Dek-d ชุมนุมนักเขียนไซเบอร์

จากความด้านชอบเทคโนโลยี และใฝ่ฝันมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางคอมมูนิตี้บนโลกไซเบอร์ระหว่างกลุ่มเพื่อนและเด็กนักเรียนวัยเดียวกัน ส่งผลให้เกิดเว็บไซต์ www.dek-d.com ที่พัฒนาขึ้นแบบง่ายๆ ตามความสามารถของเด็กในวัยนั้น ได้กลายเป็นสังคมไซเบอร์ขนาดใหญ่มีคนเข้าไปเยี่ยมชมเฉลี่ย 5-6 แสนครั้ง/เดือน

“วโรรส โรจนะ” หรือโน้ต เว็บมาสเตอร์หนุ่มวัย 22 ปี หนึ่งใน 5 อดีตเด็กผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.dek-d.com เล่าว่า คอมมูนิตี้และคอนเทนต์บนเว็บกระตุ้นให้มีคนสนใจเข้ามาเยี่ยมชม อาทิ เกร็ดความรู้ ความบันเทิง ข่าวสาร และกิจกรรมในโรงเรียนที่เกี่ยวกับเด็กวัยรุ่น รวมทั้งเว็บบอร์ดที่เป็นแหล่งสร้างคอนเทนต์ชั้นดีที่ดึงดูดเด็กๆ ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างอิสระ

คอนเทนต์บนเว็บเกิดจากกลุ่มเด็กวัยรุ่น ทำให้เนื้อหา และเรื่องราว เป็นน่าสนใจไม่ตกกระแสเทรนดี้อาทิ เรื่องเล่าวัยเรียน ความรักวัยรุ่น เรื่องอกหัก หรือบันทึกความประทับใจ รวมทั้งความใฝ่ฝัน บทกลอนใสๆ จนกลายเป็นคอนเทนต์ที่สร้างมูลค่า ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ที่จะนำไปต่อยอดอยู่ไม่น้อย

โน้ต เล่าว่า ผลงานเขียนบนเว็บมีหลากหลาย มีความน่าสนใจแตกต่างกัน แต่ยังขาดโอกาสเผยแพร่ให้คนนอกโลกไซเบอร์รู้จัก เพื่อทำให้เจ้าของผลงานได้รับโอกาสตีพิมพ์ หรือรวมเล่มมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อโปรโมตเว็บไซต์ให้น่าสนใจ และดึงดูดให้คนเข้ามาดูคอนเทนต์บนเว็บ จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา

หลังจากประสบผลสำเร็จกับผลงานเรื่อง The White Road ของ ดร.ป๊อป ที่ได้รับความสนใจจากสยามอินเตอร์บุ๊คส์ นำไปรวมเล่มตีพิมพ์จนกลายเป็นพ็อกเกตบุ๊กขายดีอีกเล่มหนึ่งในตลาดวัยรุ่น จนเกิดกระแสให้สำนักพิมพ์หันมามองคอนเทนต์บนเว็บไซต์มากขึ้น

“เราวางโพสิชั่นเป็นเว็บไซต์สำหรับเด็ก เพื่อเป็นศูนย์กลางสร้างคอมมูนิตี้ชั้นดีให้กับสังคม เปิดเวทีให้เด็กๆ ได้แสดงออก กล้าคิด และกล้าแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับกลุ่มคนวัยเดียวกัน เช่นเดียวกับสังคมผู้ใหญ่วัยทำงานที่มีความชอบคล้ายๆ กัน เหตุนี้เว็บไซต์ Dek-d จึงได้รับความนิยมสูง”

แต่คอนเทนต์บนเว็บไซต์ยังติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการ หรือแสดงกรรมสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรได้ชัดเจน เนื่องจากโลกไซเบอร์มีความรวดเร็ว และแพร่กระจายข้อมูลได้ทั่วโลกในเวลาเพียงข้ามคืน จึงเกิดปัญหาละเมิดผลงานนำไปเผยแพร่รูปแบบต่างๆ เกินความต้องการของเจ้าของคอนเทนต์

“นักเขียนในโลกอินเทอร์เน็ตควรใส่กับผลงาน เก็บข้อมูลต้นฉบับไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสามารถแสดงตนเป็นเจ้าของคอนเทนต์ได้ ในกรณีเรื่องได้รับคัดเลือกไปตีพิมพ์ และที่สำคัญควรสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ น่าสนใจ มีประโยชน์ แตกต่างไปจากคอนเทนต์อื่นๆ บนเว็บที่หลากหลาย และมากขึ้นทุกวัน” นวพันธ์ ปิยะวรรณกร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Book Cafe’ หนึ่งในผู้รวบรวมคอนเทนต์บนเว็บให้ข้อคิดอย่างน่าสนใจ

ปัจจุบันยังมีเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์น่าสนใจอีกมาก อาทิ www. popcornfor2 ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปสร้างสรรค์ผลงานเขียนฟรีบนเว็บได้ และนำเสนอข่าวสาร คอนเทนต์จากต่างประเทศ เพื่ออัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ และกระแสวรรณกรรมระดับประเทศ และระดับเอเชียไว้เพิ่มทักษะ อาทิ ละครซีรี่ส์เอเชีย จีน เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น

ทุกวันนี้จึงมีนักเขียนโลกไซเบอร์เกิดได้ง่ายขึ้น แต่จะประสบผลสำเร็จเป็นหนังสือขายดีอีกเล่มหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ และรูปแบบการนำเสนอเป็นหลัก

คุณสมบัตินักเขียนไซเบอร์

1. เป็นผู้รักการอ่าน และติดตามผลงานแนววรรณกรรม หรือรูปแบบหนังสือที่ต้องการเขียน
2. มีใจรักงานเขียน และนิยมใช้งานอินเทอร์เน็ต
3. เขียนงานขึ้นเอง โดยไม่ลอกเลียนแบบจากงานเขียนคนอื่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาด้านลิขสิทธิ์ของ content

คอมมูนิตี้บนโลกไซเบอร์

www.dek-d.com
www.popcornfor2.com
www.panntip.com
www.diaryhuc.com
www.exteen.com
www.diaryhub.com