พ็อกเกตบุ๊กไทย จะโกอินเตอร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อศูนย์เผยแพร่ลิขสิทธิ์ไทย (Thailand Rights Center : TRC) นำร่องไปบุกตลาดมาแล้ว
หัวเรือใหญ่ที่ผลักดันศูนย์ TRC “ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” บอสใหญ่ของค่ายดีเอ็มจี สำนักพิมพ์ที่มีผลงานหนังสือเล่มด้านบริหารจัดการที่โดดเด่นรายหนึ่งของวงการ จุดประกายความคิด เมื่อครั้งที่ดนัยได้ไปร่วมออกงานใหญ่ครั้งแรกระดับโลก Book Expo ที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน
จากประสบการณ์อันเชี่ยวกรากในบทบาทที่ปรึกษาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ของค่ายเอ็มดีเค คอลซัลเท้นต์ ทำให้เขาเห็นลู่ทางและโอกาสของหนังสือไทยเป็นครั้งแรก
“โอกาสมีอยู่ในวรรณกรรมไทย เพราะเรามี content องค์ความรู้มากมายมหาศาล วัฒนธรรมของตัวเอง และมีแนวผสมผสาน จีน อินเดียอยู่แล้ว แต่ยังขาดวิธีการ คนที่มาใส่ใจ”
ดนัย บอกว่า แต่ละปีประเทศไทยต้องเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์งานประพันธ์จากต่างประเทศ คิดเป็นเงินประมาณ 500-600 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย คำนวณจากข้อมูลที่บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2547 ที่ผ่านมา หนังสือแปลมีสัดส่วน 40% ของมูลค่าตลาดรวมธุรกิจหนังสือ 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 8,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เฉลี่ยที่ 7% ซึ่งตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ผลงานเขียนของไทยที่ถูกขายในตลาดต่างประเทศมีไม่ถึง 1%
ศูนย์ TRC จึงเป็นหัวหอกในการผลักดันผลงานเขียนไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการสวนทางกลับกระแสการนำเข้าลิขสิทธิ์ผลงานไปยังตลาดต่างประเทศที่กำลังได้รับการตอบรับอย่างมากในปัจจุบันนี้
ความตั้งใจของเขาคือ ต้องการเห็นผลงานนักเขียนไทยได้ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศอื่นๆ อาทิ ฮังการี อิตาลี โปรตุเกส นอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่ปรากฏให้เห็นจนชินตาไปบ้างแล้ว
“ปัจจุบันผลงานประพันธ์ในภูมิภาคอาเซียน ยังไม่มีประเทศใดที่ทำตลาดอย่างจริงจัง มีเพียงไทยและมาเลเซียที่เริ่มให้ความสำคัญ โดยงานเขียนของไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับความสนใจจะอยู่ในหมวดภูมิปัญญาตะวันออก, พุทธศาสนาและปรัชญา, การดูแลสุขภาพ, อาหาร, หนังสือเด็กและวรรณกรรม”
เป้าหมายปีแรก ศูนย์ TRC จะรวบรวมผลงานของนักเขียนไทยให้ได้ประมาณ 300 เรื่อง โดยเน้นงานเขียนที่ได้รับรางวัลก่อน เช่น ซีไรต์, เซเว่น บุ๊ค อวอร์ด, นายอินทร์ อวอร์ด เป็นต้น จากนั้นคัดเลือกให้เหลือประมาณ 150 เรื่อง เพื่อมาทำเรื่องย่อ และออกแบบปกใหม่ ก่อนนำไปเสนอขายให้กับสำนักพิมพ์ต่างประเทศที่สนใจ โดยผ่านช่องทางในงานบุ๊คเอ็กซ์โปเด่นๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปีที่ อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน เป็นต้น
หลังจากศูนย์ TRC เดินสายเปิดตัวตามบุ๊คเอ็กซ์โปเป็นเวลาเกือบ 8 เดือน จึงได้พบว่า วรรณกรรมไทยยังมีจุดอ่อนไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แตกต่างจากวรรณกรรมจากอังกฤษ อเมริกา การผลักดันจึงเป็นบทบาทใหญ่ที่ภาครัฐควรทำ หน่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์โปรโมตเป็นภาพรวมประเทศ
“กรณีเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่สำเร็จ ไม่ว่าภาพยนตร์ เพลง และวรรณกรรมขายในต่างประเทศได้หมด เพราะเขาโปรโมตประเทศก่อนจนพลิกประเทศให้เป็นที่รู้จัก ทำแบบบูรณาการ จัดงานอีเวนต์ระดับโลก ฟุตบอลโลก หรืองานเอ็กซ์โป จนโดดเด่นในเอเชีย และแผ่อิทธิพลมายังไทย”
ดนัย บอกว่า เรื่องขายลิขสิทธิ์ยังเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย หน่วยงานราชการหลายแห่งยังไม่เข้าใจว่าขายอะไร และตามไม่ทัน เพราะปกติเราจะขายสินค้าทำด้วยมือ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาและให้ความรู้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป
อุปสรรคสำคัญในการเผยแพร่ผลงาน ยังคงเป็นด้าน “การแปล” ที่ต้องพิถีพิถันค่อนข้างมากให้ได้ “คุณภาพ” และคงไว้ซึ่ง “อรรถรส” แม้ปัจจุบันมีนักแปลเป็นจำนวนมาก แต่นักแปลที่มีคุณภาพยังน้อยอยู่
“ต้นฉบับ (ไทย) สนุก แต่แปลแล้วตกหล่น ไม่ได้อารมณ์ คนอ่านก็ไม่ get“ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ TRC ประสบความสำเร็จไปก้าวหนึ่ง คือ การได้ลงมือทำแล้ว แม้จะเป็นก้าวแรก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหวังที่นักเขียนไทย และคนไทยภาคภูมิใจ