หากหนังก็กลายเป็นดิจิตอล ปักษาวายุ หนังดิจิตอลเรื่องแรกของไทย

ปักษาวายุเป็นภาพยนตร์แนวไซไฟที่ถ่ายทำด้วยระบบดิจิตอลเรื่องแรกของไทย ที่ไม่ได้ใช้ฟิล์มถ่าย 100 เปอร์เซ็นต์

“การถ่ายทำเรื่องนี้ ใช้กล้องที่สามารถเอามาใช้ทำสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ หรือเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิก ซึ่งระบบฟิล์มที่เมืองไทยใช้ในปัจจุบันยังทำไม่ได้” มณฑล อารยางกูร ผู้กำกับ กล่าวว่า เขามีผลงานที่ผ่านมาส่วนมากด้านการกำกับมิวสิกวิดีโอให้กับอาร์เอสโปรโมชั่น และเป็นกรรมการผู้จัดการของ P.O.V. บริษัทจัดการโปรดักชั่นของอาร์เอสหนึ่งในแปดบริษัท โดยเขาเป็นผู้กำกับ คนเขียนบท และตัดต่อภาพยนตร์ “ปักษาวายุ” เรื่องนี้ด้วยตนเอง

“การถ่ายทำให้รูปแบบดิจิตอลฟอร์แมทนั้นจะทำให้ภาพที่เกิดขึ้นในหนังโรงที่มีเครื่องฉายดิจิตอล จะทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัดมากกว่าระดับปกติ”

“กล้องตัวนี้เป็นกล้องตัวแรกในเมืองไทย งบประมาณในการทำงานหนังเรื่องนี้จึงสูงกว่าปกติ แต่ถือว่าเราต้องลงทุนมากกว่าปกติ ของการทำหนังเรื่องหนึ่งในขั้นต้น” อาร์เอสจึงถือเป็นเจ้าแรกที่นำเอามาทดลองใช้ในเมืองไทย เพื่อทดลองใช้ในระยะยาว ซึ่งถ้าหากอาร์เอสแปลงระบบเป็นดิจิตอลทั้งหมด นั่นก็หมายความว่ายุคฟิล์มของภาพยนตร์จะเริ่มหมดไป หนังดิจิตอลของอาร์เอสที่มีมาก่อนหน้าอย่าโครงการ Tele Movie เป็นแค่โครงการเล็กที่ใช้คุณภาพความชัดระดับโทรทัศน์ แต่กล้องตัวใหม่ที่นำเข้ามานี้ จะใช้คุณภาพระดับโรง

การทำงานกับเทคโนโลยีทันสมัย ถือว่ายังเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย อาร์เอสได้นำเข้ากล้องแบบดิจิตอล ไฮเดฟิเนชั่น (High Definition) ของ Panasonic รุ่น AJ-HDC2FE ซึ่งให้รายละเอียดความชัดสูงมาก ซึ่งการถ่ายที่ออกมาเป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด ทำให้ขั้นตอนการตัดต่อ ประหยัด ลดต้นทุน เรื่องของฟิล์มในการถ่ายทำเป็นจำนวนมาก การทำงานสามารถนำไปทำสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกได้โดยตรง ซึ่งวิธีเก่าจะต้องเปลี่ยนฟิล์มส่งสู่เครื่องคอมฯ อีกทอด

ถ้าหากถ่ายทำหนังเรื่องนี้ด้วยฟิล์ม พร้อมกับค่าทำเบื้องหลังจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 80-100 ล้านบาท ในขณะที่โปร ดักชั่นของเรื่องนี้ ใช้เงินอยู่ราวประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดได้ราว 40-70 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว แม้ค่าโปรดักชั่นของเรื่องนี้ที่สูงกว่าปกติเพราะรวมค่ากล้องดิจิตอลตัวนี้เข้าไปด้วย

