ต้นทุนที่ต้องแลก

วงสัมมนาเรื่อง “Reality Show ต้นทุนทางสังคมที่ต้องแลกมาด้วย…” ของวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีแง่คิดบางประการที่ POSITIONING เห็นว่าเป็นมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนและธุรกิจบันเทิงที่มีประโยชน์ โดยผู้ร่วมเสวนา คือ มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร นันทขว้าง สิรสุนทร และสุพล วิเชียรฉาย

“เดิมเราเฝ้ามอง เฝ้าตามที่ไปของเขา แต่ Reality เฝ้าดูที่มา คือ เขายังไม่ได้เป็นดารา นายแบบ นางแบบ แต่คัดเลือกคนที่มี story ห่อหุ้มตัว มีบรรยากาศ สถานที่ สิ่งแวดล้อม เอามีเดียไปจับ…พวกเขาดังจากที่มา ไม่ใช่ที่ไป” มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร บอก พร้อมกับแสดงทัศนะถึง Reality Show เมืองไทยต่อไปว่า

“Reality ที่เหมาะกับเมืองไทยต้องรู้จัก localized อะไรที่มากเกินไป แหลมคมเกินไป ก็ต้องลบเหลี่ยมให้นุ่มนวลมากขึ้น”

อาจกล่าวได้ว่า Reality Effect สามารถปั้นคนให้เป็นดาว หรือเหยียบย่ำให้จมดินได้

“เอาเข้าจริงๆ แล้วสังคมไม่ได้อยู่ในภาวะเสี่ยงอะไร เลือกได้ แต่ทั้งนี้คนแข่งขันจะต้องมีต้นทุนที่แบกรับ พวกเขาต้องชั่งใจมากที่สุด เพราะเอาตัวเองเข้าไปพัวพันซึ่งแน่นอนมีโอกาสสูงที่จะเจอกับคำวิจารณ์ในแง่ลบ เป็นเรื่องของการเปลืองตัว ต้องคิดว่ายอมรับได้หรือว่าคุ้มหรือเปล่า”

ด้าน สุพล วิเชียรฉาย จากบางกอก ดราม่า บอกว่า “จะว่าไปแล้วสังคมไทยเป็นสังคมของหน้าตา ศักดินา ไม่เป็นตัวของตัวเองต่อหน้ากล้อง ดังนั้นที่ว่า real อาจไม่ real ก็ได้”

ส่วน นันทขว้าง ศิรสุนทร คอลัมนิสต์และบก.et ของกรุงเทพธุรกิจ Bizweek แสดงทัศนะว่า รายการทีวีมันเป็นเรื่องของ somebody มากเกินไป แต่ Reality Show เป็นเรื่องของ nobody เน้นขายอารมณ์หลากหลาย เน้น interactive ที่ต่างประเทศเปลืองตัวค่อนข้างเยอะ รายการดูฟอนเฟะ เริ่มวิปริตมากกว่าบ้านเรา ถ้าเมืองไทยไปไกลแบบนี้ ก็ไม่มีคนตามแล้ว บ้านเรา “ความดัง” คือ product อย่างหนึ่ง ใครๆ ก็อยากดัง แต่พอดังแล้วจะมีบางส่วนชอบพูดว่าพอดังแล้วไม่มีชีวิตส่วนตัวเลย คนที่พูดแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องรู้อยู่แล้วว่าต้นทุนที่ต้องแลก คือ ชีวิตส่วนตัว ฉะนั้น ความดังเป็นสินค้าที่น่ากลัว ทำอะไรแย่ๆ แล้วดัง ไปออก pocket book คนในสังคมก็ไม่ได้อะไร”

ท่ามกลางกระแส Reality ที่ไหลบ่าทุกวันนี้ เขามองว่า “บางทีความเยอะมากของมันก็อาจเป็นดาบ 2 คม อาจทำให้คนดูเบื่อ ในด้านที่น่ากลัวคือ mass media สำคัญมากเป็น turning point ในการทำให้ใครเป็น The Star หรือ Junk ได้

ว่าแต่ กล้าหรือเปล่า??!! กล้าพอไหมที่จะถูกจับตามองตัวตนที่ (เสมือน) แท้จริงของคุณ

อ๊อฟ อะคาเดมี่

“จากคนรักเก่า” เพลงของอ๊อฟ อะคาเดมี่ (ปองศักดิ์ รัตนพงษ์) สร้างชื่อให้นักล่าฝันผู้นี้ไม่น้อย เด็กหนุ่มวัย 19 ปี จากเชียงใหม่มุ่งหน้าเข้ากรุงเพื่อล่าฝัน AF จบไปนานแล้วแต่ความดังของอ๊อฟยังมีคนพูดถึงและมีแฟนคลับอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเจิดจรัสกว่าใครเพื่อน ณ เวลานี้ แม้จะไม่ใช่ผู้ชนะเลิศก็ตาม ผลงานบันเทิงมากมายปรากฏทางฟรีทีวี โดยเฉพาะผู้ดูแลอย่างแกรมมี่ ที่ทั้งผลักทั้งดันให้เขา “เกิด” ในหลายรูปแบบทั้งการเป็นนักร้อง พิธีกรรายการ D-DNA และ J-Entertainment

จีน อะคาเดมี่

จีน-ธัญนันทน์ มหาพิรุณ เตรียมออกอัลบั้มเดี่ยวในสังกัดแกรมมี่แกรนด์ ส่วนวิทย์-พชรพล จั่นเที่ยง ผู้ชนะเลิศ ออกอัลบั้มเดี่ยวในสังกัดก้านคอคลับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุ้มจิ้ม อะคาเดมี่

กิติลักษณ์ จุลลัษเสถียร กับความกดดันอย่างหนักหน่วงเมื่อคะแนนโหวตสวนทางกับความสามารถทางการร้องเพลง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงโห่ร้องเมื่อเธอขึ้นเวที ทำให้อาจารย์ทันตแพทย์หญิงผู้นี้ต้องหลั่งน้ำตา ต้นทุนที่เธอเสียไปในครั้งนั้น วันนี้เธอก็เช่นเดียวกับเพื่อน AF ที่เป็นศิลปินในสังกัดแกรมมี่ และมีผลงานพิธีกรที่ UBC

สน เดอะสตาร์

ตำแหน่งชนะเลิศเดอะสตาร์ รุ่นที่ 1 กับอัลบั้มเพลงที่พอสร้างชื่อให้กับเขาได้บ้าง รอดูกันว่าผลงานภาพยนตร์เรื่อง มหาลัยเหมืองแร่ จะทำให้เขาโดดเด่นได้เพียงใด