จาก “หักหลังผู้ชาย”สู่เจ้าของสำนักพิมพ์

“แรกๆ เราพิมพ์ครั้งละ 5 พันเล่ม อาทิตย์ละครั้ง พิมพ์มาเรื่อยจนวันนี้ พิมพ์เป็นครั้งที่ 26 แล้ว ยอดขายก็เกือบแสนห้าเล่ม” นี่คือบทพิสูจน์กระแสความแรงของพ็อกเกตบุ๊กที่ชื่อ “หักหลังผู้ชาย” หนังสือขายดีอันดับ 1 เกือบทุกชาร์ตเมื่อต้นปี 2546 และยังคงความดังเรื่อยมา จนทำให้หนังสือแนวแฉความสัมพันธ์แน่นขนัดเต็มแผงถึงทุกวันนี้

ความแรงของหักหลังผู้ชายยังส่งผลให้ 2 นักเขียนหน้าใหม่ “กิ๊ก” อนิศ โอสถานุเคราะห์ และ “จิ๊บ” อติกานต์ หนุนภักดี ถูกกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งเจ้าตัวเองก็ยังไม่คิดว่าจะได้รับการตอบรับมากขนาดนี้ “มันเริ่มต้นจากความสนุกของเรา แต่บังเอิญมันโดน และมันไม่ได้โดนแบบธรรมดา แต่มันยิ่งกว่าถูกหวย ปีนึงขายได้เป็นแสนเล่ม เราก็เลยคิดว่านี่แหละคือช่องทางหากินของเรา”

นี่กลายเป็นจุดหักเหที่ทำให้เขาทั้งคู่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ “อนิศ-อติกานต์ พับลิชชิ่ง” เมื่อปี 2546 เพราะเชื่อว่า มุมมองของเขาสองคนเป็นสิ่งที่คนอ่านสนใจ อนิศ-อติกานต์ฯ จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับงานเขียนของทั้งคู่ในช่วงแรก จากนั้นก็ขยายไปสู่การรับงานเขียนของคนอื่นมาพิมพ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์และแนวทางของอนิศ-อติกานต์ฯ ที่ถูกวางกรอบไว้ด้วยความคาดหวังของคนอ่านที่มีต่อแบรนด์ “กิ๊กกะจิ๊บ”

“จริงๆ อนิศ-อติกานต์ฯ ดังไหม มันดังก็เพราะมันคือ สนพ. ของกิ๊กและจิ๊บ แต่แบรนด์จริงๆ ก็คือแบรนด์กิ๊กกะจิ๊บ พอมาเป็น สนพ. มันก็เสริม เรียกว่าทุกวันนี้เราขายแบรนด์กิ๊กกะจิ๊บ”

การสร้างแบรนด์กิ๊กกะจิ๊บ ทั้งคู่ยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่ใช่การสร้างแบรนด์ เป็นเพียงการต่อยอดหนังสือเล่มแรกที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการทำทอล์กโชว์ หรือหนังสือหักหลังผู้ชาย 2 “ตอนหักหลังผู้ชายเล่มแรกออกมา ก็คือเรายึดหัวหาดได้ระดับนึง หลายคนบอกว่า เราต้องยึดหัวหาดต่อเพื่อตอกย้ำแบรนด์ตรงนี้ก่อนใคร”

อานิสงส์ที่ได้จากการต่อยอดความดังจากเล่มแรก ส่งผลถึงภาพลักษณ์ของ “กิ๊กกะจิ๊บ” และอนิศ-อติกานต์ฯ โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ทันจะได้วางจุดยืนของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่างานทอล์กโชว์ งานสังคม หรืองานปรากฏตัวต่างๆ ที่เกี่ยวกับเพล์บอย ทั้งคู่จะได้รับเชิญในอันดับต้น “กว่าจะรู้ตัว มันก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นแล้ว เราแค่พยายามประคองสิ่งที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนเราโดนบังคับให้อยู่ตรงจุดยืนนี้”

