54 ปี เมื่อนับถึงวันนี้ของกันตนา พร้อมๆ กับ 4 กลุ่มธุรกิจขนาดมูลค่ากว่าพันล้านบาท ตั้งแต่ธุรกิจครบวงจรในโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดนตรี สื่อภาพยนตร์ แอนิเมชั่น สื่อโฆษณา จนถึงงานอีเวนต์ออกาไนเซอร์ แน่นอน คำว่า “The Experienced” ทำให้จุดยืนของกันตนาในฐานะผู้ผลิตได้การรับการพิสูจน์ผ่านเวลานับปีกับประสบการณ์ที่ได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงคณะละครวิทยุแบบครอบครัว สามารถขยายอาณาจักรจนกลายเป็นผู้ผลิตรายการทีวีรายใหญ่ และเป็นเจ้าของ “กันตนามูฟวี่ทาว์น” อันโครงการที่สานฝันผู้ให้กำเนิดกันตนาด้วยเมืองมหาวิทยาลัย ก็เป็นการแสดงจุดยืนของการต่อยอดความรู้และสร้างประสบการณ์บันเทิงให้กับสังคม
แน่นอนว่าการก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งของผู้ผลิตสื่อที่มีความครบถ้วน และพยายามเป็นผู้สร้างกระแสใหม่ให้เกิดขึ้นกับวงการ เป็นเหมือนภาระและความรับผิดชอบของปณิธานที่ตั้งบนฐานที่มั่นคง ด้วยคำว่า “มีประสบการณ์” เช่นเดียวกัน
“บางรายการเรามั่นใจเต็มที่ก็อาจล้มไป แต่กับบางรายการที่คิดว่าจะเกิดไหมก็กลับแรงเกินคาด …คือ ประสบการณ์จะเป็นตัวสอนเราว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรามั่นใจ เราก็ต้องก้าวต่อไป” ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของกันตนา ไม่เว้นแม้แต่รายการโทรทัศน์ที่กันตนาได้นำเสนอรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้น
ในปี 2525 “โลกกว้างทางแคบ” รายการสารคดีสั้น 1-3 นาทีรายการแรกๆ ของเมืองไทย และรายการ “นาทีประลองยุทธ์” ที่ว่ากันว่าเป็นรายการควิซโชว์รายการแรก ซึ่งหลายคนคงยังจำได้ เกม HUGO เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ถือเป็นเกมโชว์แบบอินเตอร์แอ็กทีฟรายการแรกของเมืองไทยเหมือนกัน
กันตนาผลิตรายการประเภท “Real TV” รายการแรกของไทยที่ชื่อว่า “เรื่องจริงผ่านจอ” ออกอากาศในปี 2542 ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนรายการ “Reality Game Show” ที่ออกอากาศในฟรีทีวีครั้งแรกที่ชื่อ “Survivor” ก็ผ่านเข้ามาเมืองไทยจากกันตนา, “คดีเด็ด” รายการ “Real Life Comedy” แนวใหม่ที่ได้ยอดฮิตเรตติ้งสูงขายโฆษณาได้สูงสุดให้กันตนา
รายการ “เกมชีวิต” ที่ออกอากาศทางช่อง 7 ก็เป็นรายการหนึ่งที่ผลิตโดยกันตนา และนับเป็น Reality รายการแรกของเมืองไทย ก็แสดงถึงความพยายามเป็นผู้นำ และนำเสนอแนวทางใหม่ให้กับวงการโทรทัศน์ตลอดมา
แต่เมื่อความล้มเหลวของ “เกมชีวิต” ที่ต้องปิดตัวลงได้สอนประสบการณ์เพื่อให้กันตนาเริ่มต้นบทใหม่กับ “Reality Show” ระดับโลก ที่ชื่อ “Big Brother” ในรูปแบบ “Real Life Soap” ละครแห่งชีวิต หากจะนับว่า “ละคร” เป็นหนึ่งในประเภทของรายการโทรทัศน์ที่กันตนามีความชำนาญการสูง และกันตนาเองก็เป็นบริษัทที่มีจุดเริ่มที่สร้างตัวเองมาจากละครอย่างแท้จริง
