สงครามโลก Google Earth ปฏิวัติธุรกิจด้วยโลกดิจิตอลใบใหม่

นับตั้งแต่บริการ Google Earth เปิดตัวมาก็สร้างกระแสฮือฮาให้กับผู้ใช้ทั้งในเมืองไทยและทั่วโลก ประเด็นร้อนในบ้านเรากลับเล่นตามแค่กระแสข้อมูลความมั่นคง ที่ถกเถียงกันว่า ปกปิด หรือเปิดเผย จนถึงขั้นว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะบล็อกบริการนี้หรือไม่…แต่ละเลยอีกด้านหนึ่งของเรื่องราวที่จะเป็นเหมือนการปฏิวัติทางธุรกิจครั้งใหญ่ และการรุกก้าวใหญ่ครั้งนี้ของกูเกิลจะสร้างระลอกของการเปลี่ยนแปลงได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปรากฏการณ์ของการเกิดโปรแกรมเบราเซอร์ และเวิลด์ ไวด์ เว็บในอดีตเสียด้วยซ้ำ…ปัญหา คือ เมืองไทยเตรียมรับมือตรงนี้หรือยัง เพราะ Google Earth จะกระทบต่อธุรกิจในทุกระดับนับตั้งแต่ นายหน้าขายที่ พ่อค้าเร่ คนแจกใบปลิว แท็กซี่ ไล่ไปจนถึง เจ้าของรีสอร์ต ฯลฯ

ลองนึกภาพดูว่าวงการธุรกิจไทยในวันนี้และวันหน้าจะเปลี่ยนไปมากมายแค่ไหน ถ้าโลกเราทั้งใบกลายร่างมาเป็นข้อมูลสำเร็จรูปปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ใคร ๆ ก็เอาใช้ได้ ไม่ได้ตกอยู่ในมือหน่วยงานภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่อีกต่อไป

หลายคนยกประเด็นเรื่องความมั่นคงขึ้นมาแย้ง แต่คงลืมไปว่า ถึงไม่มี Google Earth บริการ ก็มีดาวเทียมเชิงพาณิชย์มากมาย และบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่ขายภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านี้อยู่แล้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมทั้งหน่วยงานกึ่งภาครัฐอย่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ที่เสนอขายกันในอัตราตั้งแต่ตารางกิโลเมตรละ 540 -1024 บาท ตามแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย

และที่สำคัญก็คือ ข้อมูลใน Google Earth ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ลึกลับ แถมมีขายมานานแล้ว แต่ที่ทำให้ฮือฮากันไปทั่วโลกเพราะเสนอในรูปแบบฟรี ดูสะดวก เข้าใจง่าย แถมผ่านสื่อที่ไวที่สุดคือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งกว้างขวางที่สุดและรองรับการใช้งานแบบมัลติมีเดีย

เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลใหม่นี้มีมากเสียจนตอนนี้แม้แต่บางโรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็เริ่มมีการบ้านจากครูให้เด็กนักเรียนมัธยม หาตำแหน่งบ้านตนเองจากกูเกิลกันเรียบร้อยแล้ว ปัญหาของเมืองไทยวันนี้ไม่ใช่เรื่องของ “ความลับ” หรือการปกปิดข้อมูลที่ไม่เป็นเรื่องลับมานานแล้ว หากแต่อยู่ว่าจะปรับตัวอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงนี้ต่างหาก โดยเฉพาะใครก็ตามที่อยู่ในภาคธุรกิจ

ก่อนจะไปดูกันว่ามันคืออะไร มาอุ่นเครื่องกันเล็กน้อยว่า มันทำอะไรได้บ้างและจะกระทบกับชีวิตเราอย่างไร กันบ้าง…

*นายหน้าค้าที่

ในอนาคตอันใกล้นี้ เรียลเอสเตทจะกลายเป็นวงการที่ผู้ซื้อและผู้ขายตื่นเต้นที่สุด เพราะตั้งแต่นี้ไปจะมีแผนที่ดาวเทียมที่ชัดเจนจนถึงระดับหลังคาบ้านเอาไว้อ้างอิงและใช้งาน นายหน้าค้าที่ธรรมดาๆ ที่ใช้ GPS หรือ Global Positioning System จะกลายเป็นนายหน้าอัจฉริยะ เพราะสามารถเชื่อมโยงตำแหน่งเข้ากับซอฟต์แวร์อื่นๆ และภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth ข้อมูลทุกพื้นที่สามารถจัดเก็บลงฐานข้อมูล ในขณะที่โน้ตบุ๊กกับ GPS จะกลายเป็นอุปกรณ์คู่กายโดยไม่รู้ตัว

