สยามพารากอน จุดพลุ “ถนนสายช้อปปิ้ง”

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชฎาทิพ จูตระกูล และศุภลักษณ์ อัมพุช สองผู้บริหารหญิงเหล็ก หัวหอกแห่งสยามพารากอน นำกองทัพนักข่าวเยี่ยมชมภายในโครงการระดับโลกเป็นครั้งแรก เพื่อยืนยันความพร้อมในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ หลังจากเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง

แม้โครงสร้างภายนอกจะเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ตาม แต่ภายในยังที่ยากจะคาดเดา แต่ทั้งชฎาทิพและศุภลักษณ์กลับให้ทุกรายละเอียดว่า ที่ว่างตรงนี้จะเป็น flagship store หรือ first store ของแบรนด์ใด …ทำเอาบรรดานักข่าวต้องหลับตานึกภาพตาม

การเปิดตัวโครงการสยามพารากอนปลุกกระแสความตื่นตัวของบรรดาศูนย์การค้าทั้งใหญ่และเล็กตลอดแนวถนนพระราม 1 จนถึงสุขุมวิท 31 ที่พากันปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรับสงครามค้าปลีกที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ปรากฏการณ์ยังเปลี่ยนถนนเส้นนี้ให้เป็น “Shopping Street” อยู่บนแผนที่ถนนช้อปปิ้งโลก

ในสายตาของศุภลักษณ์คู่แข่งที่สูสีกับสยามพารากอน น่าจะเป็นศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น Pacific Place หรือ IFC Mall ในฮ่องกง Takashimaya Mall ในสิงคโปร์ Plaza 66ในเซี่ยงไฮ้ Taipei 101ในไต้หวัน และ Dubai Mall ในดูไบ เป็นต้น ซึ่งเธอยังบอกด้วยว่า ความใหญ่ของสยามพารากอนส่งผลให้รัฐบาลสิงคโปร์เปิดกาสิโนในประเทศ เพื่อกันไม่ให้นักท่องเที่ยวไหลมากรุงเทพฯ

สำหรับกลุ่มลูกค้าของสยามพารากอนเป็นกลุ่มคนที่มีรสนิยมระดับ Bขึ้นไปจนถึง A+(+) คาดว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว 30% และคนที่อาศัยในเมืองไทยอีก 70% ค่าใช้จ่ายต่อหัวภายในห้างเฉลี่ย 1,000 บาท/คน และนอกห้างเฉลี่ย 3,000 บาท/คน โดยสนนราคาสินค้าเริ่มตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลายสิบล้าน ทั้งนี้ เป้ารายได้เดือนแรกๆ ตั้งไว้ที่ 2,000 ล้านบาท และคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 3 ปี

10 ที่สุดของสยามพารากอน

1. เป็นศูนย์การค้าที่ใช้เม็ดเงินลงทุนสูงที่สุด กว่า 15,000 ล้านบาท
2. เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีพื้นที่กว่า 500,000 ตร.ม.
3. เป็นศูนย์การค้าที่มีร้านค้าแบรนด์เนมชั้นนำของโลกและของไทยมากที่สุด กว่า 250 ร้าน
4. เป็นศูนย์การค้าที่ใช้สถาปนิกและดีไซเนอร์มากที่สุด กว่า 100 คน (ยังไม่รวมดีไซเนอร์ของแต่ละร้าน)
5. เป็นศูนย์การค้าที่ flagship store และ first store ของแบรนด์ชั้นนำมากที่สุด
6. เป็นศูนย์กลางค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย กว่า 50 ร้านค้าชั้นนำของโลกและของไทย
7. มีอะควาเรี่ยมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
8. เป็นศูนย์การค้าที่มีเลนโบว์ลิ่งเยอะที่สุด 52 เลน
9. เป็นศูนย์การค้าที่มีความจุของโรงหนังมากที่สุด 5,500 ที่นั่ง และโรงหนัง Imax อีก 600 ที่นั่ง
10. เป็นศูนย์การค้าที่มีดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่ใหญ่ที่สุด พื้นที่ 80,000 ตร.ม.

Did You Know?

ด้วยความใหญ่ของลานจอดรถชั้นใต้ดินซึ่งมีเนื้อที่ 25 ไร่ สยามพารากอนจึงลงทุนติดตั้งหัวอ่านบัตรจอดรถที่ประตูเข้าห้าง เพื่อทำให้ลูกค้าทราบว่าจอดรถอยู่ล็อกไหน โดยงบลงทุนในระบบ Intelligent Car Park นี้สูงกว่า 10 ล้านบาท

Stores of Super Brand

ในจำนวนกว่า 250 ร้านค้าของแบรนด์ชั้นนำของโลกและของไทยนั้น มีหลายร้านที่เป็น flagship store มีขนาดตั้งแต่ 300 – 2,000 กว่า ตร.ม. หลายร้านยังเป็นร้านที่มาเปิดที่สยามพารากอนเป็นแห่งแรกในเอเชีย หรือครั้งแรกในประเทศไทย แต่ทุกร้านสองผู้บริหารสาวรับรองว่ามีการดีไซน์ตกแต่งที่มีเอกลักษณ์และพิถีพิถันโดยดีไซเนอร์ชั้นนำของโลก มูลค่าการแต่งร้านสูงถึง 60 – 150 ล้านบาท

