สามก๊กอินเทอร์เน็ต เมื่อ Yahoo! – Google – MSN เปิดศึกชิงเจ้ายุทธจักรออนไลน์

เหตุเกิดเมื่อสามค่ายอินเทอร์เน็ตใหญ่หันมาเปิดศึกชิงตลาดแผนที่และบริการข้อมูลตามเมืองใหญ่ทั่วโลก แต่เกมไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น กลับลามไปถึงการเปิดศึกชิง AOL และตำแหน่งผู้นำตลาดโปรแกรม Messenger เป็นเดิมพันชัยชนะในศึกนี้

สถานะของกูเกิลวันนี้ คงต้องใช้คำว่า “ยิ่งกว่าร้อนแรง” หรือ “ฮอตสุด ๆ “ เพราะเพียงแค่ชั่วข้ามคืนมูลค่าของบริษัทในตลาดหุ้นก็เพิ่มพรวดขึ้นมาอีก 10.6 พันล้านดอลลาร์อย่างหน้าตาเฉย เหตุเพราะเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหุ้นของ Google พุ่งพรวดไป อีก 12 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาแค่วันเดียว
แถมมีอยู่ช่วงหนึ่งในวันนั้นที่ราคาหุ้นกูเกิลร้อนสุด ๆ จนแตะระดับ 345.80 เหรียญสหรัฐ ทำให้มูลค่ารวมในตลาดของบริษัทอินเทอร์เน็ตรายนี้ทะลุหลักหมาย 100 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก พร้อม ๆ กับความเห็นจากนักวิเคราะห์และนักลงทุนจากทุกฝ่ายที่บอกตรงกันว่า วินาทีนี้ต้องไล่ซื้อสถานเดียวเท่านั้น และมีแววว่าจะทะลุหลัก 400 เหรียญฯ ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ผ่านมามูลค่าหุ้นทั้งหมดเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 250 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่บริษัทนี้เข้าตลาดไปตั้งแต่เมื่อสิงหาคมปีก่อน

สาเหตุที่ตลาดหุ้นอเมริกันไม่มีใครกลัวฟองสบู่ไอที และไม่มีใครผวาหุ้นอินเทอร์เน็ตรายนี้ เพราะก่อนหน้านั้นวันเดียว กูเกิลเพิ่งจะประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุดว่ากำไรเหนือความคาดหมาย มีรายได้สุทธิถึง 381 ล้านเหรียญ เพิ่มเป็นเจ็ดเท่าจากยอด 51.9 ล้านเหรียญ ในไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน เท่านั้นยังไม่พอ มูลค่าสินทรัพย์ของเจ้าพ่อวงการค้นหาออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตรายนี้เพิ่มจากปีกลายขึ้นเป็น 3 เท่า ที่มูลค่า 9.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีเงินสดๆ ในมือมากถึง 5.52 พันล้านดอลลาร์

แต่ Yahoo! ก็ไปได้สวยไม่แพ้กัน เพราะสามวันก่อนหน้านั้นเพิ่งประกาศผลประกอบการดีเกินคาด ยอดรายได้ในไตรมาสที่ผ่านมาสูงขึ้น 47 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะน้อยกว่าแต่ก็โตสวนกระแสเช่นกัน นอกจากนี้ ยาฮูยังมีเงินสดเก็บไว้อีก ราว 2 พันล้านเหรียญ

ที่น่าสนใจที่สุดไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า รายได้ของทั้งคู่สูงแค่ไหน โตเพิ่มแค่ไหน แต่อยู่ตรงที่ว่ารายได้เกือบทั้งหมดของสองเว็บนี้ มาจากยอดโฆษณาเป็นหลักต่างหาก! เหตุผลที่รายได้เพิ่มอย่างมากมายก็คือสื่อโฆษณาได้เริ่มปันใจจาก “ของเก่า” อย่าง ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ มาหาสื่ออินเทอร์เน็ต