*คนซื้อบ้าน

หลังจากหลงทิศไปนาน คู่รักที่กำลังจะวางแผนแต่งงานและมองหาทำเลซื้อบ้าน ในที่สุดก็ได้บ้านในฝัน ทำเลดี ในหมู่บ้านที่เงื่อนไขผ่อนดีเป็นพิเศษ ก่อนตัดสินใจ ทั้งคู่ลองมาเช็กกับกูเกิลเอิร์ธอีกที ทำเลที่ตั้งกับระยะทางไปถนนใหญ่ก็เหมาะเจาะจริงๆ แต่พอขยายระยะหน้าจอให้ห่างออกมา กลับเห็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ถัดออกไปไม่ไกลนัก ซึ่งถ้ามองระดับสายตาในหมู่บ้านก็จะไม่เห็น …คู่รักรายนี้เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายเพราะไม่อยากได้บ้านใกล้โรงงานควันโขมง

*นักธุรกิจเรียลเอสเตท

ประกาศขายบ้านในหนังสือพิมพ์และแมกกาซีนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อผู้อ่านไม่พอใจแค่คำประกาศว่า…บ้านดี ทำเลสวย ติดถนนใหญ่ ใกล้ทางด่วน แต่อยากรู้เลยว่า บ้านที่ว่านั้นมันอยู่ตรงไหนกันแน่ และถ้าดูภาพดาวเทียมกูเกิลเอิรธ์ จะต้องลงพิกัดอะไร ส่งไฟล์การเดินทางจากถนนหลัก ในรูปแบบ “การบิน” เหนือพื้นที่มาให้ดูได้มั้ย และในไม่ช้า ประกาศโฆษณาเรียลเอสเตทไหนที่ไม่มีข้อมูล GPS กำกับก็ไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น โฆษณาหมู่บ้านจัดสรรที่ไม่กี่ปีมานี้ ต้องหันมาปรับตัวรับยุคไฮเทค ด้วยการมีเบอร์เว็บ และเว็บไซต์ให้ลูกค้าดูข้อมูล คราวนี้ต้องปรับตัวกันต่ออีกรอบเพราะเวลาลงโฆษณาก็ต้องเพิ่มพิกัด GPS เพราะลูกค้าจะเช็กว่ามันอยู่ไหนกันแน่ ไอ้ที่ว่า ห่างจากทางด่วนแค่ 10 นาทีนั้นมันแค่ราคาคุย หรือเรื่องจริง

*อบต.

ถึงจะได้งบกลางมาสร้างถนน แต่พอถึงขั้นวางแผนตัดถนนกับชุมชนทั้ง 3 ตำบล ก็เถียงเรื่องเส้นทางกันไม่จบไม่สิ้น แต่ในที่สุดก็ทำให้สามตำบลเห็นพ้องกันได้เสียที ว่าถนนเส้นใหม่ควรตัดแนวนี้ เพราะข้อมูลภาพดาวเทียมชี้ชัดเจน ว่าเส้นทางที่เลือกนั้นประหยัดและมีประโยชน์ที่สุด

*ครูภูมิศาสตร์

วิชาเก่าแก่จะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เหตุเพราะคราวนี้คุณครูหมวดสังคมจะมีเครื่องมือสื่อการสอนที่ทรงพลังที่สุดและเร้าใจที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ เพราะนี่คือลูกโลกที่เหมือนเป็นลูกแก้ววิเศษในนิยาย จะส่องดูตารางกิโลเมตรไหนของโลกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น พีระมิดที่อียิปต์ พระราชวังห้ามในปักกิ่ง ดอยสุเทพ ท่าเรือมาบตาพุด ในแบบชัดสุดๆ และไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางซักบาท คราวนี้เห็นชัดกันเสียทีว่ามีอินเทอร์เน็ตจะช่วยโรงเรียนในเรื่องสื่อการสอนได้อย่างไร

*นักท่องเที่ยว

ถามญาติ ถามเพื่อนกันจนเบื่อว่า พัทยาไปยังไง ดอยสุเทพอยู่ตรงไหน คราวนี้เวลาใกล้หน้าท่องเที่ยวจะได้เปิดคอมพ์ค้นหาด้วยตนเองเสียที นอกจากเรื่องเส้นทางยังมีข้อมูลเรื่องกิน-เที่ยว-ที่พัก มีครบให้ดูในแผนที่ดาวเทียมที่มีชีวิตชีวาน่าสนใจยิ่งกว่าแผนที่แบบเดิม

