เรื่องที่ “ถกลเกียรติ” พลาดไม่ได้

แม้ว่างานด้านบริหารธุรกิจผลิตรายการทีวีจะมากขึ้น เพราะมีบริษัทที่รับผิดชอบถึง 2 แห่ง คือ เอ็กแซ็กท์ และซีนารีโอ แต่สิ่งหนึ่งที่ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ไม่เคยละทิ้งเลยก็คือ งานละคร ซึ่งเขาชื่นชอบตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสืออยู่ที่ Boston University และปัจจุบันยังติดตามดูงานละครเวทีที่นิวยอร์กทุกปี

ปีนี้ เป็นปีที่ 4 ที่ถกลเกียรติยังคงกำกับละครเวที เรื่องล่าสุด “ทวิภพ” เฉพาะแค่รอบปฐมทัศน์ มีทั้งเหล่าผู้บริหาร ดารา นักร้องของแกรมมี่ เข้ามาร่วมงานจำนวนมาก เฉพาะแค่ค่าโปรดักส์ชั้นสูง ลงทุนราว 50 ล้านบาท เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับ A B โดยเฉพาะ ซึ่งสินค้าที่มีอยู่ไม่มากนักในแกรมมี่ โดยมี serenade เหมา 1 รอบเพื่อแจกบัตรฟรีให้ลูกค้าตัวเอง ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาจากสปอนเซอร์อย่างซิสเท็มม่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ มากกว่าพึ่งยอดขายบัตรเพียงอย่างเดียว
ถกลเกียรติ ตั้งเป้าจำนวนคนดูเพียง 20,000 คน ก่อนที่จะได้รับความสนใจท้วมท้น จนได้ขยายรอบการแสดงออกอีกเท่าตัว 10 วัน ตั้งแต่ 10 – 19 มิถุนายน คิดเป็น 28 (15+13) รอบ สามารถรองรับคนดูสุงสุดอยู่ราว 56,000 คนถ้าเต็มโรง

ในต่างประเทศจำนวนการแสดงในบรอดเวย์ เคยทำสถิติ 1,000-2,000 รอบ ซึ่งละครเวทีบ้านเรายังมีจำนวนน้อยรอบอยู่มาก การใช้นักแสดง 2 ชุด จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการตลาด เพื่อเพิ่มจำนวนคนดูต่อรอบให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการชมซ้ำในช่วงเวลาสั้นๆ ได้อย่างดี

ตามแผนที่ถลกเกียรติวางไว้ เขาต้องการทำให้ “ทวิภพ” เป็นละครเวทีส่งออกเรื่องแรกของไทย ด้วยความหวังไปไกลถึงระดับบรอดเวย์ โดยมีแผนการที่จะเริ่มต้นที่สิงคโปร์และฮ่องกง เขาเชื่อว่า ทวิภพ มีจุดขายในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องราวแบบขายวัฒนธรรม (exotic) เทคนิคฉากและเรื่องราวที่ส่วนหนึ่งก็ร่วมสมัย เป็นเรื่องราวความรักหนุ่มสาว และความรักชาติอยู่ด้วยกัน ที่ทั่วโลกเข้าใจได้

“สิ่งที่ทำคือ เราพยายามหาเรื่องที่ตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้าน คือคำชมในเมืองไทย การได้รับการยอมรับในเมืองนอก และความสำเร็จด้านรายได้ด้วย” ชยากร สุทินศักดิ์ Production Supervisor กล่าวในฐานะหนึ่งในคนทำงานหลักสำคัญ

ตลาดเล็กแต่แน่นอน ลักษณะของละครเวทีบ้านเรา ส่วนใหญ่ลือกจังหวะของเวลาในการแสดง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันโดยตรง เนื่องจากกลุ่มคนดูยังเป็นกลุ่มเล็กอยู่ นอกจาก บริษัทดรีมบ็อกซ์ ผู้บริหารโรงละครกรุงเทพเดิม จับมือกับ EGV ทำโรงละครใหม่ผลิตละครเวทีตลอดปีนี้ นับว่าคณะละครเวทีเพื่อการพาณิชย์ในรูปแบบบริษัทนั้นมีจำนวนน้อยมาก เช่น interplay EX studio นอกจากนั้นมักเป็นละครเวทีเพื่อชุมชน การศึกษา และศิลปะ เช่นกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว, มะขามป้อม, DreamMaskฯลฯ