แม้แต่ไตรมาสสามที่ปกติจะเงียบเหงาแต่รายได้จากโฆษณาบนเว็บยังทะลุเป้าอยู่ดี โดยบริษัทวิจัย eMarketer บอกว่าในปี 2002 ยอดโฆษณาออนไลน์มีแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยอดแอดฯทั้งหมด และคาดว่าจะสูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และน่าจะสูงถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์ ใน 2009 นอกจากนี้บริษัทวิจัย Jupitermedia ยังได้คาดว่ายอดโฆษณาออนไลน์น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 18.9 พันล้านเหรียญ ในปี 2010

ตอนนี้น่าจะสรุปได้อย่างชัดเจนว่า สื่อออนไลน์ไม่ได้เป็นแค่ฟองสบู่หุ้นไอทีเหมือนเมื่อหลายปีก่อน แต่คราวนี้ วันนี้ได้กลายมาเป็น “ของจริง” ในขณะที่ผู้บริโภคก็เริ่มหันมายอมรับสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ และใช้เวลากับสื่อแบบเก่าน้อยลง

ทุกวันนี้ Yahoo เป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้ามากที่สุด คือมากกว่า 100 ล้านรายต่อเดือน เฉพาะในอเมริกา ส่วน Google ก็ตามมาในระดับไล่เลี่ยกัน ในปัจจุบัน สองบริษัทรวมกันกวาดค่าโฆษณาไปกว่าครึ่งของยอดงบโฆษณาทั้งหมดที่มีในอินเทอร์เน็ต

ทั้งสองต่างกันตรงที่ ยาฮูขายโฆษณาแบบอิงแบรนด์ โดยเน้นขายโฆษณาที่เป็นแบรนเนอร์ เป็นแอดฯ รูปภาพ ที่ปรากฏตามหน้าเว็บ ส่วนกูเกิลนั้นเด่นเรื่อง search จึงเน้นขายแอดฯ ที่เชื่อมโยงกับการ search ตามคีย์เวิร์ดสำคัญๆ และมี links เป็นข้อความปรากฏขึ้นบนหน้าจอ โดยกูเกิลมีจุดเด่นที่ยอดผู้ใช้การค้นหามากกว่าครึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด

ชิงข้อมูลแผนที่ดาวเทียม

ท่ามกลางกระแส Google Earth ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน คู่ชกรายสำคัญคือ Yahoo! ถึงปากจะบอกว่ากูเกิลไม่น่ากลัวเท่าไร และยาฮูมีคอนเทนต์ที่ครบครันกว่า ลึกกว่า แต่ถึงจะพูดแบบนั้น แต่ก็แอบซุ่มเงียบบินไปซื้อกิจการ Whereonearth บริษัทเล็กจิ๋วที่มีพนักงานแค่ 25 คน ในลอนดอนมาเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญ บริษัทชื่อประหลาดรายนี้ได้ครอบครองอาวุธสำคัญที่ยาฮูต้องการ นั่นคือ ฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ 90 เปอร์เซ็นต์ ของเอเชีย ยุโรป และอเมริกา สามทวีปใหญ่ที่เป็นแหล่งรวมของยูสเซอร์ออนไลน์มากที่สุด

มองกันว่า ดาต้าเบสนี้จะช่วยให้แข่งกับ Google Earth และ Google Local ได้ดีขึ้น และที่สำคัญ ตอนนี้ทางยาฮูยังไม่มีอะไรเด่นตรงนี้เลยในขณะที่คู่แข่งไมโครซอฟท์ก็มี MSN Virtual Earth เรียบร้อยแล้ว ส่วนกูเกิลก็มี Google Earth ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน

ที่สำคัญกระแส Google Earth ฟีเวอร์ ได้ดึงดูดยูสเซอร์หน้าใหม่ๆ เข้ามาใช้เครือข่ายและบริการต่างๆ ของกูเกิล ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มยอดโฆษณา โดยเฉพาะการเข้ามาใช้บริการ Local ที่กำลังมาแรงแซงผู้ให้บริการข้อมูลแผนที่รายอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ต