“ปักษาวายุ” เป็นภาพยนตร์ที่มีแนวความคิดในการนำเอาสัตว์ในวรรณคดีของไทย ลักษณะครึ่งคนครึ่งนก มีความน่ากลัว แข็งแรง ซึ่งจำเป็นจะต้องบินได้ เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ขั้นตอนการทำ และทุนในช่วง Post-production จำนวนมาก เพื่อที่จะให้หนังออกมามีความเสมือนจริง ซึ่งภาพของปักษาวายุในหนังนั้นมีเกือบ 50 เปอร์เซ็นของเรื่อง และสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งหนังดิจิตอลที่ถ่ายทำกันในระบบนี้ในต่างประเทศที่เรารู้จักกันได้แก่ Finding Nemo, Spy Kids, Star Wars Episode II ผู้กำกับกล่าว

“ของเราก็ใช้กล้องดิจิตอลถ่าย ก็สามารถใช้ดูในโรงหนังดิจิตอลได้เหมือนกัน ภาพจะคมชัดกว่าหนังด้วยฟิล์มประมาณเท่าหนึ่ง และคาแรคเตอร์สีทั้งหลายเหล่านี้ จะดูเป็นหนังรุ่นใหม่ และทันสมัยมากกว่า”

“กล้องตัวนี้จะทำให้ระบบอุตสาหกรรมหนังทำได้ง่ายขึ้น และถูกลง แถมยังได้คุณภาพงานที่มากขึ้นด้วย” ผู้กำกับกล่าวถึงกล้องตัวนี้ “ตัวแรกของเมืองไทย”

หากหนังก็กลายเป็นดิจิตอล

ระบบถ่ายทำและการตัดต่อฟิล์มแบบเดิม คือ การใช้ฟิล์มที่ล้างออกมาและตัดเข้าด้วยกันด้วยมือ ซึ่งถือเป็นยุคแรกๆของการตัดต่อหนังที่เราดูๆ กัน แต่ปัจจุบันนี้เป็นเรื่องปกติ ที่เทคโนโลยีการตัดต่อเกิดขึ้นผ่านคอมพิวเตอร์ได้สะดวก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำ หรือทำคอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) โดยแปลงฟิล์มไปสู่ระบบดิจิตอล แล้วทำการตัดต่อฟิล์มนั้นให้เป็นเรื่องราวและสำเนาข้อมูลดิจิตอลนั้นถ่ายซ้ำลงมาบนฟิล์ม เพื่อให้สามารถฉายตามโรงภาพยนตร์ได้

DIGITAL VIDEO CAMERA

ตอนนี้กล้องดิจิตอลเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบใหม่ที่เข้ามามีบทบาทต่อวงการผู้ทำหนังสั้นหรือหนังนักศึกษา แม้ว่าในบ้านเราอิทธิพลของหนังเพื่อเข้าโรงฉาย ยังไม่เหมือนในต่างประเทศ อย่าง “Blare Witch Project” ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน หรือจะเป็น “28 Days Later” หนังดังที่เพิ่งผ่านโรงไป อย่าง Dogvillage หนังอินดี้เทศกาลชื่อดังของกลุ่ม Dogma และอีกหลายต่อหลายเรื่องที่เรารู้จักแต่ไม่รู้ว่ามันทำมาจากดิจิตอล

ในบ้านเรากล้องดิจิตอลถูกใช้ในหนังแผ่นวีซีดีแทบทุกเรื่อง เพราะต้นทุนการใช้จ่ายที่แสนถูก โดยเฉพาะทำให้ประหยัดราคาฟิล์มลงมาก มีความสะดวกรวดเร็วไม่ว่าจะเรื่องของการเชตสถานที่แสงเสียง หรือเวลาถ่ายเสร็จแล้วก็สามารถที่จะเรียกดูได้เลย

