B2S ร้านหนังสือประจำห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ย่อมาจากคำว่า Book to Stationery คือคำจำกัดความที่ครอบคลุมถึง positioning ของร้านนี้ได้ค่อนข้างดี แต่จุดเด่นของ B2S มิได้มีเพียงแต่หนังสือและเครื่องเขียนเท่านั้น ซีดี วีซีดี เพลงถือเป็นจุดเด่น โดยเฉพาะแผ่นเพลงต่างประเทศมีให้เลือกหลายหมวดหมู่ มากกว่าร้านหนังสือเชนอื่นๆ
เช่นเดียวกับหนังสือของ B2S จะเน้นภาพรวมทุกประเภทไม่โฟกัสไปยังประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายตามคอนเซ็ปต์ Enjoy your life, brighten your mind
“เศรษฐกิจแบบนี้คนจะเน้นสันทนาการจากการอ่านและฟังเพลงในบ้านมากขึ้น ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวไม่ออกไปเที่ยวกินที่ไหน ร้านหนังสือจึงเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ของคนเมือง” อนันต์ มานะศุภกานต์ Vice President – operation บริษัท บีทูเอส จำกัด บอกถึงโอกาสอันพึงมีพึงได้ของธุรกิจร้านหนังสือ
brand image ของ B2S คือ ร้านหนังสือและบันเทิงครบวงจร จับทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ โดยการปรับตัวอีกขั้นของ B2S คือการ renovate พื้นที่ที่เซ็นทรัล ชิดลม เพิ่มจำนวนนิตยสารต่างประเทศ เพื่อให้เป็น Magazine World รองรับกลุ่มเป้าหมายซึ่งมี modern lifestyle และเป็น trend setter รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติด้วย
แม้จะเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น แต่ก็ใช่ว่า B2S จะเปิดสาขาเฉพาะในห้างเซ็นทรัลหรือโรบินสันเท่านั้น สาขาแบบ stand alone มีปรากฏให้เห็นที่กระบี่ ตรัง เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่ magazine corner จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเจาะเข้าไปยังบริเวณที่มีพื้นที่ไม่มากนัก
อนันต์แสดงทัศนะเกี่ยวกับเทรนด์ของพ็อกเกตบุ๊กในปัจจุบันว่า หนังสือที่อ่านแล้วคลายเครียดเริ่มออกมาให้อ่านกันเยอะ คนก็ยังติดตามเพราะเป็นเทรนด์ อ่านแล้วสนุก ลืมเรื่องเครียดๆ ในชีวิตประจำวันไปได้ชั่วขณะ และราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อหนังสือ เพราะแต่ละร้านราคาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แล้วแต่ช่วงเวลาโปรโมชั่น แต่บริการจะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้นักอ่านเลือกที่จะเป็นลูกค้าใคร
การจัดวางสินค้าจะพิจารณาจากยอดขายเป็นหลัก โดยพ็อกเกตบุ๊กจะมี display ที่โดดเด่น และสามารถก่อให้เกิด impulse หรือการซื้อโดยมิได้ตั้งใจล่วงหน้าได้ ซึ่งเฉลี่ยแล้วพ็อกเกตบุ๊กจะมี shelf life ประมาณ 3 เดือน และเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับกระแส กิจกรรมการตลาดภายในร้านที่ร่วมกับสำนักพิมพ์จึงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือนต่อสาขา (ในกรุงเทพฯ)
B2S ตั้งเป้ายอดขายสิ้นปี 2548 อยู่ที่ 2,700 ล้านบาท ขณะที่ปี 2547 ปิดยอดขายที่ 2,300 ล้านบาท
B2S สาขาที่อยู่ในห้างมีพื้นที่ประมาณ 600-800 ตารางเมตรขึ้นไป ขณะที่รูปแบบ network จะมีขนาดเล็กประมาณ 200-400 ตารางเมตร สาขาที่มียอดขายดีคือสาขาขนาดใหญ่ คือ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า บางนา และชิดลม สำหรับแผนการขยายสาขาต่างจังหวัดมีหลายรูปแบบทั้งลงทุนเองและ joint venture กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของระบบแฟรนไชส์
ส่วนแบ่งยอดขายภายใน B2S
Pocket book 40%
Stationery 40%
Entertainment 20%
จำนวนสาขาของร้าน B2S
– ปี 2001 จำนวน 6 สาขา
– ปี 2002 จำนวน 18 สาขา
– ปี 2003 จำนวน 39 สาขา
– ปี 2004 จำนวน 60 สาขา และ Magazines Corner ในรูปแบบ Kiosk
33 จุด
– ปี 2005 (กันยายน) จำนวน 64 สาขา และ Magazines Corner ในรูปแบบ
Kiosk 38 จุด