Thailand’s Next Top “PROJECT”

“เรียลลิตี้” ถูกมองเป็นเครื่องมือทางการตลาดชิ้นใหม่และเป็นตัวสำคัญของสถานี หากมองในมุมนี้ รายการเรียลลิตี้เองถูกมองว่า เป็นความกระแสความแรงที่สร้างฐานคนดูได้จำนวนมากของช่อง ซึ่งสะท้อนไปถึงการวางกลยุทธ์ในระดับสถานีที่จะมีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะผู้ผลิตรายการอย่าง Bec-Tero

จากผังที่ปรับเพื่อเว้นที่ให้รายการนำเข้าใหม่อย่าง “Thailand’s Next Top Model” (TNTM) และรายการที่เรียกตัวเองว่าเรียลลิตี้อย่าง “ไฮโซบ้านนอก” กลายเป็น slot เวลาประจำ ตั้งแต่วันพุธถึงอาทิตย์ ในช่วงเวลา 21.50-22.20 ซึ่งถือว่าเป็นไพร์มไทม์อีกช่วงของสถานีที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด จากการร่นช่วงเวลาที่เอาเวลาละครปกติมาจัดใหม่ แล้วยัดรายการเรียลลิตี้เสริมละคร เป็นการดึงเอาจำนวนผู้ชมที่นั่งดูละครอยู่แล้ว ต่อเนื่องมาดูรายการเพื่อที่จะสร้างจำนวนเรตติ้งแบบต่อเนื่องในเรียลลิตี้

“ในปีนี้ เรายังมีอยู่ในโปรเจกต์อีก 2 รายการ ซึ่ง ณ เวลานี้เรายังมองฟอร์แมตเมืองนอกอยู่ ถ้าถามว่าเราจะคิดเองได้ไหม สำหรับเราต่อไปต้องคิดเองแน่ๆ” กิติกร เพ็ญโรจน์ กับตำแหน่งปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ด้วยประสบการณ์ด้านการตลาดของเขาที่ต่อเนื่องในธุรกิจทีวี เคยทำงานที่กันตนา ITV และ UBC กับความเชี่ยวชาญด้านการดูแลการผลิตที่เชื่อมโยงไปสู่กลุ่มเป้าหมาย และการตลาดที่ชัดเจน เรามีความเห็นของเขาเป็นบทสรุปเกี่ยวกับรายการเรียลลิตี้ที่มีอยู่ในตลาดมากขึ้นจนเป็นกระแสตอนท้าย

จากที่ “บีอีซี-เทโร” ได้ซื้อลิขสิทธิ์รายการการนี้จาก บริษัท CBS/ Paramount International TV จำกัด กับรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่เคยเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้วในช่อง UBC ในชื่อ “American’s Next Top Model” รายการที่เคยทำสถิติเรตติ้งสูงสุดของสถานีโทรทัศน์ UPN ที่อเมริกา ฮิตจนสามารถขายลิขสิทธิ์ไปผลิตอีก 3 ประเทศ คือ ประเทศออสเตรเลีย รัสเซีย และประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Thailand’s Next Top Model

เป็นอีกหนึ่งมุมมองของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่นำเข้ารายการชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาผลิตในประเทศหลายรายการ โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ

“เรามองว่าถ้ายังไม่มีประสบการณ์ในการทำรายการแบบนี้ เราก็อยากจะให้บริษัทที่เขามี success story ในโลกมาช่วยในเรื่องของการผลิต เพราะว่าเมืองไทย…ถามว่าใครเป็น expert ทางด้านนี้ ยังตอบไม่ได้ เมื่อเรายังไม่มี เราก็ต้องซื้อฟอร์แมตจากเมืองนอกที่สำเร็จมาแล้ว แล้วเราร่วมกับเขาในแง่โปรดักชั่น มาร่วมทีมช่วยผลิต ซึ่งน่าจะเซฟสุด และเป็นรายการที่ออกมาคงไม่เลว”

ในอีกด้านหนึ่ง เท่ากับเป็นการสร้างความมั่นใจกับสปอนเซอร์ กับตัวรายการที่ต้องใช้เงินหนัก เพื่อสร้างกระแสให้แรง…แต่มีแอร์ไทม์ที่สั้น ตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศจะช่วยทำให้พูดคุยในเรื่องเหล่านี้ง่ายขึ้น ปัจจุบันปัญหาของผู้ผลิตไทยก็คือ ความรู้ที่เป็นโนฮาวกับรายการรูปแบบใหม่ ซึ่งผู้ผลิตควรหาความรู้ก่อน แล้วค่อยต่อยอดกับรายการที่จะคิดขึ้นเองมาภายหลัง เขาเชื่อว่าการทำสิ่งใหม่โดยไม่รู้โนฮาวต้นแบบมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้ยาก

