แม้จะไม่โด่งดังเหมือนในอดีต แต่ความต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 10 ปี บนเส้นทางข่าวทีวี ก็ทำให้สถานีข่าว “เนชั่นชาแนล” ไม่เคยเงียบเหงา
จากรายการ “เนชั่นนิวส์ทอล์ก” อันโด่งดังในช่อง 9 จนมาถึงสถานีโทรทัศน์ “ไอทีวี” ที่เนชั่นชาแนล ถูกชักชวนเข้าไปร่วมบุกเบิก ได้สร้างชื่อและผลประโยชน์ให้กับเนชั่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในธุรกิจสิ่งพิมพ์ หากไม่เป็นเพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เป็นจุดพลิกผันทำให้เนชั่นต้องย้ายวิกไปอยู่ใน “ยูบีซี 8”
แม้เส้นทางจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องยอมรับว่า กว่า 10 ปีบนเส้นทางข่าวทีวี เนชั่นชาแนล ได้สร้างรูปแบบการนำเสนอข่าวที่หลากหลาย รวมถึงพิธีกรข่าวทางทีวีรุ่นใหม่ออกมามากมาย
จากพิธีกรคู่รุ่นเก๋า สุทธิชัย หยุ่น และสุภาพ คลี่กระจาย ที่สร้างความแตกต่างด้วยสไตล์การอ่านข่าวแบบใหม่ ที่เน้นดุดัน เน้นคำ “ข๊าบ ๆ” จนตลกต้องเอาไปล้อ จนมาถึงพิธีกรคู่หูที่เข้าขากันได้ดีอย่าง “สรยุทธ- กนก” จนอาจเรียกได้ว่าทั้งตัวพิธีกร และรูปแบบรายการเป็นต้นตำรับของ ”News talk” ที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ เนชั่นชาแนลยังคงปักหลักเงียบๆ อยู่กับ “ทีทีวี” สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ที่ต้องติดอุปกรณ์รับสัญญาณ โดยยังมีรายการ “เก็บตกจากเนชั่น” เป็นหัวหอก แต่ลดความร้อนแรงลงไปมาก ด้วยข้อจำกัดของการรับสัญญาณ จะมีก็แต่วิทยุ 90.5 ซึ่งเป็นทางออกเดียวของเนชั่น ในการเข้าถึงกลุ่มคนฟังทั่วไป
ความเงียบเหงาของสถานี ตรงกันข้ามกับ “พิธีกร”ของเนชั่นชาแนล กระแสความนิยมของรายการข่าวประเภท News talk ของฟรีทีวี พิธีกรข่าวของเนชั่น เป็นที่ต้องการของฟรีทีวีช่องต่างๆ
การลาออกจากเนชั่นของศิษย์ก้นกุฏิอย่างสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำให้เนชั่นต้องหาทางรับมือกับกระแสครั้งนี้ ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเปิดให้พิธีกรรับ “จ๊อบ” ได้ แต่ต้องทำในนามของ “เนชั่น เท่านั้น ในลักษณะของการยืมตัว โดยเนชั่นจะได้เวลาโฆษณาจากฟรีทีวีตอบแทนกลับมา
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุผลทางธุรกิจ เนื่องจากทีทีวีหารายได้ลำบาก เราจึงต้องไปพ่วงขายกับเวลาของฟรีทีวี” อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวย เนชั่น บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น และเนชั่น เรดิโอ ให้เหตุผล
“ต้องยอมรับว่า เนชั่นเป็นแหล่งผลิตพิธีกร ฟรีทีวีช่องต่างๆ เขาอยากทำรายการ News talk เมื่อไหร่ เขาจะมาหาคนของเรา ผมเชื่อคุณภาพคนของเรา ส่วนคนของเรา แม้จะไปจัดรายการข้างนอก มีรายได้พิเศษ แต่ในสถานีเขายังต้องทำงานหนักเหมือนกับคนอื่นๆ”
ทุกวันนี้ พิธีกรข่าวของเนชั่นกระจายอยู่ในรายการข่าวของฟรีทีวีเกือบทุกช่อง เป็นข้อตกลงของการยืมตัว เช่น กรณีของช่อง 7 ยืมตัวกนก ทางเนชั่นจะส่งโปรดิวเซอร์ไปดูแลเนื้อหา และสคริปต์
“คนข่าว” ของเนชั่นชาแนล ได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ทีวีช่องอื่นๆ เขาไม่ได้ฝึกมาแบบนี้ ถ้าเขาต้องไปฝึกอีก เขาก็ไม่มีเวลา แต่คนของเรานั้นมีต้นทุนอยู่แล้ว ทำให้คนของเนชั่นกลายเป็นที่ต้องการของฟรีทีวีช่องต่างๆ
ในมุมมองของอดิศักดิ์ เขาเชื่อว่า รายการข่าวประเภท News talk ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว คงไม่เติบโตไปกว่านี้แล้ว เพราะคุณภาพของพิธีกรไม่หนีกันมาก คนดูไม่เห็นความแตกต่าง ดูช่องไหนก็เหมือนๆ กัน
เนชั่นเองจึงหาวิธีการฉีกออกไป เขายกตัวอย่าง หน้าจอที่ต้องให้ข้อมูลมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
แม้ว่าเนชั่นชาแนลในยามนี้จะไม่คึกคักเหมือนกับอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่เนชั่นเชื่อเสมอมา คือ วัฒนธรรมการทำข่าว ที่บ่มเพาะประสบการณ์ให้กับคนทำข่าว ที่หาไม่ได้ในฟรีทีวีช่องไหนๆ เป็นต้นทุนที่ช่องไหนๆ ก็ไม่มี
“เป็นเรื่องของรอยัลตี้ของแต่ละคน ถ้าปีกกล้าขาแข็งจะไปเหมือนกับคุณสรยุทธ ก็ไม่มีปัญหา… แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าคุณสรยุทธเขาใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะไปถึงตรงจุดนั้น แต่บางคนทำงานได้ปีเดียว ยังไม่แข็ง ก็ตัดสินใจออกไปแล้ว ซึ่งตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย”
อดิศักดิ์ ยกตัวอย่าง กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ลาออกไปอยู่กับช่อง 3 ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเนชั่น
“นีน่า ทำกับเรามาตั้งแต่วันแรกเปิดสถานี เป็นแนวบันเทิงหน่อย มีคนมาช่วยเขาเยอะ เขาก็มาปรึกษาตลอด จนรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงมาชวน เขามาถามผมว่าให้ไปมั้ย… ผมมองว่า ถ้าไปแล้วได้ทำงานมากกว่าเก่าก็ไม่มีปัญหา แต่ตัวพ่อเขาไม่อยากให้ไป… ผมบอกได้เลยว่า นีน่าเก่งกว่าคนที่ช่อง 3 มีอยู่ทั้งหมด” อดิศักดิ์ บอก
ถึงแม้ความรุ่งเรืองของตัวสถานียังไม่หวนกลับ แต่ระยะเวลาที่ยาวนานบนเส้นทางนี้ เนชั่นชาแนล ได้ชื่อว่า วิทยาเขตปั้นพิธีกรข่าว
สูตรปั้นผู้ประกาศข่าว
กว่าจะมาเป็นพิธีกรข่าว เนชั่นวางสูตรการปั้นไว้ดังนี้ เริ่มจากการให้ ฝึกทำข่าวในภาคสนาม 6 เดือน ซึ่งจะต้องรายงานและเขียนสคริปต์ และต้องตัดต่อเองด้วยในบางครั้ง
จากภาคสนามสู่ห้องส่ง เริ่มด้วยการประกาศข่าวเบรกต้นชั่วโมงวันเสาร์-อาทิตย์ ไปที่ข่าวเที่ยงคืนวันธรรมดา ถัดไปคือ อ่านข่าวเบรกวันธรรมดา และขยับมา ข่าวบ่าย 3 โมง วันธรรมดา ซึ่งจะมีความยาว 30-40 นาที จากนั้นไปที่ข่าวเที่ยงของวันธรรมดา (เวลานี้เปลี่ยนจากรายงานข่าว มาเป็นการเล่าข่าว) จนกระทั่งอ่านข่าว 3 ทุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงไพร์มไทม์
การขยับจาก รายงานข่าว มาสู่รายการแบบ เล่าข่าว จะเริ่มจากรายการที่ไม่ได้เป็นหลัก โดยจะต้องมีพิธีกรรุ่นพี่ประกบคู่ก่อนในช่วงแรก