากชาวเกย์ประมาณ 16.8 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี นอกจากนี้การฮันนีมูนของชาวเกย์ รวมถึงการท่องเที่ยวทั่วไปก็นับว่าทำรายได้จากชาวเกย์ปีละไม่ต่ำกว่า 54.1 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของรายได้ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอเมริกาทีเดียว ซึ่งกิจกรรมเทศกาลหลักๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวเกย์ในแต่ละปี ได้แก่ มหกรรม Gay & Lesbian PrideParade ที่ซานฟรานซิสโกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ นับเป็นปีที่ 35 แล้ว โดยกิจกรรมนี้สร้างรายได้ประมาณปีละ 100 ล้านเหรียญฯ อีกเทศกาลหนึ่งที่ชาวเกย์ไม่พลาดคืองาน Southern Decadence ที่นิวออลีนส์ ปีนี้เป็นปีครบรอบปีที่ 34 และจะมีขึ้น ในวันที่ 31 สิงหาคมถึง 5 กันยายนที่จะถึงนี้ งานนี้สร้างรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 72 ล้านเหรียญฯ

ตลาดกลุ่มชาวเกย์นับเป็นตลาดที่มีอิทธิพลสูงทีเดียว ขนาด Disney World ที่ฟลอริดายังจัดให้มี “Orlando Gay Days” อย่างไม่เป็นทางการเลย โดยปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 31พฤษภาคมถึง 5 มิถุนายนนี้ และถือเป็นปีที่ 15 แล้ว สร้างรายได้ปีละ 100 ล้านเหรียญฯ
สำหรับชาวเกย์ที่ชอบความหนาวเย็นของหิมะต้องไปที่เทศกาล Aspen Gay Ski Week ที่ Colorado ซึ่งปีนี้ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 16-23 มกราคม สร้างรายได้ประมาณ 12ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ The Gay Games ยังเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้โอลิมปิก
ทีเดียว ครั้งต่อไปเป็นครั้งที่ 7 จะจัดขึ้นในปีหน้าที่นครชิคาโก เมืองที่มีประชากรเกย์อาศัยอยู่เป็นอันดับที่ 3ในอเมริกา โดยงานโอลิมปิกของชาวเกย์จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-22 มิถุนายนในปีหน้า งานนี้เป็นงานยักษ์สร้างรายได้หลายร้อยล้านเหรียญฯ โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดในอเมริกา ครั้งแรกจัดขึ้นที่นิวยอร์กเมื่อ 11 ปีก่อน ทำรายได้ให้แก่รัฐประมาณ 300 ล้านเหรียญฯ
อีกงานที่ชาวเกย์ไม่พลาดคือ The Folsom Street Fair หรืองานปิดถนนเกย์เดิน สำหรับชาวเกย์ผู้หลงใหลในผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ที่ซานฟรานซิสโก ปีนี้ตรงกับวันที่ 25 กันยายน

นอกจากนี้ ในอเมริกายังมีกลุ่มสมาคมกีฬาที่เป็นศูนย์รวมของชาวเกย์อีกมากมายทั่วประเทศ ได้แก่สมาคมโคบาลเกย์นานาชาติ (The International Gay Rodeo Association) สมาคมโบว์ลิ่งเกย์นานาชาติ (The International Gay
Bowling Association) สมาพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นเกย์แห่งอเมริกาเหนือ (The North American Gay Amateur Athletic Alliance) ซึ่งเป็นสมาคมกีฬาซอล์ฟบอลของชาวเกย์ และ The Dinah Shore Golf Tournament
สำหรับนักกีฬากอล์ฟเลสเบี้ยน ยิ่งกว่านั้น เทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยนยังเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างสีสันในการทำการตลาดอีกด้วย

Niche Market:Gay Enterpreneurs

ในอเมริกามีจำนวนธุรกิจขนาดย่อมประมาณกว่า 20 ล้านบริษัททั่วประเทศ และในจำนวนนี้มีธุรกิจที่ดำเนินการโดยเกย์ประมาณ 1 ล้านบริษัท ดังนั้น บริษัทชั้นนำใหญ่ทั้งหลายจึงต้องมีการทำการตลาดเจาะไปที่กลุ่มลูกค้า Niche Market กลุ่มนี้ เช่น บริษัท Scout Production ที่มี David Collins เป็นผู้ก่อตั้ง และเขาได้ใช้บริการของ American Express ในการทำธุรกิจและผลิตรายการ Queer Eye for the Straight Guy ที่โด่งดังในปัจจุบัน และขณะนี้ David Collins กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์อย่างเป็นทางการให้แก่ American Express ในส่วนของการโปรโมตการให้บริการทางด้านธุรกิจขนาดย่อม

