หลังจากที่เรียกว่า “ข่าว” ในโทรทัศน์ ตีพิมพ์ใน “ผู้จัดการรายวัน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็มีนักจัดรายการของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งและสถานีวิทยุอีกสองแห่ง ติดต่อให้ผมช่วยไปพูดอะไรเกี่ยวกับ “ข่าว” ในยุคนี้ในรายการของตน หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็ขอให้ผมไปร่วมการอภิปรายในหัวข้อทำนองเดียวกันอีก นี่คือตัวอย่างที่แสดงว่า อะไรที่เราเรียกๆ กันแบบผ่านๆ ว่า “ข่าว” ในสมัยนี้ ดูจะมีความซับซ้อนไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นอะไรที่ใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ
ทว่าความที่ไม่ค่อยชอบเดินทางไปที่ไหนๆ อีกทั้งไม่ค่อยชอบพูดโทรศัพท์กับใครนานๆ โดยไม่จำเป็น ผมจึงปฏิเสธความตั้งใจดีของท่านเหล่านั้นไปด้วยความเกรงใจ แต่ก็สัญญาว่าว่างๆ จะนำโจทย์ในทำนองที่ท่านได้ช่วยตั้งกันขึ้นนั้นมาเขียนในที่นี้
ในวันนี้ เราจะพยายามทำความเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่เปี่ยมไปด้วย “คุณค่าด้านข่าว” (newsworthiness) ทำไมปรากฏการณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” จึงไม่ได้รับการนำไปเสนอในสื่อมวลชนประเภทต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ความจริงง่ายๆ ที่ดำรงอยู่ก็คือ หากใครมีความต้องการที่จะได้รับข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ก็ไม่มีทางเลือกใดๆ ดีเท่ากับการอ่านเอาจาก “ผู้จัดการรายวัน” โดยตรง ไม่มีสื่ออื่นใดสามารถทดแทนได้ดีเท่าที่ควร
นับตั้งแต่ที่รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ถูกถอดถอนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ด้วยแรงกดดันทางการเมืองเมื่อเดือนกันยายนแล้ว เท่าที่ทราบ สถานีโทรทัศน์ที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นสมาชิกทั้งหมดคือช่อง 3 5 7 9 11 และ iTV ทั้งระบบจะไม่มีการถ่ายทอดส่วนใดๆ ของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ฉบับสัญจรทั้ง 8 ครั้งที่ผ่านมาเลย จะยกเว้นก็แต่รายการทางช่อง 5 และ 9 ที่จัดโดย สมัคร สุนทรเวช และ ดุสิต ศิริวรรณ เท่านั้น ที่มักจะถือเป็นธุระตอดนิดตอดหน่อยกับอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการดังกล่าวนี้อยู่เสมอ
นอกจากนี้ เมื่อมีการถ่ายทอดเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับสนธิ ลิ้มทองกุล สถานีโทรทัศน์พวกนี้ก็มักจะกระทำแบบสั้นๆ อย่างจงใจ เช่น การแถลงข่าวเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ จากฝ่ายตรงกันข้ามที่ได้รับเวลามากกว่าอย่างชัดเจน เป็นต้น
ส่วนในกรณีของสถานีโทรทัศน์ News1 ASTV ในเครือผู้จัดการที่ถ่ายทอดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ฉบับสัญจรและข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันผ่านสัญญาณดาวเทียม ซึ่งสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในระบบเคเบิลอีกหลายแห่งนำสัญญาณนี้ไปถ่ายทอดซ้ำนั้น ไม่กี่วันมานี้ ก็มีข่าวว่ามีแรงกดดันทางการเมืองจากหลายฝ่ายพากันรุมกลั่นแกล้ง News1 ASTV ถึงขนาดพยายามที่จะให้ปฏิบัติงานตามปกติต่อไปไม่ได้ อีกทั้งกดดันให้สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในระบบเคเบิลระงับการถ่ายทอดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ด้วย
