นานมีบุ๊คส์ ขี่กระแส แฮรี่ สร้างแบรนด์ฮิตติดตลาด

กลายเป็นสำนักพิมพ์ชั้นแนวหน้า แบบทันตาเห็น เพราะอิทธิฤทธิ์พ่อมดน้อย “แฮรี่ พอตเตอร์” แท้ๆคือวรรรณกรรมแปลชิ้นเอก ที่ค่ายสำนักพิมพ์ “นานมี บุ๊คส์” เลือกมาจุดพลุ ปลุกกระแสฟีเวอร์นิยายแปล จากคอนักอ่านชาวไทยได้สำเร็จ

กระทั่งวันนี้ กระแสความนิยม แฮรี่ พอตเตอร์ ยังไม่ทีท่าว่าจะน้อยถอยลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเตรียมจะพุ่งทะยานอีกครั้ง เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์แปลเจ้าเก่า เตรียมเข็นฉบับแปล ภาคใหม่ล่าสุด “แฮรี่ พอตเตอร์ กับ เจ้าชายเลือดผสม (ภาค 6) ออกสู่ตลาด (ราววันที่ 2 ธันวาคม 2548)

งานนี้นานมี บุ๊คส์เตรียมรับทรัพย์อีกก้อนโตเป็นแน่… (ยอดพิมพ์ แฮรี่ พอตเตอร์ ทั้ง 5 ภาค 1 ล้านเล่ม)

“แฮรี่ พอตเตอร์ ทำให้ธุรกิจนานมี ถึงจุดเปลี่ยน ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในภาพกว้าง อีกทั้งยังตอบโจทย์ว่าคนไทยไม่ใช่ไม่รักการอ่าน แต่เป็นเพราะไม่มีหนังสือที่ถูกใจให้อ่าน” บอสใหญ่ของสำนักพิมพ์ นานมี บุ๊คส์ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา บอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญกับ POSITIONING

ใครจะคาดคิดว่าร้านขายเครื่องเขียนคูหาเดียวที่ถนนเยาวราชเมื่อหลายสิบปีก่อน จะกลายมาเป็น เจ้าของอาคารสูงตระหง่านชื่อว่า “Nanmee Book House ”บนถนนสุขุมวิท ใจกลางเมือง มูลค่าหลายสิบล้านเพียงเวลาไม่กี่ปี

หนังสือที่นานมี บุ๊คส์เลือกเจาะตลาดในช่วงเริ่มต้นนั้น เป็นหนังสือเสริมความรู้ มีชื่อว่า โก จีเนียส เน้นเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวที่สุวดีสนใจและถนัดที่สุด เป็นหัวหอกบุกตลาด

ประกอบกับช่วงนั้นเด็กไทยไม่ค่อยนิยมอ่านหนังสือกันมากนัก นโยบายรัฐสนับสนุนน้อย ทำให้หนังสือนานมียังไม่เป็นที่แพร่หลาย รู้จักเฉพาะนักเรียน และครูเท่านั้น

นานมี เปลี่ยนไปแล้ว

สุวดี ยอมรับว่า วันนี้แบรนด์นานมี บุ๊คส์เป็นที่รู้จักและไว้ใจจากนักอ่านหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ในการผลิตหนังสือจึงจำเป็นต้องขยายไปสู่หลากหลายประเภท แต่ยังคงผลิตหนังสือแนววิชาการควบคู่กันไป เพียงแต่ลดปริมาณการผลิต และเลือกเรื่องมากขึ้น

“สัดส่วนผลิตหนังสือได้เปลี่ยนไป จากเดิมแนววิชาการ 90 เปอร์เซ็นต์เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือ 60-70 เปอร์เซ็นต์เป็นแนวบันเทิงคดี เพราะคนอ่านตอบรับนานมี บุ๊คส์ และไว้ใจในการเลือกเรื่องมากขึ้น”

ปัจจุบัน นานมี บุ๊คส์ มีหนังสือหมวดเด่นๆ อาทิ พระราชนิพนธ์ หนังสืออ้างอิง หมวดวิชาการ ประเภท คอมพิวเตอร์ จิตวิทยา การศึกษา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ธุรกิจ และการจัดการ หมวดบันเทิงคดี ได้แก่ นิทาน เรื่องสั้น นวนิยาย วรรณกรรมจีน

ปริมาณการผลิตหนังสือใหม่ทั้งนักเขียนนอกและในประเทศออกสู่ตลาดประมาณ 200 ปกต่อปี มีหนังสือวรรณกรรมแปลสำหรับเยาวชน มักติดอันดับขายดีอย่างต่อเนื่อง รองลงมาเป็นวรรณกรรมแปลนวนิยาย แนวการจัดการธุรกิจ สำหรับผู้ใหญ่
“เรื่องแปลเยาวชนเมื่อก่อนขายไม่ค่อยได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกเดือนหนังสือกลุ่มจะติดอันดับหนังสือขายดีแทบทุกครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เขียนได้สนุก และมีกลวิธีการเขียนที่น่าติดตาม”