*เซลล์แมน

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักขายมือเก่าถึงจะรู้เส้นทาง ในที่สุดก็รู้เสียทีว่าบริษัทที่ต้องการหาอยู่ตรงไหนกันแน่ ย่านนั้นมีสภาพเป็นยังไง หาที่พักได้ตรงไหน มีร้านอาหารที่เหมาะจะนัดคุยงานกับว่าที่ลูกค้าหรือไม่ แล้วจะไปจังหวัดอื่นยังไงต่อ

*ลอจิสติกส์-ดีลิเวอรี่

บริษัทลอจิสติกส์ และบริการส่งอาหารดีลิเวอรี่ขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยีด้าน GIS นี้มานานแล้ว แต่คราวนี้โอกาสใหม่ได้เปิดกว้างให้บริษัทรายย่อยให้วางแผนการจัดส่งในพื้นที่ขนาดย่อมได้ ดูแลบริการลูกค้าได้ ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งบริการส่ง พื้นที่แข่งขัน และวางแผนแจกใบปลิว พูดกันแบบสุดๆ คนขายของรถเข็นที่มีหัวและแวะใช้เน็ตคาเฟ่สักชั่วโมงยังสามารถวางแผนพื้นที่การขายในย่านที่ตนไม่คุ้นเคยได้อย่างรวดเร็ว

*คนขับรถ

ทางลัดที่ไม่เคยรู้มาก่อน บนเส้นทางไป-กลับที่ทำงาน ซอยตันไม่กลายเป็นซอยตันอีกต่อไป ในขณะที่คนทั่วไปมีปากเสียงมากขึ้นในเรื่องการจัดรูปแบบจราจรตามเมืองใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกที่คนทั่วไปได้เห็นภาพรวมของเมืองในแบบที่เหมือนนั่งเฮลิคอปเตอร์บินวน

*ฝรั่งนักเดินทาง

จะมาทั้งที่ก็ต้องหาทางวางแผนเที่ยวไทยจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องพึ่งข้อมูลจากบริษัททัวร์หรือไกด์บุ๊ก ยิ่งไปกว่านั้น คลิ๊กดูชายหาดที่จะไปว่าหาดขาว ใสจริง อย่างราคาคุยหรือเปล่า มองหาเกาะที่น่าสนใจ หรือที่พักได้เลย โดยเฉพาะบรรดานักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักทั้งหลายไล่จนมาถึงระดับกลาง ที่ต้องการคลิ๊กดูข้อมูลที่พัก และสอบถาม

ต่อไปนี้ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารที่ไม่ลงโฆษณาหรือลิสต์ติ้งกับกูเกิลเอิร์ธก็อาจจะเสียลูกค้าไปให้เจ้าอื่นเอาง่ายๆ ในขณะที่รายใด หลอกลวงว่า รีสอร์ตติดหาด หรือหาดสวย แต่ไม่สวยจริง ภาพดาวเทียมก็บอกทุกอย่างหมด หากินแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

*พลิกธุรกิจเก่าในโลกใบใหม่

เท่าที่ยกตัวอย่างมาแค่บางส่วน คงมองเห็นกันเต็มๆ ว่า กูเกิลเอิร์ธ กำลังเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองโลกของเรา อย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่สำคัญคือวิธีการทำธุรกิจ ทั้งหมดในหลายวงการ ที่ถ้าไม่เร่งปรับตัว เห็นทีจะรับมือพฤติกรรมผู้ใช้ได้ไม่ทัน

ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะเป็นชนิดถอนรากถอนโคน ถ้านับย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของวงการไอที-อินเทอร์เน็ต มีไม่กี่ซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนโลกได้ และ Google Earth ก็เป็นหนึ่งในนั้น เปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานของเรามากพอๆ กับยุคแรกของเวิลด์ ไวด์ เว็บ และ โปรแกรมเบราเซอร์ อย่าง Netscape ที่ช่วยให้การเปิดเว็บเป็นเรื่องง่าย และสะดวก

ใครที่เคยลองใช้ Google Earth มาแล้วจะเจอเข้ากับตัวเองว่า บรรยากาศเร้าใจไม่เหมือนการค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหรือดูภาพถ่ายดาวเทียมทั่วไป เพราะบรรยากาศการใช้งานจริง ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในยานอวกาศ หรือเครื่องบินที่สามารถบินวนไปรอบโลก เลือกซูมดูลงตามพื้นที่ที่ต้องการ ในขณะที่การดูภาพในระยะใกล้ เช่นในเขตเมืองก็เหมือนเรานั่งเฮลิคอปเตอร์บินวน ที่เห็นภาพสมจริงกว่าการเปิดแผนที่มาก

