“พ่อค้าถ่าน ฮีโร่ใหม่ยุคน้ำมันแพง”สมบูรณ์ สิริไพบูลย์พงศ์ Unique Mining Services

ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตึงเครียด โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หนีจากน้ำมันเข้าสู่พลังงานทดแทนอย่างถ่านหิน โดยสั่งซื้อทีละมากๆ โดยตรงจากต่างประเทศ โรงงานเล็กๆ ของธุรกิจรายย่อยที่ไม่สามารถทำธุรกรรมใหญ่โตเช่นนั้นได้ยังมีอีกที่พึ่งหนึ่งคือ ซื้อถ่านหินแบ่งขายพร้อมบริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคจากบริษัท Unique Mining Services เจ้าของตัวย่อ UMS ในตลาด mai

UMS อาจจะเคยเข้าตลาด mai ในฐานะของธุรกิจขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันที่ mai ได้ re-positioning มาเน้นธุรกิจแห่งอนาคต ธุรกิจพลังงานทดแทนน้ำมันอย่าง UMS เองก็กลับดูเข้ากับแนวคิดใหม่นี้อย่างโดดเด่นไม่แพ้ธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาหรือไฮเทค เพราะแนวโน้มที่ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปนาน และความต้องการพลังงานก็สูงขึ้นเรื่อยๆ

11 ปีที่แล้ว สมบูรณ์ สิริไพบูลย์พงศ์ อดีตวิศวกรเหมืองถ่านลิกไนต์ของ กฟผ. ร่วมกับบริษัทยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UGP ที่รู้จักเห็นฝีมือกันตั้งแต่ UGP ดีลงานกับ กฟผ. ร่วมกันเปิด Unique Mining Services เพราะรู้แหล่งถ่านหินในอินโดนีเซียหลายแหล่งซึ่งราคาถูกกว่าน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติ เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งโรงงานขนาดเล็กไม่สะดวกที่จะไปซื้อทีละมากๆ หรือนำเข้าเองจากต่างประเทศก็มาซื้อจาก UMS เกิดเป็น positioning ว่าเป็นแหล่งซื้อถ่านหินสำหรับโรงงานขนาดเล็กและกลางพร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาทางเทคนิค ตั้งแต่เปิดกิจการมาจนถึงปัจจุบันช่องทางหลักที่บริษัทได้ลูกค้าใหม่ๆ ก็มาจากการบอกต่อๆ กันของลูกค้านักอุตสาหกรรมทั้งหลายนั่นเอง
“ลูกค้าเล็กแค่ไหนเราก็เอา” สมบูรณ์ย้ำพร้อมอธิบายสภาพตลาดถ่านหินในไทยว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ราว 8 พันแห่งทั่วประเทศที่ใช้ถ่านหินได้ ในขณะที่ลูกค้าตลอดปีที่แล้วของ UMS มีเพียง 70 รายเท่านั้น และเป้าหมายลูกค้าปีนี้คือ 100 ราย จะเห็นว่ายังมีที่ว่างให้บริษัทโตได้อีกมาก และยังไม่มีคู่แข่งโดยตรงที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน มีเพียงคู่แข่งโดยอ้อมที่ทำกิจการเมืองถ่านหินคือบริษัทเหมืองบ้านปู และบริษัทลานนาลิกไนต์ ( BANPU และ LANNA ในตลาดหุ้น SET) ซึ่งก็ขายทีละลอตใหญ่ๆ ไม่ขายทีละน้อยๆ และ UMS มีข้อได้เปรียบกว่าเหมืองเหล่านั้นตรงที่ไม่ต้องทำสัญญาซื้อขาย fix ราคาเอาไว้ยาวๆ ทำให้เกิดความเสี่ยง