“ที่จริงบิ๊กบราเธอร์มันเหมือนละคร แล้วเราก็เป็นบริษัททำละคร ทำไมเราไม่เอาประสบการณ์จากละครมาทำเรียลลิตี้ ทำให้มันดูสนุกได้” ศศิกรเล่าให้เราฟัง เมื่อเธอมองว่าประสบการณ์ที่หายไปจากความผิดพลาดจะเติมเต็มได้ด้วยความรู้เสริมกับประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญ จะมาช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทั้งกันตนา และเสริมโอกาสความสำเร็จร่วมกับสถานี ITV
“ตั้งแต่เริ่มต้นก็มีคนค้าน ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่เริ่มเราก็จะไม่มีอะไรใหม่ๆ เข้ามา” ตอนนี้สิ่งที่ศศิกรกล่าวสะท้อนนัยอยู่สองด้าน ของ “การไม่มีอะไรใหม่เข้ามา” ในแง่หนึ่งบิ๊กบราเธอร์ถูกมองว่าเป็นโกลบอลแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในทุกประเภทที่นำเข้า แต่ยังไม่เคยผลิตที่ไหนในเอเชียเลย จึงเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยที่จะได้ดูรายการระดับโลกรายการนี้ ในขณะที่ด้านที่สอง มาพร้อมกับรายการเรียลลิตี้ที่ถูกมองว่าเป็นนวัตกรรมและความรู้ใหม่ของผู้ผลิต ซึ่งหมายความว่านี่กำลังเป็นประสบการณ์ใหม่ของกันตนา
“คุณจาฤก (จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด) สนใจมาเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่บิ๊กบราเธอร์ออกอากาศเป็นครั้งแรก เรารู้ข่าวว่าที่นั่นมันเป็นรายการที่จะประสบความสำเร็จมาก” กันตนาลงทุนไปดูการผลิตถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อหลายปีก่อน แต่ยังติดปัญหาช่วงเวลาออนแอร์ ซึ่งต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง และความไม่พร้อมของเทคโนโลยีบรอดแบนด์ และ SMS ยังไม่แพร่หลายเหมือนกับเวลานี้
หากมองย้อนกลับไป การเกิดขึ้นของ “เกมชีวิต” ในปี 2544 มาจากการที่กันตนารู้จักรูปแบบและกระบวนการผลิตของบิ๊กบราเธอร์ก่อนที่จะนำมาพัฒนาให้เป็น “เกมชีวิต” ในรูปแบบใหม่ ซึ่งในความคิดของศศิกร การที่มีแอร์ไทม์สองวัน เสาร์ อาทิตย์ ครึ่งชั่วโมง เธอยอมรับว่ามันน้อยมากที่จะทำให้คนดูเชื่อว่า คนในรายการเขาอยู่ด้วยการตลอดเวลาใน 1 เดือนจริง
“…อย่างน้อยเพราะมันไม่เห็นว่า 24 ชั่วโมงเขาทำอะไรบ้าง” ศศิกรกล่าว
ในขณะที่ความพร้อมในปัจจุบัน ประกอบด้วยจังหวะ 3 ด้านที่กันตนาเห็น คือ 1. ด้านเทคโนโลยีที่กำหนดในกติการการแข่งขันที่เปิดให้คนทางบ้านเลือกผู้เข้าแข่งขันออก ผ่าน SMS ต่างจากหลายปีก่อน 2. ด้านคนดูก็เข้าใจเรียลลิตี้มากขึ้นจากการเกิดขึ้นของเรียลลิตี้บางรายการ 3. ค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ด้านหนึ่งด้วยชื่อเสียงของรายการที่อยู่ในต่างประเทศทำให้มีสปอนเซอร์สนับสนุนรายการตั้งแต่ก่อนออกอากาศจำนวนมาก, ค่าลิขสิทธิ์ถูกลง และกันตนาเองมีสถานที่สำหรับการถ่ายทำและคนทำงานในกันตนามูฟวี่ทาวน์