โดยเฉพาะเรื่อง “การบิน” บนหน้าจอนี้ทำให้กูเกิลไม่มีคู่แข่งในตลาดปัจจุบัน รายที่ใกล้เคียงคู่แข่งที่สุดคือ Virtual Earth ของไมโครซอฟท์ ที่นอกจากจะดูไม่น่าสนใจ และ “บินไม่ได้” ยังอิงแผนที่มากกว่าและใช้งานยาก และที่สำคัญข้อมูลในกูเกิลเอิร์ธได้รวมเข้ากับข้อมูลการ search ปกติของกูเกิล ที่ผู้ใช้สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตได้ทันที ส่วน Yahoo นั้นแข่งกับกูเกิลในตลาดแผนที่และข้อมูลของเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วอเมริกามากกว่า

วินาทีนี้ เทคโนโลยีของ Keyhole, Inc. ซึ่งกูเกิลนำมาใช้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการดูข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ไปหมด เพราะนอกจากจะเลือกระยะห่างตั้งแต่หลายร้อยกิโลเมตร หรือเหลือแค่ไม่กี่ร้อยเมตรเหนือพื้นดินก็ได้ ซึ่งสามารถปรับมุมมองจากแนวตั้งที่เหมือนภาพถ่ายดาวเทียมทั่วไป มาเป็นมุมเฉียงในระดับองศาต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นมุมเดียวกับที่นักบินในเครื่องบินเห็น และจะเห็นเป็นเหมือนภาพจำลองสามมิติ ของพื้นที่ต่างๆ เช่นเทือกเขา หุบเขา เนินสูง ที่ราบลุ่ม ฯลฯ ซึ่งจะทำอย่างหลังนี้ได้ก็เพราะว่า Keyhole, Inc. ที่สนับสนุนเทคโนโลยี ได้สร้างฐานข้อมูลภูมิศาสตร์โลกขนาดมหึมามากกว่า 12 เธราไบต์ ที่สร้างแบบจำลอง 3 มิติของโลกในทุกๆ ตารางนิ้วเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ในเขตที่มีบริการเต็มรูปแบบ เราสามารถซ้อน “layer” หรือ “ชั้นของข้อมูลอื่นๆ” ลงไปบนภาพและแผนที่เช่น ข้อมูลร้านอาหาร ที่พักโรงแรม เส้นพรมแดน ทางรถไฟ ถนน รูปจำลองตึกสามมิติบนที่ตั้งจริง มีแม้กระทั่ง ตำแหน่งภูเขาไฟ จุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งรหัสไปรษณีย์ และอัตราการเกิดอาชญากรรมในแต่ละท้องที่ (ในกรณีของอเมริกา )

ซอฟต์แวร์นี้รองรับเครื่องพีซีที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 2000 และ Windows XP โดยเครื่องที่ใช้ไม่ควรเก่ากว่าสองปี มีการ์ดกราฟิก 3D และควรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบบรอดแบนด์ (ผู้เขียนได้ทดลองใช้กับการเชื่อมต่อโมเด็ม 56K พบว่า สามารถใช้งานได้เช่นกันแต่ต้องรอโหลดข้อมูลนานพอควร) สำหรับระบบปฏิบัติการแมคอินทอชอยู่ในระหว่างการพัฒนา ส่วน Linux มีในรุ่นที่ใช้ในระดับงานอุตสาหกรรม ซื้อ Keyhole คือซื้อโลกทั้งใบ

อันที่จริง Google Earth อย่างที่เราเห็น ไม่มีอะไรที่เป็นกูเกิลมาก่อน แต่เป็นซอฟต์แวร์เดิมที่เรียกว่า Earth Viewer 3D ของ บริษัท Keyhole, Inc. ที่เอามาปรับโฉมใหม่ หลังจากซื้อบริษัทนี้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2004 ที่ผ่านมา และในที่สุดก็เปิดบริการ ในสามแบบคือ บริการ “basic” ฟรี บริการ “Plus” 20 ดอลลาร์ต่อปี และแบบ “Pro” 400 ดอลลาร์ต่อปี

ความหมายการซื้อบริษัทนี้คือการซื้อโลกทั้งใบในฟอร์แมตดิจิตอลของกูเกิล เพราะได้ทั้งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ภาพจำลองสามิติของโลกทั้งใบและข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย ในคราวเดียวกัน

