Room นิตยสารตกแต่งบ้านน้องใหม่ที่มีอายุได้ 2 ขวบแล้ว แต่มีวี่แววว่าจะไปได้ดีในตลาดของคนรักการตกแต่งเป็นชีวิตจิตใจ POSITIONING ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ปรีดา อัครสิริวงศ์ บรรณาธิการบริหาร ผู้อยู่เบื้องหลังนิตยสารเก๋ๆ เล่มนี้ ทำให้ได้รู้ถึงความยาก และความสนุกของการทำนิตยสารตกแต่งบ้าน แถมยังเข้าใจมากขึ้นด้วยว่า การตกแต่งมีผลต่อชีวิตได้เหมือนกัน
– เรียนจบสถาปัตย์มา ทำไมถึงทำงานหนังสือ
ประเด็นจริงๆ ก็คืออ่านบ้านและสวนมาตั้งแต่เด็กๆ มีความรู้สึกว่า พอเราอ่านตอนนั้นก็ไม่ได้นึกภาพว่าวงการหนังสือจะเป็นยังไง คือบ้านและสวนเป็นหนังสือที่ทำให้อยากเรียนสถาปัตย์ เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าทำอย่างไรถึงจะแต่งบ้านได้ แต่งบ้านเป็น รู้สึกว่าชอบในเรื่องนี้ ก็เลยมาสมัครตรงนี้ ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ก็รู้สึกว่ามันเป็นงานที่เราน่าจะทำได้และอยากทำ บอกตรงๆ ว่าความรู้เรื่องการทำหนังสือน้อยมาก แต่บ้านและสวนมันเป็นแรงบันดาลใจ ก็เลยสมัคร เมื่อก่อนบ้านและสวนจะมีกองบรรณาธิการที่รับเฉพาะอินทีเรียร์ ไม่เคยรับสถาปนิก ตอนนั้นก็เริ่มที่จะขยายจากเรื่องอินทีเรียร์อย่างเดียว มีเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างด้วย เราก็เลยได้เข้ามาทำงานตรงนี้ ตอนเข้ามาใหม่ก็เขียนเกี่ยวกับเรื่องของบ้าน เรื่องการตกแต่ง การตอบปัญหาผู้อ่าน อันนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็เครียดเหมือนกัน โดนแก้ต้นฉบับเยอะบ่อย ก็ให้มาทำตอบปัญหาผู้อ่าน ก็เลยเข้าใจว่า บางครั้งมันมีศัพท์เทคนิค เราคิดว่าเขียนออกไปคนจะเข้าใจ แต่คนไม่เข้าใจ ทำบ้านและสวนมา 3 ปี ก็เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องของการทำหนังสือ คือพี่ป้อง บก. เค้าบอกว่า เราเขียนเราเข้าใจ แต่ถ้าคนอ่านไม่เข้าใจ เขาก็ไม่ติดตามงานเขียนเรา
– มาร่วมงานกับ Room ได้ยังไง
ถูกมอบหมายให้ทีละอย่าง 2 อย่าง ก่อนที่จะเปิดเป็น Room คือบ้านและสวนจะมีเล่มพิเศษ เขาก็จะมอบหมายให้เรารับผิดชอบไป ตอนนี้ก็ทำมาครบ 2 ปีเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา
– คอนเซ็ปต์ของ Room
เป็นนิตยสารที่เรียกว่า สนุกกับการตกแต่งในทุกพื้นที่ใช้ชีวิต อย่างบ้านและสวนก็จะเป็นนิตยสารของคนที่มีบ้านแล้ว หรือกำลังอยากจะแต่งบ้าน เนื้อหาก็จะเกี่ยวกับการตกแต่ง โครงสร้าง ในเมื่อมันมีช่องว่าง เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากแต่งห้องของตัวเอง นิตยสารบ้านและสวนอาจจะดูไกลตัวไปนิดนึง ตรงนี้มันยังไม่มี ก็เลยเปิดเป็น Room ขึ้นมา ปัญหาช่วงแรก คนก็จะคิดว่าบ้านและสวนกับ Room จะต่างกันยังไง เราก็ต้องมาตีโจทย์ให้แตก ในเรื่องของบุคลิก การเขียน content จะเป็นอย่างไร
– การคัดเลือกทีมงาน
อย่างแรก ก็ต้องดูเรื่องของวุฒิก่อน คือของบ้านและสวนกับ Room ต้องใช้บุคลากรที่เรียนจบทางด้านนี้ ต้องจบสถาปัตย์ interior เป็นจุดที่ทางผู้ใหญ่มองว่า ถ้าเราทำหนังสือตกแต่งแล้วมีแต่นักเขียนอย่างเดียว คือทำงานได้หรือไม่ ทำงานได้ แต่ความคล่องตัวจะช้ากว่า รวมถึงบางประเด็นที่ต้องการข้อมูลเชิงลึก ถ้าผู้อ่านโทรมาเราต้องตอบคำถามผู้อ่านได้ ต้องเน้นว่าเราเป็นมืออาชีพด้านนี้นะ แต่ทีนี้คนที่จบด้านนี้จะให้มาเริ่มงานเขียนอาจจะลำบาก เพราะไม่ได้เรียนเรื่องการเขียนมา อันนี้เราใช้เรื่องของ on the job training ก็ค่อยๆ ปรับกันไป ปรับในเรื่องของทัศนคติ สำนวน ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร บุคลิกไหน ใช้วิธีการปรับตัวกันมากกว่า
– Target group
กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 25-35 ปี บุคลิกคือคนที่สนใจเรื่องการแต่งบ้าน เรื่องของดีไซน์ทั้งหลาย เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ทำให้ผู้อ่านของเราฉลาดในการเลือก เป็นประเด็นหลักเลย เพราะเราจะพบว่าเรื่องสไตล์มันสอนกันยาก แต่สิ่งที่มันจำเป็น ก็คือการเลือกซื้อของว่าต้องเลือกอย่างไร เลือกมาแล้วคุ้ม เพราะฉะนั้นบุคลิกของ Room คือเราจะทำตัวแบบเพื่อนกับผู้อ่าน อย่างบ้านและสวนเราอาจจะรู้สึกว่าเป็นสถาบัน เป็นครู เป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาให้เค้าได้ อย่างของ Room มันก็เหมือนกับว่า เราเป็นเพื่อนเค้า แต่เราเป็นเพื่อนที่เรียนสถาปนิกมา ภาษาการสื่อสาร ภาพถ่ายต้องทำให้มันเป็นสไตล์เพื่อน
– ฉบับแรกมีปัญหาหรือเปล่า
ฉบับแรก ปัญหาคือ เรื่องของการเตรียมตัว เพราะมีเวลาเตรียมงานน้อยมาก มีการปรับบ้าง มันก็เลยทำให้ช่วงเวลาที่โปรโมตไปแล้วว่าจะออกวันนี้ มันก็ค่อนข้างที่จะฉุกละหุกพอสมควร ส่วนหนึ่งมันเป็นปัญหาของผมเอง ถึงเราจะถูกเทรนด์มาให้รับโปรเจกต์เล็กมาแล้ว แต่พอมารับจริงๆ ตำแหน่งตรงนี้มันมีอย่างอื่นอีกเยอะ มองภาพว่าเมื่อก่อนเราเป็นกอง บก. เราทำในสิ่งที่เราอยากทำ แต่กระบวนการพิมพ์นั้นเราไม่รู้ การประสานงานกับฝ่ายอื่นก็ไม่รู้ ในการทำงานหนังสือจริงๆ มันจะมีเรื่องการตลาด ประชาสัมพันธ์ โรงพิมพ์เข้ามาเกี่ยว ก็ใช้เวลาเยอะเหมือนกันในการทำความเข้าใจ
– โฆษณาใน Room จำกัดหรือเปล่า
เมื่อก่อนมองว่ามันจำกัด แต่ว่าในบุคลิก Room จะทำให้คนอ่านรู้ว่า ในเรื่องของดีไซน์มันอยู่ใกล้ตัว อันนี้ก็มีผลต่อเรื่องของ content ของ Room เหมือนกัน เพราะถ้า Room นำเสนอข้อมูลที่ไกลตัว มันยาก สุดท้ายคนอ่านจะรู้สึกว่าการตกแต่งบ้านมันยาก ไม่อ่าน เราก็เลยจะทำให้มันง่าย ให้คนอ่านเข้าใจง่าย มันต้องดึง gimmick ต่างๆ เข้ามาเล่น ในเรื่อง lifestyle เข้ามาใช้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของโฆษณา จะแตกไปได้เยอะ เรื่องของวัสดุตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์มันคงเป็น main หลัก อย่างเช่น นาฬิกาที่ใส่มันก็เป็นดีไซน์นะ ad ก็เข้ามาได้ เรื่องของรีสอร์ตที่พัก การตกแต่งก็เข้ามาได้
– เวลาแนะนำการแต่งห้อง มีการจำกัดราคาของที่ใช้หรือเปล่า
คือ จุดหลักของ Room ถ้าเราไปเลือกของยากๆ คนอ่านจะรู้สึกว่า แต่งบ้านมันต้องยุ่งยากอย่างนี้เลยเหรอ เราก็จะมีคอลัมน์ที่เฉลี่ยสัดส่วนกัน อันไหนที่มันแพง เราก็ต้องบอกเหตุผล ว่าแพงเพราะอะไร เราพยายามสอนคนให้ซื้อของเป็น เลือกของเป็น อะไรควรแพงคุณก็ยอมลงทุนเถอะ แต่มันคุ้ม ใช้งานได้นาน โดยส่วนใหญ่ก็จะมีคอลัมน์ การซื้อของแต่งห้องในงบจำกัด ให้เป็นตัวอย่าง ให้คนอ่านรู้สึกว่ามันทำได้
– มี theme หรือเปล่า
ก็มี theme ที่คิดเป็นเดือนๆ ว่าแต่ละเดือนเราจะเล่นอะไร เราก็จะทำเป็น section พิเศษในเล่มนั้นๆ เช่น การคิด theme เราจะดู บางครั้งเราคาดเดาว่า หนังสือคู่แข่งเราก็จะเล่นเรื่องนี้ มันหนีไม่พ้นหรอก เราจะหาอะไรที่มันแปลกตาได้มั้ย บางครั้งเราอาจจะเล่นเรื่องที่มันหลุดไปเลย แต่มันอาจจะเกี่ยวเนื่องกัน อย่างเช่น เคยมีฉบับ outdoor living เรื่องการใช้ชีวิตนอกบ้านมีสไตล์เป็นของตัวเอง ทำง่ายๆ แต่ทำแล้วมันเก๋
– หาบ้านมาลงยากหรือเปล่า
มันเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็ช่วงหนึ่งหายาก ช่วงแรกๆ ที่ Room เพิ่งเปิด contact ต่างๆ ยังน้อย บางทีผู้อ่านก็โทรเข้ามาให้ไปดูบ้าน บ้านที่ลงซ้ำกันกับเล่มอื่น อันนั้นมันเป็นตามกระแส แต่เราก็จะเลือกเหมือนกัน เราจะไม่ทำชนกับเล่มอื่น แต่โดยคอนเซ็ปต์ มุมมอง การถ่ายภาพของนิตยสาร และประเด็นมันจะทำให้ต่างอยู่แล้ว ก็แล้วแต่ผู้อ่านว่าจะชอบใคร
– ในเล่มมี content ของเมืองนอกบ้างมั๊ย
ไม่มีเลยครับ ของเมืองนอก ไม่ได้รวมที่เป็นการดูงาน แต่ถ้าเป็นบทความที่มาจากต่างประเทศจะไม่มี เพราะว่า เป็นแนวทางหนึ่งของเรา อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเราเป็นหัวไทย ความเป็นคนไทยมันจะทำให้เราค้นหาข้อมูลที่ถูกใจคนไทยได้มากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการอัพเดตข้อมูลจากต่างประเทศบ้าง ด้านต่างประเทศถ้าเราจะไปถ่าย ก็ต้องกลับมานำเสนอในเมืองไทย และก็ต้องมีบทวิเคราะห์ว่าอะไรที่เราสามารถปรับมาใช้ได้ อะไรที่ไม่ควร
– Room มีคู่แข่งหรือเปล่า
ไม่รู้ในเชิงการตลาดเค้ามองกันยังไง แต่ถ้ามองในเชิงของคนทำหนังสือ รู้สึกว่า นิตยสารตกแต่งทุกเล่มที่มีอยู่ในตลาด ไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่มีส่วนแบ่งทางการตลาดกันมากกว่า แต่ละเล่มจะมีกลุ่มของเค้าเอง Room ก็มีกลุ่มของเราเอง อาจจะเป็นกลุ่มที่แคบแต่แข็ง สามารถที่จะแตกออกไปได้มากขึ้น
– มีคอลัมน์ที่ช่วยแต่งบ้านผู้อ่านด้วย
คอลัมน์นี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า การแต่งบ้านเป็นเรื่องที่เค้าทำได้ ในงบประมาณที่จำกัด หรือคุณมีงบเท่านี้ คุณสามารถอยู่ในพื้นที่ที่มีการออกแบบได้ และอาชีพสถาปนิก เป็นอาชีที่จำเป็นนะ ใครมีงบน้อย แต่คุณอยากมีชีวิตที่ดีก็ติดต่อเรามา แต่การไปแต่งบ้านในที่นี้ เราวางว่า เราไม่ได้เปิดบริษัทออกแบบ แค่ช่วยเหลือเค้า ของเราคือ มุมเล็กๆ ในห้องหนึ่ง เราก็เข้าไปจัดให้ งบประมาณเจ้าของบ้านเป็นคนออก แต่มีงบไม่เกิน 50,000 บาท และที่เราไม่ไปรับงานใหญ่ๆ ก็เพราะว่า คอลัมน์นี้เพื่อให้คนรู้สึกว่า อาชีพนี้จำเป็น คุณอาจจะแก้ปัญหาไม่ได้เลย ถ้าไม่สนใจในเรื่องของการออกแบบ เพราะฉะนั้นดีไซเนอร์เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาบ้านให้คุณ และตั้งงบขึ้นมา จะได้ไม่ไปตีกับบริษัทออกแบบด้วย