1. Super Car Stores
พื้นที่ร่วม 14,000 ตร.ม. สำหรับผู้นำเข้ารถยนต์ซูเปอร์คาร์ได้นำสินค้ามาจัดจำหน่ายและแสดงในคอนเซ็ปต์การจัดร้านแบบแกลเลอรี่ ซึ่งแบรนด์ที่จะมาอวดโฉม ได้แก่ ปอร์เช่ จากัวร์ และเบนท์เลย์ จากค่าย AAS หรือเฟอร์รารี่ มาเซราติ และบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ ซึ่งนำมาจำหน่ายคอลเลกชั่นเสื้อผ้า นาฬิกา ฯลฯ มาจำหน่ายด้วย

2. Lee Marine : Yatch Store
คงจะไม่ง่ายที่จะได้เห็นเรือยอตช์เข้ามาจอดกลางใจเมือง และบนห้างสรรพสนค้า แต่ที่นี่เราจะได้เห็นเรือยอตช์ที่แพงที่สุดคือ Ferretti สนนราคาก็แค่ไม่กี่แสนเหรียญสหรัฐ

3. Kinokuniya
ร้านคิโนคูนิยะที่นี่มีพื้นที่กว่า 2 พัน ตร.ม. ถือเป็นร้านหนังสือนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประ เทศ โดยคอนเซ็ปต์การแต่งร้านจะแตกต่างไป เพราะนำแรงบันดาลใจมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและใบบัว ที่นี่จะรวบรวมหนังสือหลากภาษาจากทั่วโลก พร้อมมีมุมกาแฟและมุมแสดงผลงานศิลปะ

4. Mikimoto Flagship Store
“มิกิโมโต้” คือ บริษัทผู้ออกแบบมงกุฎเพชรให้กับมิสยูนิเวิร์สคนล่าสุด ซึ่งเลือกมาเปิดร้านที่สยามพารากอน โดยมิกิโมโต้ตั้งใจให้สาขานี้เป็นศูนย์กลางในการค้าขายเครื่องประดับ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ร้านที่นี่จึงถูกดีไซน์ให้หรูหรากว่าอีก 100 แห่งทั่วโลก

5. Hugo boss : Concept Store
ร้าน Hugo boss ที่สยามพารากอนจะเปิดเป็นแนว concept store ที่จะนำเอาสินค้าแฟชั่นของผู้หญิงมาจัดจำหน่ายและแสดงด้วย เป็นครั้งแรก

6. Swaroskvi : Concept Store
จากร้านเครื่องประดับและเพชรที่มีชื่อเสียงมาจากต่างประเทศ สำหรับ Swaroski Concept Store ที่สยามพารากอนนี้จะมีการนำเอาคอลเลกชั่นเสื้อผ้าเข้ามาจำหน่ายด้วย

7. Vertu Store
ร้านนี้ถือเป็นร้านแรกในประเทศไทย และเป็นร้านแรกในโลกที่เปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากความคลาสสิกมาเป็น “Vertu Gift Shop” เพิ่มเทคโนโลยีและความทันสมัย แต่ก็ยังคงความหรูหราและคลาสสิกในตัวของสินค้าไว้ โดยเลือกชั้น 1 ของห้าง ซึ่งเป็น luxury lifestyle เป็นที่ตั้งร้าน เพื่อสร้างแบรนด์ Vertu ให้มีภาพความเป็นสินค้าแฟชั่น

8. Jim Thompson
จิม ทอมป์สัน เลือกใช้ร้านที่สยามพารากอนเป็น flagship store

Magnet

นอกจากบรรดาร้านค้ากว่า 250 แบรนด์ สยามพารากอนยังมีโซน World of Entertainment ทำหน้าที่เป็นเหมือน “แม่เหล็ก” ดึงดูดคนที่ไม่ใช่นักช้อป ให้เดินเข้ามาหาความเพลิดเพลินจากกิจกรรมอื่น ณ ที่นี่ ตัวอย่าง “ความบันเทิง” เหล่านั้น เช่น

1. Siam Ocean World
“สยาม โอเชี่ยน เวิลด์” เป็นอะควาเรี่ยมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียและออสเตรเลีย และยังใหญ่เป็นอันดับสองของโลก สร้างอยู่ชั้นใต้ดิน มีพื้นที่กว่าหนึ่งหมื่น ตร.ม. และมีสัตว์น้ำกว่า 3 หมื่นชนิด กว่า 400 สายพันธุ์ จากมหาสมุทรทั่วโลก เช่น ปลาฉลาม นกเพนกวิน และแมวน้ำจากขั้วโลกใต้ เป็นต้น ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถชมวิวได้ถึง 360 องศา ซึ่งในโลกมีเพียง 2 แห่ง คือ ออสเตรเลีย และเมืองไทย