IBM เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เป็นมิตรกับชาวเกย์ เนื่องจากนักธุรกิจเกย์ทั้งหลายใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ปีละเป็นพันๆ ล้านเหรียญฯ และปีที่แล้ว IBM ได้เพิ่มเซกชั่นของ Gay Business ในเว็บไซต์ของบริษัท โดยมีเบอร์โทรศัพท์และอีเมลของพนักงานที่เป็นเกย์มากกว่าพันคนคอยให้บริการลูกค้ากลุ่มพิเศษนี้ เช่น บริษัท Replacements ใน North Carolina ผู้นำเข้าและจำหน่ายเครื่องเงินและคริสตัลจากประเทศจีน ก่อตั้งโดย Bob Page ซึ่งปีที่แล้วเขาลงทุนกว่า 200,000 เหรียญฯ ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการสร้างเว็บไซต์ให้แก่บริษัท โดยเขาเลือก IBM แทนที่จะเป็น Dell ทั้งๆ ที่ IBM เสนอราคาที่สูงกว่า ซึ่งเขาได้ให้เหตุผลว่า IBM เป็นบริษัท Gay-Friendly อีกธุรกิจที่ลงทุนซื้อซอฟต์แวร์การตลาดจากไมโครซอฟท์เป็นเงินถึง 400,000 เหรียญฯ คือบริษัทท่องเที่ยว Olivia ซึ่งดำเนินการโดยเลสเบี้ยน Amy Errett ผู้กล่าวว่า เธอจะทำธุรกิจกับบริษัทที่ปฏิบัติต่อเกย์เท่าเทียมกับเพศอื่น

นอกจากนี้ บริษัทเช่ารถอย่าง Avis ของ Cendent มีการโปรโมตนโยบายการให้บริการคู่เกย์เท่าเทียมกับคู่แต่งงานทั่วๆ ไป โดยปีที่แล้วมีโฆษณา Gay Film Festival ปรากฏบนเว็บไซต์ของ Avis และธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่าง Echelon ซึ่งเป็นนิตยสาร Gay-Business ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเหมือนนิตยสารทำนองเดียวกันนี้ที่จับกลุ่มคนผิวดำ เช่น Black Enterprise และคนเม็กซิกัน อย่าง Hispanic Business ยิ่งกว่านั้น เพื่อเป็นการสนับสนุน Gay-Business สภาหอการค้าเกย์และเลสเบี้ยนแห่งอเมริกยังพยายามผลักดันให้ธุรกิจใหญ่ๆ เพิ่มบริษัทซัพพลายเออร์ที่เป็นของเกย์ไว้ในกลุ่มของ minority supplier lists ด้วย

Gays in Ads

ในอดีตประมาณสิบกว่าปีก่อน โฆษณาที่มีเกย์ปรากฏอยู่นั้นจะหาดูได้เพียงแต่ในนิตยสารเกย์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเห็นได้โดยทั่วไป ซึ่งรวมถึงโฆษณาในโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งลูกค้าเกย์ส่วนใหญ่คาดหวังว่า โฆษณาจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเป็นเกย์ที่เหมือนกับคนทั่วไป เป็นลักษณะที่ตรงไปตรงมาและเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้น การคิดกลยุทธ์การตลาดเป้าหมายที่กลุ่มเกย์ ต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงความเชื่อและความรู้สึกของพวกเขาที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภค

โดยทั่วไปแล้วเกย์ชายจะปรากฏอยู่ตามสื่อโฆษณาต่างๆ มากกว่าเลสเบี้ยน และสาเหตุนี้เองทำให้ภาพพจน์เชิงลบของเกย์ชายมีมากกว่าเลสเบี้ยน เป็นที่สังเกตว่า เมื่อใดที่มีคู่เลสเบี้ยนปรากฏอยู่ในโฆษณาจะต้องมีคู่เกย์เข้ามาแจมอยู่ด้วย สำหรับโฆษณาที่เน้นที่กลุ่ม Bisexual จะหาได้ยากมากในอเมริกา และส่วนใหญ่จะออกมในลักษณะนอกใจคู่ของตน เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าตนเป็นพวกรักสองเพศ เช่น โฆษณาของบริษัท British Telecom หรืBT ซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมมูนิเคชั่นในอังกฤษได้จ้างให้เอเยนซี่แห่งหนึ่งสร้างโฆษณาสิ่งพิมพ์ที่จับกลุ่มลูกค้า Bisexual ซึ่งในหากมองเผินๆโฆษณาจะเป็นภาพของคนหลายคนจับมือกันตามคอนเซ็ปต์ของ BT ที่ว่า “Bring people together” แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นภาพผู้ชายจับมือกับผู้ชาย หรือมือหนึ่งจับมือผู้หญิงและมืออีก
ข้างจับมือผู้ชาย