“ตอนนั้นมันเป็นข้อจำกัดทุกด้านเลย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี งบประมาณ ตอนนั้นสถานที่เราก็ยังไม่มีมูฟวี่ทาวน์ ถ้าทำตอนนั้นบ้านก็ต้องเช่าที่สร้างบ้านขึ้นใหม่ ทุกด้านคือไม่พร้อมเลย แล้วมันทำให้งบมันไม่สมดุลกับรายได้…อีกอย่างตอนนี้มันเป็นจังหวะที่เรียลลิตี้มันมาในช่วงคนดูอยากดูอะไรที่เป็น fact มากขึ้น ไม่อยากดูอะไรที่เป็น fake”
บิ๊กบราเธอร์มีแนวคิดหลักก็คือทำให้มันเป็น “Reality Soap” ซึ่งในแง่มุมของละคร คนที่ติดตามจะเริ่มมีฝ่ายดี ฝ่ายเลวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน และเริ่มเห็นภาพใกล้เคียงละคร ว่าคนนี้เป็นพระเอก ตัวอิจฉา คนนี้เป็นตัวโกง
“มันจะเข้มข้นขึ้นของมันเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติของรายการแนวนี้ ที่ต้อง educate คนดู เพราะนอกจากคนดูจะต้องเข้าใจรูปแบบแล้ว ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงจริงๆ ทุกคนที่เข้ามาไม่มีบท ไม่มีการกำกับ ถ้าคนดูเข้าใจว่านี่มันเป็นเรื่องจริงก็คือผ่านงานตรงนี้ไปขั้นแรก แล้วคนดูจะเริ่มสนุกขึ้น สงสัยว่าทำไมคนนี้นิสัยอย่างนี้ ทำไมถึงทำอย่างนี้ในภาวะที่กดดันมากขึ้น”
“บางทีแค่ดูคนนั่งเฉยๆ ยังทำให้เกิดเรื่องราวต่อไปเลย เช่น คนนึงเริ่มซึมเศร้าแยกตัว หรือคนนึงนั่งเฉยๆ ในขณะที่ทุกคนทำงาน ก็คือเรื่องราวทุกอย่างมันเป็นสตอรี่ได้หมด เป็นสิ่งที่จะทำให้เรื่องเดินต่อไปได้ คนก็อยากติดตาม …ตอนนี้คนดูก็เริ่มสนุกกับมันแล้ว ตอนนี้ตีโจทย์แตกว่าเห็นเสน่ห์ที่มันเป็น fact ตรงนี้แล้ว”
ความสำเร็จของรายการบิ๊กบราเธอร์ที่เคยชนะโปรแกรม และทำยอดเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ในประเทศอื่นๆ เกือบทุกประเทศ ก็กำลังอยู่ในช่วงของการไต่เรตติ้งในเมืองไทย ปัจจุบันเรตติ้งที่ช่องไอทีวีในช่วงรายนี้สูงขึ้นเท่าตัว (จาก1-2 เป็น 3-4) เมื่อชนกับรายการวาไรตี้ในช่องต่างๆ ในระดับเดียวกัน (ยกเว้นช่อง 7) กระแสในเว็บ กลุ่มคนที่ชื่นชอบมีจำนวนมากขึ้นที่ติดตามรายการนี้ มีคนเข้าเว็บภายในเดือนแรกราว 25 ล้านฮิต เพจวิวอีก 3 ล้าน
“เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราไปงาน BIG TV ที่เมืองคานส์ (ประเทศฝรั่งเศส) คือ พอคนรู้ว่ากันตนาทำบิ๊กบราเธอร์ มีแต่คนอยากขอคุยด้วย เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่จริงๆ การที่เข้ามาประเทศไทย ที่เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทุกคนก็อยากจะมาขอคุยด้วย จะมีส่วนมาทำอะไรกับเราได้บ้าง โดยเฉพาะทางด้านโมบายคอนเทนต์ เพราะตอนนี้เรียลลิตี้กับเทคโนโลยีให้เข้าไปด้วยกันได้ เทคโนโลยีของอินเตอร์แอ็กทีฟในอนาคตจะเป็นการเมิร์ชกันระหว่างเรียลลิตี้โชว์ กับอินเตอร์แอ็กทีฟโชว์”