“ตอนนี้ทุกช่องกำลังมองว่าละครเป็นรายการหลัก มองว่าละครเป็นอะไรที่คนทั่วไปรับได้และอยากที่จะดู เรียลลิตี้เป็นช่วงเริ่มต้นที่เข้ามา คงยังไม่ไปแทนรายการละคร เว้นเสียแต่ว่า รายการเรียลลิตี้ถูกพิสูจน์ว่ามีคนดูเยอะกว่าคนดูละคร เหมือนเมืองนอกที่ถึงจุดที่มันชนะละคร เมื่อบ้านเรามันยังเป็นแบบนี้ (กระแส) สิ่งที่ทุกคนมองก็คือ เรียลลิตี้ต้องอยู่ในช่วงไพร์มไทม์ …เรียลลิตี้นั้นลงทุนสูงด้วย ถ้าเอาไปไว้ในช่วงอื่นมันอาจมีสิทธิ์เจ๊งได้ ต้องเอาไปในช่วงนี้ มันเข้าไปแทนที่สลอตที่เป็นเกมโชว์ วาไรตี้โชว์เดิม”

“Thailand’s Next Top Model” เป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด กับสถานการณ์และข้อจำกัดต่างๆ ของรูปแบบรายการเรียลลิตี้ ที่ถูกเลือกฉายอยู่ในโทรทัศน์ช่องฟรีทีวี จากสปอนเซอร์และการขายสื่อโฆษณา ดังนั้นด้วยรูปแบบที่เป็นเรียลลิตี้แต่มีเนื้อหารายการเกี่ยวกับความงาม และผู้หญิง จึงตอบโจทย์ธุรกิจ 3 อย่าง

“เทรนด์จากเมืองนอกมันชัดเจน เราดูแล้วเราก็อยากทำ คราวนี้พอดูเรียลลิตี้ การเลือกรายการเราก็ดูรูปแบบกับเนื้อหาพร้อมๆ กัน ทั้ง “The Apperentice” หรือ “Pop Idol” ที่เคยคุยมา แต่ของ “Next top model” ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของเรา”

ข้อแรก-การจับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็น “ผู้หญิง” ที่ต่อเนื่องจากเวลาละครเดิม ข้อสอง-สินค้าด้านความงามเป็นกลุ่มที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงที่สุด และสาม-วิธีการผลิตที่ใช้การถ่ายทำจนเสร็จและออกอากาศ 1 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ เหมาะสมกับเวลาและข้อจำกัดของสถานี ซึ่งเมื่อดูแล้วผลพวงอีกด้านที่ช่อง UBC เองได้เคยนำเอารายการต้นแบบนี้มาฉายให้ชมกันในช่วงหนึ่ง แสดงว่าการรับรู้ของรายการในบ้านเราจึงมีอยู่ในระดับหนึ่ง พอที่จะทำให้คนดูบางส่วนได้เห็นถึงรูปแบบและความน่าสนใจของรายการ

ดังนั้นด้วยทุนสร้างที่สูง แต่สร้างกระแสที่แรงในช่วงเวลาแค่ 3 เดือน การลงเวลาในไพร์มไทม์ของ ช่อง 3 และ ITV เองที่ให้เวลากับเรียลลิตี้ ก็มีกิจกรรมทางการตลาดที่เปลี่ยนไป

“วิธีการทำการตลาดของเรียลลิตี้ จะทำรายการต่างจากรายการอื่นๆ ตรงที่ปล่อยออกมาก่อน แล้วถ้าเรตติ้งดีก็มีคนตามมาซื้อสปอต แต่เรียลลิตี้ เราต้องมีการวางแผนคุยกับสปอนเซอร์ล่วงหน้า เพราะมันเป็นรายการสั้นที่ต้องปิดสปอนเซอร์หมดให้ครบก่อนที่จะถ่ายด้วยซ้ำ แล้ววางแผน product placement ให้ชัดเจนก่อนถ่าย เพราะว่าช่วงที่มันออนแอร์แล้วไม่มีเวลาพอที่จะมาหาสปอนเซอร์ได้ทัน”

“American’s Next Top Model” ปัจจุบันกำลังแข่งขันในรอบที่ 4 ซึ่งขณะนี้ที่ที่ออสเตรเลียเพิ่งได้ผู้ชนะไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และกำลังมีแผนจะเริ่มโครงการสอง ส่วนของเรากระบวนการถ่ายทำได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ในขณะที่สัปดาห์สุดท้ายก็มีกิจกรรมที่ตอบรับกระแสจากทางบ้าน ด้วยการจัดแฟชั่นโชว์สด และรับโหวตจากทางบ้านเพื่อหา มิสป๊อปปูลาร์โหวต

