เพื่อให้สมเป็นงานแถลงข่าวครั้งแรกของกลุ่มคนเบื้องหลัง ดังนั้น Event Management Club (EMC) หรือชมรมกลุ่มคนทำอีเวนต์จึงเปิดตัวด้วยบรรยากาศเบื้องหลังเวที ซึ่งเต็มไปด้วยกล่องเก็บอุปกรณ์สีดำวางเกะกะกลายเป็นเก้าอี้ที่นั่งไม่ค่อยสบายนัก เพื่อให้นักข่าวได้รับรู้รสชาติชีวิตที่แสนลำบากของคนเบื้องหลัง กว่าที่แต่ละอีเวนต์จะออกมาสวยงามและสนุกสนานถูกใจเจ้าของงาน ลูกค้า และผู้สื่อข่าว
งานนี้ไม่มี pretty หน้าใสมาสร้างความสดชื่นแก่นักข่าว จะมีก็แต่บรรดาคลื่นลูกเก่าและใหม่ในวงการธุรกิจอีเวนต์จากหลายบริษัทที่เป็นสมาชิก EMC มาให้กำลังใจซึ่งกัน เรียกได้ว่า เป็นการใช้ Event Organizer เยอะที่สุด เพราะมีถึง 39 บริษัท ล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่และมีชื่อ ซึ่งส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 50%
“วันนี้เป็นวันแรกที่เราจะเดินออกมาข้างหน้า เพราะเราพิสูจน์แล้วว่า อาชีพนี้เป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคม” เสริมคุณ คุณาวงศ์ บอสใหญ่ CM Organizer ในฐานะประธานกล่าว ขณะที่รองประธาน เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน CEO แห่ง Index Event Agency เสริมว่า “เพราะธุรกิจนี้มีมากว่า 20 ปี มีบริษัทร่วมพันราย มีมูลค่าธุรกิจสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท และจะโตขึ้นอีกอย่างน้อย 10-15% ในปีหน้า”
วัตถุประสงค์หลักในการรวมตัวก็เพื่อสร้างมาตรฐานธุรกิจ และอำนาจการต่อรองกับเจ้าของงาน รวมถึงการบุกตลาดต่างประเทศ โดยก้าวแรกคือการไปจดทะเบียนกับองค์กรผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนต์ในอเมริกา เช่น International Festivals & Events Association เพื่อเป็นการเปิดประตูพา EMC และสมาชิกออกสู่ตลาดโลก
“ทุกวันนี้ บริษัทอีเว้นท์จะแบ่งกลุ่ม (segment) ชัดเจนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น อีเวนต์ แฟชั่น และพรีเมียม อีเวนต์ ฯลฯ การรวมตัวกันย่อมเกิดความหลากหลาย อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจอีเวนต์ไทยให้โตในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น” เสริมคุณมองการณ์ไกล
คุณสมบัติของบริษัทที่จะสมัครเป็นสมาชิก EMC
1. รับรองจากสมาชิกในกลุ่ม 2 บริษัท ขึ้นไป
2. ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ขึ้นไป
3. เปิดบริษัทมา 3 ปี ขึ้นไป
Profile
International Festivals & Events Association (IFEA)
ตั้งมาร่วม 50 ปี มีสมาชิกทั้งสิ้น 2,500 บริษัท ใน 38 ประเทศ ใน 5 ทวีป จัดอีเวนต์เฉลี่ยปีละ 1 ล้านครั้ง มีกระแสเงินหมุนเวียนถึง 25 พันล้านดอลลาร์ ผู้เข้าชมราว 405 ล้านคน