เธอเล่าให้ฟังถึงแนวโน้มของรายการสดที่คนนิยม ก็ตอบสนองพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่ชอบเสพสื่อทางเดียวอีกต่อไป กันตนามีการใช้ SMS ทั้งด้านการแสดงความเห็นผ่านหน้าจอ, โหวตเพื่อคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ผ่านหมายเลข 4838383 รวมถึงการมีข้อมูลอัพเดตสำหรับแฟนพันธุ์แท้ (ข้อความละ 3 บาท)
การเกิดขึ้นของเรียลลิตี้ตามความเห็นของศศิกร ตอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะ ในภูมิภาคเราอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่มีการแข่งขันในตลาดทีวีสูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตในประเทศจำนวนมาก “โลกเขาเคารพสิทธิทางปัญญา ใครไปลอกรายการเขามา ใครเขาก็รู้หมด ซึ่งโดนดิสเครดิตโดยอัตโนมัติ” ประเทศต่อไปที่จะผลิตรายการบิ๊กบราเธอร์คือประเทศฟิลิปปินส์
“สิ่งที่หนึ่งที่บอกกับทีมงานมาตลอดคือ ให้เรียนรู้กับวิธีการทำงานแบบระดับโลก เพราะว่าไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอนเราได้ ที่เราซื้อรายการนี้เข้ามา ยอมเสียเงินขนาดนี้ เราได้แต่สิ่งที่มีค่ามาก คือว่าการทำงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ 28 ประเทศทั่วโลกไม่ใช่ง่ายๆ ขั้นตอนการทำงานของเขาเป็นระบบมาก ที่มีวิธีการทำงานตั้งแต่จากศูนย์ไปจนถึงวิธีการพีอาร์ มีหมดทุกอย่าง บอกทีมงานว่าได้ตรงนี้มาแล้วต้องเข้าใจ และเก็บไว้กับตัวดีๆ เพราะว่ามีประโยชน์” และเธอเชื่อว่าคนที่ทำงานบิ๊กบราเธอร์ 100 คนจะเป็นคนที่มีคุณภาพในวงการโทรทัศน์
การต่อยอดความรู้ที่ได้รับโนฮาวจากรายการนี้ ศศิกรคิดว่าเป็นแนวโน้มที่โอกาสจะทำให้ “เกมชีวิต” กลับมาในหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวประกวด แนวธุรกิจ สอดคล้องกับการจัดสลอตเวลาใหม่ของช่อง ITV ที่จะใช้เรียลลิตี้นำตลอดทั้งปีนี้
“โนฮาวตรงนี้เป็นประโยชน์มาก เจอรายการเรียลลิตี้อีกกี่รายการก็ไม่กลัวแล้ว เพราะว่าเราได้เรียนรู้ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง แม้ตอนนี้เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ได้ ก็เพราะว่ามันใหม่สำหรับเราเหมือนกัน อะไรที่ผิดพลาดเราก็แก้หรือปรับปรุงได้ขึ้นเรื่อยๆ
…80 ล้านสำหรับรายการโทรทัศน์ปัจจุบันแค่ 3 เดือน ถือว่าเยอะมาก แต่เราถือว่าสมเหตุสมผล และแม้แต่ในวันที่ก่อนออกอากาศไปแล้ว 80 ล้านเราก็รู้แล้วว่าไม่ขาดทุนแน่ เราคิดว่าประสบการณ์ความรู้ที่ทุกคนได้ มันเป็นกำไรมากกว่าเงิน เป็นประสบการณ์ที่ไปหาเรียนไม่ได้จากที่ไหน”
“วันนี้เราได้ทุกอย่าง ได้ความพร้อมที่ทำให้คนสัมผัสเสน่ห์ของเรียลลิตี้ได้จริงๆ” ศศิกรกล่าว
กินอยู่อย่าง (ไทย) ไร?