เนื่องจากในปัจจุบันเครือข่ายโทรทัศน์ต่างๆ เหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐในระดับต่างๆ ปรากฏการณ์ชนิดนี้คงเป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยาก นอกจากจะไม่สามารถยึดถืออุดมคติทางวิชาชีพของตนตามหน้าที่ของสื่อในวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว อุดมคติดังกล่าวยังมักจะถูกบิดเบือนจนเข้าข่ายพิกลพิการเลยทีเดียว ฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีคนเก่งๆ ดีๆ อยู่ในสื่อเหล่านี้ไม่ใช่น้อยๆ การทำงานของเขาก็ย่อมจะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ในปัจจุบัน สถานการณ์ดูจะเข้าข่ายน้องๆ ในระยะที่ เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” กำลังดำเนินอยู่เสียแล้ว
ถึงแม้ว่าในชั้นนี้ ดูเหมือนว่าสถานีวิทยุต่างๆ ยังมีอิสรภาพระดับหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” รวมทั้งการถ่ายทอดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ทว่าในอนาคต แรงกดดันจากฝ่ายรัฐบาลอาจจะมีมากขึ้น
ส่วนหนังสือพิมพ์นั้น บางฉบับก็ให้ความสนใจนำเรื่องราวเกี่ยวกับ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ไปเสนอเป็นครั้งคราวตามสมควรในรูปแบบของข่าว และในบางกรณี ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ บวกบ้างลบบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นปกติ คำถามจะมีก็เพียงว่าการวิพากษ์วิจารณ์ในแต่ละกรณีเป็นการชกใต้เข็มขัดหรือไม่เท่านั้น
ทว่าจุดที่เข้าข่ายเป็น “ปรากฏการณ์” ก็คือหนังสือพิมพ์มวลชนที่มียอดจำหน่ายมากๆ บางฉบับแทบจะไม่ยอมนำเสนอเรื่องราวของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” เลย ครั้นเมื่อกระทำบ้างเป็นครั้งคราว ก็มักจะมีลักษณะกะปริดกะปรอย ในส่วนของความคิดเห็นก็มักจะออกมาในรูปแบบของคำพิพากษาแบบสั้นๆ ในทางลบ ในเชิงของตรรกะ มักจะไม่มีการนำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นในเชิงโต้แย้งอย่างเป็นระบบที่คู่ควรกับความสนใจอย่างจริงจัง
ข้อที่น่าคิดก็คือ จุดร่วมทั่วไปของหนังสือพิมพ์ต่างๆ นับตั้งแต่กลุ่มอนุรักษนิยม หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่จัดได้ว่าอยู่ในกลุ่มเสรีนิยม (ในบางแง่) ก็คือ การที่ไม่ค่อยมีใครพิจารณาปรากฏการณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” จากมุมมองที่ว่าการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการพูดของคนคนนี้คือการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของตนเองและของสื่อมวลชนทั้งระบบ
ปริศนาสำคัญของเราในวันนี้ก็คือ (1) ปรากฏการณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” คืออะไร และ (2) ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีคุณค่าด้านข่าวมากน้อยเพียงใด และ (3) ทำไมสื่อต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ที่ว่านี้อย่างเหลื่อมล้ำกันเป็นอย่างสูง