สมัยก่อนเวลาจะค้นหาข้อมูลธุรกิจและสถานที่ เครื่องมือที่สำคัญมีแค่สมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าเบอร์โทร และชื่อ-ที่อยู่ ส่วนใครที่ต้องการโดดเด่นขึ้นมาก็จ่ายค่าโฆษณาเพิ่มเพื่อซื้อพื้นที่ในสมุดหน้าเหลือง ซึ่งมีข้อมูลเพิ่มเติมแต่ยังอยู่ในระดับจำกัดอยู่ดี

แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตทุกอย่างก็เปลี่ยนไป นอกจากจะดูข้อมูลในแบบไดเร็กทอรี่แล้ว ยังสามารถค้นหาจากคีย์เวิร์ด มีจุดเชื่อมโยงต่อไปที่เว็บไซต์ของแต่ละบริษัท สามารถหาตำแหน่งในแผนที่ และที่มีเพิ่มก็คือ สามารถแสดงข้อมูลอื่นๆ ซ้อนลงไปบนแผนที่ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายดาวเทียม ภาพอาคารสามมิติ และอื่นๆ อีกมากมาย

จริงอยู่ว่า ข้อมูลรูปถ่ายดาวเทียมและภาพเมืองใหญ่สามมิติอาจทำให้กูเกิลเอิร์ธดังขึ้นมาเปรี้ยงปร้าง แต่ตัวทำรายได้จริงๆ ที่หวังไว้ก็คือ google local ที่ใช้ข้อมูลแผนที่ตลอดจนภาพถ่ายดาวเทียมมาแสดงข้อมูลในแต่ละเมืองใหญ่ เชื่อมโยงทุกอย่างที่มีอยู่ในท้องถิ่น และจะกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการโฆษณาออนไลน์ในที่สุด

นี่คือเหตุว่าทำไม Yahoo! Google และ MSN สามยักษ์ใหญ่ในอินเทอร์เน็ตจึงเปิดศึกชิงตลาด Local ครั้งใหญ่(http://local.yahoo.com http://local.google.com/ http://local.msn.com)
และการรุกชิงตลาดของสามค่ายได้ก่อศึกสามเส้าขึ้นมา โดยมียาฮูและกูเกิลเป็นคู่ปรับหลักที่ต้องฟาดฟันกันต่ออีกยาว ส่วน MSN ของไมโครซอฟท์เป็นตัวแทรกสอด ถึงแม้ว่าไมโครซอฟท์เจ้าของค่ายจะเป็นบิ๊กใหญ่ในวงการก็ตาม

ธุรกิจที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อไปก็คือ ธุรกิจข้อมูลแผนที่แบบเดิม โทรศัพท์หน้าเหลือง หน้าคลาสสิฟายด์ในหนังสือพิมพ์รายวัน แมกกาซีนเรียลเอสเตท และบริษัทลิสติ้งที่ทำแผนที่หรือแจกโบรชัวร์ เพราะบริการแบบเดิมไม่สามารถให้ข้อมูลที่มากพอ ค้นหาไม่ได้ เจาะตลาดนีชไม่ได้ และแผนที่บนกระดาษแสดงข้อมูลได้จำกัด รวมทั้งใช้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สูงตามค่ากระดาษและค่าจัดส่ง

เว็บ Local ของไซต์ดังเหล่านี้คือแผนยุทธศาสตร์หลักของทั้งสามค่าย ที่เล็งจะยึดบริการข้อมูลตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐฯ โดยผ่านการใช้ข้อมูลแผนที่ดิจิตอล ตลอดจนข้อมูลสมทบอื่นๆ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร โรงแรม ขนส่ง ฯลฯ และมีแนวโน้มว่าลามต่อจะเป็นศึกชิงพื้นที่มหานครใหญ่ทั่วโลกไปในไม่ช้า

โดยเฉพาะในเมืองไทย ถึงแม้สงครามยังไม่เริ่มขึ้นที่นี่ แต่ถ้าศึก Local ลามมาถึงน่าจะเริ่มก่อนที่ศูนย์กลางท่องเที่ยวอย่าง กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่น่าจะตกเป็นพื้นที่ช่วงชิงของศึกเว็บ Local หลายเจ้านี้เป็นแห่งแรกๆ