บริการแบบ Google Earth Plus สามารถเชื่อมต่อเครื่อง GPS โดยจะอิมพอร์ตข้อมูลการเดินทางที่บันทึกไว้ (แทร็กและเวย์พอยนต์) กับเครื่อง GPS ตระกูล Magellan และ Garmin ส่วนบริการในแบบ Google Earth Pro และ Google Earth Enterprise นั้นจะทำเพิ่มได้มากมาย เช่นการค้นหาสถานที่ต่างๆ รวมทั้ง ถ้าซื้อโมดูล บันทึกข้อมูลการซูมและบินผ่านเป็นคลิปวิดีโอเอาไว้โชว์ลูกค้าหรือผู้สนใจ

สำหรับบริการที่ราคาต่างกันนี้ ไม่เกี่ยวกับความชัดมากน้อยของภาพ เพราะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน โดยความชัดละเอียดขนาดมองเห็นหลังคาบ้านจะมีเฉพาะบางส่วนของโลก คือ ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ และเมืองใหญ่ทั่วโลก เท่านั้น

ส่วนในเมืองไทย จะเห็นชัดเฉพาะพื้นที่ดังต่อไปนี้ : กรุงเทพฯ และปริมณฑล นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระประแดง บางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง บางบ่อ, ภูเก็ต-ส่วนใหญ่ของเกาะ ฝั่งตะวันออกของเกาะ อำเภอเมืองและกระทู้, ประจวบคีรีขันธ์-เฉพาะบางส่วนของอำเภอปราณบุรี, ชลบุรี-ศรีราชา บ้านบึง บางประกง สนามบินอู่ตะเภา แต่ไม่รวมท่าเรือแหลมฉบัง, ระยอง-บ้านฉาง มาบตาพุด, อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา, อำเภอเมืองจันทบุรี, โคราช -โชคชัย, อยุธยา –ครึ่งหนึ่งของเกาะกรุงเก่า อำเภอนครหลวง ท่าเรือ, จังหวัดลพบุรี, นครปฐม-เฉพาะกำแพงแสน, บางส่วนของ จ.สุพรรณบุรี, นครสวรรค์ -ปากน้ำโพ บางส่วนของบึงบอระเพ็ด, สุโขทัย-บางส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์, กาญจนบุรี – กลางป่าเหนือเขื่อนเขาแหลม และห้วยขาแข้ง ชายแดนไทย-พม่า, ลำพูน-แม่ทะ, เชียงใหม่- หางดง ดอยสุเทพ, พะเยา-กว๊านพะเยา ดอกคำใต้, เชียงราย บางส่วนของดอยแม่สลอง, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, บางส่วนของขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี –เฉพาะเกาะพะงัน (ข้อมูลล่าสุดถึงกลางเดือนตุลาคม กูเกิลจะอัพเดตพื้นที่ใหม่ๆ ทุกเดือนซึ่งอาจจะอัพเดตเมืองไทยหรือไม่ก็ได้)

เหตุผลว่าทำไม กูเกิลเลือกพื้นที่เหล่านี้ในไทยให้แสดงคมชัดเป็นพิเศษ ยังไม่มีใครทราบ และสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะ โต๊ะหว้ากอ ในเว็บ www.pantip.com (เลือกกูเกิล เอิร์ธคลับ)

ในกรณีของกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นเรื่องปกติที่เมืองใหญ่ๆ ของโลก และอยู่ในเส้นทางการเดินทางสำคัญจะมีข้อมูลที่ละเอียดลงระดับเห็นหลังคาบ้าน แต่ทำไมจังหวัดเล็กๆ อย่างพะเยา หรือกาฬสินธุ์ หรือบางส่วนของพื้นที่ห้วยขาแข้ง หรือสุพรรณบุรี ถึงรวมอยู่ในพื้นที่ชัดพิเศษด้วยนั้นยังน่างุนงงอยู่ไม่น้อย

แต่ที่น่าสนใจก็คือกูเกิลให้ความสนใจต่อประเทศไทยมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะมีพื้นที่ที่มีภาพชัดเจนมากกว่าประเทศอื่นๆ