พูดอย่างสั้นๆ ปรากฏการณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” คือการท้าทายการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จแบบทักษิณ ชินวัตรด้วยสิ่งที่อาจจะเรียกว่า “วารสารศาสตร์เชิงระบบและโครงสร้าง” (systemic/structural journalism) นั่นก็คือ นวัตกรรมที่เน้นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงระบบของโครงสร้างทางสังคมต่างๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง จนกระทั่งเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของการเมืองยุคใหม่ที่อาศัยการตลาดตามหลักการลดแลกแจกแถมที่เรียกว่า “ประชานิยม” ครั้นเมื่อได้รับความชอบธรรมจากมวลชนในการเลือกตั้งที่ลงเอยด้วยโครงสร้างทางการเมืองแบบ “ป่าล้อมเมือง” แล้ว นโยบายทางเศรษฐกิจแบบกินรวบก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดอย่างต่อเนื่อง
ในแง่ของสังคม ก็อาศัยการแบ่งแยกคนเป็นส่วนๆ ในทุกระดับ ทั้งในระดับตัวใครตัวมันและพวกใครพวกมัน ยังผลให้คนที่อยู่นอกระบอบทักษิณถูกกีดกันจากผลประโยชน์ทั้งเล็กและใหญ่ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ส่วนในระดับของวัฒนธรรม ก็มีความพยายามในการใช้สื่อต่างๆ เข้ายึดพื้นที่ทางจิตใจของคนกลุ่มต่างๆ ด้วยวาทศิลป์ที่แปลกประหลาดยิ่งขึ้นทุกที รวมทั้งปฏิบัติการที่ท้าทายสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วยวิธีการใหม่ๆ อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด หรือแม้การกระทบกระทั่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน
เป้าหมายสูงสุดของวารสารศาสตร์เชิงระบบและโครงสร้างที่สนธิ ลิ้มทองกุลนำมาใช้ใน “เมืองไทยรายสัปดาห์” ในระยะหลังๆ นี้ก็คือ การเสาะแสวงหารัฐธรรมนูญฉบับพระราชทานที่จะเป็นกลไกในการปรับเปลี่ยนสังคมการเมืองไทยเสียใหม่ อันจะนำมาซึ่งการจัดตั้งนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกันใหม่อีกรอบหนึ่ง
นอกจากการจุดประกายสำหรับความฝันอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้แล้ว เนื้อหาที่สนธิ ลิ้มทองกุลได้อุตส่าห์ไปคิดค้นมาเสนอใน “เมืองไทยรายสัปดาห์” นั้น นอกจากจะมีเนื้อเรื่องอันตื่นเต้นเร้าใจชนิดนาทีต่อนาทีแล้ว ยังเต็มไปด้วยการระดมหลักฐานและข้อถกเถียงอันหลากหลายมาประกอบข้อเสนอต่างๆ ของเขาด้วย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงเสน่ห์ของวาทกรรมที่ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
ด้วยเหตุนี้ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ทั้งภาคโทรทัศน์ในอดีต และภาคสัญจรในปัจจุบัน จึงมีผู้คนติดตามอย่างระทึกใจเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที ทั้งการติดตามไปฟังถึงที่ การคอยดูคอยฟังจากการถ่ายทอดโทรทัศน์และวิทยุต่างๆ หรือการคอยซื้อหาวีซีดีมาเปิดดูที่บ้าน
ในมุมมองของคนที่ติดตามอย่างจริงจังเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะนับรวมกันได้เป็นแสนๆ คนทั่วประเทศ ปรากฏการณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” คือ “ข่าวใหญ่” อย่างไม่มีข้อสงสัย
ยิ่งไปกว่านั้น จากมุมมองของวิชาการข่าว ไม่ว่าจะเราจะคิดถึงมาตรวัด “คุณค่าด้านข่าว” ที่สำคัญใดๆ ก็ตาม ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ดูจะเข้าข่ายมีคุณค่าด้านข่าวในระดับที่ถือได้ว่าสูง สูงมาก หรือสูงสุด ทั้งสิ้น กล่าวคือ
• แรงกระทบ (impact) ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคนดูคนฟังมากที่สุดย่อมถือว่ามี
