เดิมทีเดียวก่อนที่จะมีรายการที่เราคิดว่ามันเป็นเรียลลิตี้อย่างที่เป็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นรายการแนวเสนอความจริง (reality-based programming) ก่อนที่จะพัฒนามาสู่รูปแบบของเรียลลิตี้โชว์ หลังจากหนังสารคดีของคนธรรมดาได้รับความนิยม
ว่ากันว่า รายการที่เป็นเรียลลิตี้โชว์รายการแรกของโลก คือ “An American Family” มาจากรายการสารคดี 12 ชั่วโมงของ PBS ที่แพร่ภาพในอเมริกาปี 1973 ว่าด้วยเรื่องราวภายในครอบครัวเล็กๆ ของ “William C. Loud” กับลูกๆ 5 คน เป็นการเก็บภาพการอยู่ร่วมกันตลอด 7 เดือน จนได้ภาพทั้งแต่การทะเลาะเบาแว้งภายใน จนถึงการหย่าร้าง แม้แต่การเผยว่าเป็นเกย์ของลูกชายคนโต ผลของรายการได้สั่นคลอนคุณค่าบางอย่างของสังคมผ่านจอโทรทัศน์ จนมีผู้ชมมากถึง 10 ล้านคน ก่อนที่จะกลับมาทำภาคสอง (revisited) ในอีก 10 ปีถัดมา
เรียลลิตี้โชว์ในเวลานั้นเรียกว่าเป็นรายการในกลุ่มสารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความจริงภายในครอบครัวมากกว่า ซึ่งความแปลกใหม่สำหรับรายการแนวครอบครัวแบบนี้ยังทำตามกันมาจนถึงปัจจุบันก็เช่น รายการ “The Family” (เวอร์ชั่นแรกที่ UK ปี 1974) หรืออย่าง “The Osbournes” ของ MTV
จนเมื่อปี 1992 รายการที่ได้รับความสำเร็จมากของ MTV ที่ชื่อ “The Real World” ได้เอาคน 7 บุคลิกที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพื่อดูวิธีการปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาผ่านกล้องที่แอบไว้ตามมุมต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนเมื่อซีซั่นที่ 3 (THE REAL WORLD : SAN FRANCISCO) ในปี 1994 ผู้ที่ใช้ชีวิตในบ้าน 2 คน เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่าง Pedro Zamora เกย์ที่ถูกเปิดเผยว่าติดเชื้อ HIV กับ Puck อาชีพ Messenger ที่มีนิสัยสกปรกและก้าวร้าว เรื่องทะเลาะเบาะแว้งของ 2 คนนี้สร้างเรตติ้งถล่มทลาย จนเกิดการตามอย่างจนพัฒนาเป็นรูปแบบที่ชัดเจนที่เรียกว่า “Reality Show” สำหรับรายการรูปแบบใหม่ที่เจาะความนิยมระดับแมส ในระดับเดียวกับละคร ภาพยนตร์ และเกมโชว์
แม้ว่าทุกวันนี้ความนิยมในรายการ ทำให้ได้ผลิตออกมาต่อเนื่องถึงชุดที่ 15 แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ “เรียลลิตี้โชว์” ในต่างประเทศสามารถประสบสำเร็จได้จากเรื่องที่สวนทางกับ “ค่านิยมของสังคม” ไม่ว่าจะเรื่องเกย์ เพศ และการทะเลาะเบาะแว้งทั้งสิ้น ต่างจากภาพความสำเร็จของ Academy Fantasia ที่น่าจะเรียกได้ว่า ขายน้ำตา และความสัมพันธ์
สำหรับบ้านเราเรียลลิตี้เริ่มในช่วงปี 2540 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นมาจากรายการแบบ “Reality-Based Programming” ที่ใช้เนื้อหาจากความจริง ก็เช่นรายการ “คดีเด็ด” หรือ “เรื่องจริงผ่านจอ” รวมไปถึงรายการต่างประเทศที่เข้ามาในบ้านเราอย่าง “Just’s Kidding” หรือรายการแบบ “Home Videos” ที่ใช้ความจริง(reality) เพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วม เช่นความสนุกสนาน หรือตื่นเต้นหวาดเสียว มักเป็นรายการแบบ Candid Camera จนเริ่มมีรายการ “Survivor” ที่ยูบีซี แต่คนทั่วไปยังไม่รับรู้ว่าถึงความแตกต่างระหว่าง Reality กับเกมโชว์อย่างชัดเจน
