ท่ามกลางทิวตึกแถวที่ชินตา บ้านเก่า 2 ชั้นที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 จึงโดดเด่นและดึงดูดสายตาผู้สัญจรไปมาให้ต้องเหลียวหลังกลับมามอง โดยเฉพาะในยามค่ำคืนที่มีแสงไฟจากน้ำพุหน้าอาคารฉายแสงสีม่วงสว่างขับให้สีเหลืองนวลของตึกดูเด่นขึ้น
กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะมาหยุดมอง ถ่ายรูป และตั้งคำถามว่า “นี่คือธนาคารจริงหรือ?” เหมืองเพชร วิจิตรานนท์ ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรี เล่าว่า “ตอนเปิดอาคารนี้ใหม่ๆ คนที่ขับรถผ่านมาคงมองเพลินเลยเกิดเหตุรถชนหน้าธนาคารอยู่บ่อยๆ”
สถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้มีความโดดเด่นอยู่ตัวอาคาร 2 ชั้นก่ออิฐฉาบปูนสีเหลืองนวล หลังคาปั้นหยามีมุขยื่นด้านหน้าจากสองปีกของอาคาร แต่ความสวยแปลกตาที่ต่างจากอาคารแนวคลาสสิกอื่นๆ ในยุคก่อนหน้านี้ก็คือ หลังคามุข 2 ด้านที่ออกแบบไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งเป็นจั่วปาดมุม อีกด้านเป็นราวลูกกรงระเบียงล้อมหลังคา
สำหรับประวัติของอาคารหลังนี้ เดิมเป็นบ้านพักของมหาอำมาตย์โท พระยามหินทรเดชานุวัฒน์ (ใหญ่ ศยามานนท์) สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2472-2474 สมัยรัชกาลที่ 7 ออกแบบและก่อสร้างโดยนายสมัย และนายจินเฮง เมื่อพระยามหินทรเดชานุวัฒน์ถึงแก่อนิจกรรม บ้านหลังนี้ก็ตกทอดสู่ลูกหลาน จนธนาคารไทยพาณิชย์ไปซื้อต่อมาเมื่อปี 2509
หลังจากปรับปรุง อาคารหลังนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ทำการของธนาคารมาตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2514 จนถึงปี 2538 เมื่อบ้านเก่าหลังนี้ดูจะเล็กเกินไปสำหรับธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ณ สาขานี้ ธนาคารจึงก่อสร้างตึกใหม่ขึ้นด้านหลัง และใช้เป็นที่ทำการแทนอาคารเดิมเรื่อยมาร่วม 10 ปี
…บ้านเก่าหลังนี้จึงร้างธุรกรรมและปลอดผู้มาเยือน ยิ่งต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นมาบดบังตัวบ้าน คนรุ่นหลังยิ่งแทบจะไม่รู้และไม่สังเกตเลยว่า บนถนนเส้นนี้ยังมีอาคารหลังประวัติศาสตร์ที่สวยงามเช่นนี้ประดับอยู่
จน 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์เริ่ม Re-Branding Program เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กร ให้แตกต่างและโดดเด่นเหนือคู่แข่ง โดยใช้การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์สาขาเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ หลังจากเริ่มต้นปรับสาขาจึงพบว่ามีอาคารอันทรงคุณค่าหลายแหล่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ดังนั้น ปลายปี 2547 จึงมีนโยบายอนุรักษ์อาคารโบราณเหล่านี้ให้เป็นสาขารูปแบบ “Modern Thai Heritage Branch”
นอกจากอาคารเก่าสาขาถนนถนนเพชรบุรี ธนาคารยังมีอาคารเก่าที่สาขาตลาดน้อยและเฉลิมนคร ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ 3 สาขาที่ปรับปรุงใหม่ ด้วยแนวคิดหลักคือคงความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมแบบโบราณเอาไว้ และตกแต่งภายในให้ใกล้เคียงกับธนาคารในยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งมีสาขาบนถนนเพชรบุรีเป็นอาคารอนุรักษ์แห่งแรกที่ตกแต่งเรียบร้อย โดยได้บริษัทสถาปนิก P49 มาเป็นผู้บูรณะและออกแบบภายใน
“งานตกแต่งภายในจะยึดแนวคลาสสิกที่มีความเป็นไทยและให้ความรู้สึกอบอุ่น เติมแต่งด้วยสีม่วงอันเป็นสีประจำของไทยพาณิชย์ และที่สำคัญคือคงความงามของสถาปัตยกรรมเดิม และเสริมกลิ่นอายแห่งยุคสมัยนั้นๆ ให้กลมกลืนกันมากที่สุด”