คุณค่าด้านข่าวมากที่สุด ในแง่นี้ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าในระยะประมาณสักปีกว่าๆ ที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัญจร “เมืองไทยรายสัปดาห์” เป็นอะไรที่สังคมการเมืองของเมืองไทยตั้งหน้ารอคอยที่จะฟังมากที่สุด ไม่ว่าจะข้างรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือผู้สังเกตการณ์อื่นๆ ทั้งนี้ ก็เพราะประเด็นที่รายการนี้ยกขึ้นมาชวนให้คนดูพิจารณาล้วนแต่มีมนต์ขลังที่ทรงพลังทั้งสิ้น บางคนถึงกับสรุปว่าเนื้อหาของรายการนี้เข้าประเด็นจริงๆ จนน่าติดตามมากกว่าการอภิปรายของพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งหมดรวมกัน ทั้งในและนอกรัฐสภาด้วยซ้ำ
• น้ำหนัก (weight) ความหมายก็คือ ความสำคัญของข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์จะมีคุณค่ามากน้อย
เพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับว่ามันมีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์อื่นๆ มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเนื้อหาของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” มักจะชี้ให้เห็นที่มาที่ไปของข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ อย่างน่าทึ่ง นับตั้งแต่การเปิดเผยสาแหรกของบุคคลสำคัญๆ ทั้งภายในและนอกรัฐบาล ในการแทรกแซงองค์กรอิสระของรัฐ ตลอดจนกระทั่งถึงกลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ในการก่อรูปของโครงการขนาดยักษ์อันพิลึกพิลั่นสารพัด มิหนำซ้ำ เรื่องราวเหล่านี้ยังมักจะได้รับการวิเคราะห์ในแง่ของที่มาที่ไปและผลกระทบในเชิงลูกโซ่ด้วย ฉะนั้น รายการนี้จึงผ่านมาตรวัดนี้ด้วยคะแนนที่สูงสุดอย่างแน่นอน
• ความขัดแย้ง (controversy) ข้อโต้แย้ง การอภิปราย ข้อกล่าวหา และการต่อสู้ ย่อมทำให้คุณค่าของข่าวพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง ในแง่นี้ “เมืองไทยรายสัปดาห์” มีองค์ประกอบทุกประการครบถ้วน และเป็นความครบถ้วนที่เข้มข้นอย่างยิ่งด้วย เพราะนี่คือการท้าทายที่ถึงขนาดมีเป้าหมายอยู่ที่รัฐบาลทั้งรัฐบาล แถมท้ายด้วยการแสวงหาการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนด้วย ฉะนั้น เดิมพันในที่นี้ก็คืออนาคตของสังคมไทยทั้งหมดเลยทีเดียว
• อารมณ์ (emotion) ถึงแม้ “เมืองไทยรายสัปดาห์” จะไม่ใช่ภาพยนตร์หรือละครที่มีการวางแผนมา
เป็นอย่างดีว่าจะรุกเร้าอารมณ์ของมนุษย์อย่างมีจังหวะจะโคนก็ตาม ทว่าความเป็นธรรมชาติ (spontaneity) ของสนธิ ลิ้มทองกุลที่มักจะผลิตคำพูดที่ใครๆ ไม่ค่อยคาดหมายได้บ่อยๆ นั้นก็มีคุณสมบัติในแง่ของความสดทางอารมณ์ได้เป็นอย่างมากทีเดียว ไม่อย่างนั้นแล้ว บรรดาคนฟังรายการนี้จะพากันตบไม้ตบมือเป่าปากกันด้วยความสะใจบ่อยๆ ละหรือ
• ความไม่ปกติ (unusualness) ในที่นี้หมายถึงคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั่นก็คือ “เมื่อหมากัดคน
ย่อมไม่เป็นข่าว แต่หากคนกัดหมา ย่อมเป็นข่าว” ในความหมายนี้ “เมืองไทยรายสัปดาห์” มีอย่างสมบูรณ์แบบ มิหนำซ้ำ มีส่วนเกินแถมให้ด้วยอย่างมากมายเสียด้วย ก็จะมีกี่ครั้งในโลกเล่า ที่นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อกรกับหัวหน้ารัฐบาลที่ทรงอำนาจมากอย่างเห็นได้ โดยเปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญทางศีลธรรม (moral courage) นั่นก็คือ การมุ่งเปิดโปงรายละเอียดเกี่ยวกับกลโกงและอหังการต่างๆ อย่างเปิดเผยด้วยข้อมูลที่น่าทึ่งและด้วยลีลาที่เรียกเสียงหัวเราะได้แบบนาทีต่อนาทีขนาด “เมืองไทยรายสัปดาห์”
• ความเด่น (prominence) ความหมายของมาตรวัดนี้ก็คือยิ่งบุคคลที่เป็นข่าวมีความเด่นมากเท่าใด