“บริษัท ฮอรัส จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทที่บีซีอีร่วมทุนกับ “ซอนย่า คูลลิ่ง” ได้รับเลือกให้ดูแลโปรดักชั่นในเรื่องของการผลิต โดยซอนย่ารับตำแหน่ง ผู้ดำเนินรายการและ Excecutive Producer ในขณะเดียวกันก็ทำงานด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ จัดกิจกรรมบันเทิง โดยเน้นด้านแฟชั่น การเดินแบบ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือกันภายในคอนเน็คชั่นด้านวงการบันเทิงที่ซอนย่ามี การดึงเอาเมกอัพอาร์ติส ตากล้อง และสไตล์ลิสชื่อดังมาอยู่ในรายการ ไม่ว่าจะเป็น อมาตย์ นิมิตภาค +++++ ทำให้รายการมีความเป็นมืออาชีพโดยใช้โนฮาวของเธอ

“ยอมรับว่าโปรแกรมเมืองนอกไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า เรียลลิตี้เมืองนอกมันดังด้วยสิ่งที่เรียกกว่า Controversial หมดเลย สิ่งที่มันหมิ่นเหม่อย่างอารมณ์รุนแรง เกลียด รัก เซ็กซ์ เมืองไทยลำบาก เมื่อจุดขายตรงนั้นขายไม่ได้ในเมืองไทย มันมีหลายขั้นตอนเหมือนกัน ผมไม่ได้บอกว่าการซื้อฟอร์แมตจะสำเร็จทั้งหมด มันก็ขึ้นอยู่กับว่าทีมผลิตของเราเข้าใจตรงนั้นหรือเปล่า การซื้อฟอร์แมตมาเรา adopt โดยไม่รู้จัก adapt มันก็อาจจะไม่ถูกใจคนไทยเลย เพราะสังคมคนละสังคม appeal มันก็ไม่เหมือนกัน ก็ต้องหาสมดุลเหมือนกัน”

บทสัมภาษณ์ กิติกร เพ็ญโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

The Opinion : Q&A about Reality Show

– มองสภาพของเรียลลิตี้เมืองไทยตอนนี้เป็นยังไง?

ปัจจุบันของประเทศไทย ผมว่ามันเป็นช่วงเริ่มต้น แล้วมันก็น่าจะมีรายการที่เข้ามาค่อนข้างมาก ภายใน 2 ปีนี้ จึงมีโอกาสที่จะโตได้อยู่…แต่เมืองนอกเนี่ย ผมว่ามันออกจะเกือบ 10 ปีแล้ว มาเริ่มมาแล้วนาน มันก็โตขึ้นเรื่อยๆ จน ปัจจุบันถือว่าโตมากๆ…แต่วันนี้มันเข้ามาในประเทศไทย กำลังอยู่ในฐานะที่ว่ารับของของเขามา พอรับของเขาเข้ามาก็จะโตไวกว่าที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งก็น่าจะเชื่อว่ามันคงจะตายไวกว่าในต่างประเทศเช่นกัน

เวลาพูดคำว่าเรียลลิตี้ ผมมองว่าการเลือกรายการทีวี มีสองคำ ที่ต้องดูคือ 1. Format หรือรูปแบบ 2. Content คือเนื้อหา สองตัวนี้จะประกอบให้เกิดรายการทีวี หนึ่งรายการ รูปแบบคืออะไร เกมโชว์ ละคร ควิสโชว์ สัมภาษณ์ วาไรตี้ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบ เนื้อหาก็จะมี เช่นเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง แฟชั่น พลังกำลัง (ผู้ชาย) พอเอาสองอันนี้มารวมกันมันก็เป็นรายการขึ้นมา “เรียลลิตี้” เนี่ย มันคือฟอร์แมต มันไม่ใช่เนื้อหา วิธีการคือเอาคนเข้าไปให้เห็นความเป็นตัวตนของคนจริงๆ แต่พอพูดถึงเรียลลิตี้ก็ต้องมาดูว่าเรียลลิตี้อะไร อย่างเช่น ทอปโมเดล เนื้อหามันคือบิวตี้ แฟชั่น ความแตกต่างของความเป็นเรียลลิตี้อยู่ที่ว่ามันจะเอาไปจับคอนเทนต์ตัวไหน

– กลุ่มคนดูที่เป็นเป้าหมายตอนนี้?