ปฏิวัติวงการเรียลเอสเตท

ไม่แปลกอะไรที่เกมแข่งขันในอนาคตจะมุ่งต่อไปยังธุรกิจต่อเนื่องอื่นที่เกี่ยวกับแผนที่ และข้อมูลดาวเทียม ทั้งยาฮูและกูเกิลต่างก็มีระบบแผนที่อยู่ในมือแล้ว ก้าวต่อไปก็ต้องจับมือกับพันธมิตรในวงการอื่นอย่างเช่น เรียลเอสเตท ที่เป็นธุรกิจแรกที่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ในไม่ช้า

รายงานข่าวล่าสุดคือบริษัทที่ทำมาหากินกับธุรกิจเรียลเอสเตทบางรายในอเมริกาอย่าง CoStar Group ที่มีข้อมูลเรียลเอสเตทเชิงพาณิชย์ใน 80 ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและอังกฤษ กำลังหารือเรื่องความร่วมมือกับทั้งกูเกิลและยาฮู รวมทั้งไม่ได้เพิ่งจะมาคุย แต่แอบคุยกันเงียบๆ มาหลายเดือนแล้ว

ในอนาคตไม่ไกล บริษัทที่กำลังหาพื้นที่เช่าสำนักงานอาจเปิดบริการ local ของเว็บใหญ่ๆ พวกนี้ มองหาตึกสำนักงานในย่านดาวน์ทาวน์สนใจตึกไหนก็คลิ๊กดูโมเดลภาพ 3 มิติที่ซ้อนทับลงบนแผนที่ดาวเทียม ดูภาพตัวอย่างจากภายใน ดูภาพวิว 360 องศา แผนผังตึก พร้อมตรวจสอบราคาค่าเช่า ส่วนลด และรายละเอียดอื่นๆ ได้ทันทีจากหน้าจอเว็บ เช่น สภาพจราจร ร้านอาหาร ย่านการค้าที่อยู่ใกล้ สนามกอล์ฟ สนามบิน ฯลฯ

กิจการแฟรนไชส์ที่กำลังมองหาทำเลใหม่ๆ ก็เลือกทำเลที่ตั้งได้จากแผนที่หน้าจอ ถ้ามีการเสนอขายอยู่ในบริเวณที่ต้องการก็สามารถติดต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาขับรถตะเวนไปทั่วทั้งเมือง เพื่อเลือกทำเล

หรืออาจต่อยอดต่อไปเป็นการประมูลซื้อขายเรียลเอสเตทออนไลน์ในที่สุด ซึ่งทั้งกูเกิลและยาฮูอาจรับบท “นายหน้าออนไลน์” ที่กินส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ไปตามระเบียบ

ขณะเดียวกันสงคราม Map อาจไม่ได้จบแค่หน้าจอ แต่อาจต่อเนื่องไปถึงธุรกิจโทรคมนาคม เพราะมีข่าวว่ากูเกิลกำลังวางแผนจะทดลองเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรีในนครซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย ยิ่งไปกว่านั้นยังไปกวาดซื้ออุปกรณ์เชื่อมต่อเน็ตไร้สายเอาไว้เป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้ดูเผินๆ อาจรู้สึกเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่แท้จริงแล้วเกี่ยวพันอย่างถึงที่สุด เพราะถ้ากูเกิลให้บริการเน็ตไร้สายในเมืองใหญ่ขนาดนั้นได้จริงๆ หน้าจอแรกที่ยูสเซอร์เปิดเจอก็คือหน้าจอ กูเกิล Local อย่างแน่นอนที่สุด และผลที่ได้ก็คือเป็นการยึดเมืองแบบเบ็ดเสร็จ รวมทั้งเพิ่มยูสเซอร์และเพิ่มรายได้จากโฆษณามหาศาล