คุณค่าของข่าวก็ยิ่งมีสูงมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ผลิตข่าวคือสนธิ ลิ้มทองกุล คือนักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย อีกทั้งมีผลงานและกิตติศัพท์เลื่องลือทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นเวลานานปี ประกอบกับเป้าหมายแห่งการโจมตีของเขาคือทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีที่คงจะถือได้ว่าทรงอำนาจและใช้อำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อีกทั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ มิหนำซ้ำยังเป็นนักธุรกิจใหญ่และมหาเศรษฐีที่ติดอันดับโลก เมื่อนำความเด่นเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันแล้ว “เมืองไทยรายสัปดาห์” คือ “สุดยอด” ของความเป็นข่าวเลยทีเดียว
• ความใกล้ตัว (proximity) เนื่องจากเนื้อหาของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนฟังอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น คุณค่าด้านข่าวในประเด็นนี้จึงจัดว่าสูงอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าในบางครั้งสนธิ ลิ้มทองกุลอาจจะใช้ถ้อยคำที่ออกจะยากเกินไปสำหรับคนฟังทั่วไปสักหน่อย แต่เขาก็ไม่เคยลืมที่จะนำวาทศิลป์ชั้นดีมาผสมผสาน จนกระทั่งรายการนี้มีคุณค่าด้านความบันเทิงที่ทำให้คนฟังมีความรู้สึกว่าเรื่องที่ตนกำลังรับฟังอยู่เป็นเรื่องใกล้ตัวเองมาก
• ความทันต่อเวลา (timeliness) เนื่องจากเนื้อหาสำคัญของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” คือการ
วิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ฉะนั้น ความทันต่อเวลาในแง่ของคุณค่าด้านข่าวจึงมีอยู่พอสมสมควร เพราะจุดเน้นของผู้จัดรายการคือการวิเคราะห์เรื่องราวประเภทระบบและโครงสร้าง ซึ่งไม่ใช่จะเกิดขึ้นทุกวันหรือทุกชั่วโมง
• ความตรงใจ (currency) สำหรับในประเด็นนี้ “เมืองไทยรายสัปดาห์” มีมากอย่างแน่นอน จำนวน
คนที่ติดตามรายการภาคสัญจรที่มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเสียงหัวเราะและตบมือของคนฟังที่มีอย่างสม่ำเสมอ ดูจะเป็นหลักฐานที่เพียงพอว่ารายการนี้ค่อนข้างจะโดนใจคนฟัง ถึงแม้ว่าในบางครั้ง เนื้อหาบางส่วนของรายการอาจจะยากเกินไปนิดๆ แต่คนฟังก็ดูเหมือนว่าจะไม่อึดอัดอะไร
• ประโยชน์ (usefulness) ในส่วนของมาตรวัดข้อนี้ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า “เมืองไทยรายสัปดาห์”
มีความสมบูรณ์ในหลายระดับ เช่น ในระดับหนึ่ง ประโยชน์ของรายการก็คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเจาะลึกเข้าไปถึงแก่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่สื่ออื่นๆ มักจะละเลย ประโยชน์ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งก็คือการตั้งโจทย์ใหญ่ๆ ใหม่ๆ ให้ชุมชนทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ระบบราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน ได้พิจารณา นับตั้งแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการละเมิดพระราชอำนาจในกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา กรณีพระสังฆราช กรณีวัดพระแก้ว กรณีเครื่องบินประจำตำแหน่งอันหรูหรา ถึงขนาดที่ผู้นำของประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมากต้องแลตามองด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะแม้ตนเองก็ยังไม่มีใช้ และ ฯลฯ อันล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้ยังไม่เคยมีคำตอบที่ดีให้แก่สังคมทั้งสิ้น
