ธัญญรักข์ สะใภ้หมายเลข 3 แห่งตระกูลชวาลดิฐซึ่งเป็นผู้ก่อกำเนิดบริษัท “เอส.บี. อุตสาหกรรมเครื่องเรือน” หรือที่คุ้นเคยกันดีในนาม S.B. Furniture และที่สำคัญ เธอถูกเลือกให้เป็นขุนศึกทางการตลาด ผู้กุมตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และผู้นำทีมคนรุ่นใหม่บุกเบิกการสร้างแบรนด์ จน S.B. เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะ Furniture Expert
S.B. Furniture ก่อตั้งมาแล้วเกือบ 40 ปี แต่การสร้างแบรนด์ S.B. เพิ่งเริ่มก่อร่างในตลาดเฟอร์นิเจอร์เมืองไทยราว 8 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ S.B. เริ่มผลัดใบให้คนรุ่นลูกเข้ามา โดยมีธัญญรักข์ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้สร้างตำนานบทใหม่ให้กับธุรกิจของครอบครัวสามีทันที หลังจากแต่งงาน ถือเป็นการเปิดฉาก “ยุคสร้างแบรนด์” อย่างเต็มตัว
ด้วยดีกรีทางการตลาดการันตีถึง 2 ใบ ประกอบกับบุคลิกสไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น กล้าคิดกล้าทำ กล้าแตกต่าง และกล้าตัดสินใจ บวกกับความเป็นผู้นำ เธอเชื่อว่า คุณสมบัติเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวฝ่ายสามีวางใจ และเชื่อมั่นว่าเธอจะเข้ามาสานต่อธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวให้ถึงฝั่งฝันจนได้ แม้เธอจะไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาก่อน
“การแต่งเข้าบ้านสามี (ธนวินต์ ชวาลดิฐ) และเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวสามีถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต” ธัญญรักข์พับเก็บประสบการณ์ด้านการเงินร่วม 2 ปี แล้วขุดเอาความรู้ทางการตลาดที่สมัยเรียนปริญญาตรีและโทมาประยุกต์ใช้ ทว่าการลงแข่งในสนามจริงก็สอนให้เธอรู้ว่า หากมัวแต่เปิดตำราคงไม่ทันกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วมาก
ธัญญรักข์เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดราวปี 2540 เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรอยู่นานก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่หลายกิจการพากันถอนตัวออกไปตั้งหลัก แต่เธอเห็นว่านี่คือโอกาสอันดีที่จะเริ่มลงทุนสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง โฆษณาชิ้นแรกของ S.B. จึงเปิดตัวขึ้นในปี 2541 พร้อมกับการเร่งขยายโชว์รูมในพื้นที่ห้าง และโฆษณาชิ้นที่สองก็ตามมา โดยมี สัญญา คุณากร เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งทำให้แบรนด์ S.B. เป็นที่รู้จักมากขึ้น
หลังจากวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เธอยิ่งมั่นใจว่า จุดอ่อนที่ผ่านมาของ S.B. ก็คือขาดการสร้างแบรนด์ที่จริงจัง จึงตัดสินใจปรึกษาครอบครัวเพื่อขอมติปรับวัฒนธรรมองค์กร “จากเดิมที่ฝ่ายผลิตนำธุรกิจ แต่มายุคนี้ที่การแข่งขันรุนแรงมาก S.B. จะต้องใช้การตลาดนำการผลิต จึงจะเป็นผู้นำตลาดได้” ความคิดนี้ส่งผลให้องค์กรของ S.B. ถึงกับต้องยกเครื่องครั้งใหญ่
“การรับช่วงต่อจากคนรุ่นแรกก็นับว่าเป็นความท้าทายมาก แต่การที่ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลักการและระบบบริหารจัดการที่มีอยู่เดิม มันหมายถึงทัศนคติ พฤติกรรม และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งนี่ก็คือประสบการณ์ที่ท้าทายที่สุดแล้ว” ธัญญรักข์เล่าย้อนถึงความหนักใจในการทำงานช่วงแรกๆ
ทีมงานฝ่ายการตลาดที่เคยรับบทเป็นผู้ตาม ต้องตื่นตัวอย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายการผลิตเองก็ต้องเร่งพัฒนาเทคนิคและรูปแบบสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองแนวทางของฝ่ายการตลาด ขณะที่ R&D ต้องยิ่งแอ็กทีฟเพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนฝ่ายต่างๆ รวมทั้งฝ่ายอื่นก็ควรจะต้องปรับตัวให้ไปพร้อมกัน “ถ้าการตลาดคิดแล้วหมุนคนเดียวก็คงไปไม่ได้ คนที่อยู่ในองค์กรต้องเห็นดีร่วมกันและหมุนไปพร้อมกัน องค์กรจึงจะไปต่อได้”