กลุ่มคนกลุ่มแรกที่ได้เข้าไปสัมผัสและค้างคืนเพื่อรับประสบการณ์ในบ้านบิ๊กบราเธอร์แห่งแรกของเอเชีย เป็นกลุ่มสื่อมวลชน 11 คนที่ได้รับคัดเลือกจากที่ต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ แมกกาซีน ฯลฯ หลากหลายสาขา ซึ่ง “POSITIONING” ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนของสื่อเหล่านั้น และเป็นรายเดียวในนิตยสารเชิงการตลาด เพื่อดูว่าพฤติกรรมพวกเขากำลังเกิดขึ้นภายใต้ภาวะแวดล้อมอะไรบ้าง…
ว่ากันว่า เมื่อ ปี 2542 บริษัท Endemol ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลิตรายการเรียลลิตี้แบบเต็มรูปแบบอย่าง Big Brother ที่ประยุกต์เอาวิธีการถ่ายแบบซ้อนกล้อง ผสมไปกับการแข่งขันเล่นแง่เชิงจิตวิทยา ด้วยการให้รางวัลจำนวนมาก แต่กลับต้องอยู่ในบ้านที่ควบคุมโดยเสียง Big Brother ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า BB เท่านั้น พวกเขาใช้ชีวิตตัดขาดจากโลกภายนอกทุกอย่าง ตลอดการแข่งขันไม่มีการรับรู้เรื่องโลกภายนอก อยู่กับแต่ความสัมพันธ์ของคนภายในบ้าน และปราศจากความเป็นส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง ความเครียด และอารมณ์ความกดดัน จะเกิดภายในรายการเป็นอย่างมากโดยเฉพาะสัปดาห์หลังๆ
การใช้น้ำและไฟฟ้าภายในบ้านถูกควบคุมโดยทีมงานทั้งหมด ห้องสารภาพและประตูเชื่อมสู่ภายนอกที่ติดต่อกับทีมงาน ยกเว้นประตูใหญ่ นอกนั้นเป็นประตูไฟฟ้าควบคุมการเข้าออกโดยทีมงานเท่านั้น ทุกคนในบ้านประเทศไทยมีสิทธิที่จะเดินออกจากบ้านเมื่อไรก็ได้ แต่ในบางประเทศผู้เข้าแข่งขันจะถูกขังให้อยู่ภายใต้กำแพงสูง แต่มีภายในที่ตกแต่งอย่างงดงาม มีวิธีที่จะออกจากบ้านได้คือ การเสนอชื่อเลือกตัวเองในวันที่คัดออก เคยมีผู้เข้าแข่งขันในแอฟริกาใต้ งัดประตูเพื่อต้องการออก จนทีมงานต้องขอร้องให้เขากลับไปที่ห้องเปิดใจ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้อยู่ต่อ
รายการนี้ได้รับนิยมอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปีแรก เนื่องจากพฤติกรรมคนดูที่รู้สึกใหม่กับอารมณ์แอบดู ควบคู่ไปกับกิจกรรมสุดโต่ง ซึ่งปีถัดมาความดังของรายการนี้ก็ทำให้แพร่ขยายไปทั่วภาคพื้นยุโรป และฮิตจนข้ามฝั่งไปถึงอเมริกา จากประเด็นที่ล่อแหลม เช่น ความรุนแรงและเซ็กซ์ Big Brother กลายเป็นโกลบอลแบรนด์ที่นับตั้งแต่นั้น และถือเป็นต้นแบบรายการเรียลลิตี้ชื่อดังที่ใครๆ กล่าวถึง
ในขณะที่บ้านเราได้ปรับหลายอย่างให้เข้ากับวัฒนธรรม เช่น ในเรื่องของบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะไม่มีให้เห็นในรายการ ในแง่ของมุมกล้องบ้านเราให้ความเป็นธรรมชาติ รู้สึกสนิทสนมกับผู้แข่งขันมากกว่าความรู้สึกแบบแอบดูจากบุคคลภายนอก นอกจากนั้น ไม่ว่าสีและการตกแต่งออกแบบบ้าน จะทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่น สวยงาม เหมาะสมกับที่เป็นบ้านมากกว่าในต่างประเทศ