• คุณค่าทางการศึกษา (educational value) เนื่องจาก “เมืองไทยรายสัปดาห์” คือการประยุกต์องค์
ความรู้ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจการเมือง การตลาด ประวัติศาสตร์สังคม การปกครอง และวัฒนธรรม รวมทั้งจริยธรรมทางศาสนา ทั้งนี้ โดยอาศัยวารสารศาสตร์เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบข้อมูล ฉะนั้น นี่คือองค์ความรู้เชิงวิพากษ์แบบบูรณาการเกี่ยวกับปัญหาแห่งยุคสมัย (current affairs) ของเมืองไทยในยุคทักษิณ ชินวัตรที่คนไทยและผู้เกี่ยวข้องกับเมืองไทยอื่นๆ ล้วนสนใจ
ในแง่ของคุณค่าทางการศึกษานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสูง นี่คงเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอความรู้ในลักษณะนี้ต่อมวลชนด้วยวิธีการที่คนส่วนมากสามารถเข้าถึงได้ คนฟังรายการนี้จำนวนมากต่างยอมรับว่าตนเองได้รับความรู้จากรายการนี้เป็นอย่างมาก ยังผลให้เขาช่างตั้งข้อสงสัยและมีความใคร่รู้มากขึ้น ซึ่งเป็นคุณค่าทางการศึกษาที่หาได้ยาก
หากการประเมินข้างต้นนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงพอสมควร ปริศนาต่อไปของเราในวันนี้ก็คือ ทำไมสื่อต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ จึงให้ความสำคัญแก่ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลอย่างเหลื่อมล้ำกันมาก เนื่องจากไม่มีโอกาสจะศึกษาข้อมูลในแง่นี้ได้อย่างถี่ถ้วนว่าหนังสือพิมพ์ฉบับใดทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันบ้างมากน้อยเพียงใด ในที่นี้ ผมจะเสนอแนวทางเพียงคร่าวๆ ว่า “คำตอบ” อาจจะเป็นอย่างไรได้บ้างเท่านั้น
กลุ่มที่หนึ่ง สำหรับหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลในทางบวกนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกชน อีกทั้งเชื่อว่าถึงตนเองจะเห็นด้วยกับเนื้อหาหรือไม่ก็ตาม หากมันมีคุณค่าด้านข่าวเพียงพอ ตนก็มีภารกิจที่จะต้องนำเสนอ อย่างน้อยก็ในรูปแบบของ “ข่าว” ทั้งนี้ อาจจะมีรายละเอียดมากน้อยเพียงใดก็สุดแต่การประเมินของหนังสือพิมพ์นั้นๆ
ในบางกรณี หนังสือพิมพ์กลุ่มนี้อาจจะเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ซึ่งอาจจะออกมาในทางเห็นด้วยอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือไม่เห็นด้วยอย่างสมบูรณ์แบบ หรืออย่างมีเงื่อนไขก็ได้ สุดแล้วแต่ภูมิหลังและวิจารณญาณของนักหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับและแต่ละคน
กลุ่มที่สอง สำหรับหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องราวเดียวกันนี้ในทางลบ เช่น การไม่นำเสนอข่าวจาก “เมืองไทยรายสัปดาห์” เลย หรือว่านำเสนออย่างไม่สมบูรณ์อย่างจงใจ ทว่าให้ความสำคัญแก่ข่าวและความคิดเห็นจากฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวเกี่ยวกับรายการนี้แบบด้านเดียว หรือแบบไม่สมดุล ก็ต้องจัดว่าอยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยม ความที่รัฐบาลเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจขนาดใหญ่ ความประพฤติเช่นนี้คือหลักฐานในตัวมันเองแล้วว่า จากมุมมองของประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อไปในทางเป็นเครื่องมือแห่งการโฆษณาชวนเชื่อล้วนๆ สื่อนั้นๆ จึงมีระดับความเป็นวิชาชีพ (professionalism) ไม่เพียงพอ มิหนำซ้ำ ยังมีอคติต่อเรื่องราวดังกล่าวในฐานะที่เป็น “ข่าว” อีกด้วย
