“วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนสองซีไรต์

ยุคนี้หนังสือขายดีมักเป็นเรื่องเล่าของคนมีชื่อเสียง และดาราขวัญใจประชาชน จนกลายเป็นกระแสนิยมให้คนบันเทิงแห่ออกหนังสือเล่มกันมากขึ้น แต่จำเป็นต้องอาศัยจังหวะชื่อฮิตติดชาร์ตเท่านั้นหนังสือถึงขายได้

แตกต่างจากหนังสือแนววรรณกรรมที่มีรางวัลซีไรต์การันตี อย่างเช่นผลงานของนักเขียนสองซีไรต์ “วินทร์ เลียววาริณ”ที่หนังสือเกือบทุกเล่มขายดี เพราะผู้อ่านเชื่อมั่นใจคุณภาพ ซื้ออ่านแล้วไม่ผิดหวัง

“วินทร์” ยอมรับว่า รางวัลกลายเป็นดัชนีกระตุ้นยอดขายไปให้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มียอดขายเติบโต แบบก้าวกระโดด เพราะปัจจุบันคนอ่านหนังสือน้อยลง แต่หนังสือวรรณกรรมยังโชคดีที่มีกลุ่มคนอ่านที่เหนียวแน่น และเป็นตลาดเฉพาะใหญ่พอสมควร ส่งผลให้หนังสือวรรณกรรมคุณภาพยังขายได้

นั่นไม่ได้หมายความว่า นักเขียนวรรณกรรมทุกคนจะขายหนังสือได้จนร่ำรวย เพราะปัจจุบันคนอ่านหนังสือน้อยลง และมีหนังสือแนวใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้ผู้อ่านมากขึ้น แต่วรรณกรรมจะขายได้ในตลาดเฉพาะกลุ่มที่เป็นแฟนคลับ และเชื่อมั่นใจคุณภาพนักเขียนเป็นหลัก

“ที่ผ่านมานักเขียนกว่า 90% เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และต้องอ่านแบบฮาร์ดคอร์ด้วย เพราะการอ่านจะช่วยตกผลึกความคิด เพิ่มทักษะการใช้ภาษา จนสามารถถ่ายทอดผลงานคุณภาพได้”

เพราะคนไม่ใช่ทุกคนจะเขียนหนังสือแล้วขายได้ หนังสือบางเล่มชื่อคนแต่งขายได้ บางเล่มขายตามกระแส แต่หนังสือวรรณกรรมที่ขายได้เกือบทุกเล่มเป็นหนังสือคุณภาพ สร้างความพึงพอใจให้คนอ่าน ติดตาม และอยากซื้อมาครอบครอง เพื่อหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้งยามว่าง

“หัวใจของนักเขียนไทย ควรจะจับกลุ่มผู้อ่านและตลาดให้ได้ และโฟกัสตลาดอยู่ตรงนั้น เพราะปัจจุบันตลาดนักอ่านอยู่เมืองไทยไม่แมสเหมือนต่างประเทศ แม้จะมีนักอ่านรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็จะเพิ่มในตลาดเซ็กเมนต์ต่างๆ เพราะฉะนั้นนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ควรจะจับตลาดนิชเป็นหลัก และสร้างผลงานให้เติบโตในตลาดนั้นๆ”

ทุกวันนี้ “วินทร์” มีความสุขกับงานหนังสือแนววรรณกรรมที่เขารัก ควบคู่ไปกับการเปิดสำนักพิมพ์ 113 เพื่อพิมพ์หนังสือ รวมเล่มงานเขียนของเขาเอง ซึ่งปัจจุบันจะมีหนังสือตีพิมพ์เฉลี่ยปีละ 3-4 เล่ม เพื่อสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องในฐานะนักเขียนมืออาชีพ

“อาชีพนักเขียนมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากแขนงอื่นๆ ตรงที่ไม่มีอายุเป็นเกณฑ์กำหนดวัยเกษียณ ทำให้เราเขียนได้ทุกวัน และไม่มีมาตรฐานตายตัว ซึ่งนักเขียนเองจะต้องเป็นผู้กำหนด และแสวงหาข้อมูลใหม่ๆ ถ่ายทอดออกเป็นผลงานให้ผู้อ่านเสพวรรณกรรมได้อย่างมีความสุข”

นั่นเกิดจากความอยากแสดงความคิดเห็นในระดับสังคม แต่ไม่สามารถพูดหรือเล่าออกมาให้คนหมู่มากฟังได้ “วินทร์” เลือกแสดงออกในรูปแบบเรื่องสั้น เพื่อเป็นการระบายอารมณ์ และความคิดของเขาเองในช่วงแรก จนมีผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรกชื่อ สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง (รวมเรื่องสั้น) ออกตีพิมพ์ในปี 2537 นับเป็นเรื่องสั้นที่เปลี่ยนชีวิตหนุ่มนักโฆษณาวัยสู่เส้นทางนักเขียนอย่างเต็มตัว

“วินทร์” เป็นหนุ่มชาวใต้เกิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในปี 2499 หนึ่งในพี่น้องทั้งหมด 10 คนจากครอบครัวคนชั้นกลางเจ้าของร้านขายรองเท้า เริ่มเรียนชั้น ป.1-มศ.3 ที่บ้านเกิด ก่อนจะมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนบดินทร์เดชา และเข้าเรียนปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนสำเร็จ แล้วเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 3 ปี

หลังจากนั้นปี 2526 เขาเดินทางไปใช้ชีวิตที่อเมริกา 2 ปี ในฐานะสถาปนิก นักตกแต่งภายใน และนักออกแบบกราฟิก ก่อนจะเลือกกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย เพื่อเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาด ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วผันตัวเองไปทำงานด้านโฆษณา และเปิดฉากการเขียนหนังสือควบคู่กันไปด้วย ใน

วัยประมาณ 35 ปี จนรู้สึกชื่นชอบงานวรรณกรรม และออกมายึดอาชีพนักเขียนอาชีพในที่สุด

“เส้นทางชีวิตนักเขียนอาชีพ ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะอาชีพนี้ไม่ได้สร้างรายได้หวือหวา เพราะฉะนั้นผมจึงเลือกอยู่อย่างเรียบง่าย เพื่อให้อยู่ได้อย่างไม่ยากลำบาก และตั้งใจทำงานเขียนแนววรรณกรรมที่ผมรักออกมาให้ดีที่สุด เพราะผมทำงานนี้ด้วยใจ ผมจึงอยู่ในอาชีพนี้ได้นาน”

วินทร์ สร้างชื่อได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ครั้งแรกในปี 2540 จาก นวนิยายเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และรวมเรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ในปี 2542

ตลอดเวลากว่า 10 ที่ผ่านมา “วินทร์” โลดแล่นอยู่ในสนามวรรณกรรมจนผลงานได้รับรางวัลมากมาย อาทิ สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง (เรื่องสั้นแนวหักมุม) รางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2538, ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (นวนิยาย) รางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ปี 2538 รางวัลซีไรต์ปี 2540 และรางวัลหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน (อายุ 16-18 ปี) ในปี 2541-2542 เป็นต้น