หากไมโครซอฟท์ และแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ Google เป็นบริษัทด่าวเด่น ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นแนสแดค แล้ว ธุรกิจที่ “วิเชฐ ตันติวานิช” “ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ” คาดหวังจะให้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น เอ็ม เอ ไอ ก็คงไม่แตกต่างกันนัก
บิล เกตส์ เจ้าพ่อซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ และ สตีฟ จ๊อบส์ แห่งแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ สองคู่หู Larry Page และ Sergey Brin ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Google เริ่มต้นธุรกิจของพวกเขาเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัย
ทุกวันนี้ ทั้ง 4 กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก จากโลกของเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่พวกเขาสร้างขึ้น โดยที่ในช่วงเริ่มต้นไม่มีใครรู้ว่า ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของของบริษัทที่เข้าระดมทุน จากตลาดหุ้นแนสแดค แห่งสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นบุคลิกสำคัญที่สร้างพลังให้กับตลาดหุ้นแห่งนี้
เช่นเดียวกับ positioning ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
Business for the future คือคำจำกัดความของกลุ่มเป้าหมายที่วิเชฐ และทีมงานกำหนดไว้ ให้กับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ต้องกำหนด positioning ใหม่ที่ชัดเจน ไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์ของธุรกิจเล็กๆ แต่นี่คือ ตลาดหุ้นของธุรกิจสำหรับอนาคต ที่จะเข้ามาระดมทุน เพื่อสร้างความเติบโต
“ธุรกิจสำหรับอนาคต” ไม่เหมือนธุรกิจในอดีต ต้องมี ที่ดิน โรงงาน ในการสร้างธุรกิจ แต่เป็น “เถ้าแก่ใหม่ไฮเทค” ขอให้มีไอเดีย รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด
วิเชฐใช้เวลามาแล้ว 7-8 เดือน ในการกระตุ้นตลาดหุ้น เอ็ม เอ ไอ ให้เดินไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ทั้งการปลดล็อก กฎ กติกา ที่เป็นข้อจำกัดต่างลง ผลักดันให้มีกองทุนเข้ามาลง จับมือโบรกเกอร์ ทำบทวิเคราะห์ เปรียบได้กับ การสร้างแม่ช้อย นางรำ ในตลาดหุ้น กระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย
กลไกการตลาดถูกนำมาใช้ ในการแบรนด์ของ เอ็ม เอ ไอ ให้เป็นไปตามทิศทางใหม่ อีเวนต์ต่างๆ ถูกคิดค้นขึ้น เพื่อเจาะถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “คนรุ่นใหม่” ที่มีไอเดียธุรกิจแห่งอนาคต โดยเฉพาะ
วอลุ่มการซื้อขายในตลาดหุ้น เอ็ม เอ ไอ ที่โตขึ้นเกิน 200-300% จากหุ้น 3 ตัวที่เข้าจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปีนี้สะท้อนว่า วิเชฐ และทีมงานมาถูกทาง
สิ่งที่วิเชฐเฝ้ารอในเวลานี้คือ การเกิดของบริษัทขนาดใหญ่ “บิ๊ก ชอต” ในตลาดหุ้น เอ็ม เอ ไอ เมื่อนั้นภาพลักษณ์ใหม่ของ เอ็ม เอ ไอ จะแจ่มชัดขึ้นกว่าเก่า
เมื่อถึงเวลานั้น เป้าหมายบริษัทจดทะเบียน 500 แห่ง ด้วยมาร์เก็ต แคปปิตอล 250,000 ล้านบาท คงไม่ใช่เป้าหมายที่เกินเลยไป สำหรับตลาด เอ็ม เอ ไอ ที่ได้ชื่อเป็นตลาดหุ้นของบริษัทแห่งอนาคต
ช่วงเริ่มต้นออกจาก จุด”สตาร์ท” ของตลาดหลักทรัพย์ “ใหม่” ในอดีต ดูไม่สวยสดงดงามเท่าที่ควร เพราะการโฟกัสไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก บวกผสมกับปัญหาของบริษัท “รอยเน็ท” ที่ขาดการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ ทำให้ตลาดหุ้นแห่งนี้เงียบเหงาลงอย่างน่าใจหาย ไม่ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุน และบริษัทที่จะนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียน
จนกระทั่งมาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ในช่วง 7-8 เดือนหลัง ในยุคของ “วิเชฐ ตันติวานิช” เข้ามานั่งเก้าอี้ “ผู้จัดการ” ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยการชักชวนของกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกลอเก่า…
ช่วงเวลานี้เองที่เสียงของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นตลาด mai เริ่มดังกังวานขึ้น ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนรูปโฉมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
“What do we have ?… “ เรามีอะไรอยู่ในมือแล้วตอนนี้ แล้วจะเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่หรือไม่…วิเชฐตั้งคำถามกับตัวเอง
เพราะก่อนหน้าจะเข้ามาสวมหมวกที่ค่อนข้างท้าทาย เนื้องานที่นี่เคยผ่านมือคนอื่นหรือถูกรันงานมาก่อนนานแล้ว การเข้ามาจัดการใหม่จึงต้องศึกษา และค้นให้พบต้นตอของปัญหาเพื่อให้งานที่รันโดยวิเชฐผ่านไปได้ด้วยดี
และแล้วก็พบว่าปัญหาใหญ่สำหรับโจทย์วิเชฐมีอยู่ 2 ข้อหลัก…
หนึ่งคือ ภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ในสายตาคนภายนอกที่มองตลาดแห่งนี้เป็นลบ ทำให้ตลาดนี้ไม่เติบโตหรือเคลื่อนตัวได้รวดเร็วพอ…
โดยเฉพาะกรณีของ “รอยเน็ท”….หุ้นน้องใหม่รอยเน็ท กระโจนเข้ามาในยุคแรกของการเปิดตัวตลาดนี้ แต่ท้ายที่สุดเนื้อเรื่องก็จบลงอย่างเศร้าๆ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ “รอยเน็ท” เกิดคดโกง ฉ้อฉล เทขายหุ้นทิ้งแบบไม่แยแสรายย่อย
เคสอย่างนี้ทำให้นักธุรกิจหรือธุรกิจที่เฝ้ามองอยู่ข้างนอกเริ่มเบือนหน้าหนี ไม่อยากแม้แต่จะเฉียดเข้ามาใกล้หรือเข้ามาจดทะเบียนในตลาดใหม่
เรื่องนี้เองที่วิเชฐมักพูดกับตัวเองเสมอว่า “ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก”
การลบล้างภาพไม่ใสสะอาดของ “รอยเน็ท” ไม่ได้ยากอย่างที่คิด วิเชฐเลือกไว้ 2 ทางสำหรับตอบโจทย์สังคม สิ่งแรกคือ ถ้าคิดตื้นๆ ก็ต้องทำการประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณา แต่หากจะคิดให้ลึกๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่
แต่สำหรับเขาเลือกทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน…
ในรายของรอยเน็ท ทีมงานตลาด MAI เริ่มต้นประชาสัมพันธ์ง่ายๆ ด้วยการอธิบายว่า ควรจะแยกให้ออกระหว่างธุรกิจเจ๊ง!!!…เพราะคนโกง ขณะที่ความจริงธุรกิจนั้นเป็นสินค้าดี มีคุณภาพ
“การอธิบาย เราก็บอกตรงๆ ไปเลยว่า ธุรกิจดี แต่ที่เจ๊งไม่ใช่ของไม่ดี เราต้องบอกแบบไม่ปิดบัง ไม่มีการหลบซ่อน”
ธุรกิจที่เกาะกระแสเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตอย่างรอยเน็ท เงียบเสียงลงเรื่อยๆ เพราะการเฝ้าอธิบายให้ใครต่อใครฟังว่ามีกระแสเติบโตดี แต่การโกงของผู้บริหารไม่เกี่ยวกับกระแส เพราะแม้แต่ เวิลด์คอม เอ็นรอน ธุรกิจไฮเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลก ซึ่งเป็นถึงหุ้นบูลชิพ ในตลาดหุ้นสหรัฐ ก็ยังมีข่าวฉาวโฉ่โด่งดังไปทั่วโลก
โดยสรุปนอกจากภาพลักษณ์ที่ขุ่นมัวในระยะแรก การวางตำแหน่งของทีมบริหารจัดการรุ่นก่อน ที่กำหนดให้ mai เป็นตลาดสำหรับธุรกิจไซส์เล็ก ก็พลอยทำให้ตลาด mai กลายเป็น “ของซ้อม” ขณะที่ “ของจริง” คือตลาดหลักทรัพย์
กฎเกณฑ์เก่าๆ ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงในยุควิเชฐ เคยกำหนดให้ธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดแห่งนี้มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 300 ล้านบาท หรือถ้าต่อๆ ไปขนาดธุรกิจเติบโตขึ้นก็ต้องเลื่อนขึ้นไปอยู่ในกระดานตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนั้น กฎเกณฑ์เดิมๆ ยังแบ่งสินค้าออกเป็น 2 กลุ่มหรือเซกเตอร์ หนึ่งนั้นคือ สินค้าดอทคอมหรือธุรกิจเทคโนโลยีที่มีอัตราการเติบโตเหมือนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอีกส่วนเป็นเซกเตอร์ธุรกิจเอสเอ็มอี
“กฎเก่าๆ จะเปลี่ยนแปลงเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548″
ในยุควิเชฐ กิจการขนาดเล็กที่จดทะเบียนในตลาด mai ต่อไปจะไม่ถูกบังคับให้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในกระดานใหญ่ ทั้งที่ไม่ต้องการ
ขณะเดียวกันในยุคนี้ก็จะไม่มีการแบ่งซอยเป็นเซกเตอร์ แต่จะเหมาเรียกเป็นธุรกิจสำหรับอนาคต “Business in the future” ที่พร้อมจะขยายตัวและก้าวกระโดดภายใน 4-10 ปี
หรือเป็นธุรกิจเกาะกระแสการเติบโตเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ และมีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา
วิเชฐ บอกว่า ทั้งหมดคือ การ “โพสิชั่นนิ่ง” เพื่อตอบโจทย์ว่า “What is mai ?…
พร้อมกันนั้นก็พยายามป่าวร้องบอกคนทั่วไปว่า ที่ผ่านมามันไม่ใช่…ในยุควิเชฐ จึงต้องใส่ภาพใหม่เข้าไป หลังล้างภาพเดิมออกจนสะอาดหมดจด
ภาพใหม่ที่ต่อไปจะได้เห็นสำหรับธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาด mai คือ ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็ได้ สำคัญที่สุดต้องเป็นธุรกิจไอที เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์ หรือธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จนเกิดมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง
“เราจะไม่มองไปที่ที่ดินหรือโรงงาน ในสมัยเถ้าแก่” ตลาด mai จึงเหมาะสำหรับคนยุคใหม่ที่รู้เท่าทันกระแสโลกและไล่ทันเทคโนโลยี เป็นยุคคนรุ่นลูก ไม่ใช่คนรุ่นพ่อ…
ทีมงานของวิเชฐเริ่มสนใจธุรกิจลักษณะนี้มากขึ้น รวมถึงธุรกิจแอนิเมชั่น ธุรกิจให้บริการออกแบบ และธุรกิจบันเทิง
ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่ขายให้กับสายหนังต่างประเทศมีเม็ดเงินไหลเวียนสูงระดับร้อยล้านบาท ธุรกิจออกาไนเซอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ขายมันสมอง ความคิดสร้างสรรค์
เพราะ “มันสมอง” สำหรับวิเชฐคือ สิ่งที่บ่งบอกมูลค่าของสินค้า ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
การใส่ภาพใหม่ๆ เข้าไป ตั้งแต่การทำประชาสัมพันธ์ และเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ถ้าให้ถามตัวเองว่าสำเร็จหรือยัง…วิเชฐบอกกับตัวเองว่า “ยังไม่พอ” หรือไม่เต็มที่ เพราะส่วนสำคัญมาจาก “บ๊ก ชอต” ยังไม่เข้ามา
บิ๊ก ชอตที่ว่าก็คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน กลุ่มนี้แค่แสดงความสนใจ โดยการเตรียมแต่งตัวเข้ามา แต่ก็ยังไม่เข้ามา จึงถือว่างานนี้ยังไม่สำเร็จ
หากเทียบกัน ในวันคืนเก่าๆ ปี 2547 มีธุรกิจเข้าจดทะเบียนแล้วถึง 14 บริษัท ส่วนไตรมาสแรกปีนี้มีเข้ามาเพียง 3 บริษัท คาดว่าไตรมาส 2-4 จะทยอยเข้ามามากขึ้น
“วอลุ่มเทรดสูงถึง 200-300% ขณะที่สินค้าหรือหุ้นยังมีไม่มาก แต่ก็พิสูจน์ได้แล้วว่านักลงทุนเข้าใจ และเข้ามาเป็นผู้เล่น หรือเพลเยอร์ในตลาด mai บ้างแล้ว”