จุดยืนดังกล่าวส่งผลให้แนวหนังสือส่วนใหญ่ของอนิศ-อติกานต์ฯ ที่ได้รับความนิยมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านมืดของความรักในแบบเรียลลิตี้ ซึ่งเป็นแนวสะกิด “id” (สัญชาตญาณดิบ) ขณะที่งานของ สนพ. อื่นมักจะพูดถึง “ego” (อัตตา) และ “super-ego” (กรอบศีลธรรม) ถึงแม้ทั้งคู่จะพยายามออกเรื่องแนวอื่นบ้าง แต่ก็มักไม่ได้รับการยอมรับจากคนอ่าน “เหมือนเขาบังคับไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทางที่เขาคาดหวังจากเรา”

แต่ก็นับว่าโชคดี เพราะภาพลักษณ์ที่ทั้งคู่ถูกคาดหวังนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ชอบและถนัดที่สุดในชีวิต “ประสบการณ์ของเราคือการรักสนุก ทั้งชีวิต วันๆ เราไม่ทำงานทำการ สะสมประสบการณ์ตรงนี้เรื่อยมาจนอายุ 26-27 ปี แล้วสาระที่เราเอามาเขียนมันอยู่ตรงนั้น เรียกว่า เรารู้จริงในสิ่งที่ทำ”

สำหรับจุดขายของพ็อกเกตบุ๊กในเครืออนิศ-อติกานต์ฯ ก็คือ ทุกเรื่องมาจากชีวิตจริงอย่างน้อย 80% โดยต้องเป็นมุมมองที่คนอื่นไม่พูดหรือไม่อยากพูดถึง อาจเป็นความรักด้านมืด แต่ต้องแรงกว่า หนักกว่า โหดกว่า และเสนอออกมาได้แรงกว่าโดยไม่ต้องกดไว้ “เปรียบอกหักเหมือนความหิว ทุกคนหิวเหมือนกันหมด แต่เราต้องมีมุมมองที่มันแรงและนำเสนอได้โดนกว่า” นี่คือคอนเซ็ปต์หลักในการเลือกเรื่องที่จะมาลง สนพ. ของกิ๊กและจิ๊บ

ความ “แรง”ที่เป็นเสมือนสูตรสำเร็จของกิ๊กกะจิ๊บ ไม่ได้รับรู้เฉพาะคนอ่าน แต่ทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์อื่นต่างก็รู้ดีถึงจุดยืนนี้ “หลายเรื่อง มันแรงมาจากนักเขียนเลย เขาเห็นว่าเราเสนอมุมมองแบบนี้ออกไป คือเป็นมุมมองที่ด่ากัน พอมาหาเรา เขาก็ระบายออกมาให้เราเต็มที่ และเราก็เปิดประตูไม่ยั้ง มีนักเขียนคนนึงไปมาหลาย สนพ. เขาบอกให้มาที่นี่เพราะเรื่องมันแรงไป พอมาหาเรา เราว่าเบาไปหน่อยให้ไปเกลามาให้แรงกว่านี้”

สำหรับนักเขียนใน สนพ. ทั้งคู่นิยมใช้นักเขียนหน้าใหม่ เพราะมีไฟแรง อยากทำงาน และที่สำคัญคือคุยง่าย แต่เมื่อกระแสดาราเขียนหนังสือโหมเข้ามา ทั้งคู่ก็เปิดรับอย่างเต็มใจ เพราะได้เพิ่มช่องทางโปรโมตผลงานผ่านทางรายการทีวี ทั้งนี้ นักเขียนส่วนใหญ่ได้มาจากคนรอบตัวของทั้งคู่ ส่วนนักเขียนที่ได้จากเว็บไซต์ก็พอมีบ้าง แต่อีเมลกลับกลายช่องทางวัตถุดิบในการเขียนของทั้งคู่มากกว่า เพราะส่วนมากเป็นอีเมลปรึกษาปัญหาความรัก

ส่วนกลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นผู้หญิงที่อยากเข้าใจ “สันดาน” ของผู้ชาย ขณะเดียวกันก็มีผู้ชายบางกลุ่มที่นิยมหนังสือแนวแฉความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา และสนุกสนานเฮฮา ทั้งคู่บอกว่ามีแฟนคลับหลายคนที่ไม่ได้ “แรงๆ” ตามแนวหนังสือเลย

เส้นทางของอนิศ-อติกานต์ฯ ดูสดใสอยู่บนจุดแข็งของแบรนด์กิ๊กกะจิ๊บ ยอดขายเรือนหมื่นเรือนแสนของพ็อกเกตบุ๊กหลายเล่มจากทั้งหมด 30 เล่มดูจะเป็นเครื่องยืนยัน โดยเฉพาะผลงาน 5 เล่มที่เขียนร่วมกัน ได้แก่ หักหลังผู้ชาย 1-2 ผู้หญิงสอน…ก่อนจีบสาว แม่งอยากระบายครับ และลับหลับความรัก

แต่แล้วจู่ๆ ทั้งคู่ก็แยกย้ายไปตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองเมื่อต้นปี 2548 โดยให้เหตุผลแค่ว่ารอหา “มุก” ใหม่เพื่อผลิตผลงานของสองคนที่มีความ “เก๋า” และหวังผลได้เหมือนหักหลังผู้ชายซึ่งอาจรอเป็นปี

ระหว่างนี้ต่างคนต่างก็แยกย้ายไปออกหนังสือในนามสำนักพิมพ์ของตัวเอง พร้อมกับสรุปบทส่งท้ายสำนักพิมพ์ อนิศ-อติกานต์ เอาไว้ว่า เป็นการหยุดทำการชั่วคราว (??) แต่ถึงอย่างไร วันนี้ ทั้งคู่ก็ยังคงทำงานพิธีกรร่วมกันในรายการ “หักหลังผู้ชาย on TV” และกำลังจะมีหนังร่วมกันคือ “ม.8” รวมถึงงานทอล์กโชว์ที่ยังหาโอกาส และทั้งคู่ยังเกริ่นถึงแผนการออกอัลบั้มเพลงเป็นของตัวเอง ในเร็ววันนี้อีกด้วย

ทั้งคู่สรุปสั้นๆ ว่าที่มาจนถึงวันนี้ได้เพราะ “เพราะเราหนีตัวเองไม่พ้น การเป็นนักเขียนต้องอย่าหนีตัวเอง รู้สึกอย่างไรก็บอกออกมา อย่าไปเอาความรู้สึกคนอื่นมาเขียน อย่างพวกเราที่ผ่านมาก็คือ เราพยายามขายตัวเอง”

เป็นนักเขียน…ต้องเริ่มจากการเขียน

“ขั้นแรกคือต้องเขียนก่อน คนชอบเป็นนักเขียนโดยที่นั่งคิด ต้องเขียนออกมาให้เป็นเล่มแล้วนั่งเกลา เขียนเรื่องที่เราอยากรู้ ไม่ใช่อะไรดังแล้วไปก๊อบปี้ ไม่เกิดแน่ เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา ขายความเป็นตัวเราออกไป ส่งไปตามสำนักพิมพ์ อีเมล หรือเอาไปโพสต์ตามเว็บไซต์ ถ้าขายได้มันจะอยู่ได้ยาว แต่ถ้าขายไม่ได้ อย่าไปพยายาม เพราะตัวคุณมันขายไม่ได้ แต่อย่าทิ้ง เก็บไว้เป็นงานอดิเรก เพราะสักวันเทรนด์มันอาจจะกลับมา”

