Business for the future

“ธุรกิจอะไรก็ได้ ที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็น business for the future” วิเชฐบอกถึงเป้าหมายของบริษัทจดทะเบียนในตลาด mai

ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยทั้งตลาด SET และตลาด mai ไม่เคยกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงมาก่อน

จนกระทั่งในปีนี้ เมื่อตลาดวิเชฐ ตัดสินใจ re-positioning ตลาด mai ฉีกตัวเอง มุ่งไปหากลุ่มเป้าหมายที่เป็น “ธุรกิจโลกใบใหม่” ต้องใช้ไอเดียแปลกใหม่ หรือเป็น “ธุรกิจแห่งอนาคต” ของบรรดาเถ้าแก่ใหม่

เป็นธุรกิจที่ฉีกกรอบธุรกิจแบบดั้งเดิม ประเภทที่ต้องมีโรงงาน เครื่องจักร หรือการผลิต แต่เป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หรือเทคโนโลยี ในการสร้างธุรกิจ หรือสามารถเกาะเกี่ยวไปกับกระแสการเติบโตของโลก

เขายกตัวอย่าง บริษัทสถาปนิกออกแบบบ้าน หรือออกแบบรถยนต์ สร้างภาพยนตร์ ในอดีตที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่เวลานี้ใช้เวลาไม่เกิน 3 วันในการผลิตผลงาน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มาจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน

บริษัทจดทะเบียนในตลาด mai ตามความคาดหมายของวิเชฐ ไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น หากแต่เป็นบริษัทที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างธุรกิจ

นั่นหมายความว่า ธุรกิจเหล่านี้จะมีอยู่มากมาย ไม่จำกัดว่าเป็นอุตสาหกรรมประเภทใด ขอให้มีบิ๊กไอเดีย หรือใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์เท่านั้น

ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเป้าหมาย เพราะธุรกิจหนังเวลานี้ ไม่ได้ขายแค่ในไทย แต่บินไกลไปถึงเมืองนอก เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ก็คุ้มเกินคุ้ม

ภาพของ ตลาด mai จึงไม่ใช่ “ตลาดเล็กๆ สำหรับบริษัทเล็กๆ” อีกต่อไป แต่เป็นธุรกิจอนาคต

สิ่งที่วิเชฐและทีมงานต้องทำคือ การใช้กลไกการตลาดเข้าจับ ทั้งการส่งทีมงานการตลาด และการจัดกิจกรรม เพื่อที่จะเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายเหล่านี้

“เราเข้าไปเพื่อบอกให้เขารู้ว่า ถ้าคุณมีวิชั่น ตลาดนี้จะเป็นของคุณ”

จะเห็นได้ว่า 25 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด mai ปัจจุบันนั้น เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ทั้งบริษัทเล็กทั่วๆ ไปที่เคยเป็นเป้าหมายของ mai มาก่อน และบริษัทที่จะเป็นเป้าหมายของ mai ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปคือ ประเภท “for the future” ซึ่ง mai นิยามไว้ว่าต้องอยู่ในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตอย่างมากได้ตลอดช่วง 5 ปีขึ้นไปนับจากนี้ เช่น ธุรกิจผลิตคอนเทนต์รองรับโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงธุรกิจที่ดูเหมือนจะอยู่ในโลกใบเก่า แต่กลับสามารถรองรับกับอนาคตได้อย่างดี ก็คือ ธุรกิจพลังงานทดแทน

จากการวาง positioning ของตลาด mai การวางกลไกการตลาด วิเชฐเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า mai จะมีบริษัทจดทะเบียน 500 บริษัท และมีมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 250,000 ล้านบาท คงไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดหมาย

ส่วนอนาคตจะก้าวไกลไปถึงดวงดาว เป็นอย่างไมโครซอฟท์ หรือแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ หรือไม่นั้น เวลาเท่านั้นคือคำตอบ แต่อย่างน้อย ก็ได้เริ่มต้น

* กลุ่มธุรกิจ

– คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม 5
– เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ 5
– โฆษณาและกิจกรรมทางการตลาด 5
– ชิ้นส่วนยานยนต์ 3
– บริการข้อมูล 2
– การเงิน 1
– ก่อสร้าง 1
– เครื่องจักรอุตสาหกรรม 1
– พลังงาน 1
– อัญมณีและเครื่องประดับ 1
รวม 25 บริษัท

* ลักษณะการทำธุรกิจ
– บริการ 11
– รับเหมาโครงการ 6
– จัดจำหน่าย 5
– รับจ้างผลิตชิ้นส่วน 4
– ออกแบบ ผลิต จำหน่ายเอง 4

* สินทรัพย์หลัก
– สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ หรือ “soft asset” เช่น ความชำนาญของบุคลากร, สินทรัพย์ทางปัญญา 13 บริษัท
– สินทรัพย์ที่จับต้องได้ หรือ “hard asset” เช่น โรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน แร่ธาตุ 12 บริษัท

รวม 25 บริษัท

มารู้จัก 25 บริษัทใน mai

ชื่อหุ้น
– BOL
ชื่อบริษัท
– บิซิเนส ออนไลน์
สินค้า/บริการหลัก
– บริการข้อมูลและเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจ

ชื่อหุ้น
– BROOK
ชื่อบริษัท
– บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป
สินค้า/บริการหลัก
– บริการเป็นที่ปรึกษาอิสระทางการวิจัยและข้อมูลแก่องค์กรภาครัฐและเอกชน

ชื่อหุ้น
– CHUO
ชื่อบริษัท
– ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย)
สินค้า/บริการหลัก
– เอเยนซี่โฆษณา

ชื่อหุ้น
– CIG
ชื่อบริษัท
– ซี.ไอ.กรุ๊ป
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตชิ้นส่วนหลักในเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น และอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อนตามคำสั่งลูกค้าที่เป็นผู้ผลิต

ชื่อหุ้น
– CMO
ชื่อบริษัท
– ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์
สินค้า/บริการหลัก
– บริการบริหารการจัดงาน event และบริหารงานแสดงแบบครบวงจร

ชื่อหุ้น
– CPR
ชื่อบริษัท
– ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตชิ้นส่วนยางและยางติดเหล็กให้แก่ผู้ประกอบยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ชื่อหุ้น
– DM
ชื่อบริษัท
– ธนมิตร แฟคตอริ่ง
สินค้า/บริการหลัก
– บริการเงินทุนหมุนเวียนโดยรับซื้อใบส่งสินค้า, ใบวางบิลจากธุรกิจค้าปลีก (Modern Trade)

ชื่อหุ้น
– FOCUS
ชื่อบริษัท
– โฟคัส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น
สินค้า/บริการหลัก
– รับเหมาก่อสร้างทั่วไป

ชื่อหุ้น
– GFM
ชื่อบริษัท
– โกลด์ไฟน์ แมนูแฟคเจอเรอส์
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตและส่งออกเครื่องประดับประเภทต่างๆ ตามคำสั่งซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า

ชื่อหุ้น
– ILINK
ชื่อบริษัท
– อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น
สินค้า/บริการหลัก
– จัดจำหน่ายและนำเข้าอุปกรณ์ข่ายสายสัญญาณคอมพิวเตอร์

ชื่อหุ้น
– IRCP
ชื่อบริษัท
– อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น
สินค้า/บริการหลัก
– การผลิตซอฟต์แวร์และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสนเทศ

ชื่อหุ้น
– L&E
ชื่อบริษัท
– ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าแสงสว่างต่างๆ

ชื่อหุ้น
– LVT
ชื่อบริษัท
– แอล.วี.เทคโนโลยี
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตอุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงานเครื่องจักรที่มีการคัดแยกขนาด เช่นในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ชื่อหุ้น
– MACO
ชื่อบริษัท
– มาสเตอร์ แอด
สินค้า/บริการหลัก
– บริการและรับจ้างผลิตสื่อป้ายโฆษณาและบันเทิง

ชื่อหุ้น
– PD
ชื่อบริษัท
– แพค เดลต้า
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตและจำหน่ายถังพลาสติกเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าประเภทต่างๆ

ชื่อหุ้น
– PICO
ชื่อบริษัท
– ปิโก (ไทยแลนด์)
สินค้า/บริการหลัก
– จัดการกิจกรรมทางการตลาด (event marketing) และสร้างภาพพจน์ทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า

ชื่อหุ้น
– PPM
ชื่อบริษัท
– พรพรหมเม็ททอล
สินค้า/บริการหลัก
– จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โลหะเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ชื่อหุ้น
– RK
ชื่อบริษัท
– อาร์ เค มีเดีย โฮลดิ้ง
สินค้า/บริการหลัก
– ธุรกิจวิทยุ โทรทัศน์ บริหารกิจกรรม และการส่งเสริมการตลาด

ชื่อหุ้น
– S2Y
ชื่อบริษัท
– สยามทูยู
สินค้า/บริการหลัก
– จัดหา รวบรวม และพัฒนาข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิงต่างๆ เพื่อให้บริการเสริมกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

ชื่อหุ้น
– SALEE
ชื่อบริษัท
– สาลี่อุตสาหกรรม
สินค้า/บริการหลัก
– รับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า ให้กับผู้ผลิตสินค้าต้นแบบ (OEM)

ชื่อหุ้น
– SLC
ชื่อบริษัท
– โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998)
สินค้า/บริการหลัก
– ให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ชื่อหุ้น
– SWC
ชื่อบริษัท
– เชอร์วู้ด เคมิคอล
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตและจำหน่ายเคมีเคหะภัณฑ์รักษาเนื้อไม้และทำความสะอาดที่ใช้ในบ้านเรือนและอุตสาหกรรม

ชื่อหุ้น
– TAPAC
ชื่อบริษัท
– ทาพาโก้
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับโทรสาร เครื่องพิมพ์ เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์

ชื่อหุ้น
– TMW
ชื่อบริษัท
– ไทยมิตซูวา
สินค้า/บริการหลัก
– บริการผลิต พิมพ์สี พ่นสีและประกอบชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นหน้ากากเครื่องเสียง เครื่องใช้ในสำนักงาน ชิ้นส่วนรถยนต์

ชื่อหุ้น
– UMS
ชื่อบริษัท
– ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส
สินค้า/บริการหลัก
– นำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซีย คัดเลือกและปรับปรุงคุณภาพ จัดจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเน้นอาหาร กระดาษ และสิ่งทอ

ชื่อหุ้น
– YUASA
ชื่อบริษัท
– ยัวซ่าแบตเตอรี่ ประเทศไทย
สินค้า/บริการหลัก
– ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์/มอเตอร์ไซค์ และแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรม