“เจ้าตลาดสาย LAN” สมบัติ อนันตรัมพร Interlink Communicatio

ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์คงหดหายไม่น้อยหากไม่มีการเชื่อมต่อกันเป็นเน็ตเวิร์กในออฟฟิศ และเบื้องหลังระบบโครงข่ายโทรศัพท์มือถือที่ดูเหมือนไร้สายนั้นก็ไม่พ้นต้องวางเคเบิลส่งสัญญาณกันระหว่างจุด สายนำสัญญาณเป็นของที่ดูจะผลิตง่าย แต่เมื่อนำมาติดตั้งใช้งานกลับต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคและประสบการณ์อย่างสูง

“สมัยเรียน ผมบ้ากิจกรรมมาก จบมาเกรดไม่ถึง 2.2” สมบัติ อนันตรัมพร จบวิศวกรรมศาสตร์ เอกไฟฟ้า จากพระจอมเกล้าฯ บางมดในปี 2525 เขาทำงานเป็น Sales Engineer อุปกรณ์ด้านไฟฟ้าตั้งแต่ยังเรียนปี 4 จากนั้นทำงานขายและ Project Coordinator มาตลอด เพราะชอบงานขายและการประสานงานไม่ใช่แค่งานด้านเทคนิค ตามนิสัย “บ้ากิจกรรม” ที่ติดมา ในปี 2530 เขาเปิดบริษัทเองเป็นครั้งแรกขายแผ่นดิสเก็ตคอมพิวเตอร์และผ้าหมึกพรินเตอร์

ปี 2538 สมบัติก่อตั้งบริษัท Interlink Communication บุกเบิกและเป็นเจ้าตลาดธุรกิจขายสายสัญญาณมาครบสิบปีในปีนี้ ครองส่วนแบ่ง 45% ทิ้งห่างอันดับสองที่ครอง 20% ทั้งนำเข้าและจ้างผลิตจากทั้งสหรัฐฯ และในยุโรป ลูกค้ามีทั้งร้านขายปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือลูกค้าองค์กรที่สั่งซื้อทีละมากๆ ไปวางเครือข่ายในสำนักงาน ลูกค้ามีตั้งแต่บริษัทองค์กรทั่วไป ไปจนถึงผู้ให้บริการสื่อสารระดับชาติอย่าง AIS, DTAC, TOT, TRUE, TT&T และ Hutch ที่เบื้องหลังบริการ “ไร้สาย” กลับต้องอาศัย “สาย” มาเป็นส่วนสำคัญของโครงข่ายทั่วประเทศ

นอกจากนำเข้ายี่ห้อต่างประเทศมาขาย อินเตอร์ลิงค์ยังพยายามสร้างแบรนด์ “ILINK” ของตัวเองโดยจ้างโรงงานอื่นๆ ผลิตเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของบริษัท ลดการพึ่งพิงอิงกับแบรนด์สินค้าของที่อื่น

นอกจากธุรกิจซื้อมาขายไปที่เป็นธุรกิจหลักปัจจุบัน ธุรกิจ “ต่อยอด” ที่อินเตอร์ลิงค์กำลังปั้นขึ้นมาคือ “ธุรกิจวิศวกรรม” คือวางระบบสายสัญญาณ และธุรกิจ “solution provider” คือรับเหมาวางระบบคอมพิวเตอร์แบบครบวงจร ซึ่งจัดเป็นธุรกิจบริการทั้งคู่ สมบัติย้ำว่าเป็นการปูพื้นฐานไว้ก่อนโดยยังไม่ทุ่มลงทุนไปเต็มที่เพราะกลัวความเสี่ยงจากการแพ้ประมูลงานต่างๆ

ล่าสุดบริษัทเข้าประมูลได้งานวางระบบสายสัญญาณที่สนามบินสุวรรณภูมิมูลค่า 300 ล้านบาท เทียบเท่ากับยอดขายสายสัญญาณ 7 ถึง 8 เดือน ซึ่งสมบัติเชื่อว่าจะเป็น reference ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัทเพื่อการรับงานใหญ่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต นอกจากการเข้าตลาดหุ้นที่ช่วยเพิ่มเครดิตให้บริษัทได้

สมบัติไม่กังวลต่อเทรนด์เครือข่ายไร้สาย Wifi, Hotspot, ฯลฯ ที่กำลังมาแรง ดูเหมือนจะมาคุกคามอนาคตของอินเตอร์ลิงค์ แต่เขายังมั่นใจว่าจะไม่มีผลเท่าใดนัก เพราะปัจจุบันในระบบเครือข่ายไร้สายก็ยังต้องอาศัยสายสัญญาณอยู่และจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไป สมบัติยกตัวอย่าง LAN ไร้สายที่ PC แต่ละเครื่องยิงสัญญาณเชื่อมกับเสาอากาศแต่ละจุดในออฟฟิศ ว่าสุดท้ายแล้วแต่ละจุดที่ว่านี้ก็ยังต้องเชื่อมกันด้วยสายสัญญาณ เพราะระบบไร้สายปัจจุบันยังมีความจุหรือ bandwidth ต่ำเกินไป

แต่อินเตอร์ลิงค์ก็ไม่ได้มองข้ามกระแสเครือข่ายไร้สายและยังจับตามองอยู่เสมอ “เราอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยี ไม่ต้องกลัว เราไม่หนีเทคโนโลยีแน่ ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง เราต้องจับโอกาสใหม่ๆเสมอ”

“ผมไม่เล่นหุ้นและไม่สนใจ ทั้งที่สมัยเรียน MBA ก็มีเพื่อนๆ เล่นหุ้นหลายคน และสมัยก่อนวิกฤตบริษัทเราก็ไปวางระบบสายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง” สมบัติเล่าว่าเป็นความโชคดีของเขาที่ไม่ได้เล่นหุ้นตามกระแสเพื่อนร่วมชั้นและลูกค้าเมื่อครั้งก่อนวิกฤต 2540 ไม่นาน และยังคงไม่สนใจจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเขาจับตาการ re-positioning ของ mai และยอมรับในความพยายามของผู้จัดการและทีมงาน mai ในการเปลี่ยนแปลงตลาดครั้งนี้

“เราสนใจสิทธิพิเศษทางภาษี จาก 30 เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เข้า SET จะเสีย 25 เปอร์เซ็นต์” สมบัติเผยแรงจูงใจในการนำบริษัทเข้าตลาด mai ต้นปีที่ผ่านมาในชื่อย่อ ILINK เงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาด mai 90 ล้านบาท ถูกนำไปใช้สร้างคลังสินค้า 20 ล้าน และอีก 70 ล้านใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเช่นในงานวางระบบสายที่สนามบินสุวรรณภูมิและด้านอื่นๆ

“เราขอโดดเด่นในวงเล็ก ดีกว่าหายไปในวงใหญ่” สมบัติยืนยันว่าจะอยู่ใน mai ต่อไป ผลประกอบการของ ILINK เติบโตสูงสุดใน mai ปีที่ผ่านมาคือ 2547 ที่กำไรเพิ่มจากปี 2546 ถึง 300 กว่าเปอร์เซ็นต์หรือเพิ่มเป็น 4 เท่า และในไตรมาสหนึ่งปีนี้ก็ยังเติบโตจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนอยู่ 33 เปอร์เซ็นต์ แต่หุ้น ILINK ยังมีสภาพคล่องในการซื้อขายค่อนข้างหงอยเหงาอยู่ เหมาะกับการลงทุนระยะกลางขึ้นไปมากกว่าเก็งกำไรระยะสั้น