ตั้งสำนักพิมพ์ ต้องสายป่านยาว

“การตั้งสำนักพิมพ์ ขั้นแรก ต้องมีสายป่านยาวๆ เพราะธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่เงินจมนาน ควรจะมีเงินสักหนึ่งล้าน น่าจะพิมพ์ได้สัก 3-4 เล่ม ถ้าโดนสักเล่มก็ไปต่อได้ แต่ถ้าไม่โดนเลยก็ควรต้องยอมกลับบ้าน ส่วนสิ่งที่จะทำให้หนังสือขายได้มันคือปกและโปรย และที่สำคัญคือเนื้อหา ถ้ามันวางอยู่แล้วชื่อกับปกทำให้คนถึงออกมาจากแผงได้ คนก็จะเปิดอ่าน และถ้าเนื้อเรื่องโดนก็จบ ไม่จำเป็นต้องอัดงบส่งเสริมการขายมากมาย อย่าง “หักหลังผู้ชาย” มันขายที่ชื่อกับเรื่องแท้ๆ”

Anit Publising แรงได้ทางเดิม

“กิ๊ก” แยกตัวออกมาเปิดสำนักพิมพ์ชื่อ “อนิศ พับลิชชิ่ง” มีผลงานออกมาแล้ว 34 เล่ม แนวทางของหนังสือยังคงเน้นการแฉ แต่เป็นการแฉชีวิตมากกว่าความสัมพันธ์ แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ “ความแรง” หรือบางเรื่องอาจแรงจนถูกวิจารณ์ เช่น “หัวใจนี้…ไม่มีพอ” ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ผ่านมือผู้ชายมาหลายคนทั้งเพื่อนแฟน สามีเพื่อน และพี่ชายตัวเอง

“เรามีจุดยืนเป็นแนวแฉชีวิตแรงๆ คล้ายๆ หลุมดำ คือประมาณ sideline หรือความจริงที่คนไม่พูด”

นอกจากนี้ “อนิศฯ” ยังมีหนังสือแนวอื่น เช่น หนังสือแปล และหนังสือรักโรแมติก แต่ทว่าผลตอบรับที่ได้กลับไม่ดีตามที่ควรจะเป็น เช่น “ซากุระในสายลมร้อน” ที่เลือกพิมพ์เพราะเป็นอันดับหนึ่งในเว็บพันธุ์ทิพย์ แต่แล้วก็ไม่โดน หรือ“นอกรอบข้างสภา” หนังสือการเมืองเล่มแรกของกิ๊กก็ขายไม่ถึงพันเล่ม “แนวที่จะโดนก็เป็นแนวที่ผมเขียน เหมือนว่าคนอ่านบังคับให้เราอย่าออกนอกลู่นอกทาง” กิ๊กสรุป

Jikabooks ตามกระแสแต่ต่างมุมมอง

จิ๊บร่วมหุ้นกับเพื่อนสาว “ริก้า ดีล่า” เปิด “จิก้าบุ๊คส์ พับลิชชิ่ง” ซึ่งมีแนวหนังสือที่หลากหลายแบ่งเป็น 5 สไตล์ได้แก่ แฉ ฮา หลอน แปล และหวาน ส่วนคอนเซ็ปต์ของเรื่องจะเน้นความสนุกสนาน และมุมเทาๆ ของสังคม รวมถึงประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคม โดยนำเสนอในมุมที่ยังไม่มีใครพูด เช่น บันทึกลับเมียหลวง นางฟ้าหรือขี้ข้าบนเครื่องบิน เป็นต้น

“ทุกวันนี้ เขาขายมุมมองกันหมดแล้ว เพราะทุกเรื่องราวมันมีคนทำเต็มไปหมด สิ่งที่เรายังสู้กับเขาได้ก็คือมุมมองแบบของเราที่ไม่เหมือนใคร” จิ๊บย้ำ แม้ว่าปัจจุบัน จิก้าบุ๊คส์จะมีหนังสือออกเพียง 7 เล่ม แต่เขายืนยันว่า เรื่องเด็ดๆ จะทยอยออกมาจนวันเกิดเขาในปีหน้าน่าจะมีทั้งสิ้นราว 15 เล่ม เช่น เรื่องของตั๊ก บงกช ที่จะออกในอีกไม่กี่เดือน ส่วนเหตุผลที่ออกผลงานมาค่อนข้างน้อย นอกจากงานยุ่ง จิ๊บยังบอกว่า “เราไม่อยากเป็นโรงงานผลิตหนังสือ”