UMS ไม่เพียงซื้อถ่านหินมาจากอินโดนิเซียแล้วขายไปเฉยๆ เท่านั้น บริษัทยังนำถ่านหินมาแปรรูปและพัฒนาให้เหมาะกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภทก่อนที่จะแบ่งขายออกไป เงินที่ได้จากการระดมทุนนั้นเป็น 28% ของเงินทุนเดิม ส่วนใหญ่นำมาสร้างคลังสินค้าเก็บถ่านหิน ต่อไปบริษัทยังจะขยายธุรกิจในแนวดิ่งแบบ upstream คือเปิดเหมืองเองหรือร่วมทุนกับเหมืองอื่น และแบบ downstream คือเปิดธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ

“มีคำว่า มหาชน แล้ว ยื่นจดหมายที่ไหนเขาก็ตอบรับ” สมบูรณ์เล่าถึงประสบการณ์หลังเข้าตลาด mai ว่าช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของบริษัทในสายตาคู่ค้า ได้เงื่อนไขทางเครดิตการซื้อขายที่ผ่อนคลายขึ้น และ “แบงก์แย่งกันยื่นให้กู้” เป็นประสบการณ์ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับภาวะหลังวิกฤตช่วงปี 2540 ที่ UMS ทำธุรกิจอย่างลำบากเพราะขาดเครดิต และต้องเกือบล้มละลายเพราะมีหนี้เป็นดอลลาร์มาก ในขณะที่ปัจจุบันมีเงินทุนจำนวนมากจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มา แต่สมบูรณ์เองไม่เคยลืมบทเรียนในอดีตและยังคงบริหารความเสี่ยงให้กิจการอยู่ตลอด เช่น เมื่อมีเรื่องของรายรับรายจ่ายสกุลเงินต่างประเทศนั้น UMS จะทำสัญญา fix อัตราแลกเปลี่ยนในสัญญาไว้เสมอ

สมบูรณ์เผยว่าเขาเองเป็นนักเล่นหุ้นคนหนึ่ง ที่อาศัยการติดตามข่าวสาร บทวิเคราะห์ ประสบการณ์และความรู้สึกมาตัดสินใจ ไม่ได้เล่นแต่หุ้นพลังงานเท่านั้น เขาซื้อขายทั้งหุ้นหลากกลุ่มทั้งใน mai และใน SET ส่วนมุมมองต่อปัญหาราคาน้ำมันที่ตลาดหุ้นกังวลอยู่นั้น สมบูรณ์มองว่าที่ผ่านมาราคาน้ำมันขึ้นลงเป็นฤดูกาลแน่นอนภายในแต่ละปี ตามสภาพอากาศในยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก แต่ระยะหลังมีจีนและอินเดียโตมาก ทำให้ความต้องการสูงขึ้นมาอีกระดับ และที่สำคัญคือกองทุนเก็งกำไรแนว hedge fund เข้ามาเก็งกำไร ซึ่งเขามองว่ากลุ่มนี้ไม่เคยเล่นกับเรื่องเดียวนานๆ ไม่ช้าจะขายออกไป เช่นเดียวกับที่เคยทำกับตลาดหุ้นบางแห่ง หรือสกุลเงินบางประเทศเช่นไทยมาแล้ว และเมื่อนั้นราคาน้ำมันจะลดลงสู่ระดับปกติและมีเสถียรภาพ

ทุกวันนี้ UMS ยังไม่มีคู่แข่งโดยตรง คู่แข่งของ UMS ที่พอมีก็คือธุรกิจน้ำมันเตาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น “เรารู้ลูกค้าอยู่ไหน แหล่งถ่านหินอยู่ที่ไหน เราสร้างตลาดนี้ขึ้นมา เรากล้ารับประกันจัดส่งภายใน 24 ชั่วโมง รายใหม่จะต้องใช้ 3 ถึง 5 ปีจึงจะพอตามเราทัน” สมบูรณ์ส่งคำเตือนไปยังรายใหม่ที่คิดจะเข้ามาแข่งขันด้วย