และกลุ่มสุดท้าย หนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งอาจจะมีจุดยืนแบบบ “ธุระไม่ใช่” (none of my business) ทั้งนี้ ด้วยการไม่นำเสนอเรื่องราวของฝ่ายใดเลย ทว่ามุ่งทำหนังสือพิมพ์ของตนไปราวกับว่าไม่มีเหตุการณ์ชนิดนี้อยู่ในประเทศไทยเลย ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นเสียด้วยว่าการกระทำเช่นนี้เป็นแนวทางที่ชาญฉลาด เนื่องจากเข้าใจว่านี่คือ “ความเป็นกลาง” และตนเองก็ปลอดภัยดี ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับใครทั้งสิ้น ในทางทฤษฎีแล้ว หนังสือพิมพ์ประเภทนี้น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์มวลชนที่มุ่งขายข่าวสัพเพเหระ ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวฉาวโฉ่ ข่าวกีฬา และอะไรอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน
ในแง่หนึ่ง หนังสือพิมพ์กลุ่มนี้อาจจะคิดว่าเกมการเมืองของ “เมืองไทยรายสัปดาห์” เป็นเกมใหญ่ ฉะนั้น หากยังไม่มีเค้าลางเพียงพอว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร ก็เฉยๆ ไว้ก่อนจะดีกว่า โดยจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายของตนให้สอดรับกับความเป็นจริงทางการเมืองในภายหลังเมื่อการเผชิญหน้าคลี่คลายมากกว่านี้ก็ได้ พฤติกรรมอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่สื่อบางชนิดต้องเปลี่ยนจุดยืนกันแบบข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว
ไม่ว่าหนังสือพิมพ์กลุ่มต่างๆ ข้างต้นจะมีนโยบายในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล อย่างไรก็ตาม จุดที่ผู้บริโภคสื่อควรจะจับตามองก็คือ สื่อประเภทต่างๆ (รวมทั้งหนังสือพิมพ์กลุ่มต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น) กำลังทำอะไรอยู่ เพราะอะไร และเพื่ออะไร จนกระทั่งสร้างความเสียหายต่อสิทธิในการรับรู้ความจริงของเรา
ในขณะที่การระงับการกระทำเพราะความหวาดกลัวอย่างนี้อาจจะเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ ประเด็นที่ควรจะจับตามองมากก็คือสื่อประเภทที่จงใจละเว้นการกระทำหน้าที่เบื้องต้นของตนด้วยความปรารถนาในผลประโยชน์ที่ไม่พึงมีพึงได้จากวิชาชีพสื่อ ไม่ว่าจะโดยผ่านทางอำนาจรัฐหรือทุนก็ตาม
ไม่ว่าสิ่งที่สนธิ ลิ้มทองกุลนำเสนอจะผิดถูกอย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเขาก็คือ “ข่าวใหญ่” อย่างแน่นอน สื่อต่างๆ มีภารกิจที่จะต้องนำเสนอตามข้อเท็จจริงด้วยความซื่อสัตย์ ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยกับเนื้อหาที่เขานำเสนอก็ได้ อย่างน้อยๆ การกระทำดังกล่าวก็คือการแสดงความเคารพต่อมาตรฐานขั้นต่ำของวิชาชีพของสื่อที่ต้องรายงานความเป็นจริงที่สำคัญๆ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงความจริงง่ายๆ ที่ว่าการกระทำหน้าที่ตามมาตรฐานขั้นต่ำทางวิชาชีพนี้มีค่าเท่ากับการปกป้องรักษาสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและสังคมทั้งระบบ ตามนัยของปรัชญาว่าด้วย “เสรีภาพในการพูด” ของโวลแตร์ที่ว่า “(แม้น) ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ (ข้าพเจ้า) ก็จะปกป้องสิทธิของคุณในการพูดนั้นๆ ด้วยชีวิต”