แม้จะมีชื่อจริงสั้นๆ พยางค์เดียว แต่ เพชร พะเนียงเวทย์ ก็มีชื่อเล่นที่เรียกขานกันในบ้านและหมู่คนสนิทว่า โจ เพชรเป็นลูกคนที่ 6 (ลูกชายคนที่ 2) ของพิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ เจ้าพ่อมาม่า ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน การทำโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้เห็นผลและเป็นจริงได้ คือความรับผิดชอบโดยตรงของเขา กับตำแหน่ง Chef of Business Development Department บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมาม่า
เพชรอธิบายหน้าที่ของเขาด้วยประโยคสั้นๆ ได้ว่า “ทำตามคำบัญชาให้สำเร็จ ให้เป็นรูปเป็นร่าง” แต่อาจเป็นเพราะบุคลิกที่น่าเข้าหา ความยิ้มแย้มแจ่มใส ช่างพูดช่างคุย ทำให้พิพัฒน์ ผู้เป็นพ่อเล็งเห็นว่าเขาเหมาะที่จะมาดูแลในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะการประสานงานอยู่มาก ทั้งกับสหพัฒน์ซึ่งดูแลด้านการตลาดและจัดจำหน่าย หรือฟาร์อีสต์ ดีดีบี ที่ดูแลโฆษณา
“เป้าหมายของ Business Development คือการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ร่วมกับทางสหพัฒน์”
ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นนวัตกรรมบะหมี่เส้นในเมืองไทยที่ฮือฮาในระดับหนึ่ง ซึ่งเปิดตัวไปในงานสหพัฒน์ปีที่แล้ว คือ มาม่าต้มยำเส้นชาเขียว ถือเป็นนวัตกรรมเลิศหรูเท่าที่เคยมีมาในเมืองไทย เนื่องจากอดีตกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาทำได้เปรี้ยวสุดก็แค่เปลี่ยนรสชาติ มีรสใหม่ๆ แวะเวียนมาสร้างสีสันกันเท่านั้น แต่เรื่องที่จะคิดใส่คุณค่าในเส้นไม่เคยปรากฏ “ชาเขียว” ซึ่งกำลังรุ่งเรืองจึงถูกหยิบยกมาใส่เส้นตามกระแส
การออกมาม่า ซูเปอร์โบล์ว ราคา 25 บาท เป็นผลงานที่ชิ้นหนึ่งที่ท้าทายว่าจะสำเร็จผลหรือไม่ และเป็นครั้งที่สองที่มาม่าเริ่มคำนึงถึงการแบ่ง segment ของผลิตภัณฑ์ จากแต่เดิมที่รับรู้โดยทั่วกันว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่แมสมากๆ
“มีคนเคยถามว่ามาม่าขายใคร มาม่าขายทุกคน แต่จะเริ่มมาเป็น segment ที่ มาม่า โอเรียนทัล คิทเช่น เส้นบะหมี่เกาหลี ราคาซองละ 12 บาท ซึ่งจับตลาดบน ส่วนรสชาติใหม่มาม่าเส้นโฮลวีทรสหมูพริกไทยดำ ก็ตามรอยชาเขียวคือ ใส่ลูกเล่นลงไปในเส้นทำให้มีคุณค่ามากขึ้น”
“ในญี่ปุ่น ปีหนึ่งออกบะหมี่รสชาติใหม่รวมๆ กันแล้วประมาณ 350 รสชาติ เรียกได้ว่าวันละรสชาติเลย ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากๆ สำหรับเมืองไทยคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เหมือนสินค้าอื่นๆ ที่มี life cycle ของมัน โดยเฉพาะแบบซอง ถ้าดูตามประวัติศาสตร์จะมีขึ้นมีลง โดยตัวที่หยุดไปเลยก็คือ ข้าวซอย โป๊ะแตก แกงป่า ซึ่งอาจดูเป็น niche ไป ก็ต้องปล่อยไปบ้าง”
