บริษัท รักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตหนังสือและนิตยสารสำหรับเด็กและครอบครัว โดย สุภาวดี หาญเมธี กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ริเริ่มโครงการรักลูกอวอร์ด เปิดเผยความต้องการของพ่อแม่ไทยที่หันมาให้ความสนใจกับการอ่านหนังสือลูกมากขึ้น จากการศึกษาพฤติกรรมและความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้สื่อของผู้มาร่วมงานกิจกรรมของบริษัท เรื่อง “เสียงสะท้อนหนังสือเด็กไทยในใจพ่อแม่” โดยโครงการรักลูกอวอร์ด ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 (โครงการ ”สายสัมพันธ์บ้านและโรงเรียน”, โครงการ ”คนรักลูก”, Workshop นิตยสารร่วมกับโรงพยาบาล และดวงใจแฟมิลี่เดย์ จ.พิษณุโลก) ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้จำนวนแบบสอบถามมาทั้งสิ้น 1,000 ชุด
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุ 36-45 ปี (42.1%) รองลงมา คือ 25-35 ปี (35.3%) รายได้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ที่ 10,000-20,000 บาท/เดือน (28.3%) รองลงมา คือ น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน (18.8%) และ 20,001-30,000 บาท/เดือน (16.1%) ตามลำดับ ระดับการศึกษา ปริญญาตรี (53.7%) ต่ำกว่าม.ปลาย (13.9%) และปริญญาโท (11.1%) สถานภาพการมีบุตร ส่วนใหญ่มีบุตร 2 คน (39.2%) อายุบุตรส่วนใหญ่จะมีอายุ 7-9 ปี (46.5%) รองลงมา 0-6 ปี (35.1%)
โดยพบว่าข้อมูลพฤติกรรม และความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้สื่อของพ่อแม่ พบว่าสื่อที่เห็นว่ามีประโยชน์ต่อทั้งตัวพ่อแม่และเด็กคือหนังสือ มีสัดส่วนสูงที่สุด 44.6% และ 46.6% ตามลำดับ รองลงมาคือโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และซีดีรอม
และพบว่าพ่อแม่และเด็กใช้ที่ใช้ในการอ่านหนังสือต่อวัน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 30 นาที – 1ชั่วโมง (44.3%)
จำนวนเงินที่ใช้ซื้อหนังสือให้ลูกใน 1 เดือน ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายซื้อหนังสือให้ลูกประมาณ 200-300 บาท คิดเป็น 57.0%
และพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกซื้อหนังสือให้ลูกโดยเกณฑ์ในการพิจารณาในเรื่องของเนื้อหาและภาพประกอบเป็นอันดับแรก คิดเป็น 90.0%
ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่นิยมพาลูกเข้าร้านหนังสือ มากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน คิดเป็น 38.1%
สำหรับหนังสือเด็กที่เขียนและผลิตในเมืองไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีจำนวนน้อยเกินไป 37.5% และส่วนหนึ่งให้ความกังวลกับเรื่องของราคาที่แพงเกินไป ประมาณ 26.6%
5 อันดับ ข้อเสนอจากพ่อแม่สู่สำนักพิมพ์
1 มีมาตรฐาน คำนึงถึงคุณภาพ สารประโยชน์ ความบันเทิง ที่เด็กจะได้รับมากกว่าธุรกิจ 25.9%
2 พัฒนารูปเล่ม-ภาพประกอบ เพิ่มเนื้อหาที่แปลกใหม่ ทันสมัย และมีความเป็นสากล 19.8%
3 ปรับปรุงราคาให้เหมาะสม, คุมต้นทุนการผลิต หรือจัดทำในรูปแบบที่สามารถขายในราคาที่ถูกลงได้ 11.1%
4 เพิ่มยอดการผลิตหนังสือเกี่ยวกับเด็กให้มากขึ้น มีหลากหลายรูปแบบให้เลือก 10.7%
5 ผลิตหนังสือที่มีรูปแบบจูงใจเด็กๆ มีการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น หนังสือเล่มเล็ก อ่านง่าย 4.1%
และสิ่งที่คาดหวังจากหนังสือนิทานหรือวรรณกรรมสำหรับเด็ก อันดับ 1 คือ ความรู้ที่ได้รับ (65.2%) รองลงมาคือ จินตนาการ (50.7%) แบบอย่างที่ดี (48.9%) จริยธรรม (48.8%) และ ทักษะทางภาษา (46.4%) ตามลำดับ
นี่เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ทางสำนักพิมพ์ตลอดจนองค์กรภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการผลิตหนังสือและวรรณกรรมสำหรับเด็กให้มีประสิทธิภาพตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่เด็ก เพราะหนังสือเด็กไม่ใช่แค่เพียงสื่อที่จะสักแต่ว่ามีเท่านั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องที่เล็งผลเลิศทางการตลาดก็น่าจะเล็งผลเลิศสำหรับสติปัญญาและพัฒนาการของเด็กด้วย ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถดำเนินไปพร้อมกันได้