– เคยมีของแถมไปในเล่มหรือเปล่า
Room เคยเล่นไปครั้งหนึ่ง คือซีดีเพลง เราคิดว่า เรื่องของการตกแต่งและการใช้ชีวิตในบ้านมัน link กันอยู่ เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตของคน 2 คนในห้องๆ หนึ่ง ก็แถมเป็นซีดีไป เพราะมันตรงกับเดือนกุมภาพันธ์พอดี พอมีของแถมก็ขายดีขึ้น ตอนแรกผมไม่เชื่อว่ามันจะขายดีขึ้น แต่มันทำให้ขายดีขึ้น มีผลเหมือนกัน แต่ก็ไม่มาก ยอดขึ้นแต่ไม่โดด ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่อง content มากกว่า
– 2 ปีปรับอะไรไปบ้าง
content หลักๆ แทบจะไม่ได้ปรับเลย ส่วนใหญ่จะปรับในตัวกิจกรรมมากกว่า มันเหมือนกับเติบโตขึ้น เราดูจาก feedback ที่กลับมา อาจจะเพิ่มนิดหน่อย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าคุ้ม เหมือนกับคืนกำไรมากกว่า
– Room สะท้อนความเป็นตัวตนของ บก. หรือเปล่า
มีส่วนบ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะว่า คนอ่านเค้าติดที่เรื่องของบุคลิกของนิตยสาร เรื่องของ content เราเป็นคนแรกๆ ที่ได้เข้ามาร่วมงานตรงนี้ ทุกวันนี้เราพยายามใส่ความเป็นตัวเราให้น้อยมาก เพราะอยากให้คนอ่านติดที่ตัวหนังสือ และในเมื่ออีกหน่อย เราทำงาน ไม่รู้คิดมากไปหรือเปล่า คือ Room จะมีบุคลิกของมัน มันอาจจะเป็นช่วงวัยของเราที่ทำงานตรงนี้อยู่ และวันหนึ่งอายุเราเกินวัย target group ไป นิสัยเราอาจจะเปลี่ยนก็ได้ กลายเป็นคนนิ่งๆ ไป มองอะไรที่เป็น practical มากขึ้น มันอาจจะทำให้ Room ไม่สนุก พอถึงเวลานั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยน บก. ไป แต่ถึงตอนนั้น content ก็แข็งแล้ว ใครจะมาหยอดอะไรก็ได้แค่เปลือกตามสะดวก แต่แก่นของ Room ก็จะอยู่ได้
– ถ้าเปรียบ Room เป็นคน จะมีบุคลิกยังไง
คนในวัยจบการศึกษามาใหม่ เป็นคนที่เรียกว่าสนุกกับความคิด ไอเดีย ชอบการแต่งบ้าน เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ชอบหาคำตอบ ความคล่องแคล่ว ฉับไว สนุกสนาน มีความรู้จริงๆ
– สมัยนี้นิยมแต่งบ้านสไตล์ไหน
คือสไตล์การแต่งบ้าน ถ้าตามเทรนด์จริงๆ เรื่องเทรนด์มันเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ เพราะว่า อย่างหนึ่งที่เราพยายามเสนอผู้อ่าน คือเรื่องเทรนด์ตามได้ แต่อย่าไปติด ถ้าคนที่ตามเทรนด์ตลอดเวลา อาจจะเป็นคนที่ไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ถ้าอยากจะตามแค่พอเป็นสีสัน แต่คุณสามารถตอบได้ว่า บุคลิกคุณชอบบ้านโมเดิร์น คุณก็แต่งบ้านสไตล์โมเดิร์นเถอะ สุดท้าย บ้านจะเปลี่ยนไปอย่างไร สุดท้ายมันก็จะวกมาที่ความเรียบง่าย แต่มีสีสันเข้ามา
– ส่วนตัวชอบแบบไหน
ชอบเรียบๆ แบบมีชีวิต ไม่ชอบอะไรที่มันยุ่งเหยิง อาจจะมีสีบางจุด มันก็รู้สึกว่าสบาย ไม่เหงา
ถ้าคุณมีใจรักการตกแต่งห้อง หรือมุมเล็กๆ ของบ้าน ก็ไม่ควรพลาด Room
Profile
Name : ปรีดา อัครสิริวงศ์
Age : 29 ปี
Education :
ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Career Highlights :
– ทำงานออกแบบ 2 ปี
– กองบรรณาธิการบ้านและสวน 3 ปี
– ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Room