บางประเทศจะบันทึกภาพในห้องน้ำออกอากาศด้วย เนื่องจากทีมงานจำเป็นต้องนำกล้องวิดีโอไปติดอยู่ในห้องน้ำ เพื่อเหตุผลสำหรับกรณีที่ผู้แข่งขันเครียดอาจถึงขั้น “ฆ่าตัวตาย” แต่ในประเทศไทยที่ซ้อนกล้องไว้เพื่อเหตุผลเดียวด้านความปลอดภัย และแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จะถูกล็อกไว้กับพื้นเพื่อป้องกันการทำร้ายกันระหว่างผู้เข้าแข่งขัน ในขณะที่บ้านเราไม่
ในต่างประเทศ BB ไม่มีหน้าที่ตักเตือนเรื่องมารยาทและการแสดงออกของผู้เข้าแข่งขัน แต่ BB บ้านเราจะเตือนเรื่องการแต่งกาย การพูดจา และเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศด้วย แต่เป็นไปแบบไม่บังคับ ซึ่งถือว่าเป็นการทดลองให้เข้ากับวัฒนธรรมคนเอเชียครั้งแรกก่อนที่จะขยายไปในภูมิภาคนี้ โดยมีโปรดักส์ชั่นเอเชียหลายประเทศที่จะซื้อรายการนี้มาเรียนรู้งานในไทย
กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบ้านนอกจากเกิดจากการสั่งการของ BB แล้ว การกระทำต่างๆ จะเป็นไปในลักษณะ “Group Dynamic” ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์และการผลักดันของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มแบบผู้นำและผู้ตาม ดังนั้น ถึงแม้ว่ารายการเรียลลิตี้จะนำกลับมาทำอีกที ภายใต้โจทย์เดิมและคนเดิม ปฏิกิริยาก็ไม่มีทางที่จะเหมือนเดิม…
Did you know?
Who is who?
สมาชิกในบ้าน Big Brother มีหลายคนที่เปลี่ยนชีวิตไปสิ้นเชิงหลังการแข่งขัน
1. Zlatko Trposki ชาวเยอรมัน เจ้าของฉายา “The Brain” ที่คนในบ้านตั้งให้เพราะความบื้อของเขา เมื่อออกจากบ้านเขากลายเป็นนักร้องเพลงแร็พชื่อดังที่มียอดขายถึง 500,000 แผ่น มีรายการทีวีของตัวเอง และเบียร์ชื่อยี่ห้อเดียวกัน
2. Brian Dowling เกย์ชาวอังกฤษ จากอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน กลายเป็นเจ้าของรายการทีวี “Brian’s Boyfriend”
3. ในคืนสุดท้ายที่สเปน แฟนรายการคลั่งไคล้ Ismael Beiro ผู้ชนะจนถึงกับยกกองทัพมาล้อมบ้าน ทีมงานต้องดึงเอาเขาออกมาจากบ้านด้วยเฮลิคอปเตอร์
4. “Bart Spring In’t Veld” คือผู้ชนะคนแรกของรายการ Big Brother ซีรี่ส์แรกของโลก ด้วยเรตติ้งพุ่งไปที่ 15 ล้านคนในเนเธอร์แลนด์
5. “อนันต์ จันทร์วาววาม” คือเจ้าของน้ำเสียง “บิ๊กบราเธอร์” ประเทศไทย ซึ่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิตรายโทรทัศน์ บริษัท กันตนา เขาเล่าให้ฟังว่า เขาถูกเทรนให้ออกเสียงสำหรับบิ๊กบราเธอร์ โดยจะต้องไม่มีความเป็นมิตร ไม่ต่อรอง ไร้ความรู้สึก และจะต้องพูดคำว่า “นี่คือบิ๊กบราเธอร์…” ก่อนบอกภารกิจทุกครั้ง
ที่มาของ Big Brother
“1984” นวนิยายชื่อดังของนักเขียน George Orwell ที่ตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไรหากทุกพฤติกรรมของทุกคนตั้งแต่ตื่นนอนจนปิดเปลือกตาลงในยามค่ำ ไม่เว้นแม้กระทั้งความฝันและเสียงละเมอในตอนหลับ ตกอยู่ในสายตาของผู้ปกครองที่เรียกตัวเองว่า Big Brother
“Big Brother is watching you” จึงเป็นวลีฮิตในวรรณกรรม แต่เย็นวันหนึ่งในปี 1997 John De Mol ได้ไอเดียจากโต๊ะประชุม ต่อมามันกลายเป็นรายการโทรทัศน์ที่กระชากเรตติ้งในเนเธอร์แลนด์ และกลายเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของรายการโทรทัศน์