กระจายเล่นหุ้นทุกประเภทลดความเสี่ยง ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์

Chief Strategy Officer บริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ชินณิชา หรือ น้องเซียร์ สาววัย 24 ดีกรีแรกคือปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน (BBA) ภาคภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกจับตามองในฐานะที่เธอเป็นบุตรสาวของ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เธอเป็นคนกลางในพี่น้องสามคนคือ ยศนัน-ชินณิชา-ชยาภา

ก่อนที่จะขึ้นตำแหน่งผู้บริหารของตระกูล ทั้งโครงการ ชินณิชา วิลล์ ของบริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ชินณิชาเคยฝึกงานสมัยเรียนปริญญาตรีที่ บริษัท เอ็ม ช็อป โมบาย จำกัด หลังจากจบปริญญาตรีก็เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาโทด้าน MBA ที่ Kent Business School University of Kent at Canterbury ประเทศอังกฤษ

ชินณิชายังมีชื่อเป็นกรรมการอยู่ในบริษัท แซนด์ฮอค พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ ซิสเต็ม จำกัด, บริษัท วาย. ชินวัตร จำกัด, บริษัท วินโคสท์ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท อินนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อินนิค มีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท แอล แอล เอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงเห็นได้ว่าเธอไม่หยุดนิ่งในเรื่องของการสร้างโอกาสในการเข้าไปร่วมในธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

ด้วยตำแหน่ง CSO ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องของนโยบายและกลยุทธ์การตลาด ทำให้เธอได้ฝึกทักษะด้านการวิเคราะห์ตลาดโดยภาพรวมของธุรกิจ ที่น่าจะเป็นส่วนดีเมื่อเธอหันมาเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาด MAI

ชินณิชาเล่าว่า เริ่มสนใจหุ้นในตลาด MAI ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2547) เพราะมีหุ้นที่เข้าตลาดแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ใหญ่บางท่านที่เธอไม่ยอมระบุชื่อแนะนำว่าเป็นหุ้นในตลาด MAI เป็นหุ้นที่น่าสนใจ

หุ้นตัวแรกที่เธอเข้าไปซื้อคือหุ้นของบริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นก็เป็นหุ้นที่ถือระยะสั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ถือยาว จะซื้อตามคำแนะนำของโบรกเกอร์ และถือในลักษณะมาขายไป ระยะสั้นไม่ได้ถือยาว

เธอแบ่งลักษณะการเข้าไปถือหุ้นของเธอออกเป็น 2 แบบคือหุ้นที่ถือแบบ short term ประเภทซื้อมาซึ่งตอนนี้ไม่มีตัวหลักพอที่จะระบุได้ชัดเจนเพราะส่วนใหญ่จะไม่ถือไว้ยาว กับหุ้นที่เป็นลักษณะของการถือยาว อย่างหุ้นของบริษัท บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด ที่เข้าไปซื้อก็เพราะดูผลประกอบการ และทิศทางของราคาน้ำมันแล้ว หุ้นกลุ่มพลังงานน่าจะมีแนวโน้มดี

ชินณิชาใช้บริการของโบรกเกอร์หลายรายในการดูแลพอร์ตการลงทุนของเธอ กรณีมีหุ้น IPO เข้าตลาดเธอก็มักได้รับการจัดสรรจากโบรกเกอร์ อย่างกรณีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

การเลือกหุ้นเองจะดูจากหุ้นที่มีทิศทางในการเติบโตในอนาคต มองยอดขายที่เพิ่มขึ้น เป็นบริษัทที่แนวโน้มดี แม้ตอนนี้จะเป็นบริษัทเล็กๆ เช่น หุ้นบริษัท เทคโนโลยี บริษัทที่มี innovation ใหม่ๆ

เมื่อเทียบหุ้นในตลาด MAI กับ SET แล้วนั้นขึ้นอยู่กับตัวบริษัทเอง หุ้นในตลาด MAI เป็นบริษัทใหม่ ที่มีแนวโน้มดี อย่างบริษัท สยาม ทู ยู จำกัด ก็มองไว้เหมือนกัน มีความน่าสนใจมีโอกาสในการเติบโต มองว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจับตามอง แม้จะเป็นบริษัทเล็ก แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าไปซื้อแค่ดูอยู่เท่านั้น

ขณะที่หุ้นในตลาด SET เป็นหุ้นที่มีมานานแล้ว เป็นบริษัทประเภทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถ้าจะเข้าไปถือหุ้นอะไรก็จมองหุ้นที่มีแนวโน้มในเรื่องการเติบโต มีอนาคต มีความคิดริเริ่ม มีเทคโนโลยี ไม่ใช่หุ้นทั่วไป เป็นหุ้นของบริษัทคนรุ่นใหม่

“หุ้นในตลาด MAI เป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ ซึ่งบางคนอาจจะไม่เข้าใจหุ้นเหล่านี้ว่าเป็นบริษัทที่มี intellectual property (ทรัพย์สินทางปัญญา) เป็นทรัพย์สินของตนเอง”

การลงทุนหุ้นในพอร์ตของชินณิชา เธอเลือกลงทุนที่แตกต่างกันไป ไม่เจาะจงหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการ diversify เพื่อลดความเสี่ยง หากหุ้นตัวใดไม่ดี ก็จะมีหุ้นตัวอื่นมาทดแทนกัน และการเลือกที่จะลงทุนในหุ้นตัวใดนั้นก็ต้องก็ต้องศึกษาหุ้นตัวนั้นก่อน โดยมองทุกจุดของบริษัท ทั้งในเรื่องของผลประกอบการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นว่าเป็นใคร ดูแนวโน้มของการบริหาร รวมถึงการดู business planning

ข้อมูลที่เธอศึกษาหุ้นด้วยตนเองเมื่อสนใจหุ้นตัวใดจะได้มาจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของบริษัท ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อมูลจากโบรกเกอร์

นี่คือแนวคิดของนักบริหารหญิงรุ่นใหม่ ที่ถูกบ่มเพาะประสบการณ์จากการทำธุรกิจของครอบครัว รวมถึงการได้รับการบ่มเพาะจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจในเครือใหญ่ระดับประเทศ และผลงานการบริหารธุรกิจของเธอในการดูแล บริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในหมวดแก้ไขการดำเนินงาน (rehabco) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการเข้าซื้อเข้ามาอยู่ในกลุ่มของธุรกิจครอบครัวจะทำให้สามารถมีกำไรภายในปี 2548 ได้หรือไม่? เป็นเรื่องที่น่าจับตามองเช่นกัน