จากม็อบมือถือสู่ม็อบ “บรอดแบนด์”

ถ้าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มี “ม็อบมือถือ” เป็นตัวขับเคลื่อนแล้ว แต่ม็อบครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่โทรศัพท์มือถือ แต่ยังมี “เว็บไซต์” เป็นตัวแปรสำคัญ

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้บรรดาสื่อมวลชน ที่ติดตามเรื่องราวของ สนธิ ลิ้มทองกุล และ “เมืองไทยรายสัปดาห์” มองเห็น “ประเด็น” ไม่ต่างกันนัก

บทความของ สรกล อดุลยานนท์ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 เขียนถึงความเคลื่อนไหวของ สนธิ ลิ้มทองกุล และเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร

สรกล ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจาก “เนื้อหา” ที่ “สนธิ” หยิบมาพูดทุกวันศุกร์แล้ว ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ ยังอยู่ที่การ “บูรณาการ “สื่อ” ทั้ง หนังสือพิมพ์ ทีวีผ่านดาวเทียม ซีดี วิทยุ อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี ซึ่งเป็นพัฒนาการอีกขึ้นหนึ่งของกระบวนการคัดค้าน “ทักษิณ ชินวัตร”

ไม่ต่างไปจากบทวิเคราะห์ “เกาะติดม็อบดิจิตอลโค่นรัฐบาล” โดย ซันเดย์ ฮิสตรอเรียน ในเว็บไซต์www.bangkokbiznews.com ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า การชุมนุมใน “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่มี “สนธิ ลิ้มทองกุล” เป็นผู้ดำเนินการ ต้องถือว่าเป็น “ม็อบออนไลน์” หรือ “ม็อบดิจิตอล” เพราะกลุ่มที่มาชุมนุมส่วนใหญ่ มีการติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือแบบม็อบยุคปี 2535 แล้ว ยังสื่อสารและติดตามข่าวสารที่มีเนื้อหาสาระ เห็นจริง มีความละเอียดของข้อมูล ที่ “มากกว่า” ผ่านเครือข่ายออนไลน์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งผ่านกันอย่างรวดเร็ว และลึกกว่า “ม็อบมือถือ” ยุคแรก แต่เป็นม็อบมือถือยุค 3 G ที่ส่งผ่านได้ทั้งภาพและเสียง รวมทั้งข้อมูล ผนวกกับข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

เว็บไซต์ของผู้จัดการ ซึ่งเสนอข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์ และสื่อสาร ถือเป็นตัวขับเคลื่อนการชุมนุม ซึ่งมีความพยายามปิดเว็บไซต์จากคนในรัฐบาล แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทำได้ และเว็บไซต์ก็ยังเป็นเครื่องมือส่งผ่านข้อมูลที่รัฐบาลไม่อาจคุมได้… เหมือนกับรัฐบาลจีนเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้

บทความยังระบุถึง สถิติจำนวนผู้เข้าชม www.manager.co.th จากปี 2547 ที่มีผู้เข้าชมเฉลี่ย วันละ 19,147 คน ปี 2548 มีผู้เข้าชมเฉลี่ย 35,621 คนต่อวัน ต้นปีนี้ ยอดผู้เข้าชมเฉลี่ย 50,000 คนต่อวัน ก่อนจะเริ่มขยับเป็น 70,000 คนต่อวัน

นับตั้งแต่ “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” ถูกถอดออกจากผังรายการ ช่อง 9 แล้ว สื่อในเครือผู้จัดการ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วิทยุชุมชนผู้จัดการ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ “สื่อ” ไปยังผู้ชมในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เว็บไซต์ mananger.co.th เป็น “สื่อ” ที่ถูกมองว่า เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้

สนธิ ลิ้มทองกุล ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร “ราชดำเนิน” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2548 ว่า “ นี่เป็นบุคลิกของผู้จัดการ เวลารบเรารบดุเดือดมาก เห็นได้จากการรบกับรัฐบาลนี้ตั้งแต่กลางปี 47 มันเคลื่อนไปหมด รัฐบาลนี่แม่งโคตรโง่ เหมือนสมัยประชาธิปัตย์ คือ มันสนใจแต่ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ มันไม่สนใจ มติชน ผู้จัดการ ไทยโพสต์ มันคิดว่า นี่เป็นหนังสือพิมพ์เล็ก แต่มันไม่รูว่า ผู้จัดการคือ การจุดประกายทางปัญญา นอกจากการเขียนแบบแรงๆ ในเซี่ยงเส้าหลงแล้ว เรายังมีเว็บไซต์ผู้จัดการ คนเข้าวันละสี่แสนคน มันทำให้คนคิดว่า เออใช่ ได้เห็นอีกด้านของรัฐบาลที่เขาไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ แล้วมันขยายพันธุ์ความคิดไป เหมือนไวรัส นี่ทำให้เราได้ผล ทั้งที่ยังไม่ถึงปีเลย พูดได้เลยว่าเราทำให้กระแสทักษิณแม่งตก”