ล่าสุด ปลายปีนี้นานมี บุ๊คส์ ได้เตรียมเพิ่มหนังสือใหม่แนวสืบสวนสอบสวน แนวสยองขวัญในกลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่อีกหลายเรื่อง โดยคัดเลือกมาจากผลงานของนักเขียนชื่อดัง อาทิ จอห์น กริแชม เจ้าของนิยายแนวกฎหมาย และกระบวนยุติธรรม, แจ๊กเกอลีน วิลสัน นักเขียนเยาวชนชื่อดังเจ้าของรางวัล Writer of The Year

ไมเคิล ไครช์ตัน (Michael Crichton) เจ้าของผลงานยอดฮิต (จูราสสิค พาร์ค)ล่าสุดแนวเทคโนโลยี เขย่าขวัญ 2 เรื่อง เหยื่อ, ข้ามเวลาฝ่ามิติอันตราย , แพทริเซีย คอร์นเวล (Patricia Cornwell)นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานแนวฆาตกรรม สืบสวนสอบสวน ติดอันดับยอดนิยมนิวยอร์กไทม์ เรื่องใหม่ล่าสุด 13 เล่ม

“เราได้เพิ่มปริมาณเรื่องใหม่ หลากหลายแนว เซ็กเมนต์ตามอายุ และรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ครอบคลุมทั้งเพศและวัย เพื่อให้ฐานคนอ่านหนังสือนานมี บุ๊คส์ครอบคลุมทั้งครอบครัว

พีอาร์-มาร์เก็ตติ้ง เครื่องมือเสริม

ความสามารถอีกอย่างหนึ่งที่นานมีมักใช้ในการสร้างความสำเร็จในปั้นหนังสือแปลใหม่ ที่บางครั้งอาจไม่ใช่หนังสือติดชาร์ต นั่นคือ กลยุทธ์การตลาด ที่สุวดียืนยันว่า เป็นเพียง “เครื่องมือเสริม” ที่สำคัญที่สุด คือ “content” เรื่องราวมากกว่า

“กลยุทธ์ของเรา ถ้าเป็นหนังสือใหม่ก็ต้อง educate ตลาด ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อให้รู้จัก ก่อนหนังสือออก อย่างเช่นแฮรี่ พอตเตอร์ ตอนแรกรู้จักแต่สื่อต่างประเทศ เราก็ต้องพีอาร์ แจกแผ่นพับ โปสเตอร์ เพื่อให้สื่อไทยให้รู้จัก ก่อนจัดงานเปิดตัวหนังสือ และทำอีเวนต์ตามไปสถานที่กลุ่มเป้าหมายอยู่”

กิจกรรมเด่นๆ ที่นานมี บุ๊คส์เตรียมเพิ่มสีสัน และความถี่มากขึ้นในปีนี้ คือ กิจกรรมในร้านหนังสือ Nanmee books Library Book Shop ซึ่งเป็นห้องสมุดสไตล์นานมี ที่ปัจจุบันมี 2 สาขา ได้แก่ ซอยสุขุมวิท 24 และ ซอยสุขุมวิท 31

รูปแบบกิจกรรม เน้นสร้างเสริมจินตนาการต่างๆ ตามไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายเด็ก และครอบครัว อาทิ การเล่านิทาน การประดิษฐ์ ระบายสี พร้อมการพบปะฟังประสบการณ์ของนักเขียนรุ่นเยาว์ ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์และแบรนด์นานมี ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแนบเนียน

ขณะที่วิธีการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ นานมี บุ๊คส์ ได้เลือกใช้การทำบุ๊คส์ คลับในโรงเรียน ด้วยการส่งเสริมเด็กให้เข้าห้องสมุด เพื่ออ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ตามด้วยการทำกิจกรรมโร้ดโชว์

นอกจากนี้ยังเข้า big event ทั้ง 3 งาน ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ, งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ, งานเทศกาลหนังสือเด็ก ซึ่งงานดังกล่าวยังช่วยกระตุ้น ระบายสินค้าในสต็อกได้ไม่น้อย พร้อมกันนั้นยังเป็นเวทีที่สำนักพิมพ์จะนำหนังสือใหม่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ซื้อ

ซึ่งสุวดีบอกว่า “ Book Expo เป็นกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเจาะคนซื้อในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ขาดไม่ได้ เพราะมีลูกค้าที่สนใจหนังสือมารวมกันนับล้านคน”