ด้วยความเป็น “พะเนียงเวทย์” เพชรตระหนักรู้แต่แรกเริ่มแล้วว่าเขาจะต้องสานต่อธุรกิจของครอบครัวอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ พี่น้องอีก 6 คนล้วนข้องเกี่ยวกับธุรกิจของผู้เป็นพ่อแทบทั้งสิ้น ต่างกันแต่หน้าที่ความรับผิดชอบเท่านั้น ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้เป็นพ่อ จากวัยเด็กที่คลุกคลีอยู่กับพ่อทั้งที่โรงงานและบริษัท ทำให้เขาซึมซับแนวคิด คำสอนจากพ่อของเขาแทบไม่รู้ตัว
เพชรสอบตกวิชาพุทธศาสนาทำให้เขาไม่มีโอกาสเลื่อนชั้นไปเรียน ม.6 ช่วงเวลาเดียวกันเขาก็สอบเทียบผ่าน จึงเข้าเรียนที่เอแบค หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ซิดนีย์ ก่อนจะกลับมารับผิดชอบโปรเจกต์ใหม่ของบริษัทซึ่งร่วมทุนกับแกรมมี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4me
“จริงๆ แล้วต้องไปอยู่ที่จีนก่อน เพื่อศึกษางานที่นั่น…แต่ทนไม่ไหว พูดจีนก็ไม่เป็น อึดอัด ต้องมานั่งนิ่งๆ เรียนภาษาในห้อง เลยขอ ป๊าว่าไม่ไหวแล้วนะ…ขอกลับ ป๊าถามว่ากลับมาทำไม ก็เลยบอกไปว่ากลับมาดู 4me ช่วงทำ 4me สนุก มันโคตร เพราะเรามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มถึงขนาดออกแบบออฟฟิศเอง ได้เรียนรู้เยอะมาก แต่ถัดจากนั้นมา 1 ปีเราก็ขนของออกมาจากตึกแกรมมี่แล้ว กะว่าอีกซัก 10-20 ปีผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ 4me ออกมา เพราะถ้าเขียนหรือบอกอะไรไปตอนนี้จะลำบาก (หัวเราะ)” เขาเดินออกจากตึกแกรมมี่ เป็นเวลา 1 ปีพอดี กับ 4me ที่เรียกได้ว่า ล้มเหลวเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
แม้แผนกพัฒนาธุรกิจจะดำเนินการมาได้กว่า 10 ปีแล้ว แต่ทว่ากลับถูกจับตามองเป็นอย่างมากใน 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาจเป็นได้ว่าเพชร หนึ่งในทายาทเจ้าของบริษัทคือหัวเรือใหญ่ของแผนก แต่ใช่ว่าเขาจะทะยานขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ในทันทีแม้จะเป็นลูกเจ้าของ เพราะเขาเริ่มเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับ staff
“ทำตั้งแต่แบกมาม่าเลย เป็น sale ก็เคยเป็น ช่วงเรียนเอแบค พอปิดเทอมก็มีส่งไปฝึกงานที่อื่นบ้าง พอจบแล้วก็มาอยู่ BD จำได้ว่าเข้ามาวันแรกเจอมาม่าเจเหลืออยู่กี่พันหีบไม่รู้ เนื่องจากเราผลิตหลังจากความต้องการที่สหพัฒน์ต้องการแล้ว พอพ้นเทศกาลเจไปเลยเหลือ ก็เลยขนไปที่งานมหกรรมเปิดท้ายขายของที่สนามหลวง อู้ฮู้ คนมาเป็นล้านขายดีมาก หมดเกลี้ยง สบายไป”
ปัจจุบันครอบครัวพะเนียงเวทย์อาศัยอยู่ที่คอนโด 9 ชั้น ซอยรามคำแหง 44 เพียงไม่กี่คน เนื่องจากภาระหน้าที่การงานและการมีครอบครัวใหม่ แต่เพชรแม้จะแต่งงานเมื่อ 3 ปีที่แล้วแต่ก็ยังอยู่ที่คอนโดแห่งนี้ รวมถึงน้องชายและพี่สาวอีก 2 คนด้วย ภรรยาของเขาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่เอแบค คบหากันมากว่า 10 ปี ก่อนจะแต่งงาน เมื่อประมาณเกือบ 3 ปีที่แล้ว
“Lifestyle ชอบเที่ยวไปทำงานไป (หัวเราะ) ชอบเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เที่ยวได้ทุกรูปแบบ city tour เที่ยวธรรมชาติ แต่ตอนนี้เริ่มเที่ยวแบบสบายหน่อยเพราะมีลูกสาวตัวเล็กๆ ก็ยังหิ้วไปเที่ยวงานมาดิกราส์ที่ออสเตรเลียอยู่เลย รู้เรื่องไม่รู้เรื่องไม่รู้ รู้แต่ว่าเขาสนุก และจะไม่ชอบอยู่ที่ไหนนานๆ สมมติไป Opera House นั่งแป๊บๆ ก็จะออกมาล่ะ คือไปให้รู้มากกว่าจะไปนั่งซึมซับบรรยากาศ เป็นแบบทัวร์แตะ (หัวเราะ)”
“แต่ล่าสุด โดนคุณพ่อแตะเบรก ยึดพาสปอร์ต ไม่ให้ไป เขาบอกว่าเนื้องานผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับต่างประเทศเลย ไม่ใช่งานส่งออกจะไปทำไม งานในประเทศมีทำไมไม่ทำ ก็ชอบไปอ่ะ มีไรเปล่า (หัวเราะ) ก็เอาวันลาไป ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ออกเอง แต่ถึงเราไปเที่ยวก็ไม่วายไปดูตลาด ก็คือมันจะได้เรื่องงานเป็นผลพลอยได้กลับบ้านทุกที เคยคิดว่าอยากบินเยอะๆ แบบนี้ทำไมไม่สอบนักบินให้หมดเรื่องหมดราว จะได้ไม่มีใครห้ามบิน (หัวเราะ) โดนเคอร์ฟิวทำให้โกรธไป 1 เดือนเต็มๆ แต่ตอนนี้ดีกันแล้ว”
หากไม่บอกก็คงยากที่จะคาดเดาได้ว่า เพชรเป็นนักว่ายน้ำตัวยง ซึ่งเป็น profile ที่พี่น้องตระกูลพะเนียงเวทย์ทุกคนมีเหมือนๆ กัน “ว่ายน้ำตั้งแต่ตัวเล็กๆ เลย แข่งว่ายน้ำครั้งแรกตอน ป.2 เป็นนักกีฬาทั้งบ้าน แต่ตอนนี้เบื่อแล้วเพราะว่ายตั้งแต่จำความได้”
แต่กระนั้นก็ยังมีงานอดิเรกใหม่ที่เกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ดี “เริ่มเรียนเพราะพี่สาวคนโตดำน้ำอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้ชอบนะ แต่อยาก คุณพ่อก็อยากเรียนตาม แต่ต้องเรียนเป็นระบบบัดดี้ พี่สาวก็เลยให้เราสมัครเป็นคู่พร้อมคุณพ่อเลย”
“โชคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ opputuity มาเจอ preparation” แนวคิดที่ชายหนุ่มทายาทตระกูลดังผู้นี้ชื่นชอบ เขาเชื่อว่าโชคเกิดขึ้นได้เมื่อโอกาสมาถึง และคนเราได้เตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับโอกาสนั้น เช่นเดียวกับที่วันนี้ หากเขาไม่เตรียมตัว สั่งสมประสบการณ์ และพัฒนาฝีมือให้พร้อม การเป็นทายาทธุรกิจมาม่าที่ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 กว่า 54% นั้นคงเป็นเพียงโอกาสที่ไม่ถูกเติมเต็ม
Profile
Name : เพชร พะเนียงเวทย์
Age : 31 ปี
Education :
โรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร
ปริญญาตรีบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอแบค
ปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากซิดนีย์ ออสเตรเลีย
Family :
บุตรคนที่ 6 ของพิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร
ภรรยา เบญจวรรณ พะเนียงเวทย์ มีบุตรสาวอายุ 9 เดือน 1 คน