*เมืองไทยฟีเวอร์ไม่แพ้ที่อื่น

กระแสฟีเวอร์ เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่น้อยประเทศอื่น นับตั้งแต่ซอฟต์แวร์ตัวนี้ หรือที่เว็บบอร์ดในไทยเรียกแบบย่อว่า GE ได้ปรากฏโฉมออกมา ก็ได้กลายเป็น talk of the town ในหมู่ผู้ใช้เน็ต และขยายวงไปถึงคนทั่วไป ทุกครั้งที่มีการเปิดดูตามร้านเน็ตคาเฟ่ ออฟฟิศสำนักงาน หรือแม้แต่ตามบ้าน ก็จะมี “ไทยมุง” มารุมล้อมหน้าจออย่างไม่ขาดระยะ พร้อมๆ กับเสียงอุทาน “โอ้โห” “ชัดขนาดนี้เลยเหรอ” ตลอดเวลา ส่วนกิจกรรมแรกที่มักจะทำกันคือหาบ้านและที่ทำงานของตัวเองว่าอยู่ตรงไหนในโลกใบนี้กันแน่

พื้นที่ออนไลน์แห่งแรกๆ ที่ เริ่มมีการเคลื่อนไหวจับกลุ่มแลกเปลี่ยนกันคือ โต๊ะหว้ากอ ในเว็บ www.pantip.com ที่พัฒนาตัวอย่างรวดเร็วจนเป็นคลับใหม่ล่าสุดที่คึกคักในไซต์เก่าแก่นี้ สมาชิกพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานที่ การใช้งาน คุยเรื่องวิธีทำภาพสามมิติลงซ้อนบนพิกัดภูมิศาสตร์และภาพถ่ายดาวเทียมที่กูเกิลบริการ

ปรากฏการณ์นี้นับว่าเป็นเรื่องใหม่เพราะก่อนหน้านี้เมืองไทยมีคนสนใจเรื่อง GPS (Global Positioning System) และ GIS (geographic information system) กันน้อยมาก จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น นักเดินป่า จักรยานเสือภูเขา นักตกปลา งานโบราณคดี หรือผู้ใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมอย่าง เหมืองแร่ งานโยธา อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผังเมือง การบิน หน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาบางแห่งเท่านั้น

อันที่จริง ที่ผ่านมา คนทั่วไปยังสับสนกับคำว่า GPS ที่หมายถึงการระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ กับคำว่า GPRS ที่ผู้บริการโทรศัพท์มือถือใช้เรียกชื่อบริการของตนกันอยู่ไม่น้อย

แต่ที่เห็นและเป็นอยู่ กระแสฟีเวอร์และความฮือฮาเรื่องนี้ได้ดึงยูสเซอร์หน้าใหม่เข้ามามากมาย และเริ่มมีความพยายามนำไปประยุกต์ใช้ด้านอื่นๆ มากมายโดยเฉพาะการสร้างภาพ 3 มิติของอาคาร หรือซ้อนเลเยอร์ข้อมูลร้านอาหารการเดินทางลงไปบนฟอร์แมตแผนที่ของกูเกิลเอิร์ธ

ขณะเดียวกันก็ได้มีหลายไซต์ได้เปิดตัวขึ้นมาเพื่อจับเรื่องกูเกิลเอิร์ธโดยเฉพาะ อาทิ เว็บไซต์ ไทยเอิร์ธดอทคอม(www.thaiearth.com) ที่เปิดไซต์มาระยะหนึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยสมาชิกรุ่นบุกเบิกทั้ง 1 พันกว่าคนแรกนะครับ ที่เข้ามาลงทะเบียนก่อนเปิดเป็นทางการ นอกจากนี้ยังมีไซต์อื่นๆ ที่เปิดตัวขึ้นมา หรือมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกูเกิลเอิร์ธอีกหลายเว็บเช่นกัน

ท่ามกลางกระแสฟีเวอร์ ก็มีผลกระทบเช่นกัน นอกจากฝ่ายความมั่นคงแล้ว หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อหลายปีก่อนให้เป็นตัวกลางในการซื้อและจำหน่ายภาพถ่ายและข้อมูลดาวเทียมแก่ภาครัฐและเอกชน ก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเหตุที่ว่าเทคโนโลยี และวิธีเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ อย่างภาพถ่ายดาวเทียมได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างกะทันหัน

ปัจจุบันสำนักงานแห่งนี้มีบริการจำหน่ายภาพถ่ายดาวเทียมหลายรูปแบบ ตั้งแต่ราคาเริ่มต้น อัตราตารางกิโลเมตรละ 540 ไปจนถึง 1,024 บาท (ราคาลดแล้ว) ตามแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ขั้นต่ำในการสั่งภาพ = 25 – 64 ตารางกิโลเมตร ตามแต่ละประเภทบริการ