ส่วนใหญ่จะดูก็เลือกดูจากทั้งสองอย่างเหมือนกัน ในแง่ของเรียลลิตี้ ก็เหมือนกันก็ต้องมานั่งดูว่า จะจับกลุ่มไหน ถ้าจะจับกลุ่มผู้หญิง ก็ต้องมีสารที่เกี่ยวกับผู้หญิง ถ้าจับกลุ่มผู้ชายก็ต้องมีเนื้อหาที่จับกลุ่มผู้ชาย อันนี้สปอนเซอร์ชัดเจนเลยว่าเป็น energy drink แต่ก็มีเรียลลิตี้บางอันเป็นเรื่องผู้ชายที่อยากให้ผู้หญิงดูเช่น เอาผู้ชายมาอยู่ในบ้านแล้วหานายแบบ เพราะฉะนั้นด้วยความเป็นเรียลลิตี้ของมันก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจับกลุ่มไหน

เนื่องจากเป็นฟอร์แมตใหม่ ในทางปฏิบัติก็ต้องมาดู แล้วยอมรับว่ามันต้องใช้เวลาสักนิดนึง ที่จะทำให้คนเปลี่ยนมาดูรายการที่ไม่มีดาราอยู่ในนั้น เป็นคนจริงๆ แต่ข้อแตกกต่าง มันเป็นคนที่ธรรมดาก็จริงแต่มันเป็นอารมณ์ของจริงๆ ที่อยู่ในรายการ ซึ่งต้องมีเวลาให้คนดูเริ่มชิน

– การใช้ประโยชน์ของสปอนเซอร์กับรายการประเภทนี้?

สปอนเซอร์ที่จะเข้ามามันขึ้นอยู่กับรูปแบบรายการ บางรายการที่เป็นต่อยมวย ยังเอาโตโยต้ามาโฆษณาได้เลย เขาให้คนทุบกำแพง แล้วเอาหินไปกองบนรถกระบะโตโยต้าแล้วเอารถขึ้นไปช่างน้ำหนัก ซึ่งมันไม่เห็นจะเกี่ยวกับโตโยต้าเลย เอาหินไปกองเองเฉยๆ ก็ได้ แล้วพิธีกรก็พูดตลอดว่า อย่าทำให้โตโยต้าเป็นรอยนะ หลังจากนั้นพอทุบเสร็จก็เอาน้ำเกเตอร์เรตถือดื่มเลย มันมีหลายวิธีที่ทำได้ว่า ซึ่งมันขึ้นอยู่กับความคิดแล้วว่าจะเอาสินค้าไปไว้ยังไง ไม่ให้น่าเกลียด หรือทำให้เนียนที่สุด ได้อรรถรสด้วย แล้วสปอนเซอร์เขาก็จะได้ประโยชน์ด้วย

อย่าง “TNTM” มันสามารถทำเป็นภารกิจได้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราเลือก เป็นภารกิจที่เกี่ยวกับความงาม ยกตัวอย่างเช่นถ่ายแบบสินค้าเกี่ยวกับผิวพรรณ คุณจะโพสท่าทางอย่างไร พรีเซนต์สินค้าที่เป็นผิวพรรณให้ได้ โดยมันสามารถไทร์อินเข้าไปในตัวรายการแล้วออกมา ไม่สะดุด ดู “เนียน” ส่วนรถที่นับสาวๆ ไปไหนเป็นโตโยต้าหมด

– ผลตอบรับสปอนเซอร์ในตอนนี้?

ช่วงที่ผ่านมา ง่าย ถ้าเราไปคุยกับใครแล้วบอกว่าจะทำเรียลลิตี้ แต่ปัจจุบันเริ่มยากขึ้น เพราะรายการอย่างนี้ออกมาเยอะแล้ว ถ้าทำกันเยอะแล้วสำเร็จหมดก็จะง่ายต่อ แต่ถ้าไม่ก็จะยาก ตอนนี้ต้องลุ้นว่าทุกคนต้องเอาใจช่วยกัน ไม่ได้เป็นคู่แข่งนะ ต้องดูว่ามันต้องดี แล้วมันจะอยู่ต่อไปได้อีกนาน

ซึ่งปัจจุบันรายการเมืองไทยเทรนด์ของมันจะเริ่มเป็นซีซันทั้งหมด รายการยาวมันก็ทำยากขึ้น ช่วงนี้จะเป็นรายการสั้นๆ เดี๋ยวนี้รายการมีการแข่งขันสูง เปลี่ยนเร็ว ทุกคนก็ต้องเปลี่ยนตาม ที่อื่นเขาเอารายการใหม่เข้ามาแล้ว เรตติ้งเปลี่ยน เราก็จำเป็นต้องเปลี่ยน ผมคิดว่าตลาดทีวีบ้านเราในตอนนี้แข่งขันกันสูง รายการทุกอย่างต้องเปลี่ยนเร็ว

Website

www.thailandsnexttopmodel.com/