ศึกชิง AOL

การช่วงชิงความเป็นใหญ่ในอินเทอร์เน็ตของทั้งสามรายได้ทวีความเข้มข้นขึ้น ในขณะที่มีกระแสข่าวที่ลือกันให้แซดในวงการว่า เว็บใหญ่ๆ เหล่านี้กำลังเล็งจะเข้าซื้อกิจการ AOL ในเครือไทม์วอร์เนอร์ที่การรวมกิจการเมื่อหลายปีก่อนไม่ประสบผลทางธุรกิจ และทรุดลงด้วยซ้ำ ส่วนทางฝ่ายไทม์วอร์เนอร์เองก็กำลังมองหาวิธีขจัดตัวถ่วงอย่าง AOL ไปให้พ้นตัว

ถึง AOL จะเป็นแค่เว็บเคยดัง แต่ยอดผู้ใช้ 60 ล้านคนในปัจจุบัน ทำให้ดึงดูดใจคู่แข่ง Yahoo! – Google – MSN เพราะทั้งสามมียอดผู้ใช้อยู่ในมืออยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ใครได้เพิ่มไปอีกก็มีโอกาสได้เป็นผู้นำตลาดไปในทันที โดยเฉพาะไมโครซอฟท์กับยาฮูที่ต้องการฐานผู้ใช้ของเครือข่าย AOL เพื่อไปเพิ่มยอดรายได้จากโฆษณาให้มากขึ้นไปอีก

กระแสข่าวอีกด้านชี้ว่า ฝ่ายกูเกิลก็เริ่มไหวตัวขึ้นมาทันที โดยกำลังจับมือร่วมกับบริษัทเคเบิลทีวีรายใหญ่อย่าง Comcast เพื่อวางแผนซื้อหุ้นอเมริกาออนไลน์ ถ้าไม่ทั้งหมดก็บางส่วน ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า AOL ใช้บริการ search จากกูเกิลอยู่ในขณะนี้ โดยตอบแทนให้เป็นส่วนแบ่งค่าโฆษณาซึ่งคิดเป็นยอดราว 11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมของกูเกิล ถ้าปล่อยให้ MSN ที่ไมโครซอฟท์มีเงินสดในมือมหาศาล หรือยาฮูซื้อไป ก็เท่ากับว่ากูเกิลจะโดนทุบหม้อข้าวและเสียรายได้ส่วนนี้ไปนั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เช่นกัน

เดิมพันสูงในศึกอินสแตนเมสเซ็นเจอร์ (IM)

ความวุ่นวายในศึกชิงเจ้ายุทธจักรคราวนี้ยิ่งร้อนแรงไปกันใหญ่เพราะ AOL นอกจากจะมียอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์และผู้ชมเว็บพอร์ทัล www.aol.com จำนวนมากแล้ว ยังมียอดผู้ใช้โปรแกรมอินสแตนเมสเซ็นเจอร์ (IM) มากมายถึง 51.7 ล้านราย ที่คู่แข่งทั้งสามรายอยากได้มาครอบครอง

ทุกวันนี้โปรแกรมอินสแตนเมสเซ็นเจอร์ หรือโปรแกรมแชตนั้นถูกผูกขาดอยู่ในมือของ “แก๊งสี่คน” หรือ 4 แบรนด์ใหญ่นั่นคือ MSN, ICQ, Yahoo และ AOL โดยมีกูเกิลที่พยายามจะเข้าตลาดตามมา ที่ผ่านมาตั้งแต่ไหนแต่ไรทั้ง 4 รายไม่เคยตกลงกันได้ และผู้ใช้บริการของแต่ละรายก็ไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อนข้ามค่ายได้

แต่ในแนวรบนี้ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะล่าสุด MSN และ Yahoo สองค่ายที่เคยขัดแย้งกัน มาล่าสุดกลับจับมือเป็นพันธมิตรกันโดยประกาศเซอร์ไพรส์วงการ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่าจะเปิดทางให้ผู้ใช้โปรแกรม MSN และ Yahoo Messenger สามารถพูดคุยถึงกันได้ภายในกลางปี 2006