ส่วนโฆษณาที่เน้นที่กลุ่มลูกค้าผู้ที่มีจิตใจเหมือนเพศตรงข้าม หรือที่เรียกว่า “Transgender” หรือ “Transsexual” ปรากฏอยู่ให้ประวัติศาสตร์ของวงการโฆษณามาช้านาน โดยส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบของตลกขบขัน มีการเข้าใจผิดของชายหนุ่มที่คิดว่าเขาคือเธอ แต่จริงๆ แล้ว “She is a he.” และส่วนใหญ่จะเป็นชายแต่งตัวและใส่จริตเหมือนหญิง หรืออาจมีการใส่วิกผมผสมติดหนวดอันเป็นมุกคลาสสิก อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะเรียกหรือไม่เรียกตัวเองว่าเป็นเกย์ก็ได้ ตัวอย่างของโฆษณาในธีมนี้ได้แก่ โฆษณาของรองเท้ายี่ห้อ Bianco ที่ปรากฏอยู่ในแถบสแกนดิเนเวียเมื่อสองสามปีก่อน มีการจ้าง 7 นาง (นาย) แบบ แต่งตัวตามสไตล์ของตัวเอง และใส่รองเท้าของ Bianco ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก แม้กระทั่งในหมู่หญิงแท้ชายแท้

นอกจากนี้ เกย์ส่วนใหญ่ที่มีรูปร่างใหญ่ บึกบึน ผมเผ้าหนวดเคราเฟิ้ม มักจะเรียกตัวเองว่า “ฺBears” จึงเป็นที่มาของโฆษณาธีม “Bears” อย่างเช่น โฆษณาของแฟชั่น Diesel ในอเมริกาที่ครีเอตโดยบริษัท DDB Needham Worldwide เมื่อสามปีก่อน โดยเป็นภาพของนักมวยปล้ำที่พยายามจูบแก้มฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายตรงข้ามพยายามหลบหลีก ซึ่งโฆษณาในลักษณะนี้อาจจะดูขบขัน แต่หากพิจารณาในเชิงการตลาดแล้วจะถือว่าเป็น Negative Ad เนื่องจากเป็นพฤติกรรมแสดงออกถึงความกลัวหรือช็อกในเรื่องของการรักชอบเพศเดียวกันของชายแท้

ทั้งนี้ โฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ที่มุ่งเป้าที่ลูกค้าเกย์ส่วนใหญ่จะใช้สัญลักษณ์ของสายรุ้ง สามเหลี่ยมและสีสันต่างๆ ที่สื่อความเป็นเกย์ เช่น สีรุ้ง สีชมพู และสีม่วง เป็นต้น สีเหล่านี้ต้องการให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อชาวเกย์ เช่น โฆษณาของเบียร์ยี่ห้อฺ BudLight ที่มีบริษัท DDB Needham Worldwide เป็นครีเอทีฟให้เมื่อสี่ปีก่อน เป็นการรวมตัวกันของความ
หลากหลายของผู้คน เพศ และสีผิว แต่มีรสนิยมเดียวกัน โดยแต่ละคนสวมแว่นกันแดดสีที่แตกต่างกันของสายรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาวเกย์ เกย์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อาจมีความแตกต่างกันในสัญชาติ ผิวพรรณ แต่ก็สามารถมีความรักร่วมกันได้ เช่น โฆษณาของสายการบิน Delta ของอเมริกาที่โชว์ภาพของคู่รักเอเชียกับอัฟกันอเมริกัน โดยปรากฏอยู่ในนิตยสาร Creative Loafing ซึ่งเป็นนิตยสารเกย์ชื่อดัง

ในมลรัฐแอตแลนตา เกย์แต่งงาน เกย์มีลูก เหมือนคู่รักอื่นทั่วไปถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมอเมริกันบางกลุ่ม (ส่วนใหญ่) ซึ่งสร้างความปวดศีรษะให้แก่บรรดานักการตลาดไม่น้อย เพราะหากจะคิดโฆษณาที่ออกมาสนับสนุนกลุ่มเกย์อย่าง
ออกหน้าออกตาก็อาจจะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัท พวกคอนเซอร์เวทีฟทั้งหลายอาจจะไม่พอใจ
ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารด้วย เช่น บริษัทรถยนต์ Volvo ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุน
การสร้างครอบครัวของคนทุกเพศ จนโฆษณา “Starting a Family” ที่สร้างสรรค์โดย
บริษัท Primr Access/Witeck-Combs Communication
ได้รับรางวัล David Ogilvy Award

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพียงไม่กี่ชิ้นของผลงานโฆษณาที่จับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเกย์ในอเมริกาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสวนกระแสต่อต้านเกย์แต่งงานที่ยังไม่อนุญาตในหลายมลรัฐ แต่จากสถิติตัวเลขทางการตลาดก็พิสูจน์แล้วว่า ลูกค้าเกย์เป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล…

Website

ข้อมูลการตลาด:

www.commercialcloset.com
www.gaymarketexpress.com
www.gaydemographics.org

แหล่งข้อมูลการท่องเที่ยว:

www.gayday.com
www.southerndecadence.net
www.sfpride.org
www.gayskiweek.com
www.gaygamechicago.org
www.folsomstreetfair.com