หากพูดถึงแวดวงธุรกิจ “สื่อ” ทางด้านกีฬาแล้ว ชื่อของ “สยามปอร์ต” คงต้องมาอันดับต้นๆ ในฐานะ “ขาใหญ่” ของวงการ
รวมทั้งเป็นเวลามากกว่า 31 ปี ที่ “ระวิ โหลทอง” ปลุกปั้น “สยามปอร์ต” ผ่านการลองผิดลองถูกจนกลายเป็น “เดี่ยวมือหนึ่ง” ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในแวดวง “สื่อทางด้านกีฬา” แม้ว่าจะมีรายใหม่ๆ พยายามเข้ามาท้าชิง แต่ยังไม่มีใครขึ้นมาต่อกรกับ “สยามกีฬา” ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
ทุกวันนี้ “สยามกีฬา” มีสื่อสิ่งพิมพ์ในมือของทางด้านกีฬามากกว่า 10 ฉบับ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายเดือน เป็นเจ้าของสัมปทานวิทยุ “สปอร์ตเรดิโอ” คลื่น 99.0 ของ อ.ส.ม.ท. รวมถึงจัด Event และร้านจำหน่ายอุปกรณ์ และของที่ระลึกในกีฬาฟุตบอล ทุกอย่างล้วนแต่เป็นเรื่องของ “กีฬา” ทั้งสิ้น
แต่ในบรรดาเกมการแข่งขัน “กีฬา” ทุกประเภทที่นำมาเสนอไม่ว่าจะเป็น กอล์ฟ เทนนิส ว่ายน้ำ มวย ดูเหมือนว่า “ฟุตบอล” จะเป็นเกมที่มีบทบาทสูงสุด
ยิ่งฟุตบอลเป็นที่ชื่นชอบเพิ่มมากขึ้นเพียงใด อาณาจักรธุรกิจของ “สยามกีฬา” ก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดูได้จากการเปิดตัวหนังสือพิมพ์กีฬาฟุตบอล ออกมาต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น
ความนิยม คลื่นสปอร์ตเรดิโอ F.M.99 ที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมรับจ้างผลิตรายการให้กับบริษัท “อิมเมจ คอนเน็คชั่น” ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานคลื่นวิทยุ F.M.99 ก็หันมาประมูลคลื่น F.M.99 มาดำเนินการเอง
แต่นโยบายขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ที่ต้องการยึดเอา “สถานีวิทยุ 3 คลื่น” ซึ่งจัดเป็นสถานีวิทยุเกรดเอ ที่เคยให้สัมปทานแก่เอกชน นำกลับมาให้ทีมงานของ อ.ส.ม.ท. ดำเนินการเอง
คลื่นที่ว่านี้ประกอบไปด้วย ลูกทุ่ง F.M.95.0 คลื่นสปอร์ตเรดิโอ F.M.99 คลื่นข่าวธุรกิจ GG News F.M.96.5
นโยบายนี้จึงเป็นเสมือน “สายฟ้าฟาด” ที่ผ่ามายัง “สยามสปอร์ต” ที่ผลิตรายการป้อนวิทยุคลื่น 99.0 สยามสปอร์ต ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 9 เป็นที่นิยมของบรรดา “คอบอล” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “ฟุตบอลยูโร” เป็นอีกรายการที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก “ฟุตบอลโลก” ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ยึดคติที่ว่า “ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ไม่ได้ยึดคลื่นกลับมาทำเองทั้งหมด ยังคงเหลือเวลาให้เอกชนทำต่อไปในสัดส่วน 30% นอกจากนี้ยังเปิดทางให้เอกชนได้เลือก “เวลา” ก่อน
สยามสปอร์ต เลือกช่วงเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 2 รวม 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นช่วง Prime Time ของรายการกีฬา ส่วนเวลาที่เหลือ คือตั้งแต่ ตี 2 ถึง 5 โมงเย็น คิดเป็น 15 ชั่วโมง เป็นของ อ.ส.ม.ท. นั่นหมายความว่า “สยามสปอร์ต” ยังไม่ต้องตกที่นั่งลำบากมากนัก เนื่องจากฟุตบอลยูโรแข่งขันกันในช่วงดึก
อย่างไรก็ตาม สยามสปอร์ตก็ต้องหาทางออกด้วยการมองหา “สื่อ” ใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตเพื่อมาชดเชยช่วงเวลาที่ขาดหายไป ด้วยการเปิดเว็บไซต์ www.siamsport.com เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ แบบบอกรับสมาชิก เดือนละ 60 บาท เลือกดูข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ในเครือได้ทุกฉบับ เช่น สยามกีฬา รายวัน สปอร์ตแมน สปอร์ตพูล มวยสยามรายวัน เจาะเกมส์รายวัน ซอคเก้อร์รายวัน เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
แม้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่ม ยังไม่ตอบสนองคนฟังระดับ Mass เหมือนกับสื่อวิทยุ แต่อย่างน้อยๆ อินเทอร์เน็ตก็เป็นสื่อเสรี ไม่ต้องจ่ายสัมปทาน บรรดาคอบอลซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็เป็นกลุ่มเดียวกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในระหว่างยังหา “คลื่นวิทยุ” ใหม่มาทดแทนคลื่น F.M.99 ไม่ได้
นอกจากนี้ “สยามสปอร์ต” ก็ยังได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอล “ยูโร” เฉพาะที่เป็นการจัดกิจกรรมกลางแจ้งในพื้นที่ 4 จุด ที่เวลานี้มีสปอนเซอร์อย่างทีเอ ออเร้นจ์ จับจองพื้นที่นี้ไว้แล้ว ซึ่งทำให้สยามปอร์ตมีรายได้เข้ากระเป๋าไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท จุดละ 20 ล้านบาท
แม้จะดูเหมือนว่า สยามสปอร์ตจะได้ “แจ็กพอต” ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ก็เป็นแจ็กพอตที่ไม่ได้ทำให้ “สยามสปอร์ต” เจ็บปวดมากนัก เพราะอย่างน้อยๆ ก็เตรียมตัวเตรียมใจมาแล้วระดับหนี่ง