ขณะที่นานมี บุ๊คส์ได้วางรากฐานการตลาดในต่างจังหวัด ด้วย “ กลยุทธ์ป่า ล้อมเมือง” สไตล์ นานมีมาหลายปี หากมาเสริมกับกลยุทธ์เจาะเมือง จึงไม่แปลกที่ แบรนด์ “นานมี บุ๊คส์” สามารถเข้าไปนั่งในใจคอนักอ่านทุกเพศ ทุกวัยได้สำเร็จ…

Profile

สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ผู้สร้างตำนาน นานมี บุ๊คส์

สุวดี จงสถิตย์วัฒนา เจ้าของธุรกิจ สำนักพิมพ์ นานมี บุ๊คส์ เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน บิดาชื่อ นายทองเกษม สุพุทธิพงศ์ หนุ่มจีนเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ชีวิตในวัยเด็กของเธอได้รับการเลี้ยงดูและปลูกฝังวัฒนธรรมเป็นแบบคนจีน เช่น ช่วยงานในบ้าน รับผิดชอบงานในร้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วยขายของ ช่วยเก็บเงิน ซึ่งเป็นกิจการขายหนังสือจีน และเครื่องเขียน จุดเริ่มต้นของชีวิตเธอจึงคลุกคลีอยู่กับงานด้านหนังสือและการขายมาโดยตลอด

ชีวิตวัยเรียนของเธอ เริ่มต้นที่โรงเรียนโกศลวิทยา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จากนั้นศึกษาต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนกระทั่งจบระดับ ม.ศ.3 – ม.ศ.5 ที่โรงเรียนเตรียมอุดม และศึกษาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีเหตุให้เรียนได้ถึงปี 3 เท่านั้น

ครั้งหนึ่งเธอคือนักศึกษาสาวหัวรุนแรง เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม ฉีกกรอบของบ้านออกมา เรียกได้ว่าเป็นการออกเดินตามหาอุดมการณ์ร่วมกับเพื่อนพ้องวัยใกล้เคียงกัน เป็นระดับหัวหน้าในกลุ่มเข้าป่า 6 ตุลาคม อยู่นานถึง 3 ปี

หลังจากได้กลับบ้าน เธอเลือกทำงานหาความรู้ด้วยการเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจ ที่หนังสือพิมพ์มติชน อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นเดินทางสู่เกาะฮ่องกง เรียนรู้ประสบการณ์ด้านภาษาในอีกโลกที่แตกต่างออกไป และเมื่อกลับสู่เมืองไทย จึงกลับมาช่วยกิจการที่บ้าน ซึ่งในขณะนั้นมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องเขียน งานจัดจำหน่ายและงานร้านหนังสือจีน

ด้วยสายตาของนักธุรกิจ ที่ซึมซับจากการขายหนังสือในสำนักพิมพ์ของบริษัทนานมี และเครื่องเขียนของครอบครัว บวกกับแนวคิดที่จะพลิกฟื้นวงการหนังสือ จึงได้แยกออกมาเปิดสำนักพิมพ์ ใช้ชื่อว่า บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เป็นสำนักพิมพ์ ซึ่งพิมพ์และจัดจำหน่ายเองตามร้านหนังสือทั่วไป

รูปแบบระบบการทำงานของนานมี บุ๊คส์ เป็นการก้าวเดินแบบช้าๆ ระมัดระวัง step by step ไม่ทำธุรกิจแบบหวือหวา ยึดที่จะเป็นในแนวของคนรุ่นเก่า คือ ขยัน อดทน มุ่งมั่น และแม้สภาพตลาดจะแข่งขันรุนแรงเพียงใด

Tip :

หัวใจสร้างความสำเร็จในตลาดหนังสือแปล คือ การคัดเลือกต้นฉบับจากต่างประเทศ สำหรับนานมี มีกระบวนการคัดเลือกหลัก ดังนี้

• ทุกเรื่องจะต้องผ่านตา 3 ฝ่าย กองบรรณาธิการ การตลาด และสุวดี ก่อน บางเรื่อง เลือกตามรสนิยมส่วนตัวของสุวดี หากเรื่องใดยังไม่กล้าตัดสินใจ จะส่งต่อไปยังทีมพิเศษ ตามกลุ่มหนังสือ (ทั้งอาสาสมัครและจ้างมา หลากหลายวัย อาชีพ) เพื่อให้ทีมวิเคราะห์ให้คะแนนแต่ละประเด็นที่กำหนด อาทิ กลวิธีการเขียน การดำเนินเรื่อง ตัวละคร เพื่อวัดความสนุกและความน่าสนใจ เมื่อได้ข้อสรุปผ่าน ก็จัดพิมพ์ต่อไป

• หลักเกณฑ์ทั่วไป เลือกจากนักเขียนชื่อดัง มีผลงานในตลาดมาบ้างแล้ว หรือติดชาร์ตหนังสือขายดีในต่างประเทศ

• แนวเรื่องจะต้องสอดคล้องตามอายุ และรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย และมีโอกาสทางการตลาด