“Passion Not Package” จุดยืนทางสังคมของ “ชานนท์ เรืองกฤตยา”

หนุ่มสังคมผู้นี้เป็นเจ้าของแบรนด์ “อนันดา” โครงการบ้านหรูที่เน้นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เป็นจุดขาย เมื่อปีที่ผ่านมา ชานนท์เป็นหนุ่มสังคมสุดฮอตอีกคนที่ปรากฏตัวตามสื่อหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ หรือหนุ่มสไตล์ดีที่ได้รับเชิญออกงานสังคมบ่อยครั้ง

แต่มาปีนี้ ชานนท์เริ่มเฟด (fade) ออกจากงานสังคมด้วยเหตุผลว่า “มันน่าเบื่อ ผมว่า มันมีอย่างอื่นที่มันน่าสนใจกว่าเยอะ ซึ่งผมก็ค้นพบจุดยืนในสิ่งที่อยากเป็นหรืออยากทำแล้ว ก็น่าจะไปใช้เวลาค้นหาเส้นทางชีวิตตรงนั้นดีกว่า เพราะมันยังต้องใช้เวลาปรับอีกเยอะ” เพราะเชื่อว่าชีวิตคนเราสั้นนัก ชานนท์จึงต้องการใช้เวลาว่างที่มีเหลือจากการทำงาน ไปโฟกัสในสิ่งที่อยากทำ

อย่างไรก็ดี ชานนท์ยอมรับว่า การออกงานสังคมถือเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดมุมมองของโลก โดยเฉพาะโลกธุรกิจที่อาจช่วยสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ แต่เขาไม่เชื่อว่า business connection ที่แท้จริงจะมาจากการออกงานสังคม “ผมเชื่อว่า คนที่เป็น real people เขาไม่ได้ต้องการธุรกิจจากตรงนี้ และเชื่อว่าถ้าคนมันมีชะตาที่จะต้องดีลกันทางธุรกิจ สักวันก็ต้องได้รู้จักกัน”

…นี่เองคือเหตุผลที่ชานนท์เลิกเล่นกอล์ฟ หันไปเล่นกีฬาอย่างอื่นที่ผู้เล่นไม่ต้องพูดคุยเรื่องธุรกิจระหว่างทำกิจกรรม เช่น แข่งรถโกคาร์ท ดำน้ำ หรือปีนเขา แทน “ถ้าต้องให้ผมเล่นกอล์ฟ เพื่อให้ได้ธุรกิจเหมือนคนอื่น ผมไม่เอาหล่ะ (หน้าเบ้) ผมอยากใช้ชีวิตกับอะไรที่ผมรักมันจริง นี่แหละคือ passion ของผม” ชานนท์ย้ำ

สำหรับเหตุผลที่ยอมเป็น “celeb” ในหลายงานเมื่อปีที่แล้ว ชานนท์บอกว่าส่วนใหญ่มาจากคำเชิญหรือคำขอร้องจากเพื่อน แต่ปีนี้ เขาเลี่ยงงานเหล่านี้เกือบหมด เพราะมองว่านั่นไม่ใช่อาชีพทำมาหากินของเขา และไม่คิดจะใช้สื่อตรงนี้ในการโปรโมตตัวเองเหมือนนักธุรกิจคนอื่น “ผมอยากทำในสิ่งที่ผมรักมากกว่า ผมไม่ได้ทำเพราะจะเอาไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่น เพราะมันไม่ real”

โดยเฉพาะกับความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจหน้าใหม่ไฟแรงที่เขาได้รับการยอมรับจากหลายสถาบัน เช่น “Boss” หรือ “Ceo Forum” ชานนท์กลับรู้สึกต้องยิ่งระวังว่า การเป็น celeb หรือการออกงานสังคมบางงาน อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ “อนันดา” ด้วย

สุดท้าย สูตรความสำเร็จทางธุรกิจของใครก็ของคนนั้น บ้างอาจใช้การออกงานเป็น shortcut ในการโปรโมตแบรนด์หรือตัวเอง แต่สำหรับชานนท์ เขาสรุปว่า “คงเลือกที่จะเอาเวลาตรงนั้นไปทำในสิ่งที่รักและอยากทำ และทำในสิ่งที่ “real” ที่ไม่ต้องใช้ “package” ห่อหุ้มตัวตนเพื่อให้น่าสนใจ …เหมือนกับแบรนด์สินค้า ดีกว่า”