ผู้กำกับภาพ (Cinematographer) ชื่อดังของโลกไม่ว่าจะเป็น Christopher Doyle, Anthony Dod Mantle หรือ John Bailey หรืออีกหลายๆ คนที่ถือว่าเป็น Contemporary Cinematographer ได้ให้ความเห็นต่อเทคโนโลยีการถ่ายภาพยนตร์แบบใหม่ในงานบางกอกฟิล์มว่า “ดิจิตอลกำลังค่อยๆ เปลี่ยนระบบภาพยนตร์อย่างช้า ไม่ว่าจะเป็นระบบโรงฉาย หรือระบบการถ่ายทำ ความสะดวกรวดเร็วของดิจิตอลทำให้เวลาที่เสียไปกับฟิล์มดูเป็นปัญหาเล็กไปถนัดตา”

John Bailey กล่าวว่า “กล้องดิจิตอลได้ปฏิวัติระบบการทำงานของหนัง ทำให้หนังใช้คนน้อยที่สุดตั้งแต่ที่เขาเคยทำงานมา” อย่างผลงานดิจิตอลที่มีชื่อของเขาอย่าง “The Anniversary Party” แค่วันแรกวันเดียวถ่ายได้ถึง 25 หน้าของบท ในขณะที่บางเรื่องถ่ายเป็นอาทิตย์ได้แค่เพียงหน้าเดียว และหลายครั้งกล้องดิจิตอลก็เป็นทางออกในเรื่องของข้อจำกัดทางงบประมาณได้ ทั้งด้านการจัดแสงและคนทำงาน (ด้านเสียงและแสง รวมถึงผู้ช่วยกล้อง) ราคาฟิล์มค่าล้าง ค่าทรานเฟอร์เพื่อตัดต่อ ฯลฯ

DIGITAL MOVIES

เมื่อความนิยมของดิจิตอลไม่ได้จำกัดแค่เพียงความบันเทิงในที่อยู่อาศัย (ได้แก่สัญญาณภาพจากโทรทัศน์ หนังแผ่นดีวีดีและวีซีดี) มันกำลังขยายขอบเขตออกมาสู่โรงภาพยนตร์กันแล้ว จึงเป็นข้อถกเถียงในงานสัมมนาแล้วกลายมาเป็นคำถามว่าสรุปแล้ว “ภาพดิจิตอลจะมาแทนที่และมีความสมบูรณ์แทนที่ภาพของฟิล์มได้หรือไม่อย่างไร”

กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิณ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ได้ยอมรับว่าแม้คุณภาพของดิจิตอลไม่อาจจะเทียบได้กับคุณภาพของฟิล์ม “แต่มันก็มีผลต่อการดูเชิงเทคนิค ในเรื่องภาพเต้น หรือคุณภาพของภาพ” แต่เขาคิดว่าอย่างหนังบางเรื่องถ้าผู้กำกับรู้อยู่แล้วว่าหนังดิจิตอลมีข้อจำกัด เป็นคำถามกลับไปว่า “ทำไมเขาไม่เลือกที่จะใช้ฟิล์มทั้งๆ ที่เขาก็สามารถจะใช้ได้”

“เวลาที่ดิจิตอลเอาภาพขึ้นเจอใหญ่ ทำให้เกรน (เม็ดสี) ภาพมันหยาบ แล้วมันจะให้ความรู้สึกถึงความเหมือนจริง เหมือนเราดูหนังข่าว หรือ สารคดี อย่างหนังเรื่อง Blare Witch Project ก็ใช้ประโยชน์จากที่มันมีตรงนี้” ซึ่งน่าจะถือว่าดิจิตอลมีข้อได้เปรียบในการเล่าเรื่องที่มีลักษณะแบบนี้ก็ได้ “จริงๆ แล้วการถ่ายระบบฟิล์มก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอย่างที่ดิจิตอลทำไม่ได้ ฟิล์มนั้นทำได้ แต่คุณสมบัติแบบนี้เป็นธรรมชาติจากดิจิตอลมีอยู่แล้ว”

ในความเห็นของผู้กำกับเกือบทุกคนมองว่า “โลกดิจิตอลนั้นเป็นโลกใหม่ให้พวกเขาให้ค้นหาและทำความรู้สึก พวกเขาสนแต่ว่าเทคโนโลยีจะให้อะไรเขามากกว่า ที่จะมาพูดถึงว่าอะไรกำลังเปลี่ยนไป”