ในขณะที่ ชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สำนักงานมีโครงการร่วมกับกรมแผนที่ทหาร และสถาบันการศึกษา จัดทำโปรแกรมแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของประเทศไทย ที่ใช้ชื่อ “ดิจิทัล ไทยแลนด์” โดยจะใช้แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมแลนแซท ระยะ 30 เมตร มาใช้งานร่วมกับภาพถ่ายที่ สทอภ. มีอยู่แล้ว และจะเผยแพร่ในลักษณะของโปรแกรมค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งจะแบ่งระดับข้อมูลสำหรับกลุ่มผู้ใช้งาน ทั้งภาคการศึกษา และหน่วยงานราชการ โดยทั้งนี้คาดว่า จะทำเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2548 นี้

ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าหน่วยงานภาครัฐของไทย จะหา “จุดลงตัว” กับบริการกูเกิลเอิร์ธ และสนับสนุนภาคธุรกิจไทยอย่างไรในอนาคต

*Google ยังรุกต่อไม่หยุด

แต่ในสหรัฐฯ ทุกอย่างกำลังขยายตัว เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กูเกิลประกาศสร้างสำนักงานแห่งใหม่ขนาดพื้นที่มหึมา 1 ล้านตารางฟุต ในพื้นที่ศูนย์วิจัย Ames Research Center ของ NASA ในขณะที่พนักงานในสังกัดเพิ่มเป็น 4,200 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นไม่หยุด จนอาคารเดิมคับแคบไปถนัด

นอกจากนี้ ยังควบสัญญาวิจัยร่วมกันกับองค์การ NASA อีกด้วย โดยกูเกิลน่าจะได้ประโยชน์จากโนว์ฮาวด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่นาซ่ามีอยู่และข้อมูลดิบจำนวนมากเพียงพอจะสร้างกูเกิลดาวอังคาร กูเกิลดวงจันทร์ต่อไปได้อีกมากมาย นักวิจารณ์บางคนถึงกับระบุว่าต่อไป อาจมีแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของดาวเคราะห์ทั้งระบบสุริยะจักรวาลอยู่ในหน้าจอให้เปิดดูกันได้เล่น ๆ ถึงบ้าน ด้วยซ้ำ เพราะเทคโนโลยีของกูเกิลสามารถทำได้แล้ว ในขณะที่ทางองค์การนาซ่าก็มีวัตถุดิบภาพถ่ายและข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร

คำถามที่ท้าทายก็คือ กูเกิลที่เลื่องชื่อมานานในฐานะเจ้าของระบบ search กำลังคิดอะไรอยู่และวางแผนจะทำอะไรต่อไป

ปัญหาของสื่ออื่นๆ แบบเดิมคือ มีข้อมูลน้อยเกินไป กว้างมากไปไม่เฉพาะทางในแบบที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ตกลับมีปัญหาคนละแบบ นั่นคือ มีข้อมูลมากเกินไป และมีข้อมูลเฉพาะกลุ่มมากจนหาจุดร่วมได้ยาก บทบาทของกลไกค้นหา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า search engine จึงสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป

ปัจจุบัน Google มีส่วนแบ่งตลาด search อยู่ 37.3 เปอร์เซ็นต์ในอเมริกา ตามการสำรวจของ Media Metrix Yahoo มาที่สอง ด้วยส่วนแบ่ง 29.7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ MSN ของค่าย Microsoft Corp. มีส่วนแบ่งแค่ 15.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เงินที่กูเกิลใช้ไปในการขยายกิจการและซื้อบริษัทต่างๆ มาจากการเสนอขายหุ้นในตลาดที่ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเมื่อกลางปีนี้ เพิ่งระดมทุนได้อีก 4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้มีเงินสดไว้ขยายกิจการมากถึง 7.1 พันล้านเหรียญ

ปัจจุบันมีคนแวะมาที่ไซต์ไม่ต่ำกว่า 82 ล้านคนต่อเดือน กำไรไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสี่เท่าเป็น 342.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดขายเพิ่มสองเท่าเป็น 1.38 พันล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมยอดครึ่งปีที่ผ่านมาทำกำไรรวม 712 ล้านดอลลาร์ จากยอดรายรับ 2.6 พันล้านดอลลาร์

บริษัทวิจัยบางแห่งคาดว่า ขนาดของธุรกิจ search โดยรวมจะขยายจากยอดรวม 4 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบันออกไปอย่างรวดเร็ว และคาดว่าน่าจะถึง 23 พันล้านดอลลาร์ในปี 2010 ที่จะถึงนี้