สยาม โอเชี่ยน เวิลด์ ต้องใช้งบลงทุนกว่าพันล้านบาท โดยมีบริษัท โอเชียนนิส ออสเตรเลีย กรุ๊ป เป็นผู้ลงทุนและพัฒนา ซึ่งที่นี่นับเป็นอะควาเรี่ยมในศูนย์การค้าแห่งแรกของโลก ทั้งนี้ ทั้งผู้บริหารของสยามพารากอน และโอเชียนนิสฯ ต่างก็ตั้งเป้าให้ “สยาม โอเชี่ยน เวิลด์” แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

2. Siam Opera House
“สยาม โอเปร่า เฮาส์” เป็นโรงละคร “แนวบอร์ดเวย์” แห่งแรกของไทย ตั้งอยู่บนชั้น 5 สามรถจุคนดูได้ถึง 1,800 ที่นั่ง ส่วนละครที่จะนำเข้ามาแสดง เช่น “The Phantom of the Opera”, “Miss Saigon”, “Cats” และ “Les Misera-ble” เจ้าของโครงการคือ บริษัท เนเชอรัล ปาร์ค หวังปั้นให้เทียบชั้นกับ เดอะ โอเปร่า เฮาส์ ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย หรือของฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ให้ได้ จึงยอมลงทุนว่าจ้างบริษัท Cameron Mackintosh Consultant ที่ปรึกษาโรงละครระดับโลก มาดูแลมาตรฐาน (แต่คงต้องรอต่อไปอีก 18 เดือนถึงจะได้สัมผัสของจริง)

3. Paragpon Cinepolis
บนเนื้อที่กว่า 20,000 ตร.ม. ในโซน Paragon World of Entertainment ของสยามพารากอน ส่วนพื้นที่ของโรงภาพยนตร์แนวใหม่ที่มีความหรูหราจำนวน 15 โรง รองรับผู้ชมได้ 5,500 ที่นั่ง และโรงภาพยนตร์จอยักษ์ 3 มิติ IMAX 600 ที่นั่ง รวมทั้งเมเจอร์โบว์ 52 เลน โดยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ยอมทุ่มทุน 1,000 ล้านบาทเพื่อสร้างความแตกต่าง และทำให้ที่นี่เป็นเมืองแห่งหนังและเอนเตอร์เทนเมนต์ที่ยิ่งใหญ่และดีที่สุดในเอเชีย และดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก

ทั้งนี้ ส่วนที่เป็นไฮไลต์ของโรงภาพยนตร์ก็คือ โรงภาพยนตร์แกรนด์ เธียเตอร์ ที่จุคนได้ถึง 1,200 ที่นั่ง โดยภายในถูกออกแบบให้มี private balcony รองรับแขกสำคัญระดับประเทศ หรือแขก VIP ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่เข้มงวด ได้จำนวนมากถึง 200 คน

4. Paragon Gourmet Market & Food Hall
เป็นพื้นที่ศูนย์อาหารที่หลากหลายทั้งชนิด รูปแบบ รสชาติ และราคา ตั้งอยู่ที่ชั้น Street Level บนเนื้อที่ราวหมื่นตร.ม. จัดเป็นศูนย์อาหารที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ส่วนของ food hall จะเป็นร้านค้าสไตล์ open kitchen กว่า 30 ร้าน ทั้งนี้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ best original taste และ trend of food fashion

5. Royal Paragon Hall
รอยัล พารากอน ฮอลล์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ใช้งบก่อสร้างราว 380 ล้านบาท ตั้งอยู่บนชั้น 6 มีพื้นที่ประมาณ 12,000 ตร.ม. จุคนได้ราว 5 พันคน จุดเด่นอีกประการคือความสูงที่มากถึง 12.50 เมตร และมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยไว้ให้บริการจึงจัดงานได้หลากหลาย เป้าหมายก็คือทำพื้นที่นี้ให้เป็น lifestyle hall รองรับอีเวนต์การตลาด งานคอนเสิร์ต งานประชุม งานแสดงสินค้า หรือนิทรรศการของคนเมือง โดยตั้งใจเจาะกลุ่ม niche market ซึ่งเลือกพื้นที่ได้ตามขนาดที่ต้องการ

Did You Know?

ห้างใหญ่ๆ บนถนนสายช้อปปิ้งที่มีการปรับใหม่ ส่วนใหญ่จะจัดเตรียมพื้นที่ว่างเอาไว้สำหรับให้บริการเช่าจัดงานอีเวนต์ทางการตลาด ทั้ง Royal Paragon Hall ของสยามพารากอน, ลานกิจกรรมชั้นล่างที่เชื่อมระหว่างสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่, ชั้น 1 และชั้น 45 ของเซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิศ, ลานกิจกรรมตรงกลางของเกษรพลาซ่า และ Living Hall ซึ่งเป็นอีเวนต์ ฮอลล์ของ The Emporium ซึ่งเพิ่งปรับไม่นาน