ซึ่งงานนี้จะเป็นการสร้างชุมชนออนไลน์ในการแช็ตและทำกิจกรรมออนไลน์อื่นๆ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ต เพราะทั้งสองรายนี้ มียอดผู้ใช้โปรแกรม Messenger รวมกันมากถึง 275 ล้านรายอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตต่อไปถ้ารายใดรายหนึ่งซื้อ AOL สำเร็จ ก็จะได้ยอดผู้ใช้ในเครือ AOL เดิมมาเพิ่มอีก และจะทำให้ยอดผู้ใช้รวมทะลุหลักสามร้อยล้านรายไปในที่สุด (เครือ AOL มีโปรแกรม IM อยู่สองแบรนด์คือ ICQ และ AIM )

หลายฝ่ายมองว่า เหตุสำคัญที่ทำให้ยาฮูและไมโครซอฟท์ยอมสงบศึกตรงนี้ เวลานี้ เพราะต้องการกำจัดดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างกูเกิลไปให้พ้นทาง เพราะระยะหลังกูเกิลเริ่มหาทางเข้ามาในตลาดนี้ด้วยการเปิดตัวกูเกิลทอล์ก (http://www.google.com/talk) ไปเมื่อต้นปี และเริ่มมีผู้ใช้มากขึ้นตามลำดับแต่อัตราการขยายตัวยังไม่สูงมาก

ไม่มีใครรู้ว่ายอดผู้ใช้โปรแกรม IM ของกูเกิลมีเท่าไรในปัจจุบัน แต่รู้ว่าถ้ากูเกิลซื้อ AOL ได้จะได้ยอดผู้ใช้ IM 51 ล้านของAOL มาครอง ซึ่งจะทำให้กูเกิลยึดหัวหาดในตลาด IM ได้สำเร็จ

ผลกระทบ IM เมืองไทย?

สำหรับในเมืองไทยผลกระทบตรงนี้คงไม่มากนัก เพราะผู้ใช้โปรแกรม Messenger ชาวไทยส่วนใหญ่นิยมใช้บริการของ MSN อยู่แล้ว ถึงจะไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการออกมา แต่คาดว่าจำนวนผู้ใช้ MSN Messenger ในไทยน่าจะไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ มากจนทำให้มีการเปิดพอร์ทัล www.msn.co.th ภาคภาษาไทยขึ้นมาในที่สุด โดยมีผู้ใช้โปรแกรม ICQ รองลงมาซึ่งมักจะเป็นผู้ใช้เน็ตรุ่นเก่าในยุคแรกๆ ตามมาด้วยยาฮูและเอโอแอล แต่มีจำนวนน้อยมาก

ส่วนโปรแกรม QQ ที่เว็บสนุกดอทคอมพยายามโปรโมตมาหลายปีนั้นจัดว่าไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีฐานผู้ใช้น้อยที่สุด ซอฟต์แวร์มีลูกเล่นน้อยกว่า และคุยกับใครไม่ได้มากเพราะในเมืองไทยนิยมใช้ MSN และซอฟต์แวร์ QQ ก็ไม่ได้รับความนิยมที่อื่นในโลก นอกจากเมืองจีนซึ่งเป็นตลาดเฉพาะตัวและมีปัญหากำแพงภาษาปิดกั้น

อันที่จริงสำหรับตลาด IM เมืองไทยอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะยูสเซอร์เมืองไทยมีลักษณะเฉพาะตัวที่แปลกและต่างกว่าประเทศอื่น ตรงที่สมัคร Hotmail เพื่อใช้บริการ MSN เพราะต้องการติดต่อกับเพื่อนคนอื่นที่ใช้ MSN ก็จริง แต่ในหลายรายพอใช้อีเมลกลับหันมาใช้บริการของยาฮู เพราะให้ความจุเมลมากกว่า และป้องกันสแปมเมลดีกว่า ในเมื่อทั้งยาฮูและMSN จับมือกันได้ก็สะดวกสำหรับยูสเซอร์ชาวไทยที่จะใช้บริการของค่ายไหนก็ได้ เพราะส่วนใหญ่มีแอคเคานต์อยู่ทั้งสองเจ้าเรียบร้อยอยู่แล้ว