*ตลาด Map &Local

หัวใจของยุทธศาตร์ธุรกิจกูเกิลเอิร์ธก็คือ การรวมเอาธุรกิจแผนที่ และ local ซึ่งเป็นการลิสติ้งข้อมูลต่างๆ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร รีสอร์ต รถเช่า โรงหนัง ฯลฯ รวมเข้าไว้ในรูปแบบบริการเดียวกันผ่านลูกโลกดิจิตอลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ที่ตื่นตาตื่นใจกว่าเดิม

หลังจากเปิดบริการกูเกิลเอิร์ธได้ไม่นาน ค่ายกูเกิลที่กำลังเชือดเฉือนกับค่ายยาฮู ก็ได้รวมเอาบริการกูเกิลแมป (Google Maps) และโลคัล (Google Local) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งนับเป็นการเปิดศึกชิงตลาดโฆษณาแบบอิงแผนที่ หรือลิสติ้งในเอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นตลาดด้านนี้ที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้

หากนับเฉพาะเรื่องแผนที่อย่างเดียว ตามตัวเลขของบริษัทวิจัย Nielsen/NetRatings ระบุว่า Google มีผู้ใช้ 14.3 ล้านราย ตามหลังบริการ Mapquest ของ America Online ที่มีคนใช้งาน 39 ล้านคน ส่วนของ Yahoo นั้นได้รวมการค้นหา map และ local เข้าด้วยกันไปก่อนหน้านี้แล้ว เห็นได้ชัดว่า หัวใจหลักของทุกรายก็คือ ทำอย่างไรให้ผู้ใช้หันมาเปิดเน็ต แทนที่จะโทรถามเพื่อน เปิดสมุดหน้าเหลือง หรือแผนที่แบบเก่า

ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Kelsey Group คาดว่ายอดโฆษณาในตลาด local ตามเมืองต่างๆ จะถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2009 มูลค่ารวมที่เห็นมหาศาลพอที่จะเป็นชนวนเปิดศึกระหว่างยาฮูกับกูเกิล หลังจากดูท่าทีและตรึงกำลังมานานนับปี

บรรยากาศการแข่งขันเริ่มร้อนแรงจนกระทั่งล่าสุด Terry Semel นายใหญ่ของ Yahoo อดรนทนไม่ไหว ออกมาเย้ยคู่แข่งอย่างกูเกิลในการบรรยายในงานสัมมนาอินเทอร์เน็ตเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า Google ครองแค่ตลาดนีช เพราะการ Search คิดเป็นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของเพจวิวทั้งหมด และทางยาฮูมองว่า ไซต์กูเกิลเริ่มมีหน้าตาเหมือนพอร์ทัล (portal) มากขึ้นทุกที และถ้านับว่าเป็นพอร์ทัลหรือเว็บท่า ก็เป็นได้แค่พอร์ทัลอันดับ 4 เท่านั้นในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ก็ได้ตัดไม้ข่มนามต่ออีกด้วยว่า บริการเสิร์ชนั้นไม่มีการปรับแต่ง หรือ customize ได้ไม่มากพอ และไม่มีชุมชน รวมทั้งไม่มีคอนเทนต์บริการผู้ใช้มากพอ

*อนาคตแบบเรียลไทม์?

อันที่จริง สิ่งที่กูเกิลเอิร์ธทำในปัจจุบัน เป็นเหมือนการสานแนวคิด “Digital Earth” ที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยนาซ่า และรองประธานาธิบดีอัล กอร์ เคยเสนอแนวคิดการรวมข้อมูลทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกันและสร้างโลกจำลองที่เป็นดิจิตอลขึ้นมา ที่ข้อมูลทุกแบบทุกประเภทสามารถเชื่อมเข้าหากันผ่าน “Digital Earth”

อนาคตอยู่ที่การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะกว้างขวางครอบคลุมแค่ไหน หรือแม้กระทั่ง การเกิดของโลกในแบบเรียลไทม์ ที่แทนที่จะเป็นแค่ภาพดาวเทียมอายุเก่าปี หรือสองปีในปัจจุบัน อนาคตอาจจะเป็นภาพเคลื่อนไหวของโลกทั้งใบในแบบเรียลไทม์ด้วยซ้ำไป

Website

– เวอร์ช่วลเอิร์ธของ MSN
virtualearth.msn.com

– โครงการ/worldwind ของนาซ่า
worldwind.arc.nasa.gov/index.html

– Thailand Placemarks version 7.0 Final auto update
bbs.keyhole.com/ubb/showthreaded.php/Cat/0/Number/69329/an/0/page
www.guideubon.com/google_earth.php