มหาวิทยาลัยเอกชนในยุคแข่งขันทางการตลาด

หลังจากปล่อยให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกโฆษณามากวนตลาดอยู่นาน ไม่ว่าจะเป็น ม.รังสิต ม.หอการค้าไทย ม.สยาม ม.กรุงเทพ ที่ยิงแอดมาตลอดช่วงฤดูการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่นำเสนอความพร้อมด้านหลักสูตรและสถานที่เป็นประเด็นสำคัญ

เมื่อถึงคราวของม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ยิงแอดโฆษณา กลับสวนกระแสด้วยการเลือกที่จะพูดถึงสิ่งที่นักศึกษาคนหนึ่งจะสามารถทำได้ในโลกแห่งการทำงาน เป็นการมองข้ามช็อตไปถึงเอาต์พุตว่าเรียนจบแล้วจะได้อะไร มากกว่าที่จะบอกว่าตอนเรียนจะเจออะไร เพื่อเลี่ยงการสื่อ “สาร” ที่ซ้ำกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พูดถึงที่มาของโฆษณาล่าสุดของมหาวิทยาลัยฯ ว่า มีที่มาจากการเป็นสหกิจศึกษามาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ด้วยโครงการส่งนักศึกษาไปฝึกงานทั้งเทอมในเทอมสุดท้าย โดยมหาวิทยาลัยฯ จะทำการคัดเลือกภายใน จนได้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมประมาณ 100 กว่าคน แล้วจัดคอร์สอบรมพิเศษเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงาน และปลูกฝังทัศนคติในการทำงาน จากนั้นจึงส่งออกไปฝึกงานยังหน่วยงานต่างๆ

“ที่โฆษณาออกมาว่าทำอะไรได้หมด เป็นนัยว่าเด็กที่จบไปจากที่นี่เป็นคนสู้งานและมีความรู้ทางธุรกิจ นี่คือเป้าหมายในการผลิตนักศึกษาของเรา ซึ่งพอทางแม็ทชิ่งเขามาฟังสรุปแล้วเสนอสตอรี่บอร์ดมา เราก็เห็นด้วยที่เติมเรื่องชงกาแฟเข้าไปตอนท้าย ก็เพื่อเป็นมุกให้คนดูรู้สึกสนุกสนานและจดจำได้เท่านั้น เพราะเนื้อหาที่ปูมาแต่ต้นก็บอกแล้วว่านักศึกษาเราทำงานเป็น มีความพร้อม และมีความสามารถในการปรับตัว”

ดร.วรากรณ์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนมีการแข่งขันกันสูงมาก บางมหาวิทยาลัยใช้งบสูงกว่า 25 ล้านบาทในการทำโฆษณาทีวี จากจำนวนมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีในตลาด 140 แห่ง แต่ละรายจึงต้องทำการตลาดเชิงรุกแย่งชิงลูกค้ากันตรงๆ และยิ่งจะต้องแข่งขันกันมากขึ้นในปี 2549 เพราะนโยบายการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (ICL) ที่ต่อไปรัฐบาลจะยกเลิกการจัดสรรเงินส่วนนี้ให้กับสถาบัน แต่ให้นักศึกษากู้และบริหารเงินเองโดยตรง ทำให้การตัดสินใจเลือกสถานศึกษาเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยไม่มีปัจจัยเรื่องทุนการศึกษามาแทรกแซง ขณะเดียวกันตัวนักศึกษาเองจะมีกำลังซื้อสูงขึ้น สามารถเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนที่ตนเองพอใจได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยรัฐบาลยังได้เปรียบอยู่ในแง่ของชื่อเสียง

“เป้าหมายของเราคือพยายามให้ติดอันดับทอป 3 ของประเทศให้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่ง 3 สุดยอดมหาวิทยาลัยเอกชนที่ว่านี้จะประกอบไปด้วย ABAC ม.กรุงเทพ และธุรกิจบัณฑิตย์ การตลาดแบบอ้อมที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็มีทั้ง การที่อาจารย์เขียนบทความไปลงตามสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทำให้ชื่อมหาวิทยาลัยปรากฏตามสื่ออย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และมีการทำอีเวนต์มาร์เก็ตติ้งผ่านการจัดแข่งขันกีฬา และการที่มีดาราเข้ามาเรียนก็ช่วยประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยได้อีกส่วนหนึ่ง” ดร.วรากรณ์ กล่าว