ก่อนที่จะมีรายการเรียลลิตี้โชว์รายการแรกในบ้านเราคือ “เกมชีวิต” ปี 2544 โดยเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันดำเนินธุรกิจร้านอาหารในเกมแรก ก่อนที่เกมที่ 2 ที่จัดให้ผู้แข่งขันไปใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ย้อนยุคไปอีกประมาณ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีน้ำประปาหรือไฟฟ้าใช้ เป็นระยะเวลา 30 วัน “กันตนา” ในฐานะผู้ผลิต ยอมรับว่า เนื่องจากได้เห็นความสำเร็จของรายการรูปแบบใหม่นี้ท่วมท้นอย่าง Big Brother ในเนเธอร์แลนด์ แต่สำหรับบ้านเรา ในตอนนั้นถือเป็นความล้มเหลว เพราะว่ารายการนี้ไม่สามารถทำให้คนไทยเชื่อได้ว่า คนที่มาอยู่ในรายการเป็นคนธรรมดาจริงๆ เพราะด้วยแอร์ไทม์ต่อสัปดาห์ที่น้อย จนทำให้รายการต้องปิดตัวลงหลังจากที่อยู่ได้ไม่ถึงปี
ในปี 2545 “เกมคนจริง Survivor” เดินทางเข้ามาในไทยจากการนำเข้าโดย “กันตนา” เจ้าเดิม ในฟรีทีวีก็ได้รับความนิยม แต่อากาศได้เพียงสองชุดก็ต้องหยุดไป เนื่องจากมีปัญหาด้านราคาของลิขสิทธิ์จาก CBS รูปแบบของ SURVIVOR นับได้ว่าเป็นเรียลลิตี้เกมที่เดินเรื่องได้ด้วยการสัมภาษณ์ แล้วใช้การตัดต่อต่างๆ เพื่อเสนอเรื่องราวในแต่ละวัน ของผู้แข่งขันที่มาใช้ชีวิตในสถานที่ปิดล้อมกับเกมหฤโหด มีเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐล่อใจ โดยใช้กฎเกณฑ์จากการโหวตออกกันเองของผู้ร่วมแข่งขัน สร้างความรู้สึกใหม่ให้กับคนดูจนได้รับความนิยม
พฤศจิกายน 2546 “The Star ค้นฟ้าคว้าดาว” รายการของเอ็กแซ็กท์ ภายใต้การบริหารของถกลเกียรติ วีรวรรณได้ผลิตรายการแนวใหม่ จากการควานหานักร้องมีฝีมือโนเนม จากทั่วทั้งประเทศว่า 4 เดือน นำโดยคณะกรรมการสุดโหดอย่าง เพชร มาร์, ม้า อรนภา กฤษฎี และ โจ้ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา จนวิธีวิจารณ์ได้สร้างกระแสความนิยม ก่อนที่จะส่งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินจากการใช้โหวตทาง SMS ถือเป็นรายการแรกที่เน้นจุดเด่นของความเป็นคนธรรมดาอย่างเป็นเรื่องราว จนสร้างกระแสให้พวกเขาเป็นที่รู้จักของสังคมผ่านรายการโทรทัศน์ แต่รายการนี้ก็ได้รับความนิยมที่สูงจากการเอาคนธรรมดามาแข่งขันกันจนมีชื่อเสียง มากกว่าจุดขายถึงความเป็นเรียลลิตี้
แต่ปีถัดมา มิถุนายน 2547 Academy Fantasia ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับจุดขายที่บอกว่าตัวเองเป็น “Reality Show” เต็มรูปแบบ กลายเป็นรายการโทรทัศน์แนวใหม่ ที่ผู้ชมได้รับชมรายการผ่านวิธีการถ้ำมองชีวิตคนธรรมดา ในการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ที่ทุกคนผู้ถึง มีผลตอบรับเป็นบวกจากสื่อ และเป็นปรากฏการณ์ SMS ถล่มเพื่อสร้างการตอบรับได้กับกระแสเป็นอย่างดี เสียงจากทั้งคนดู และคนทำงานในวงการ พูดถึงว่า AF เป็นผู้จุดกระแสเรียลลิตี้โชว์
ปัจจุบัน ปี 2548 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการกำเนิด “Reality” ต่างๆ ในบ้านเรา
– มกราคม BEC – TERO Entertainment เปิดรับสมัครนางแบบไปอย่างเงียบๆ 500 กว่าคน เพื่อรับรายการ Thailand’s Next Top Model ที่กำลังจะเกิดขึ้น
– กุมภาพันธ์ บริษัทผู้สร้าง Big Brother บินมาจับมือกับกันตนาเพื่อสร้างรายการครั้งแรกในเอเชีย จากการติดต่อล่วงหน้านานหลายปี
– มีนาคม เจาะใจปรับภาพครั้งใหญ่ โดยดึงเอาเรียลลิตี้เข้ามา
– เมษายน คนกลุ่มแรกของเอเชียเดินทางเข้าบ้าน Big Brother, เจาะใจเผยแพร่ตอนแรกของเรียลลิตี้
– พฤษภาคม Thailand’s Next Top Model ออกอากาศ, Academy Fantasia เทอม 2 ออกเดินทางหานักเรียนทั่วประเทศ
– วันนี้… มีรายการเรียลลิตี้โชว์ไม่กว่า 40 รายการที่อยู่ทั้งในช่องฟรีและเพย์ทีวี
What is “Reality” Format?
“Reality Show” ไม่ได้หมายถึงรายการที่นำเสนอความจริงแบบที่เห็นได้ทั่วไป แบบที่สามารถพบได้จาก “สารคดี” ดังนั้นสิ่งที่ขายคือดีกรีของสิ่งเร้าที่ถูกสร้างขึ้นภายในรายการ เป็นรายการที่ออกแบบสถานการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมที่เตรียมการมาอย่างดี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรายการแสดงปฏิกิริยาออกมาในรูปแบบที่ต่างกันอย่างขีดสุด ตั้งแต่ ดีใจ รักใคร่ จนถึงการทะเลาะเบาะแว้ง ตกใจหวาดกลัว หรือผิดหวังเสียใจ โดยเฉพาะธาตุแท้ทางอารมณ์ของแต่ละบุคคล
เรียลลิตี้โชว์แตกต่างจากรายการสารคดีที่ผู้ผลิตจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวให้น้อยที่สุด วางตัวเป็นเพียงผู้บันทึกเหตุการณ์ และต่างจากโชว์หรือละครตรงที่มีการซ้อมออกแบบปฏิกิริยาของผู้แสดงล่วงหน้า ในที่ทิศทางตรงกันข้าม คือ ผู้ผลิตจะพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องในจุดที่พอดีจนถึงมากที่สุด เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาของตัวละครอย่างฉับพลันต่อสถานการณ์ คนทำงานจะวางตัวเป็นผู้ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านการตัดต่อที่เร้าอารมณ์คนดู
ตัวอย่างรายการเรียลลิตี้ในดีกรีที่แรงคือ “Big Brother” หรือ “Survivor” ที่จำกัดพื้นที่ ตลอดจนปัจจัยในการใช้ชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งไว้ให้ใช้ชีวิตร่วมกันในบริเวณเดียวกันนานๆ จนถึงรายการที่อ่อนดีกรีความแรง แต่ใช้พื้นฐานมาจากประสบการณ์ในชีวิตแบบปกติ โดยมุ่งเน้นที่จะบันทึกความรู้สึกร่วมกับสิ่งเร้าทางใดทางหนึ่งของตัวละครหลัก กับสถานการณ์ปกติที่ได้รับ เช่น รายการเจาะใจ หรือไฮโซบ้านนอก
ปัจจุบัน “เรียลลิตี้” ถือเป็นตระกูลหนึ่งของรายการโทรทัศน์ที่ประยุกต์เอารายการที่เคยมีอยู่เดิมที่นิยมอย่าง
“Reality Dating Shows” ที่มาจากการเดตที่เกิดขึ้นจากรายการแบบนัดบอด เช่น พรหมลิขิตบทที่1, Playing it straight, Joe Millionaire หรือ แนว “Reality Game Shows” ที่เอาคนทางบ้านมาแข่งขันเพื่อรางวัล ไม่ว่าจะเป็น พละกำลัง ร้องเพลง หรือความงาม เช่น Fear Factor, Survivor, The Star, Thailand’s Next Top Model (TNTM)
แต่ว่ารายการที่ถือว่าค่อนข้างใหม่ และดูเหมือนไม่มีอะไรให้ดูเลยนอกจากพฤติกรรมของผู้เข้าแข่งขันอย่าง “Reality Television” ที่คนดูแอบดูเรื่องราวผ่านโทรทัศน์อย่าง Big Brother ก็ได้รับความนิยมสูงทั้งในบ้านเรา และต่างประเทศ (เว็บไซต์ของกันตนาจำเป็นต้องมีการแนะนำรายการให้มือใหม่หัดดู)
ในขณะที่เทรนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะผสมผสานเนื้อหาให้เข้ากับรูปแบบเรียลลิตี้ก็มีหลากหลาย เช่น Academy Fantasia ก็ผสมเอาแนวทางของ Reality Television ไว้กับแบบเกมโชว์, เรียลลิตี้แบบเจาะใจ ก็สลับขั้วเอา “ดาราหรือคนดัง” ที่ไม่ใช่คนธรรมดามาอยู่ภายใต้โจทย์ที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตอย่างคนธรรมดา แล้วติดตามพฤติกรรมต่างของพวกเขา แบบเดียวกับ Simple Life และ ไฮโซบ้านนอก
Reality Show จึงเป็น “Real Life Soap” ละครน้ำเน่าของชีวิตที่ไม่มีบท ที่เห็นความผิดหวัง สมหวัง โกรธแค้น และน้ำตา เกิดขึ้นแบบไม่ได้ต้องกำหนดหรือซ้อมก่อน ด้วยสารพัดวิธีการที่ประยุกต์เอาทั้งความรู้เก่าและใหม่ผสมผสาน ภายในคอนเซ็ปต์ “เรื่องจริง”