เวลา 7-8 เดือนที่หมกมุ่นอยู่กับสินค้าหรือธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนถือว่าคุ้มค่าสำหรับวิเชฐ เพราะนอกจากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ก็ยังมีกองทุนรวมของบลจ.ไทยพาณิชย์ขอจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในตลาด mai
เพราะการขอจัดตั้งกองทุนของนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวม ตลาดต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่า ตลาดนี้มีสินค้าคุณภาพดี มีสภาพคล่อง ธุรกิจเติบโตดี นักลงทุนสถาบันกลุ่มนี้ที่ระดมเงินทุนจากประชาชน ซึ่งพยายามหาจุดขายให้กับตัวเองอยู่แล้ว จึงจะให้ความสนใจ
วิเชฐอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่า เป็นจุดสตาร์ทของนักลงทุนหน้าใหม่และนักลงทุนสถาบัน หลังจากก่อนหน้านั้นจะมุ่งไปที่สินค้าหรือธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนเป็นหลัก
ตลาด mai สำหรับวิเชฐ นอกจากไม่ใช่ “ของซ้อม” แล้ว ก็ยังเป็นตลาดสำหรับนักลงทุนในประเทศ และก็ไม่ใช่คู่แข่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะเทียบยังไงก็ถือเป็นมวยคนละรุ่น
ตลาด mai จึงมีกลุ่มเฉพาะตัว เป็นธุรกิจคนไทย สำหรับนักลงทุนในประเทศ พร้อมๆ กับเริ่มมีบทวิจัยครบทุก 20 บริษัท บริษัทละ 2 โบรก ดังนั้นเป้าหมายใน 5 ปี จึงอยู่ไม่ไกล
ในปี 2552 ตลาด mai จะเพิ่มบริษัทถึง 500 บริษัท มูลค่าตลาด 2.5 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน 1.3 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่าธุรกิจเอสเอ็มอียุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมีเป็นล้านๆ ในกลุ่มนี้ทุกปีเชื่อว่าจะถูกเด้งขึ้นมาอยู่บนยอดพีระมิดให้ได้เลือกสรรเข้ามา
ความมั่นใจอย่างมากมาจากสิ่งที่เห็นว่า มีหุ้นที่เติบโตมากกว่า 30% ต่อปีถึง 5 บริษัท ที่ขยายตัวเกินกว่า 100% ติดกลุ่มท็อปไฟว์ก็มีมาก และที่โตสูงสุด 300% ก็มีไม่น้อย ส่วนที่โตเกิน 60% ในกลุ่มท็อปเท็นก็มี ทั้งหมดมากองรวมกันในตลาด mai แทบทั้งนั้น
ปัญหาคือ คนทั่วไปยังขาดการรับรู้ แต่จะสร้างการรับรู้อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้อง “การันตี” ได้ด้วย
และนี่เอง วิเชฐจึงตัดสินใจจัดทำบทวิเคราะห์หุ้นใน mai ครอบคลุมหุ้นทั้ง 26 บริษัท ขึ้นมา วิธีการเช่นนี้ เปรียบได้กับการมี “แม่ช้อยนางรำ” การันตีความอร่อยของรสชาติอาหาร
ถัดจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของทีมงาน mai ในการทำประชาสัมพันธ์ บทวิเคราะห์เหล่านี้ให้แพร่หลาย ผ่านสื่อในมือที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น แฟมิลี่ ชาแนล, นิตยสาร มันนี่ แอนด์ เวลท์ รายการทีวี รายการวิทยุ หรือแม้แต่ในงาน “เซ็ต อิน เดอะ คนซิตี้” ซึ่งเป็นฤดูกาลของตลาดทุน
ทุกกระบวนการประชาสัมพันธ์จะเป็นการป่าวประกาศเหมือน “แม่ช้อยนางรำ” พอคนชิมติดใจ คนที่คอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ก็อยากลองมั่ง…
วิเชฐเรียกความเชื่อมั่นให้กับทีมงานว่า “เรากำลังรอ สโนว์ บอล เอฟเฟกต์” ที่จะกลายมาเป็นกลยุทธ์ ดึงธุรกิจ นักลงทุนเข้ามาสมทบมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะถ้าถูกกระตุ้นโดย “สโนว์ บอล” ตามวิถีทางของวิเชฐ “ตลาด mai ”ก็จะพอกพูนใหญ่ขึ้นๆ ทั้งนักลงทุน วอลุ่มเทรดในแต่ละวัน เหมือนเป็นกลไกที่ต้องคอยหยอดน้ำมัน เพื่อให้ลื่นไหล…ไม่เคลื่อนตัวเนิบนาบเหมือนที่แล้วๆ มา…