ทุกวันนี้ “อินเทอร์เน็ต” ไม่ได้ทำหน้าที่ “ช่องทาง” ในการสื่อสารข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยน “ลูกค้า” ให้กลายเป็น “โปรโมเตอร์” ชั้นดี จากข้อความแสดงความคิดเห็นท้ายข่าว หรือกระทู้ในหัวข้อต่างๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และดุเดือด ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ข้อความเหล่านี้ เป็นตัว “เร่ง” ปฏิกิริยาการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ชนิดที่สื่ออื่นๆ ก็ทำไม่ได้

หากมองลึกลงไปในแง่ของความเป็น “บรอดแบนด์” แล้ว รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ต้องจัดเป็น content ร้อนแรงที่สามารถจุดประกายให้บริการ “บรอดแบนด์” เกิดขึ้นได้จริง ชนิดที่เจ้าของเครือข่าย “ทรู” หรือเอไอเอส พยายามทำมาตลอด แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ

เพราะเนื้อหาของบริการ “บรอดแบนด์” ทุกค่ายล้วนแต่มุ่งไปที่รายการบันเทิง หนัง เพลง เพราะเชื่อว่า ความบันเทิงทำให้เข้าถึงคนง่ายที่สุด แต่ลืมไปว่าถ้าเนื้อหาไม่มีความแตกต่าง ย่อมไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้

ด้วยเนื้อหาที่มีเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เนื่องจากเป็นเพียงรายการเดียวที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ยิ่งช่วงหลังยังเปิดศึกถล่มอย่างหนักด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้บรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพิ่มจำนวนขึ้น รายการเมืองไทยรายสัปดาห์จึงกลายเป็น unique content ชั้นดี ที่จะปลุกให้การใช้บริการ “บรอดแบนด์” เกิดขึ้นจริง

ส่งผลให้สื่อในเครือผู้จัดการ ไม่ว่าจะเป็นยอดผูชมหนังสือพิมพ์รายวัน ซีดี วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน เว็บไซต์ www.manager.co.th ที่มียอดคนเข้าดูเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว (อ่านเรื่องประกอบ)

หลังจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกปลดผังรายการ เว็บไซต์ manager.co.th กลายเป็น“สื่อ” ที่มาเติมเต็มความต้องการของผู้ชม โดยใส่ความเป็น “มัลติมีเดีย” ลงไป สามารถชมรายการด้วยการฟัง “เสียง “ ของรายการแล้ว ยังสามารถชมการถ่ายทอดสดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรออนไลน์แบบสดๆ บนเว็บไซต์ทุกวันศุกร์

แถมยังเลือกดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรย้อนหลัง ตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงครั้งล่าสุด ในลักษณะ on demand ทำให้มี ผู้ชมทั้งที่เป็นแฟนประจำ และผู้ชมหน้าใหม่ๆ ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสความแรงของรายการ

จากการสำรวจ พนักงานบริษัทจำนวนหนึ่งพบว่า พวกเขาเลือกที่จะชมรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ทางเว็บไซต์ ที่ให้บริการผ่านระบบ streaming โดยจะใช้เวลาในการชมตั้งแต่เย็นถึงเที่ยงคืน ข้อดี ก็คือ พวกเขาสามารถใส่ความคิดเห็น และเรียกดูข้อมูลประกอบได้ โดยที่สื่ออื่นๆ ทำไม่ได้

“ส่วนใหญ่จะรู้สึกหงุดหงิด” หากสัญญาณภาพ หรือเสียงที่สะดุด หรือเสียงขาดหายไป ไม่รู้หรอกว่าเป็นไฮสปีด หรือบรอดแบนด์ แต่ถ้าทำให้สัญญาณภาพดี ไม่กระตุก ก็อยากใช้บริการ”

ถ้าจะบอกว่า เมืองไทยรายสัปดาห์เป็นชนวนบริการ “บรอดแบนด์” ลูกแรก ก็คงไม่ผิดนัก และนี่คือ พลานุภาพของปรากฏการณ์ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่ไม่ได้สั่นแค่บัลลังก์ทักษิณเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลไปยังธุรกิจ “บรอดแบนด์” ในฐานะของ content ของจริงในยุคดิจิตอล