ธัญญรักข์เชื่อมั่นศักยภาพของการตลาดในการขับเคลื่อนธุรกิจหน้าใหม่ของ S.B. โดยมีกลยุทธ์เชิงรุกที่เป็นเหมือนสูตรสำเร็จ ก็คือการออกสินค้าใหม่ทุกเดือน และนำนวัตกรรมใหม่มาใช้อย่างสม่ำเสมอ
“การจะเป็นผู้นำตลาด เราต้องแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งความแตกต่างนี้ลูกค้าจะต้องสัมผัสได้และรู้สึกไปกับเราด้วย พวกเขาจึงจะเชื่อว่าสินค้าของเราพิเศษกว่ารายอื่น ตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของการตลาดที่จะต้องสื่อสารออกไปให้ได้”
…หลังจากแต่งงานเข้ามาเป็นสะใภ้เบอร์ 3 แห่งบ้านชวาลดิฐ เธอใช้เวลาอยู่หลายปีนำพา S.B. ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำตลาดเฟอร์นิเจอร์ของเมืองไทย และก้าวข้ามความเป็นธุรกิจครอบครัวมาสู่ธุรกิจไทยที่ได้รับความยอมรับในระดับสากล ซึ่งเธอต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ความคิด และใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายข้างต้น
จนกระทั่ง 3 ปีที่แล้ว เธอยอมแบ่งเวลาอีกส่วนหนึ่งให้กับลูกชายทั้ง 2 คนที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัว เช่น ตีเทนนิส ช้อปปิ้ง เที่ยวต่างจังหวัด และไปต่างประเทศด้วยกันช่วงปิดเทอม “สมัยก่อนทำงานทั้ง 7 วัน เพราะรู้สึกว่ามันมีอะไรต้องทำเยอะ แต่ตอนนี้เรายกเสาร์-อาทิตย์ให้เป็นวันของลูก เพราะวันข้างหน้าเราไม่อยากเสียดายช่วงชีวิตที่ควรจะได้อยู่ด้วยกัน”
อีกเหตุผลหนึ่งที่สาวคลั่งงานอย่างธัญญรักข์ยอม “ปิดสวิตช์” ตัวเองเป็นบางครั้งคราว ก็เพราะว่าเธอได้สร้างและพัฒนาทีมงานที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงขึ้นมาช่วยสานต่อนโยบายของเธอได้บ้างแล้ว “คนเรามี 24 ชม. มี 2 มือ มี 1 สมอง เท่าๆ กัน ถ้าอยากทำงานให้สำเร็จลุล่วงและเดินได้อย่างรวดเร็ว ก็ต้องมีทีมงานเก่งๆ” และคนกลุ่มนี้เองที่ธัญญรักข์หมายมั่นว่าจะเป็นมือและสมองช่วยเธอผลักดัน S.B. ก้าวต่อไป
สุดท้าย ธัญญรักข์มองแนวทางบริหารในปีหน้าว่า เพราะปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้น เธอคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะพา S.B. ก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปให้ได้อีกปี ซึ่งหลักการที่ใช้ก็คงเหมือนจุดเปลี่ยนในปี 2540 คือ การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างแบรนด์ที่ไม่อาจหยุดได้ “นี่เป็นอีกครั้งที่เราจะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และมั่นใจว่าเราคือ Best Choice ในตลาด”
Profile
Name : ธัญญรักข์ ชวาลดิฐ
Age : 35 ปี
Education :
พ.ศ. 2536 – 2538 บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการตลาด และการเงิน สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2533 – 2535 บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด RMIT University, Melbourne, Australia
พ.ศ. 2531 – 2533 มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนนานาชาติเซเว่นเดย์ แอดเวนตีส (เอกมัย)
Career Highlights :
พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส.บี. อตุสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด
พ.ศ. 2542 – 2544 ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
พ.ศ. 2540 – 2542 ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด
พ.ศ. 2538 – 2540 เจ้าหน้าที่ฝ่ายวาณิชยธนกิจ บริษัท ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน)
Family :
สามีคือ ธนวินต์ ชวาลดิฐ มีลูกชาย 2 คน คือ กฤตวรรฒน์ และไชยทัศน์ ชวาลดิฐ (วัย 8 และ 6 ปี)