P49 แก้โจทย์ออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้มสไตล์ไทยคลาสสิก ตกแต่งด้วยผ้าไหมจิมทอมป์สันช่วยขับมนต์ขลังความเป็นไทย สอดรับกับลวดลายปูนปั้นตามเพดานและเสาโบราณ ส่วนที่เตะตามากที่สุดคงหนีไม่พ้น เคาน์เตอร์ไม้แบบโบราณที่มีระแนงทองเหลืองกั้นระหว่างพนักงานกับลูกค้าที่เคาน์เตอร์บริการย้อนภาพธนาคารในยุคต้นๆ ให้คนรุ่นหลังได้ดื่มด่ำ
บันไดไม้สักสลักลายทอดตัวสู่ชั้นบนที่แบ่งพื้นที่เป็นห้องประชุม และห้องอเนกประสงค์เชื่อมระเบียงกว้างด้านนอก ซึ่งเหมืองเพชรเล่าว่า ห้องชั้นบนนี้ผ่านการรับแขกผู้ใหญ่ งานประชุมและงานเลี้ยงสำคัญของธนาคารมาแล้วหลายครา และยังพร้อมที่จะจัดนิทรรศการหรือรับรองกิจกรรมที่จะจัดกับลูกค้าของธนาคารได้ด้วย
ส่วนภูมิทัศน์ด้านหน้า หลังจากตัดต้นไม้ที่บดบังอาคารออกก็ถูกปรับเป็นสนามหญ้าโล่ง พื้นที่ด้านข้างประดับด้วยต้นไม้ที่มีดอกสีม่วง เช่น บลูฮาวาย ฟ้าประธาน ลานตรงกลางมีน้ำพุติดตั้งสปอตไลต์หลากสีโดยรอบสำหรับอีเวนต์กลางคืน รวมทั้งตู้ ATM หลังคาปั้นหยาด้านหน้าธนาคารก็ถูกออกแบบมาให้กลมกลืน
แม้ตัวเลขธุรกรรมของสาขาที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่อาจจะไม่ได้พุ่งทะยานอย่างมากมาย ทว่ากระแสคำชื่นชมจากลูกค้า และความประทับใจของผู้คนที่ผ่านไปมา ไม่นับรวมคำขอใช้สถานที่จัดงาน ถ่ายแฟชั่น ฯลฯ ที่มีเข้ามาไม่ขาดสาย กลายเป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ถึงคุณค่าของอาคารโบราณที่มากกว่าแง่มุมศิลปะและประวัติศาสตร์
…แต่ยังส่งผลถึงธุรกิจและภาพลักษณ์ขององค์กรได้อีกด้วย ยิ่งปีหน้า ธนาคารไทยพาณิชย์จะครบ 100 ปี ภาพความเป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดประวัติศาสตร์แห่งชาติ คงจะช่วยตอกย้ำและส่งผลต่อการสืบสานประวัติศาสตร์ความเป็นธนาคารไทยแห่งแรกของไทยพาณิชย์บ้าง ไม่มากก็น้อย
นอกจากความงามของสถาปัตยกรรมโบราณและคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ อาคารเก่ายังกลายเป็นเครื่องมือที่หลายธุรกิจนิยมใช้ส่งเสริมการขายและเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าหรือองค์กร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ร้านอาหาร ใช้อาคารเก่าอย่างแพร่หลายราวกับ “พิมพ์นิยม” เช่น บลู เอเลเฟ่น ถนนสาทร ร้านอาหารจิม ทอมป์สัน ถนนสุรวงศ์ สตาร์บัคส์ และทรูช้อป ถนนข้าวสาร แบล็คแคนยอน สาขาสยามสมาคมฯ โรงแรม เป็นอีกธุรกิจที่นิยมนำอาคารเก่ามาประยุกต์ เช่น วังจักรพงศ์ ท่าเตียน โรงแรมโซฟิเทล หัวหิน ฯลฯ ช้อปปิ้ง เพลส สร้างใหม่ก็เช่น ตึกเก่าข้างโรงแรมโอเรียนเต็ล ที่กำลังปรับปรุงเป็นแหล่งช้อปปิ้งหรู และโชว์รูมของจิมป์ ทอมป์สัน
ยังมีธุรกิจอื่นในแวดวงท่องเที่ยวที่นิยมใช้อาคารเก่าเป็นที่ตั้ง เช่น โครงการ The One Sathorn Square ที่จะใช้อาคารสถานทูตรัสเซียเดิมเป็นที่ตั้งของสปา หรือกรณีของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ที่มีตึกเก่าสวยงามจนมีทัวร์แวะไปชมมากมาย ทางโรงพยาบาลจึงตั้งสปาแผนไทยและร้านขายของที่ระลึกเป็นยาสมุนไพร เพิ่มรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาล
แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวบางแห่งก็ยังหลงไหลเสน่ห์มนต์ขลังของตึกเก่า เช่น เครือผู้จัดการที่ทำงานอยู่ในบ้านเก่าแถบถนนพระอาทิตย์ และ U5 Opportunity ในบ้านเก่าย่านสุขุมวิท เป็นต้น