มหากาพย์สงคราม…หนังสือแห่งชาติ

มหกรรมหนังสือแห่งชาติ…เวทีนี้ไม่ธรรมดา ถ้าเปรียบเป็นสงครามทางการตลาด ศึกนี้เป็นสมรภูมิรบระดับช้าง ซึ่งผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ต่างงัดอาวุธทางการตลาด เปิดเพลงยุทธ์สู้กันชนิดใครดีใครอยู่

Big event ทุกๆ ปีของวงการธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีมูลค่านับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี เห็นทีจะหนีไม่พ้น 3 งานใหญ่ระดับชาติ คืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ, งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ และงานเทศกาลหนังสือเด็ก

ช่วงนี้ถือเป็นเทศกาลมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 6-16 ต.ค. 2548 นี้ เป็นอีกงานหนึ่งที่ถือ มหากาพย์แห่งสงครามทางการตลาดของบรรดาสำนักพิมพ์ค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก ซึ่งต่างงัดชั้นเชิง กลยุทธ์ ต่อสู้กันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

บนพื้นที่จัดงานกว่า 200,000 ตารางเมตร ของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาจดูแคบไปถนัดตา เพราะงานนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธถึง 350 ราย มีจำนวนบูธถึง 811 บูธ ถ้ามองแบบสมรภูมิรบ ก็เท่ากับมีกองทัพที่เข้าร่วมประลองสงครามกันถึง 350 กองทัพ

“ที่ถือเป็นไฮไลต์ที่สุดของงานนี้คือ จะมีหนังสือออกใหม่ไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา และจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ไทยเป็น World Book Capital ในปี 2008 ซึ่งเรากำลังขอเป็นเจ้าภาพ” ธนะชัย สันติชัยกูล รองประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 10 ให้ข้อมูลของการต่อสู้ในงานยิ่งใหญ่ครั้งนี้

นี่อาจจะเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของมหกรรมหนังสือแห่งชาติ แม้ที่จัดผ่านมาหลายครั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะมุ่งสู้รบกันด้วยหนังสือเก่า ของเดิมๆ ที่มุ่งกันลดแลกแจกแถม แบบโละสต็อก หรือที่เรียกว่า สู้กันด้วย “หนังสือเข่ง”

แม้แนวการต่อสู้แบบหนังสือเข่ง ยังเป็นกลยุทธ์ที่ยังเป็นดำเนินอยู่ของกองทัพผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ แต่การรบด้วยอาวุธใหม่ หรือหนังสือใหม่ เป็นปรากฏการณ์แบบท้ารบ ที่สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ต่างมองว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องนำของใหม่ ปกใหม่มาต่อสู้กัน ยังไม่รวมกับแพ็กเกจถุงใส่หนังสือสำหรับลูกค้า ที่หลายค่ายคิดออกแบบใหม่ทำใหม่ เน้นโลโก้ให้เด่นชัด เพื่อการสร้างแบรนด์สู่สายตาจำนวนนักช้อปหนังสือ

สมรภูมิรบด้วยปกใหม่ดูจะเข้มข้นยิ่งหนัก เมื่อ “อมรินทร์บุ๊ค” ยักษ์ใหญ่ ประกาศก้องเปิดตัวหนังสือใหม่ถึงกว่า 30 เล่ม ตามมาติดๆ กับ “มติชนบุ๊ค” ท้ารบเช่นกันกับปกใหม่ถึง 32 เล่ม หรืออย่างค่ายเล็กมาแรงอย่าง “แจ่มใส” ขอบุกปกใหม่ถึง 36 เล่ม …นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าศึกนี้ดูเหมือนกับว่าไม่มีใครยอมแพ้กัน

นอกจากกลยุทธ์เปิดตัวหนังสือใหม่ กิจกรรมทางการตลาดของแต่ละค่ายแต่สำนักพิมพ์ต่างประกาศเพลงยุทธสู้กันชนิดฝุ่นตลบ

ที่ฮือฮาล่าสุดเห็นจะเป็นค่ายสำนักพิมพ์น้องใหม่อย่าง ”ดีเอ็มจีบุ๊ค” ที่มี “คนรู้ใจสำนักพิมพ์” ร่วมชูโรง จัดโปรโมรชั่นแบบอ่านไปอร่อยไปกับไอศกรีมบาสกิ้น-รอบบิ้น เพียงซื้อหนังสือในของสำนักพิมพ์ รับทันทีไอศกรีม 1 ถ้วย

ไม่ใช่มีแต่ของแถม ค่ายอื่น สำนักพิมพ์อื่นๆ ก็พยายามงัดทีเด็ดออกมาสู้ อย่าง เวิร์คพอยท์สำนักพิมพ์ ก็ประกาศจะนำคนดัง หม่ำ เท่งโหน่ง มาแจกลายเซ็นหวังจะโกยยอดขายจากพลังดาราตลกเหล่านี้ เห็นทียักษ์ใหญ่แห่งอมรินทร์บุ๊คคงจะไม่ยอมแพ้ กับการดึง สรยุทธ สุทัศนะจินดา เจ้าของพ็อกเกตบุ๊ก “กรรมกรข่าว” มาร่วมประชัน ศึกนี้ เหมือนกับประกาศว่า หนังสือดีของนิยมต้องมีดาราชูโรงอะไรทำนองนั้น

ที่เป็นเพียงตัวอย่างของมหากาพย์การต่อสู้แห่งสงครามการตลาดของระดับชาติเท่านั้น ซึ่งร้อนแรงและระอุทุกซอกเหลือบของงานมหกรรมครั้งนี้…

Did you know?

– ไฮไลต์มหกรรมหนังสือครั้งที่ 10

งานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 10 (ฺBOOK EXPO THAILAND 2005) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธประมาณ 350 ราย จำนวน 811 บูธ บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เฉพาะงานนี้ในงานเดียวจะมีหนังสือออกใหม่จากสำนักพิมพ์ค่ายใหญ่ค่าเล็กถึง 1,000 เล่ม มีผู้เข้าชมงานถึง 1.5 ล้านคน คาดมีเงินสะพัด 500-600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10-15%

– สถิติชวนรู้

มีการวัดสถิติจับเวลาคร่าวๆ ว่า ผู้ที่เดินทางมาเที่ยวชมงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ จะมีเวลาเดินอยู่ตามบูธได้ประมาณ 6 วินาทีเท่านั้น