น้อยคนนักจะรู้ว่าหนังสือขายดีบนแผง ทั้งชีวประวัตินักธุรกิจที่มีชื่อเสียง นักการเมืองเด่น หรือแม้แต่เรื่องรักๆ ของเหล่าดาราส่วนใหญ่เป็นผลงานที่จ้างให้คนอื่นเขียนให้เกือบทั้งนั้น เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีข้อจำกัดเรื่องเวลา และความยากในการเรียบเรียงภาษาเขียนให้เป็นหนังสือที่น่าอ่าน
จึงเกิดอาชีพๆ หนึ่ง คือ Ghostwriter (โกสท์ไรท์เตอร์) นักเขียนอิสระ หรือคนที่ทำหน้าที่เขียนหนังสือแทนเจ้าของเรื่อง โดย Ghostwriter เป็นผู้สัมภาษณ์ เรียบเรียง และนำเสนอเรื่องราวให้ตามเจ้าของเรื่องต้องการ เพื่อตีพิมพ์จำหน่าย จ่ายแจก หรือให้เป็นของขวัญแก่ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานในโอกาสพิเศษ แลกกับการค่าจ้างหรือสินน้ำใจให้ Ghostwriter เป็นตัวเลข 6 หลักขึ้นไปต่อการทำหนังสือเพียงแค่เล่มเดียว
จากตัวเลขค่าจ้างที่สวยหรู แลกกับการทำงานที่ดีที่สุดเพียงแค่ชิ้นเดียว ส่งผลให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ หรือกลุ่มคนทำข่าวที่มีความสามารถในงานเขียน ต่างปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อออกมารับเขียนหนังสือในฐานะ Ghostwriter กันมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเต็มเวลา พาร์ตไทม์ หรือบางรายถึงขั้นทำเป็นธุรกิจอย่างเป็นจริงเป็นจัง
เช่นเดียวกับ เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ อดีตบรรณาธิการ “สุดสัปดาห์สำนักพิมพ์” ในเครืออมรินทร์ที่ลาออกมาเปิดบริษัทรับจ้างเป็น Ghostwriter พร้อมทีมงานเกือบ 10 ชีวิต เพื่อรับงานเขียนหนังสือให้คนมีชื่อเสียง โดยมีการทำงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การทำตลาด หาลูกค้า และเลือกเรื่องให้เหมาะกับความถนัดของ Ghostwriter ในทีม
ปัจจุบัน Ghostwriter แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับเขียนหนังสือให้นักการเมือง กลุ่มที่เขียนให้นักธุรกิจ และกลุ่มสุดท้ายเขียนให้ดารา-นักแสดง ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เริ่มจากกลุ่มนักการเมืองที่จะได้ค่าตอบแทนสูงที่สุด แต่มีความเสี่ยงต่อการนำเสนอข้อมูล และมีความลับที่ไม่สามารถตีพิมพ์ได้มากที่สุด จึงเป็นตลาดที่ Ghostwriter หน้าใหม่ไม่อยากเข้าไป
รองลงมาเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง กลุ่มนี้นิยมการทำงานอย่างเป็นระบบ และจ่ายเงินค่าจ้างตามจริง แต่ก็เป็นตลาดที่จ่ายค่าตอบแทนสูงเช่นกัน มีทั้งไว้แจกลูกน้อง ในโอกาสเกษียณ หรือประสบผลสำเร็จ เป็นต้น
กลุ่มสุดท้ายเป็นหนังสือดารา หรือนักแสดงที่ต้องการขายความมีชื่อเสียงของตนเองผ่านตัวหนังสือ ซึ่งเป็นตลาดที่มีอายุสั้น และความเสี่ยงสูง เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับจังหวะความดังของดาราเจ้าของหนังสือ แต่กลุ่มนี้สามารถสร้างชื่อให้ Ghostwriter อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่นิยมพิมพ์ชื่อ Ghostwriter ลงที่ปกหนังสือด้วย
ส่วน ต้นสกุล สุ่ย หรือ”สาโรจน์ มณีรัตน์” เป็นหนึ่งในนักเขียน ที่มีผลงานที่รับจ้างเขียนในฐานะ Ghostwriter ที่เจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยชื่อเรื่อง
ด้วยเหตุผลที่ Ghostwriter ได้ค่าตอบแทนที่สูง หากเทียบกับปริมาณงานหรือระยะเวลาที่ทุ่มเทให้หนังสือเพียง 1 เล่ม อาจจะใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีแล้วแต่เงื่อนไข และข้อตกลงที่คุยกับเจ้าของเรื่องนั้นๆ
“สิ่งที่ Ghostwriter ควรระมัดระวัง คือ ไม่ควรละเมิดข้อตกลง และเรียกร้องค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อรักษาคุณภาพ และความน่าเชื่อถือกับแหล่งข่าว หรือคนว่าจ้าง เพื่อให้สามารถอยู่ในตลาดได้นาน และผลงานจะเป็นสิ่งที่บอกระดับของนักเขียนได้”
เขาอธิบายว่า “อาชีพ Ghostwriter ดีหรือไม่ ต้องดูที่เจตนาว่าเขียนเพื่ออะไร และได้อะไรตอบแทน บางคนยอมแม้กระทั่งไม่ใช้ชื่อตัวเองในฐานะนักเขียน ความจริงน่าจะตกลงกันได้ ที่สำคัญต้องให้น้ำหนักกับการคัดเลือกเรื่อง เพื่อให้คนอ่านรู้สึกว่าได้อะไร”
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เขียนหนังสือได้จะสามารถก้าวสู่อาชีพ Ghostwriter แล้วประสบผลสำเร็จ เพราะอาชีพนี้ต้องอาศัยชั่วโมงบินสูง ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาในระดับหนึ่ง เพื่อเขียนเรื่องให้สนุกและขายได้
“ความยากของงานเขียนแบบ Ghostwriter คือการเขียนเรื่องยังไงให้ได้อรรถรสตรงตามที่เจ้าของเรื่องอยากให้เป็น เพราะบางทีการฟังคนอื่นเล่ามันสนุก แต่การนำเรื่องนั้นกลับมาเขียนเพื่อให้คนอ่าน อ่านแล้วสนุก ไม่ใช่เรื่องง่าย”
ทุกวันนี้มี Ghostwriter ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เวลานี้การออกพ็อกเกตบุ๊กเป็นที่นิยมของนักธุรกิจ นักแสดง บุคคลที่มีชื่อเสีย เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ หรืออาชีพในอนาคต